ค้นหา
ทีวีออนไลน์
เว็บไซต์ในเครือ
เว็บไซต์บริการ

“ดาราวิดีโอ” ยุค 2024 “สยาม สังวริบุตร” ปรับตัวเป็น “คอนเทนโพรวายเดอร์”

Logo Thai PBS
“ดาราวิดีโอ” ยุค 2024 “สยาม สังวริบุตร” ปรับตัวเป็น “คอนเทนโพรวายเดอร์”
อ่านให้ฟัง
00:00อ่านข่าวให้ฟังโดย Botnoi Voice เว็บแอปพลิเคชันสำหรับสร้างเสียงจากข้อความด้วย AI (Text to Speech)
เราไม่ได้อยู่ในธุรกิจละครแล้ว แต่เราเป็นคอนเทนโพรวายเดอร์ และคอนเทนมันก็ไม่ได้อยู่แต่ในทีวี แต่มันไปอยู่ในดิจิทัล ต่อไปก็ไม่รู้ว่ามันจะไปอยู่ที่ไหน

ภาพจำของคนยุค 1990 บริษัท ดาราวิดีโอ จำกัด ถูกมองว่าเป็นแหล่งผลิตละครจักรๆ วงศ์ๆ ที่มีคุณภาพอันดับ TOP 3 ของเมืองไทย ก็ว่าได้

แต่ในภาพจริง “ดาราวิดีโอ” มีผลงานละครทีวีร่วมสมัยมากมายให้คนจดจำ และด้วยคุณภาพ ทำให้ยืนระยะมาจนถึงทุกวันนี้

“ดาราวิดีโอ” ไม่ได้ตกยุค แม้ก้าวมาถึงปี 2024

สยาม สังวริบุตร ผู้กำกับการแสดงและควบคุมการผลิตละครโทรทัศน์ของบริษัท ดาราวิดีโอ จำกัด บอกกับไทยพีบีเอสออนไลน์ว่า ครอบครัวละครของเขา ตั้งแต่ยุคของพ่อ ไพรัช สังวริบุตร มาถึงยุคของเขา และสยม สังวริบุตร ผู้เป็นน้องชาย

และถึงปัจจุบันลูกชายทั้งสองของเขา รับไม้ต่องานละครของ “ดาราวิดีโอ” เกือบทั้งหมด ต้องปรับตัวกับความเปลี่ยนแปลงมาตลอดเวลากว่า 30 ปี

ก่อนจะมาทำละคร พ่อกับน้องชายทำมาก่อน ช่วงที่เปลี่ยนแปลงแรกคือ การเปลี่ยนแปลงในเรื่องเทคนิค คือเปลี่ยนจากการใช้ฟิล์มในการถ่ายทำมาเป็นวิดีโอ อันนั้นเป็นช่วงการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ อันที่สองคือ เปลี่ยนจากการถ่ายทำแล้วมาพากย์ทีหลัง ไปเป็นการถ่ายทำแบบตัวละครพูดเอง และเปลี่ยนจากละครจักรๆ วงศ์ๆ มาเป็นละครธรรมดา

ตอนนั้นเป็นการเปลี่ยนแปลง ที่ค่อนข้างวุ่นวาย ถ้าเราปรับตัวไม่ทัน ก็น่าจะเจ๊งไปแล้ว ซึ่งคนอื่นเขาใช้เป็นตัวละครพูดเองกันหมดแล้ว ของเรายังถ่ายเป็นฟิล์ม

จากตรงนั้นมา ก็มาถึงจุดที่เข้ามาทำงาน จนถึงวันนี้ก็เกือบ 30 ปี สมัยที่เข้ามาเริ่มทำละคร จะเป็นละครแบบละครมาก ๆ หรือเรียกว่า เป็นแนวดรามา สมัยนั้นทั้งวงการมีไม่กี่ช่อง พี่ได้รับโอกาสให้ทำละครสไตล์ที่ชอบ คือ ละครวัยรุ่น เช่น ความรักของคุณฉุย (พ.ศ.2434) เป็นละครที่ค่อนข้างแหวกแนวหน่อย เป็นละครวัยรุ่น พี่ก็เอาสนุกเข้าว่า ซึ่งก็ได้ผลตอบรับที่ดี

