ค้นหา
ทีวีออนไลน์
เว็บไซต์ในเครือ
เว็บไซต์บริการ

ละครไทยไม่สูญพันธุ์ “สถาพร” แนะคิดต่าง-สร้างงานพรีเมียม

Logo Thai PBS
ละครไทยไม่สูญพันธุ์ “สถาพร” แนะคิดต่าง-สร้างงานพรีเมียม
อ่านให้ฟัง
00:00อ่านข่าวให้ฟังโดย Botnoi Voice เว็บแอปพลิเคชันสำหรับสร้างเสียงจากข้อความด้วย AI (Text to Speech)

ห้วงเวลากว่า 30 ปี ในวงการบันเทิงจากนักแสดงแถวหน้ามากความสามารถ กับผลงานนับไม่ถ้วน ไม่ว่าจะเป็นละครโทรทัศน์ อย่าง ปัญญาชนก้นครัว แฝดอลวน บัวแล้งน้ำ ขมิ้นกับปูน สี่แผ่นดิน และอีกหลายๆ เรื่อง อีกทั้งด้านภาพยนตร์ งานเพลง เก็บเกี่ยวประสบการณ์ต่อยอดทำเบื้องหลังในฐานะผู้จัดและผู้กำกับละครมือทอง สร้างสรรค์ผลงานจนเป็นที่ยอมรับการันตีด้วยรางวัลมากมาย

รางวัลเป็นความสำเร็จที่ต้องใช้ระยะเวลา และความอดทน แม้จะเป็นความสำเร็จ ณ ช่วงนั้น ๆ แต่กลายเป็นแรงผลักดัน แรงบันดาลใจคิดสร้างสรรค์ผลงานในฉบับของตัวเองจนถึงปัจจุบัน

หลายสิ่งหลายอย่างเปลี่ยนไปตามกาลแห่งเวลา เฉกเช่นเส้นทางละครไทยที่มีการแปรเปลี่ยนไปตามโลกที่ก้าวข้ามข้อจำกัด คนวงการละครต้องปรับตัวให้ทันกับสถานการณ์ภาวะเยี่ยงนี้ สถานการณ์ที่ดิจิทัลกำลังรุกคืบเข้ามาอย่างรวดเร็ว เพื่อความอยู่รอด...

วันนี้เรามีโอกาสเยือนกองถ่ายละคร “หม่อมเป็ดสวรรค์” ผลงานล่าสุดของ พี่ถา สถาพร นาควิไลโรจน์ ที่มีคิวออกอากาศทาง Thai PBS เร็วๆ นี้ เพื่อฟังมุมมองและแนวคิดในฐานะคนผลิตละคร และคลุกคลีกับละครมาค่อนชีวิต

สถาพร นาควิไลโรจน์

สถาพร นาควิไลโรจน์

สถาพร นาควิไลโรจน์

จากวันนั้น สู่วันนี้ “ละครไทย”

ช่วงระยะเวลา 10-20 กว่าปีที่ผ่านมา ละครไทยค่อยๆ ขยับปรับเปลี่ยนเรื่อยๆ แตกต่างด้วยวิธีคิดที่นำเสนอตามยุคสมัยที่ผันเปลี่ยน อย่างละครดรามา 10 ปี ก่อนจะมีความนิ่งๆ แต่ ณ วันนี้การนำเสนอมีความแปลกใหม่มากยิ่งขึ้น มีชั้นเชิง ตั้งแต่วิธีการคิดของคนผลิต คนเขียนบท และผู้กำกับ ตลอดจนถึงตัวนักแสดง

ส่วนละครคอมเมดี้ แนวตลกโปกฮา รูปแบบนำเสนอไม่เปลี่ยนไปมากนัก อาจจะมีในเรื่องของมุกตลกที่มากขึ้น

สำหรับละครแนว Period หรือ ละครย้อนยุค จะเปลี่ยนไปในเรื่องของเนื้อหา ระยะหลังเป็นละครทั่ว ๆ ไป อยู่บนพื้นฐานของคอนเทนต์ สนุก น่าสนใจ และตอบโจทย์คนดูได้ ซึ่งกลุ่มหลักไม่ได้ลงลึกของรายละเอียด แต่มองเนื้อหาที่สนุกและชวนติดตามแบบไม่กะพริบมาเป็นอันดับแรก

