"ละครโทรทัศน์" จากร่วงหล่น สู่ทางแยก "โรยรา" หรือ "รุ่งเรือง"

Logo Thai PBS
"ละครโทรทัศน์" จากร่วงหล่น สู่ทางแยก "โรยรา" หรือ "รุ่งเรือง"
อ่านให้ฟัง
00:00อ่านข่าวให้ฟังโดย Botnoi Voice เว็บแอปพลิเคชันสำหรับสร้างเสียงจากข้อความด้วย AI (Text to Speech)

ความบันเทิงบนหน้าจอโทรทัศน์ หากเอ่ยถึงอดีตในช่วง 20-30 ปี ก่อนหน้านี้ "ละครโทรทัศน์" ถือเป็นความบันเทิงที่เข้าถึงทุกครัวเรือนในประเทศไทยได้รับชม ซึมซับอรรถรสของเนื้อหาของบทละคร การแสดง ที่มีทั้งสุข เศร้า เหงา ซึ้ง ไปจนถึงตลกโปกฮา ความบันเทิงต้นทุนต่ำที่ให้คนทั่วไปสามารถดูได้โดยไม่เสียเงิน จึงอยู่คู่กับสังคมไทยมายาวนาน

จนเข้าสู่ยุคเปลี่ยนผ่าน จากยุค "แอนาล็อก" แปรเปลี่ยนเป็น "ดิจิทัล" ทำให้สถานีโทรทัศน์เพิ่มจำนวนมากขึ้น จากจำนวนช่องที่นับนิ้วได้ไม่เกิน 10 ช่อง ทั้ง 3 5 7 9 11 และ ไอทีวี และ เพิ่มสูงขึ้น 4 เท่าตัว หรือกว่า 24 ช่อง เมื่อ กสทช.เปิดประมูลทีวีดิจิทัล

ทั้งคนในแวดวงอุตสาหกรรมบันเทิง ตั้งแต่ต้นน้ำเช่นบรรดานักลงทุน ไปจนถึงปลายน้ำต่างก็กระโดดเข้าร่วมประมูลเป็นเจ้าของทีวีดิจิทัล สร้างความคึกคักให้กับจอโทรทัศน์เมืองไทยอย่างมาก

ทั้งวงการข่าวที่คึกคักซื้อตัวกันอย่างรุนแรง มาจนถึงวงการละครโทรทัศน์ที่บรรดาคนในแวดวงต่างก็เชื่อว่า นี่คือโอกาสของอุตสาหกรรมบันเทิงจอแก้วของไทย

อ่านข่าว : “ดาราวิดีโอ” ยุค 2024 “สยาม สังวริบุตร” ปรับตัวเป็น “คอนเทนโพรวายเดอร์”

ฟองสบู่ละครไทยแตก

ไม่นานนักภาพอนาคตที่หลายฝ่ายมุ่งหวัง ก็พังครืน "ฟองสบู่จอแก้ว" แตกลง เพราะแม้ไม่อ้างอิงตัวเลขที่ละเอียดมากนัก แต่จากคำบอกเล่า จากความรู้สึกแท้จริงของคนในแวดวงนี้ก็ชี้ชัดว่า สิ่งที่คิดไม่ได้เป็นไปอย่างที่คาดหวัง เพราะ เค้กยังคงมีก้อนเดียว ขณะที่ผู้ที่จะเข้ามาแบ่งเค้กจากเม็ดเงินโฆษณาเพิ่มกว่า 4 เท่าตัว

สำหรับแรก ๆ เมื่อตอนมีทีวีดิจิทัลก็เริ่มเห่อกัน แต่สุดท้ายแล้วเป็นการบูมแค่ช่วงระยะเวลาหนึ่ง สุดท้ายเหมือนฟองสบู่แตกเหมือนยุค 2540 ที่ผ่านมา และเปิดละครกันเยอะมาก เปรียบเทียบเหมือนเค้กมีอยู่ก้อนเดียว แต่กลับถูกแบ่งสัดส่วนออกไปเยอะมาก สุดท้ายแล้วก็ไม่รอด ทุกอย่างถูกคัดกรองด้วยเวลา