ตั้งแต่นั้นมาเราก็ปรับตัวมาเรื่อย ๆ จนกระทั่ง ยุคหลังๆ ก่อนจะเป็นดิจิทัลดิสรัปชัน เป็นลักษณะที่ละครน้อยลง จากที่เราเคยทำละครสูงสุดเกือบเดือนละเรื่อง ถ่ายทำไปออกอากาศไป หนึ่งปีเกือบ 12 เรื่อง

ตอนนั้นถ่ายปั๊บก็ออกอากาศเลย ตรงนั้นคุณภาพของงานอาจจะไม่ดีมาก ในสายตาคนดูอาจจะด้อยคุณภาพ แต่จริง ๆ แล้วมันได้ผล เพราะเนื้อหาในเรื่องสามารถปรับได้ตลอดเวลา ตามคนดู เช่น สมมุติว่าวันนี้ที่ออกอากาศ เรารู้ว่าคนดูชอบตัวละครตัวนี้ เราก็ปรับบทมาเพิ่มให้กับตัวละครตัวนี้อีกหน่อย อะไรที่คนดูไม่ชอบเราก็ตัดออก ตามเทรนด์ตามกระแสได้ตลอดเวลา ซึ่งก็ถูกใจคนดู

แม้จะมีความเปลี่ยนแปลงเพื่อตอบสนองกับผู้ชม หรือกลุ่มเป้าหมายในเวลานั้น แต่ดาราวิดีโอ ก็ได้รับเสียงสะท้อนถึงคุณภาพของผลงานอยู่อย่างต่อเนื่อง

เรารับทราบข้อนี้มาตลอด แต่เราเลือกที่จะทำอย่างนั้น เพราะคนดูเยอะจริง ๆ คนดู ดูแล้ว รู้สึกว่า ทันใจเขา คุณภาพด้านภาพ แสง เสียงดีขึ้น เพราะมีความละเอียดขึ้น มีเวลาในการผลิตมากขึ้น เหมือนงานโฆษณากับงานภาพยนตร์ อย่างภาพยนตร์ฉาย 2 ชั่วโมง แต่ใช้เวลาถ่ายหลายเดือน ขณะที่ละครของเรา หนึ่งตอนยาว 2 ชั่วโมง แต่ถ่ายทำในวันเดียว

เราโดนเสียงดูถูกมาตลอดว่า งานของดาราวิดีโอเป็นงานพาณิชย์ศิลป์เกินไป ไม่เกรงใจคนดู พวกเราก็ต้องยอมรับ

สยามบอกว่า ความยาวของละครสะท้อนภาวะเศรษฐกิจในแต่ละยุค ในยุคก่อนหน้านี้ งบประมาณโฆษณาของสินค้าต่าง ๆ ที่จะมาสนับสนุนละครค่อนข้างมาก ทำให้ละครแต่ละตอนจึงต้องมีความยาวถึง 2 ชั่วโมง

แต่เมื่อมาถึงยุคนี้ ภูมิทัศน์สื่อและเทคโนโลยี เปลี่ยนแปลงไป ละครไม่ได้แข่งขันกับละครด้วยกันเท่านั้น แต่ต้องแข่งกับแพลตฟอร์ม และโซเชียลมีเดียในเวลาเดียวกัน

ตอนนี้จะหาพลอตเรื่อง เพื่อมาทำละคร 2 ชั่วโมง ไม่ใช่เรื่องง่ายแล้ว ที่จะตรึงคนดูให้ดูตรงนั้น เป็นเรื่องยากมาก