ในกระบวนการผลิต อุปกรณ์การถ่ายทำ รวมถึงการแพร่ภาพพี่ถานับเป็นเจ้าแรก ๆ ที่ผลิตงานละครสัดส่วน 16 : 9 ระบบ HD ที่เริ่มเข้ามาแทนที่ทีวีแบบดั้งเดิมสัดส่วน 4 : 3 “อำแดงเหมือนกับนายริด” เรื่องราวที่ถ่ายทอดความเหลื่อมล้ำสถานภาพทางเพศของหญิงไทยในอดีต สู่การลุกขึ้นเรียกร้องความเป็นธรรม ที่แพร่ทาง Thai PBS นับเป็นเรื่องต้น ๆ ที่เริ่มการเปลี่ยนแปลงนี้

“สัดส่วน 4:3 คนก็ยังดูกันค่อนประเทศ ส่วน 16 : 9 ระบบ HD มีราว 20% เป็นช่วงที่กำลังเปลี่ยนแปลง และพัฒนา ซึ่งเราต้องเรียนรู้ ตามให้ทันโลก เรื่องการถ่ายทำ การวางเฟรม เป็นเรื่องแปลกใหม่ในยุคสมัยนั้น”

การปรับตัวที่ลำบากมาก แต่สิ่งที่ออกมาสวยมากเช่นกัน 

งานพรีเมียม ถึงอยู่รอด

ในยุคดิจิทัลที่มีทั้งละคร ซีรีย์ ที่เผยแพร่นอกจากทางหน้าจอทีวีแล้ว ยังมีแพลตฟอร์มที่รู้จักกันว่า “สตรีมมิ่ง” (Streaming) ดูเหมือนว่าช่องทางที่หลากหลาย การแข่งขันก็มากขึ้นตามเช่นกัน

พี่ถามองว่า โทรทัศน์ระบบดิจิทัลเป็นช่วงบูมแค่ระยะเวลาหนึ่ง สุดท้ายไม่ต่างจากยุคฟองสบู่แตกปี 2540 ส่วนสตรีมมิ่ง เป็นวิถีและทางเลือกของคนดู ที่ถูกตาต้องใจและถูกจริต

การผลิตละครมีมากขึ้น เปรียบเสมือนเค้กก้อนหนึ่ง ที่ถูกแบ่งสัดส่วนออกไปเยอะมาก สุดท้ายแล้วก็ไปไม่รอด ทุกอย่างถูกคัดกรองด้วยเวลา

“เวลาจะคัดกรองผู้ที่อยู่รอด ผู้ที่มีผลงานพรีเมียมเท่านั้น ที่จะอยู่ได้ในปัจจุบัน ไม่ว่าจะเป็นผู้จัด ผู้กำกับ คนเขียนบท นักแสดง หรือแม้กระทั่งตัวสถานีเอง”

พี่ถาขยายความเพิ่ม “พรีเมียม” คือบทที่เป็นหัวใจ บทต้องดี และความหมายของ “ดี” คือสนุก ชวนติดตาม ไม่โบราณ การเล่าเรื่องอย่างมีชั้นเชิง

ช่องทีวีลด-ละครน้อย ผู้ผลิตอยู่อย่างไร?

คนยังดูทีวี ยังเชื่ออย่างนั้น ถ้างานคุณพรีเมียม ชวนติดตาม คนก็พร้อมจะกลับมาดู ละครหลายๆ เรื่องที่ผ่านมาก็พิสูจน์ให้เห็นแล้ว

การผลิตละคร คอนเทนต์ สามารถทัดเทียมกับในทุกๆ แพลตฟอร์ม ที่บางอย่างบางครั้งไม่ต้องอาศัยต้นทุนที่สูงมากนัก เพียงอาศัยวิธีคิดอย่างมีชั้นเชิง และวิธีการจัดการที่เหมาะสม

“คนเขียนบทที่อยู่ลำดับ TOP 5 TOP 10 มีงานเผยแพร่อยู่ตลอด คือความหมายของธรรมชาติคัดกรอง”

ส่วนพล็อตเรื่องระหว่างละครทีวีกับสตรีมมิ่ง โดยเนื้อแท้แล้วไม่ได้แตกต่างกัน ขึ้นอยู่กับการตีความและรูปแบบการนำเสนอ

ไม่มีอะไรตายตัว อยู่ที่ยุทธวิธีในการคิดมากกว่า

ละครที่เน้นความแตกต่าง และแปลกใหม่ เหมาะสมกับยุคสมัยนั้น ๆ ที่สามารถครองใจคนดูได้ ท่ามกลางการแข่งขันของหลากหลายแพลตฟอร์ม ซึ่งบางครั้งบางทีเป็นจังหวะชีวิต อิงกระแส และโอกาส