"พี่ถา" สถาพร นาควิไลโรจน์ นักแสดงและผู้กำกับที่คลุกคลีในวงการบันเทิงมากว่า 30 ปี มองว่า เริ่มต้นจากเค้กก้อนเดียวที่ต้องแบ่ง ทีวีเพิ่มขึ้นหลายช่อง ยุคสมัยเปลี่ยน มีสตรีมมิ่งเข้ามา ละครแต่ละเรื่องจะเป็นแนวของแต่ละช่องไป ผู้ชมก็ไปเสพเรื่องเฉพาะทางที่ถูกใจ

 สถาพร นาควิไลโรจน์ นักแสดงและผู้กำกับที่คลุกคลีในวงการบันเทิงมากว่า 30 ปี

สถาพร นาควิไลโรจน์ นักแสดงและผู้กำกับที่คลุกคลีในวงการบันเทิงมากว่า 30 ปี

สถาพร นาควิไลโรจน์ นักแสดงและผู้กำกับที่คลุกคลีในวงการบันเทิงมากว่า 30 ปี

แต่เมื่อมาถึงจุดหนึ่ง ที่ผู้จัดละครหรือผู้กำกับถูกยกเลิกงาน แม้ว่าจะมีการลงนามสัญญากันแล้ว ซึ่งอีกด้านหนึ่งถ้ามองในเชิงธุรกิจ หรือในเชิงผู้ประกอบการก็เข้าใจว่า ละครเรื่องหนึ่งต้องลงทุนไปเป็นเงินหลักหลายสิบล้านต่อเรื่องท้ายที่สุดแล้วได้ไม่คุ้มเสียในด้านธุรกิจก็ไปต่อได้ยาก ไม่มีใครอยากเจ็บตัว เพราะได้ไม่คุ้มเสีย ซึ่งไม่อาจฟันธงได้ว่าใครผิด-ใครถูก

คนในแวดวง มีอะไรต้องช่วยกัน ไม่ทิ้งกัน ชีวิตในวงการทีวี ช่วงแรก ๆ ที่มีทีวีเกิดขึ้นหลายช่อง ละครออกมามากขึ้น คนทำละครทุกคนยังมีความหวัง มองเป็นโอกาส แต่สุดท้ายไม่รู้เกิดอะไรขึ้น

เมื่อช่วงเวลาผ่านมาแล้วจะให้กลับไปอยู่จุดเดิมนั้นคงไม่ได้แล้ว ไม่มีทางแล้ว แต่ทุกคนยังมีความหวัง อยากได้สิ่งที่นั้นกลับมา หลายคนกลับไปต่างจังหวัด เปลี่ยนอาชีพ ซึ่งมีจำนวนไม่น้อย 

ขณะที่ในมุมของ "พี่ชู" หรือ บุญธร กิติพัฒฑากรณ์ ผู้กำกับการแสดง และรับจ้างผลิตละคร ที่นิยามตัวเขาว่า คอนเทนต์ โพรไวเดอร์ (Content Provider) ก็เห็นคล้ายคลึงกันถึงความเปลี่ยนแปลงที่มาอย่างรวดเร็ว ว่า

ผิดรูปผิดรอยมาก ๆ ผิดธรรมชาติ เปรียบเทียบก็เหมือนกับสึนามิ ที่สาดมาเพื่อจัดระเบียบใหม่ ก็มีคนเจ็บ คนล้ม แต่ล้มยังไงก็ต้องอยู่ให้ได้ ไปยึดอาชีพอื่นหรือถ้ามีอาชีพอื่นก็ไม่ได้ ก็จะอยู่ตรงนี้ในทางใหม่ของเขา

"บุญธร" ยังอธิบายว่า ปัจจุบันละครมีความเปลี่ยนแปลงไป ซึ่งการเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นเมื่อไม่นานมานี้ เกิดการช็อกน้ำ ละครมีการผลิตน้อยลง เนื่องจากสถานีขายสปอนเซอร์ไม่ได้

อ่านข่าว : ละครไทยไม่สูญพันธุ์ “สถาพร” แนะคิดต่าง-สร้างงานพรีเมียม

"ละคร" ต้องปรับตัวด้วยกลยุทธ์ทางการตลาด

ดังนั้น ในมุมของนักการตลาด อย่าง ผศ.ดร.ลลิตา โกศการิกา อาจารย์ประจำภาควิชาการตลาด มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ มองว่า การทำละครในยุคนี้ต้องวิเคราะห์ตลาดมากขึ้น หรือเรียกว่า "marketing insight"

อันดับแรก ผู้ผลิตต้องรู้ความต้องการลูกค้า 2.พัฒนาโปรดักส์หรือซีรีย์ให้ตอบโจทย์ 3.การสื่อสารการตลาด ต้องโปรโมตมาก่อน เพราะคนดูไม่รอช่องเราช่องเดียวแล้วมีตัวเลือกอื่น ๆ อีกมากมาย

การปรับการทำงานในสอดรับกับยุคสมัย ผู้ผลิตหลายคนมีรูปแบบการทำงานที่ดูเหมือนจะมาก่อนกาล เพราะได้ปรับตัวเตรียมพร้อมการเปลี่ยนแปลงที่รวดเร็วฉับไวแล้ว

สยาม สังวริบุตร ผู้กำกับการแสดงและควบคุมการผลิตละครโทรทัศน์ของบริษัท ดาราวิดีโอ จำกัด

สยาม สังวริบุตร ผู้กำกับการแสดงและควบคุมการผลิตละครโทรทัศน์ของบริษัท ดาราวิดีโอ จำกัด

สยาม สังวริบุตร ผู้กำกับการแสดงและควบคุมการผลิตละครโทรทัศน์ของบริษัท ดาราวิดีโอ จำกัด

โดยเฉพาะ "พี่หลุยส์" สยาม สังวริบุตร ผู้กำกับการแสดงและควบคุมการผลิตละครโทรทัศน์ของบริษัท ดาราวิดีโอ จำกัด ก็ฉายภาพอดีตและย้ำว่า ทางดาราวิดีโอ ปรับตัวมาอย่างต่อเนื่อง โดยเปลี่ยนแปลงหลัก ๆ ก่อนจะเป็นยุค "ดิจิทัลดิสรัปชัน"

ก่อนหน้านี้ของเราจะถ่ายปั๊บ ก็ออกอากาศเลย ตรงนั้นคุณภาพของงานอาจจะไม่ดีมาก ในสายตาคนดูอาจจะด้อย แต่จริง ๆ แล้วมันได้ผล เพราะสามารถจะปรับได้ เช่น สมมติว่าเราดูวันนี้ แล้วคนดูชอบตัวละครตัวนี้ เราเขียนบทปรับมา ให้เพิ่มตัวละครตัวนี้อีกหน่อย อะไรที่คนดูไม่ชอบเราก็ตัดออก ตามเทรนด์ ตามกระแสได้ตลอด ซึ่งก็ถูกใจคน เรารับทราบข้อนี้มาตลอดแต่เราเลือกที่จะไปอย่างนั้น เพราะคนดู ดูเยอะจริง ๆ ดูแล้วทันใจเขา

แต่เมื่อมาถึงจุดนี้เมื่อมีการปรับมาเป็นละครน้อยลง จากที่เคยทำละครสูงสุดเกือบเดือนละเรื่อง ถ่ายทำพร้อม ๆ กับการไปออกอากาศไป 1 ปี ถ่ายไปเกือบ 12 เรื่อง ในขณะนี้ก็กลายเป็นว่า คุณภาพทางด้านภาพ และแสงเสียงดีขึ้น มีระยะเวลามากขึ้นมีความละเอียดมากขึ้น การผลิตเหมือนกับงานโฆษณากับงานภาพยนตร์ เช่น ภาพยนตร์ ใช้เวลา 2 ชั่วโมง ในการออกฉาย และใช้เวลาถ่ายหลายเดือน เทียบกับอดีตที่ละครของเราแต่ก่อนคือ 1 ตอนออกอากาศ 2 ชั่วโมง อาจใช้เวลาถ่ายทำเพียง 1 วัน 

บุญธร กิติพัฒฑากรณ์ ผู้กำกับการแสดง และรับจ้างผลิตละคร ที่นิยามตัวเขาว่า คอนเทนต์ โพรไวเดอร์ (Content Provider)

บุญธร กิติพัฒฑากรณ์ ผู้กำกับการแสดง และรับจ้างผลิตละคร ที่นิยามตัวเขาว่า คอนเทนต์ โพรไวเดอร์ (Content Provider)

บุญธร กิติพัฒฑากรณ์ ผู้กำกับการแสดง และรับจ้างผลิตละคร ที่นิยามตัวเขาว่า คอนเทนต์ โพรไวเดอร์ (Content Provider)

ในมุมนี้ "บุญธร" ซึ่งเป็นอีกคนที่มองการเปลี่ยนแปลงของแวดวงละครและปรับตัว โดยระบุว่า ในยุคสมัยเปลี่ยนไป ทุกอย่างรวดเร็ว กระชับ โดยซีรีย์จะเข้าเรื่องทันที จำนวนตอนจะลดน้อยลง ละครยาวอยู่ไม่ได้ โดยเฉพาะช่วงไพรม์ไทม์ที่วิถีคนก็เปลี่ยนไป ช่วงวัยของคนที่นิยมดูละครลดลง ขณะที่คนรุ่นใหม่จะอยู่กับโทรศัพท์มือถือจึงทำให้ละครที่มีความยาว เริ่มขายไม่ดี

ถ้าเป็นยุคใหม่ไม่ว่าละครหรือซีรีย์ จะขยับตอนให้สั้นหมด จำนวนตอนจะใกล้เคียงกับซีรีย์ ที่ต้องหายไปคือช่วงเอื้อนเอ่ย ช่วงน้ำๆ แต่มองว่าละคร กับซีรีย์ ไม่ต่างกัน ละครเป็นหมวดหนึ่งในรูปแบบของซีรีย์

ขณะที่ "แอน ทองประสม" นักแสดงชื่อดัง ที่ผันตัวมาเป็นผู้จัดละคร ก็มองว่า หากเปรียบการทำละครกับการทำแกงเขียวหวานที่เคยถูกปากคนไทย แต่ขณะนี้อาจไม่เป็นเช่นนั้นแล้ว

สมมติว่า เราทำแกงเขียวหวาน ทั้งที่รู้ว่าตลาดแกงเขียวหวานมีคนขายเต็มไปหมด และเราก็ทำขาย เราก็คิดว่ายังไงคนไทยก็กินแกงเขียวหวาน แต่ปรากฏว่า ตอนนี้คนไทยไม่เอาแล้วแกงเขียวหวาน แอนก็อ้าว วืดไปเหมือนกัน

ดังนั้น ในการเป็นผู้จัดเลยทำให้แอนต้องรีบปรับตัว หาความรู้ตัวเติมเต็มตัวเอง เพื่อที่จะเดินตามโลกให้ทัน รวมถึงเทคโนโลยีที่เปลี่ยนไปแล้ว ไม่ใช่เปลี่ยนแค่รสนิยม (Taste) หรือ รสชาติในการกิน ในการบริโภค

แอน ทองประสม นักแสดงชื่อดัง ที่ผันตัวมาเป็นผู้จัดละคร

แอน ทองประสม นักแสดงชื่อดัง ที่ผันตัวมาเป็นผู้จัดละคร

แอน ทองประสม นักแสดงชื่อดัง ที่ผันตัวมาเป็นผู้จัดละคร

แต่เครื่องมือ อุปกรณ์ เทคนิคต่าง ๆ ในการผลิตมันเปลี่ยนไปอย่างเร็ว ซึ่งการที่เราเป็นเหมือนคน 1990 ถ้าไม่เร่งปรับตัวย่อมไม่ได้ มาถึงตรงนี้ก็ต้องปรับตัวเองมาอยู่ในเจนเนอเรชันนี้เพื่อให้ทันเด็กเหมือนกัน

ดังนั้นจึงทำให้แอนเปลี่ยนความคิดว่า เด็กไทยกินแกงเขียวหวานจริง แต่ไม่ใช่เป็นแบบนี้แล้ว คุณต้องผสมใหม่ แอนถึงรู้วา อ๋อใช้กะทิสดไม่ได้ เขาไม่ชอบ เขาไม่ชอบใส่มะเขือเปราะ เขาไม่รู้จักมะเขือเปราะ มันขม ถ้าเราถูกฝึกให้กินมะเขือเปราะมาตั้งแต่เด็ก ๆ แต่รุ่นนี้เขากินมะเขือยาวแทน หรือแครอทใส่เข้าไป เขากินได้ 

ทางรอดละครไทยต้อง "พรีเมียม-สมจริง"

อย่างไรก็ตาม "บุญธร" เริ่มขยับขยายหา "โอกาส" ในการผลิตละคร โดยขณะนี้ได้เริ่มผลิตละครส่งช่องทางสตรีมมิง ต่าง ๆ ทั้ง เน็ตฟลิกซ์ VIU ออริจินัล แม้ว่าโอกาสในการทำงานอาจจะไม่ถี่หรือมากเท่ากับละครที่ละครระยะเวลา 1 ปี อาจจะอยู่ที่ 4 เรื่องแต่ การผลิตผลงานลง สตรีมมิ่งอาจจะเหลือปีละ 1-2 เรื่อง

งบประมาณก็จะแตกต่างกัน ความคุ้มค่าในการทำงานก็ไม่เหมือนกัน ซึ่งยุคนี้ต้องการคุณภาพมากขึ้น ต้องแข่งขันหรือไม่แข่งขันไม่รู้ แต่ต้องการคุณภาพมากขึ้น เราอาจจะไม่ต้องเก่งที่สุด แต่ต้องมีอะไรที่ทำให้คนดูอยากมาดู

ด้วยเหตุที่ จำนวนการผลิตน้อยลง คุณภาพจะต้องมากขึ้น แปลว่า วิธีการทำงานของทีมต้องปรับเปลี่ยน เช่น ช่วงที่ยังไม่ออกกอง หรืองานยังอยู่ในกระบวนการพิจารณาสิ่งที่ต้องทำคือจากทำการบ้านอย่างหนังมากขึ้น เช่น กรณีคนเขียนบท หากจะเขียนเรื่องช่างทำรองเท้า ก็ต้องพาตัวเองไปลองฝึกทำรองเท้าเพื่อนำข้อมูลมาเขียนเป็นบท

สอดคล้องกับ "พี่ถา" ที่มองว่า ในปัจจุบันผู้ที่มีผลงานพรีเมียมเท่านั้นจะอยู่รอด โดยจะต้องเป็นในทุกภาคส่วนทั้ง ผู้จัด ผู้กำกับ คนเขียนบท หรือแม้กระทั่งตัวสถานี พรีเมียมเท่านั้นที่จะอยู่ได้ ซึ่งคำว่า "พรีเมียม" คือ อะไร คือ บทที่เป็นหัวใจ บทต้องดี ซึ่งความหมายของคำว่าดี คือ สนุก ชวนติดตาม และไม่โบราณ การเล่าเรื่องที่มีชั้นเชิง ผู้กำกับ นี่แหละคือผลงานที่พรีเมียม ต้องมีหลายส่วนประกอบกัน

คนยังดูทีวี ยังเชื่ออย่างนั้น ถ้างานคุณพรีเมียมจริง ชวนติดตามจริง ๆ คนพร้อมกลับไปดู พิสูจน์ให้เห็น

ขณะที่ในมุมของ "ปราณประมูล" นักเขียนบทละครโทรทัศน์ ก็มีความเห็นที่ตอกย้ำความเชื่อเรื่อง "คุณภาพ" ของละครไทยว่าจะเป็นจุดแข็งที่ทำให้ละครโทรทัศน์ไทยจะยังคงอยู่ก็คือ ทีวีนั้นให้ผู้ชมดูฟรี เพราะฉะนั้นทีวีต้องพรีเมียมถ้าจะทำให้ผู้ชมยังดูอยู่ คุณภาพต้องพรีเมียม

ปราณประมูล นักเขียนบทโทรทัศน์มือทองมากประสบการณ์

ปราณประมูล นักเขียนบทโทรทัศน์มือทองมากประสบการณ์

ปราณประมูล นักเขียนบทโทรทัศน์มือทองมากประสบการณ์

หมายความว่า ทั้งคุณภาพ ทั้งเนื้อหา ทั้งการแสดง ทั้งหน้าตานักแสดง ในเมื่อคู่แข่งเรา จำพวกแพลตฟอร์มต่าง ๆ แข็งแรงมาก เพราะฉะนั้นถ้าเรามองว่า แพลตฟอร์มต่าง ๆ เป็นคู่แข่ง คุณก็ต้องทำให้คนมาดูทีวี ในสิ่งที่ต้องดูทีวี ถึงจะสะใจ

สิ่งที่ทุกคนต้องทำคือ การอัปตัวเอง คือ ต้องเจ๋งจริง ถ้าคุณเจ๋งจริงเน็ตฟลิกซ์ก็มาซื้อคุณไป คุณก็สามารถฉายทั้งของคุณและเน็ตฟลิกซ์ฉายตาม คือถ้าคุณดีจริงมันจะเกิดสิ่งนี้ขึ้น ฉะนั้นคุณต้องทำให้คุณดีจริง

ท้ายที่สุด นักการตลาด "ผศ.ดร.ลลิตา" ก็สรุปการนำการตลาดมาประยุกต์ร่วมกับละคร ที่จะเป็นทางรอดโดยระบุว่า การทำละคร หรือจะเรียกว่า ซีรีย์ก็ตาม ยุคนี้ทุกอย่างต้องสมจริง มีเหตุผลคือต้อง Real และ Reasonable เริ่มตั้งแต่บท เสื้อผ้า นักแสดง การเมกอัป ฉาก ซีจี การตัดต่อ การนำเสนอ เพลง ทุกอย่างที่นำเสนอ

ผศ.ดร.ลลิตา โกศการิกา อาจารย์ประจำภาควิชาการตลาด มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์

ผศ.ดร.ลลิตา โกศการิกา อาจารย์ประจำภาควิชาการตลาด มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์

ผศ.ดร.ลลิตา โกศการิกา อาจารย์ประจำภาควิชาการตลาด มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์

ที่สำคัญจะต้องไม่ลืมการสื่อสารการตลาดที่ทำให้ผู้ชมรับรู้ว่าละครจะออนแอร์แล้ว จะต้องมีการโปรโมต และการสร้างความสัมพันธ์ ( Relationship) และการมีปฏิสัมพันธ์ "Engagement" ระหว่างละครหรือซีรีย์กับกลุ่มผู้ชมจะทำให้เกิดความสัมพันธ์ที่แน่นแฟ้นมากขึ้น เพราะยุคนี้เป็นยุคที่แค่ขายหรือออกอากาศแล้วก็จบสิ้นเลยไม่ได้ ต้องสร้างให้เขาเกิดความผูกพัน แล้วอยู่กับเราเป็นครอบครัว เขาก็จะสนับสนุนเรื่องอื่น ๆ ของเราต่อไป

ยืนยันว่า จนถึงอีกในอีก 10-20 ปีข้างหน้า คนก็จะยังดูละคร แต่จะเปลี่ยนรูปแบบ เพราะละครคือ ความบันเทิง (Entertainments) อาจจะเปลี่ยนชื่อเรียก ไม่เรียกละครแล้ว แต่เด็กรุ่นใหม่ เรียกซีรีย์ และเนื้อเรื่องอาจเปลี่ยน บางคนอาจชอบดูพล็อตเรื่อง เป็นตอบโจทย์ยุคสมัยมากขึ้น 

อ่านข่าว :

ปรับตัวเพื่อเดินต่อ "บุญธร" มองสตรีมมิงเป็นโอกาสคนทำละคร

“ละครไทย” ในมุม “แอน” รู้ให้ทัน-ปรับตัวให้ได้-ลับคมเสมอ-จะอยู่รอดใน “ยุคดิจิทัล

“ปราณประมูล” เบื้องหลังคนสำคัญ “ละคร” ถูกบีบรอบตัว ต้องทำ “พรีเมียม” ให้คนคืนจอ

ข่าวที่เกี่ยวข้อง