คนดูมี Choice (ทางเลือก) ในการเลือกสื่อในแพลตฟอร์มต่าง ๆ เยอะขึ้น ทั้งเนื้อหาบนอุปกรณ์ต่าง ๆ เช่น โทรทัศน์ โทรศัพท์มือถือ ฯลฯ ด้วยแพลตฟอร์มต่าง ๆ เช่น เฟซบุ๊ก , ยูทูป , TIKTOK , X หรือแม้แต่ NetfliX เพราะฉะนั้นสมาธิที่เขาจะมองตรงนั้น มันวอกแวกมากเลย

เฮ้ยละครตรงนี้ยังไม่สนุกเว้ย ไปดูอันโน้นก่อนมั้ย คือคนดูเขาก็เลือก เช่น กินของอร่อยก่อน แล้วค่อยกลับมากินอันนี้ สมาธิตรงนั้นก็จะสั้นลง ซึ่งไม่ผิดอะไร เป็นผม ผมก็ทำอย่างนั้น ผมดูอันนั้นที มาเล่นเฟซบุ๊กที

สมาธิของคนดูวอกแวกขึ้น การที่จะตรึงผู้ชมให้ได้นาน ๆ ก็ยากขึ้น ตรงนี้ในแง่การทำละคร เรารู้ว่าตรงไหนสนุก เราจะปรุงอาหารอย่างไรให้มันอร่อย ยาวๆ ทั้งจาน เช่น พยายามนำเสนอ เหมือนกับก๋วยเตี๋ยว ให้กินลูกชิ้นก่อน กินเรื่อย ๆ ให้เส้นน้อย ๆ หน่อย ทำให้ละครสนุกถี่ขึ้น ใน 1 ชั่วโมง ใน 2 ชั่วโมง

สมัยก่อนเราอาจจะลากๆ ยืดๆ ได้ แต่เดี๋ยวนี้ต้องเดินเรื่องให้เร็วขึ้น ให้กินแต่ของอร่อย เอาลูกชิ้นให้กินเยอะๆ ซึ่งเราจะเหนื่อยขึ้นนะ เพราะต้องคิดเยอะขึ้น ต้องปรับปรุงให้มันเร็วขึ้น ให้ทุกอย่างไวขึ้น สนุกขึ้น ต่างจากแบบเก่า ที่ปูเรื่องนาน ๆ แล้วจะมาเก็บอีกที อันนั้นใช้ไม่ได้แล้ว เราพยายามจะทำให้ละเอียดขึ้น ให้สนุกถี่ขึ้น

นอกจากนี้ยังมีปัจจัยอื่นที่เข้ามาเป็นตัวแปรอีกมาก ไม่ว่าจะเป็นแนวละคร กลุ่มเป้าหมายที่เป็นคนดู (ซึ่งยังต้องคำนึงเสมอ) องค์ประกอบทางด้านธุรกิจ และสิ่งปัจจัยใหม่ที่ยังเลี่ยงไม่พ้นก็คือยุคสมัยและความเปลี่ยนแปลง

สำหรับแนวของละครที่เลือกมานำเสนอ สยามบอกว่า เขาถือคติตามที่พ่อ (ไพรัช สังวริบุตร) สอนคือ “อย่าทำอะไรที่รู้ว่าคนดูเบื่อ” ความหมายก็คือ ถ้าอะไรที่คนอื่นเขาทำเยอะๆ ก็อย่าไปทำ อย่าทำตามกระแส เดี๋ยวคนดูเบื่อ วิธีการเลือกเรื่องมันมีอยู่แค่นั้น มันไม่ได้อยู่ที่แนวอะไรเลย อะไรก็ได้ที่เขาหันมาดูแล้วไม่เบื่อ

อะไรที่เขาทำเยอะๆ ก็อย่าไปทำ เพราะบางทีคนดูเขาก็เห็นว่า มันเหมือนกันเลย เผลอๆ บ้านที่ถ่ายทำละคร เป็นบ้านหลังเดียวกันด้วย (Location)