“คิดหาอะไรที่แปลกใหม่และไม่ซ้ำ แสดงให้เห็นว่า คิดและค้นหาสิ่งแปลกใหม่ ที่นำมาเสนอที่แตกต่างจากคนอื่น สุดท้ายแล้วก็อยู่ที่วิธีคิด”

ถ้าละครไม่มีความแปลกใหม่ สุดท้ายก็จะหายไป

โดนเทงาน เรื่องช้ำใจของคนทำละคร

เริ่มจากเค้กก้อนเดียว ที่ต้องแบ่งจัดสรรเป็นก้อนเล็ก ๆ หลายก้อน

ยุคสมัยที่เปลี่ยนไป สถานีโทรทัศน์หลายช่องปรับลด ประกอบกับแพลตฟอร์มสตรีมมิ่งเป็นทางเลือก และคำว่า “เรตติ้ง” ที่ยังมีมนต์ขลัง กลายเป็นตัวชี้วัด หรือเป็นประเพณีปฏิบัติมากัน อีกปัจจัยหลักคือภาวะทางเศรษฐกิจ จึงมาถึงจุดหนึ่งที่นำไปสู่การถูกเทงาน

ผู้จัดบางคนโดนยกเลิก โดนเบรก เตรียมงานเป็นปี ไปออดิชัน (Audition) ดูสถานที่ต่างประเทศ หลายสิ่งหลายอย่าง มันเป็นเรื่องที่น่าช้ำใจเหมือนกัน

อีกด้านหนึ่งในมุมธุรกิจเชิงผู้ประกอบการ พี่ถามองว่าละครเรื่องหนึ่งต้องทุ่มงบลงทุนไม่ใช่น้อย ๆ หลายสิบล้านบาทต่อเรื่อง ท้ายที่สุดแล้วไม่มีใครอยากเจ็บตัว เมื่อได้ไม่คุ้มเสีย ในด้านธุรกิจก็ไปต่อไม่ได้

“ไม่ฟันธงว่าใครผิดใครถูก ทุกคนเริ่มตั้งแต่มีความหวัง แต่ท้ายที่สุดไปต่อไม่ได้ หลายคนต้องย้ายกลับบ้านต่างจังหวัด อีกหลายคนต้องเปลี่ยนอาชีพ”

“คนทำละครได้แต่ให้กำลังใจกัน มีโอกาสก็แบ่งปันกัน มีน้ำใจเอื้อเฟื้อ ในสถานการณ์ ในจังหวะที่โหดร้ายมาก”

และพี่ถาทิ้งท้ายประโยคไว้ด้วยคำถามที่ยังคาใจว่า… “แต่สุดท้ายไม่รู้ว่าเกิดอะไรขึ้น และยังไม่รู้ว่าปีหน้าสถานการณ์จะเป็นอย่างไร”

อำแดงเหมือนกับนายริด Thai PBS

อำแดงเหมือนกับนายริด Thai PBS

อำแดงเหมือนกับนายริด Thai PBS

รางวัลคือแรงบันดาลใจ

รางวัลที่ได้รับมากมายในชีวิตการแสดง และในฐานะผู้กำกับการแสดง อย่างรางวัลกำกับการแสดงยอดเยี่ยม จากละครเรื่อง ผีเสื้อและดอกไม้ หรือ ละครยอดเยี่ยม อย่าง อำแดงเหมือนกับนายริด รวมถึงผลงานอื่น ๆ 

พี่ถา บอกว่าไม่ได้ยึดติดกับรางวัล และรางวัลไม่ได้มีผลกับชีวิตในปัจจุบัน รางวัลที่เคยได้รับเป็นความสำเร็จ ณ เวลานั้น ไม่ได้นำมาชี้วัดปัจจุบัน มันคือผลงานในอดีต เป็นความทรงจำที่มองย้อนกลับไปแล้วกลายเป็นกำลังใจในการสร้างสรรค์ผลงานต่อไป

“ชอบทำอะไรที่เป็นงานศิลปะ ชอบดูอะไรที่อิ่มๆ ดูอะไรที่แอบแฝงความรู้ บรรเจิด ดูแล้วว้าว แต่เราต้องทำงานที่เลี้ยงปากเลี้ยงท้อง เชื่อว่าในตัวเราหลากหลายรูปแบบ ประสบการณ์ทั้งเบื้องหน้าเบื้องหลัง ที่ส่งให้มายืนตรงนี้ได้ แต่ไม่เกี่ยวกับงานในอดีตจะมีผลกับงานปัจจุบัน”

ส่วนละครโทรทัศน์จะกลายเป็นซอฟต์พาวเวอร์ได้หรือไม่นั้น พี่ถา มองว่าได้แน่นอน แต่ต้องได้รับการดูแลอย่างแท้จริง และจริงใจ ไม่อยากให้เป็นแค่ไฟไหม้ฟาง เมื่อถึงเวลาแล้วสงบนิ่ง หรือปรับเปลี่ยน แต่ในส่วนของคนทำละครยังต้องสู้ด้วยลำแข้งของตัวเอง

ละครหม่อมเป็ดสวรรค์

ละครหม่อมเป็ดสวรรค์

ละครหม่อมเป็ดสวรรค์

“หม่อมเป็ดสวรรค์” จากเรื่องจริงสู่ละคร

“หม่อมเป็ดสวรรค์” เป็นโปรเจกต์ที่พี่ถาคิดไว้ตั้งแต่ปี 2554 แสดงให้เห็นว่ามีความคิดต่างมาตั้งแต่ 10 ปีที่แล้ว ณ วันนั้นพี่ถาไม่ได้ตั้งใจอิงกระแส แต่ “หม่อมเป็ดสวรรค์” มาในช่วง LGBT+ และ สมรสเท่าเทียม เกิดเป็นรูปธรรมในช่วงขณะเดียวกัน

ส่วนตัวชื่นชอบละครพีเรียด เรื่องโบราณ ประวัติศาสตร์ เป็นทุนเดิม และเรื่องนี้เป็นโปรเจกต์เมื่อ 10 ปีก่อน นำมาปัดฝุ่นใหม่ ปรุงแต่งเติม ดรามา การต่อสู้ นำเสนอมุมมองร่วมสมัย

“หม่อมเป็ดสวรรค์” ละครพีเรียดอิงประวัติศาสตร์เรื่องแรกของ Thai PBS ที่สะท้อนให้เห็นถึงบทพิสูจน์ของความรัก ภายใต้บรรทัดฐานของความไม่เท่าเทียม ในภาพสังคมไทยช่วงต้นกรุงรัตนโกสินทร์ จากเรื่องจริงที่ถูกบันทึกในเพลงกลอนยาว ของคุณสุวรรณ กวีหญิงในอุปถัมภ์ของกรมหมื่นอัปสรสุดาเทพ ถ่ายทอดผ่านตัวละครที่เป็นหญิงรักหญิง

ละครหม่อมเป็ดสวรรค์

ละครหม่อมเป็ดสวรรค์

ละครหม่อมเป็ดสวรรค์

พี่ถาเล่าว่า ไม่ได้มองว่าเป็นละครเกิร์ลเลิฟ หรือ ยูริ เช่นเดียวกับละครหรือซีรีย์ปัจจุบัน แต่เป็นมุมของความรักที่มีกรอบ วิถี บริบทต่างๆ แบบ 200 ปีก่อน สำหรับรูปแบบละครถูกเรียงร้อยกันอย่างกลมกลืน สอดคล้องกับยุคสมัย ในเรื่องสิทธิ เพศ ความเท่าเทียม ที่อยู่ร่วมกันได้โดยไม่จำกัด

ฉากไคลแมกซ์ คลุมโปงเล่นเพื่อน ที่อยู่ค่อนท้ายเรื่อง ยังไม่ได้คิดรูปแบบการนำเสนอ คิดเพียงว่าจะทำอย่างไรให้สมกับการรอคอย และเป็นที่โจษขานไปอีกสิบปีข้างหน้า

ห้วงเวลากว่า 30 ปี ในวงการบันเทิง ถ้าจะเรียกว่าหลับตาเดินได้ก็คงไม่ผิด พี่ถา บอกว่า การเริ่มนับหนึ่งกับอะไรใหม่ก็คงไม่ใช่ ณ จุดนี้คือโค้งสุดท้ายของชีวิต คือความท้าทาย ที่ต้องดั้นด้นกันไป และสิ่งสำคัญต้องเรียนรู้อยู่ตลอดเวลา เรียนรู้กับเทคโนโลยียุคดิจิทัลให้ทันกับสถานการณ์ปัจจุบัน และมองโลกอย่างเข้าใจเตรียมพร้อมตั้งรับกับการเปลี่ยนแปลงในอนาคต

แต่เชื่อว่าละคร และทีวี ไม่สูญพันธุ์ ยังคงอยู่ตลอด แต่จะอยู่ด้วยอะไรเท่านั้นเอง

 อ่านข่าว :

"ละครโทรทัศน์" จากร่วงหล่น สู่ทางแยก "โรยรา" หรือ "รุ่งเรือง"

ถอดมุมคิด “ต้า พาราด็อกซ์” ฟรอนต์แมนสุดมั่นในทางเพลง 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง