วันนี้ (16 ก.ค.2567) นายอรุณ จันทร์หอม ชาวบ้านหมู่ 4 บ้านบางหยี ต.บางน้ำจืด อ.หลังสวน จ.ชุมพร ยังคงเร่งมือหมาดอวนปู ก่อนนำไปวางในทะเลที่อยู่ไม่ห่างจากบ้านมากนัก ซึ่งบางเดือนในช่วงที่ปูสมบูรณ์ ก็จะมีรายได้จากการจับปูนับพันบาท
ซึ่งแม้ว่าอีกไม่นานพื้นที่บริเวณหาดแหลมริ่ว ใน ต.บางน้ำจืด แห่งนี้ จะถูกพัฒนาท่าเรือขึ้นแต่สำหรับนายอรุณไม่กังวลมากนัก เพราะตัวแทนภาครัฐรับปากว่า จะชดเชยให้ทั้งค่าเรือลำละ 20,000-25,000 บาท และช่วยเหลือเป็นเงินเดือนตลอดระยะเวลาในการดำเนินโครงการนี้
“เขาก็ชดเชย เขาก็มาสำรวจแล้วว่า จะให้เดือนละเท่าไหร เขาก็จะให้ แต่ก็ยังไม่ชัดเจนนะ รู้ว่าจะให้สามเท่าตัว เขาก็ให้เดือนหนึ่งประมาณ 2 หมื่นกว่า หรือ 3 หมื่น ต่อเดือน” นายอรุณ กล่าว
จุดที่โครงการพัฒนาท่าเรือหาดแหลมริ่ว พาดผ่านหลัก คือ บริเวณ หมู่ 4 บ้านบางหยี ซึ่งโครงการนี้เป็นหนึ่งในหลายโครงการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจภาคใต้ ที่เชื่อมโยงการขนส่งระหว่างอ่าวไทยและอันดามัน หรือ โครงการแลนด์บริดจ์
ซึ่งเครือข่ายกลุ่มรักษ์พะโต๊ะ เห็นว่า ในช่วง 3 วันที่ทางสำนักนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) ได้เปิด 6 เวที เพื่อรับฟังความคิดเห็นของประชาชนครั้งที่ 2 เป็นความตั้งใจที่จะแยกโครงการต่าง ๆ ออกจากกัน ทำให้ชาวบ้านไม่ทราบถึงผลกระทบโดยภาพใหญ่ของโครงการชุมพร-ระนองแลนด์บริจด์
และไม่ได้ให้ข้อมูลถึงผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม และวิถีชีวิตของชาวบ้าน และยังตั้งข้อสังเกตถึงความพยายามผลักดันโครงการนี้ที่อาจมีการเมืองอยู่เบื้องหลัง
“รัฐแยกทำประชาพิจารณ์โครงการเป็นจุด ๆ แต่ไม่พูดความจริงว่า นี่คือโครงการขนาดใหญ่มาก ที่จะกระทบกับวิถีชีวิตของชาวบ้าน ยกตัวอย่าง ทางรถไฟบอกว่า ตัวเองจะใช้พื้นที่ขนาดแค่นี้ ส่วนมอเตอร์เวย์ที่ยังไม่มา แต่อยู่ในแผน ก็จะเอาเนื้อที่เพิ่มอีก แล้วผลกระทบทั้งหมด ชาวบ้านก็จะมองไม่เห็นภาพรวมเลย และเป็นที่น่าสังเกต ว่าที่มีความพยายามผลักดันกฎหมายให้รองรับโครงการนี้ โดยพรรคการเมืองหนึ่งเท่านั้น” สมโชค จุงจาตุรัตน์ เครือข่ายกลุ่มรักษ์พะโต๊ะ กล่าว
หนึ่งในข้อกังวลของการเปิดเวทีรับฟังความคิดเห็น 2 เวทีแรก ของสนข. ทั้งที่หมู่ 1 บ้านปากน้ำตะโก ต.ปากตะโก และในหมู่ 4 ต.บางน้ำจืด วันนี้คือ ในส่วนงานถมทะเลกว่า 5,800 ไร่
ผู้เชี่ยวชาญด้านสิ่งแวดล้อม บริษัทที่ปรึกษา ซึ่งเป็นตัวแทน สนข.ชี้แจงว่า ได้นำข้อห่วงใยใน 25 ประเด็น เกี่ยวกับสิ่งแวดล้อมมาปรับแก้ และมีแนวทางป้องกัน พร้อมทั้งการเยียวยาที่จะมีกองทุนเข้ามาช่วยเหลือผู้ได้รับผลกระทบตลอดโครงการนี้
“มีคนถามว่า อยู่ห่างจากโครงการไปประมาณ 5 กิโลเมตร ถ้าคณะกรรมการจัดการกองทุนเห็นว่ามันได้รับผลกระทบ ส่งผลต่อคุณภาพชีวิตของชาวบ้านบริเวณนี้ เราก็เอาเงินกองทุนตรงนี้ไปเยียวยา” น.ส.ศุภรัตน์ โชติสกุลรัตน์ ผู้เชี่ยวชาญด้านสิ่งแวดล้อม บริษัทที่ปรึกษา ตัวแทน สนข.กล่าว
โครงการพัฒนาท่าเรือบริเวณแหลมริ่ว จะมีการก่อสร้างท่าเทียบเรือชั่วคราว ใน ต.บางน้ำจืด ขนาดหน้าท่ายาว 240 เมตร จอดเรือขนาดความยาว 70 เมตรได้ 3 ลำ มีการขุดลอกประมาณ 130 ล้านลูกบาศก์เมตร มีงานก่อสร้างเขื่อนกันคลื่น และงานถมทะเลขนาดพื้นที่ 5,808 ไร่ ซึ่งคาดว่า ใช้เวลาก่อสร้างประมาณ 12 ปี โดยจะเริ่มดำเนินการในปี 2569
อย่างไรก็ตาม ความกังวลเรื่องผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม ตลอดจนการก่อสร้าง เช่น คุณภาพของน้ำทะเล ที่อาจมีความขุ่น และโลหะหนักจากตะกอนที่ฟุ้งกระจาย ผลกระทบต่อทรัพยากรชีวภาพทางทะเล และปริมาณสัตว์น้ำที่อาจลดลง
ซึ่งทาง สนข.ชี้แจงถึงแนวทางจัดการ เช่น การติดตั้งม่านกั้นตะกอนล้อมรอบที่ทำการขุดลอก และตอกเสาเข็ม หรือ การจัดทำแผนกำจัดน้ำมันกรณีการเกิดการรั่วไหล ทั้งนี้ สนข.จะเปิดเวทีรับฟังความคิดเห็นกลุ่มย่อยใน จ.ชุมพร และระนอง รวม 5 เวทีตลอดสัปดาห์นี้
เรียบเรียง : ติชิลา พุทธสาระพันธ์ ผู้สื่อข่าวไทยพีบีเอส ศูนย์ข่าวภาคใต้