ส่วนกลุ่มเป้าหมายที่ดูละครโทรทัศน์ทุกวันนี้ เป็นปัจจัยสำคัญที่น่าสนใจ ด้วยเพราะวัยที่เคลื่อนขยับมาเรื่อย ๆ จากเมื่อ 20-30 ปีก่อน จนถึงวันนี้ที่มีอายุมากขึ้น ความสนใจที่เปลี่ยนไป

ประกอบกับอุปกรณ์ที่การรับข้อมูลข่าวสาร อาจจะไม่ได้เป็นโทรทัศน์เพียงอย่างเดียว แต่เป็นโทรศัพท์มือถือ ทั้งเนื้อหาที่มีมากขึ้นแทบจะทุกรูปแบบ กลายเป็นการแข่งขันที่ยากยิ่ง

จริง ๆ แล้วละครโทรทัศน์ เป็น Mass (วงกว้าง, คนกลุ่มใหญ่) คือ ไม่ได้มองว่า เป็นกลุ่มคนแก่ กลุ่มเด็ก พี่พยายามมองว่า สิ่งที่เราทำมันโดนหรือเปล่า ถูกใจคนดูหรือเปล่า สนุกมั้ย คำว่าสนุก หมายความว่า ใครก็ดูได้

สยามเล่าต่อว่า การจะเจาะกลุ่มไหนอย่างเราเอานักแสดงกลุ่มเด็กมาเล่นทั้งหมด มีวัฒนธรรม ร้องเพลง อย่างละครเรื่อง เบญจา-คีตา-ความรัก (ละครค่ำ ช่อง 7 ธ.ค.2546-ม.ค.2547) หรือ ละครเรื่อง พลิกดินสู่ดาว (ช่อง 7 มิ.ย.2549) อันนั้นคือการเจาะกลุ่มวัยรุ่น

แต่อย่างละคร period (พีเรียด-ละครย้อนยุค) ถึงแม้จะเป็นพีเรียด แต่เด็กก็ดู วัยรุ่นก็ดู สังเกตเห็นว่า มีการทำมีม (Meme-วิดีโอสั้นมีเนื้อหาขำขันหรือล้อเลียน ที่ตัดมาโพสต์บนโซเชียลมีเดีย) ที่วัยรุ่นเขาดูกันใน TiKToK ฉะนั้นการทำละครไม่ได้มองกลุ่มเป้าหมาย เพราะมันเป็น Mass (วงกว้าง, คนกลุ่มใหญ่) ใครดูก็ได้

อย่างไรก็ตาม เนื้อหาของละครโทรทัศน์ในยุคปัจจุบัน นอกจากมีเนื้อหาที่สะท้อนสังคม สนุกสนาน ตลก แล้ว ยังมีส่วนหนึ่งที่ต้องการนำเสนอ บางมุมของสังคมที่เปลี่ยนแปลงไปด้วย เพื่อให้เหมาะกับยุคสมัย เช่น มุมมองของความรักที่ไม่ได้มีเฉพาะชายหญิง เพียงอย่างเดียว

สยามมองว่า แนวละครของสถานีโทรทัศน์ช่องอื่น ที่เป็นที่พูดถึงมากในวงการบันเทิง เมื่อผลิตละครแนวชายรักชาย หญิงรักหญิง ไม่ได้กระทบกับกลุ่มเป้าหมายหรือละครที่เขาทำอยู่

จากการที่เราทำละครพีเรียดบ่อย ทำให้เราชำนาญ ในสมัยที่มีสินค้าเหมือนกันหลายๆ ตัว คนทำธุรกิจต้องกลับมา Concentrated กับ Core Business หรือสินค้าตัวที่คุณทำแล้วคุณเก่งที่สุด เราได้ชื่อว่า เป็นคนที่ทำละครพีเรียดได้ดี ค่ายหนึ่งในเมืองไทย เราเป็นค่ายหนึ่งที่คนนึกถึง

