คลิปภาพการล่า"ปลาหมอบัตเตอร์ " ภายในอ่างเก็บน้ำเขื่อนสิริกิติ์ อ.ท่าปลา จ.อุตรดิถต์ ของยูทูปเปอร์ เจ้าของช่อง youtube : P.NuFishing เป็นสิ่งยืนยันปัญหาการแพร่พันธุ์ "ปลาหมอบัตเตอร์ " 1 ใน 3 ปลาหมอต่างถิ่น ที่กรมประมง ห้ามนำเข้า ส่งออก หรือ เพาะเลี้ยงมาตั้งแต่ปี 2561 พร้อมๆ กับปลาหมอสีคางดำ และ ปลาหมอมายัน
ยูทูปเปอร์ เจ้าของช่อง youtube : P.NuFishing
ตลอด 1 วัน ในการตกปลา ยูทูปเปอร์รายนี้สามารถตกปลาหมอบัตเตอร์ขนาดใหญ่ได้หลายสิบตัว ก่อนจะนำมาปรุงรับประทาน ซึ่งก็พบว่าลักษณะของเนื้อปลาหมอบัตเตอร์มีรสชาติดี มีความหนึบแน่น หอม หวาน อร่อยกว่าปลานิล
กนกศักดิ์ จุลบุตร ชาวประมงบ้านท่าเรือเก่า
กนกศักดิ์ จุลบุตร ชาวประมงบ้านท่าเรือเก่า หมู่ที่ 8 บ้านห้วยเจริญ ต.ผาเลือด อ.ท่าปลา จ.อุตรดิตถ์ บอกว่า ปลาหมอบัตเตอร์เป็นปลาที่ฉลาดกินทุกอย่าง แม้แต่อาหารของชาวประมงที่เทลงในน้ำขณะล้างจาน มักจะอาศัยอยู่ใต้แพเป็นฝูงใหญ่ การตกเบ็ดต้องใช้เวลา โดยที่ผ่านมาเคยตกได้ตัวใหญ่สุดประมาณ 2 กิโลกรัม
ชาวประมงบอกอีกว่าปลาหมอบัตเตอร์มักจะไล่กินปลา รวมไปถึงไข่ของปลาชนิดอื่นๆ และแพร่พันธุ์เร็วมาก ปริมาณปลาหมอบัตเตอร์จึงเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วจนปลาพื้นบ้าน และ ปลาธรรมชาติแทบจะไม่เหลือ ส่วนสาเหตุที่มีปลาหมอบัตเตอร์เข้ามาแพร่พันธุ์ทราบว่าเกิดจากมีชาวประมงนำมาเลี้ยงในกระชัง แล้วกระชังขาด จึงหลุดรอดสู่อ่างเก็บน้ำ
ผลกระทบมีเยอะมาก ก่อนหน้านี้กุ้งก้ามกรามจะมีมาก แต่ปัจจุบันถูกปลาหมอบัตเตอร์กินจนจะหมดไป และ มีนิสัยดุร้าย ปลานิลธรรมชาติปัจจุบันก็หายาก มากขึ้น
อนุวัติ อุปนันไชย ประมงจังหวัดอุตรดิตถ์
อนุวัติ อุปนันไชย ประมงจังหวัดอุตรดิตถ์ บอกว่า ปลาหมอบัตเตอร์ พบที่อ่างเก็บน้ำเขื่อนสิริกิติ์ เมื่อปี 2546 – 2547 ไม่แน่ชัดว่าจะหลุดมาจากปลาที่ชาวบ้านนำมาเลี้ยงเป็นปลาสวยงาม หรือ นำมาเลี้ยงในกระชัง โดยใต้อ่างเก็บน้ำเขื่อนสิริกิติ์จะมีตอไม้เป็นจำนวนมาก เหมาะเป็นแหล่งที่อยู่อาศัย ขณะนี้ปลาหมอบัตเตอร์ เข้าไปแทนที่ ปลาแรด และ ปลาหมอช้างเหยียบ ขณะที่สัตว์น้ำพื้นถิ่นอื่นๆ ค่อยๆหายไป
ได้ประชาสัมพันธุ์ให้ประชาชนทั่วไปทราบแล้วว่าเป็นปลาที่ห้ามมีการครอบครอง ห้ามเพาะเลี้ยง อย่างเด็ดขาด ณ ขณะนี้ พบเฉพาะในอ่างเก็บน้ำของเขื่อนสิริกิติ์ ยังไม่พบตามลำน้ำต่างๆ ยอมรับว่าการกำจัดให้หมดไป ทำได้ยากมาก เพราะอ่างเก็บน้ำของเขื่อนสิริกิติ์มีพื้นที่กว้างมาก
ปลาหมอบัตเตอร์ มีถิ่นกำเนิดอยู่ในทวีปแอฟริกา ที่ผ่านมามีรายงานการพบปลาชนิดนี้ในพื้นที่จังหวัดอุตรดิตถ์ และ กาญจนบุรี โดยทางกระทรวงเกษตรและสหกรณ์กำหนดเป็นสัตว์นำห้ามนำเข้า ส่งออก หรือ เพาะเลี้ยง มาตั้งแต่ปี2561ผู้ฝ่าฝืนมีโทษสูงสุด จำคุกไม่เกิน 2 ปี หรือ ปรับไม่เกิน 2 ล้านบาท หรือ ทั้งจำทั้งปรับ
(ขอบคุณภาพจาก youtube : P.NuFishing)
รายงาน : พยุงศักดิ์ ศรีวิชัย ผู้สื่อข่าวอาวุโสไทยพีบีเอส ศูนย์ข่าวภาคเหนือ