ขณะเดียวกันเราก็มีเครื่องไม้เครื่องมือที่พร้อม เช่น โรงถ่ายลาดหลุมแก้ว ที่เรามี 100 ไร่ เราทำฉากไว้เยอะ เราสามารถจะเปิดละครพีเรียดวันนี้ แล้วพรุ่งนี้ถ่ายได้เลย นั่นเป็นสิ่งที่เราพร้อม แต่ไม่ได้หมายความว่า เราทำได้อย่างเดียว เราทำได้ทุกแนว บู๊สมัยใหม่ ไฮเทค เราก็ทำมาแล้ว อย่าง ละครเรื่อง เพชรตัดเพชร อันนั้นก็ดัง

จะเอาแนวบู๊ลูกทุ่ง หรือจะเอาร้องเพลง เราก็ทำมาหมดแล้ว เราก็ทำมาก่อนใคร ฉะนั้นไม่ใช่เราทำละครพีเรียดได้อย่างเดียว แต่ที่เราทำละครพีเรียดอยู่ตรงนี้ ณ วันนี้ เพราะเราชำนาญ เราจึงทำสิ่งที่เราชำนาญก่อน ให้คนดูเห็นว่า เรายังอยู่นะ ละครมีเยอะ ดาราวีดีโอยังอยู่นะ

นอกจากเรื่องกลุ่มเป้าหมาย รูปแบบเนื้อหาแล้ว ปัจจัยสำคัญในการทำละครโทรทัศน์ในปัจจุบันหนีไม่พ้นเรื่องของธุรกิจ ที่เกิดความเปลี่ยนแปลงอย่างเห็นได้ชัด เมื่อมีพื้นที่สื่ออื่น ๆ เป็นตัวแชร์รายได้

ตอนนี้เศรษฐกิจก็ไม่ค่อยดี น่าจะเดือดร้อนกันทั่วทุกวงการ ไม่ใช่เฉพาะวงการสื่อ เงื่อนไขตอนนี้ก็ไม่มีอะไร เมื่อไหร่มีเงิน ก็จะคล่องตัวขึ้น เพราะว่าละครเราก็มีหน้าที่ทำให้เรตติ้งมันดีที่สุดเท่าที่จะทำได้

แม้แต่ละครจักร ๆ วงศ์ ๆ ละครฟ้ามีตา อะไรต่าง ๆ เราก็พยายามทำให้เรตติ้งดี หน้าที่ของเรามีแค่นั้น มันไม่มีเงื่อนไขว่า จะต้องเอาคนโน้นมาเล่น คนนี้มาเล่น มันไม่ได้ละเอียดขนาดนั้น

แต่แม้เขาจะบอกว่าในธุรกิจของละครโทรทัศน์ ไม่มีเงื่อนไขอื่น สยามก็ยังยอมรับว่า มีละครบางเรื่องหรือโฆษณาบางชิ้น ที่ลูกค้าไม่ได้สนใจเรตติ้งโดยรวม แต่สนใจว่า ดารานักแสดงคนนั้นคนนี้มีกระแสดี มีภาพลักษณ์ดี จึงต้องการให้แสดงละครที่สินค้านั้นเป็นสปอนเซอร์

ภาพลักษณ์นักแสดงคนนั้น อาจจะไปตรงกับสินค้าของเขา โดยที่เขาไม่ได้ดูเรตติ้ง แต่เขาอาจจะชอบส่วนตัว ก็เป็นไปได้ เพราะคนที่จะลงโฆษณาเขาดูหลายอย่าง

ถึงวันนี้แม้จะมีความเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นหลายอย่าง แต่คนทำละครโทรทัศน์อย่างเขาก็ต้องปรับตัวกับความเปลี่ยนแปลงนี้

มันน่าจะส่งผลดีเหมือนอย่างที่บอก อย่างสมัยก่อน คนดูภาพดาราวิดีโอทำละคร เดี๋ยวนี้เขามองว่า ทำได้มาตรฐานระดับเทียบเท่า คนอื่น ๆ เขา เพียงแต่ว่าถ้าเรามีเวลาเยอะขึ้น เราก็สามารถทำให้คนดูเห็นว่า เราสามารถทำอย่างอื่นได้ ในขณะเดียวกัน ถ้าเราสามารถจะขยับขยายไปทางอื่นได้ เราก็จะดีใจ เพราะตอนนี้ตัวหลักๆ ไม่ใช่พี่แล้ว แต่เป็นลูกๆ ทั้งสองคนมาทำแล้ว

หรือหากมองเฉพาะผลงานของเรา อย่างละครเรื่องรอยรักรอยบาป ล่าสุดทางช่อง 7 นำไปทำออกทาง Netflix เพราะถ้าเราทำละครกลางคืน มันจะเป็นลิขสิทธิ์ของช่อง ช่องมีสิทธิเอาไปทำโน่นทำนี่ ไม่ใช่ของผู้ผลิตนะครับ อันนี้ก็แล้วแต่ทางช่องว่าจะไปทางไหน

เรื่องนี้เป็นเรื่องแรกของช่อง 7 ที่เอาไปออกทาง Netflix ทุกคนโดยเฉพาะพี่รู้สึกตื่นตัวมาก ตื่นเต้นดี และเสียงตอบรับที่กลับมาก็ไม่มีลบเท่าไหร่ มีบ้างแต่น้อยกว่าเดิม

เมื่อเราคุยไปถึงความเปลี่ยนแปลงที่กำลังเกิดขึ้นในยุคดิจิทัล คนทำละครมากว่า 30 ปี มองว่า สิ่งนี้เกิดขึ้นเร็วมาก และคนทำละครโทรทัศน์อาจจะตกใจอยู่

ไม่น่าเชื่อว่าเทคโนโลยีมันมาเร็ว งานมันจะน้อยลงไปในทันทีเลย เรามาตั้งสติแล้วคิดดูว่า ตอนนี้เราไม่ได้อยู่ในธุรกิจนี้ แต่เราเป็นคนทำคอนเทนต์ หรือคอนเทนต์โพรวายเดอร์

ฉะนั้นก็แค่เปลี่ยนแพลตฟอร์มไปเท่านั้นเอง แค่หาให้เจอก่อน แล้วทำความคุ้นเคยกับเขา ซึ่งเรื่องนี้พี่ก็ได้คุยลูกๆ ซึ่ง ลูกๆ พี่เป็นคนรุ่นใหม่ เขาเข้าใจยิ่งกว่าเราอีก เขาทันยิ่งกว่าเรา จึงบอกให้เตรียมตัว เตรียมคิดไว้

คนทำละครต้องมองให้กว้าง ณ วันนี้ คอนเทนต์ไม่ได้อยู่แค่ในจอทีวี แต่กระจายอยู่ในดิจิทัลแพลตฟอร์ม และไม่รู้ว่ามันจะไปอยู่ที่ไหนอีกหลังจากนี้ ทั้งคอนเทนต์ และละครคนยังเสพอยู่เช่นเดิม เพียงแต่ว่าเลือกดูจากที่ไหน แค่นั้นเอง

อ่านข่าว :ละครไทยไม่สูญพันธุ์ “สถาพร” แนะคิดต่าง-สร้างงานพรีเมียม

"ละครโทรทัศน์" จากร่วงหล่น สู่ทางแยก "โรยรา" หรือ "รุ่งเรือง"

ถอดมุมคิด “ต้า พาราด็อกซ์” ฟรอนต์แมนสุดมั่นในทางเพลง

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง