เกษตรฯ ประกาศรับรอง "เทคโนโลยีจีโนม" เดินหน้าปรับปรุงพันธุ์พืช-สัตว์

สังคม
12 ก.ค. 67
16:24
546
Logo Thai PBS
เกษตรฯ ประกาศรับรอง "เทคโนโลยีจีโนม" เดินหน้าปรับปรุงพันธุ์พืช-สัตว์
อ่านให้ฟัง
00:00อ่านข่าวให้ฟังโดย Botnoi Voice เว็บแอปพลิเคชันสำหรับสร้างเสียงจากข้อความด้วย AI (Text to Speech)
“กรมวิชาการเกษตร” เสนอ “รมว.เกษตรฯ” ลงนาม ประกาศกระทรวงฯ เรื่อง “การขอรับรองสิ่งมีชีวิตที่พัฒนาจากเทคโนโลยีการปรับแต่งจีโนม เพื่อใช้ประโยชน์ในภาคการเกษตร พ.ศ.2567” เร่งประกาศหลักเกณฑ์ วิธีการ เงื่อนไข กรมวิชาการเกษตร กรมประมง กรมปศุสัตว์ ภายในสิ้นเดือนนี

วันนี้ (12 ก.ค.2567) นายรพีภัทร์ จันทรศรีวงศ์ อธิบดีกรมวิชาการเกษตร เปิดเผยว่า วันที่ 11 ก.ค.2567 ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า รมว.เกษตรและสหกรณ์ ลงนามประกาศกระทรวงเกษตรและสหกรณ์เรื่อง “การขอรับรองสิ่งมีชีวิตที่พัฒนาจากเทคโนโลยีการปรับแต่งจีโนม เพื่อใช้ประโยชน์ในภาคการเกษตร พ.ศ.2567”

ซึ่งประกาศดังกล่าวจะเป็นการเดินหน้า สำหรับเทคนิคการปรับปรุงพันธุ์ใหม่ (New Breeding Techniques) ที่มีความก้าวหน้าอย่างรวดเร็ว โดยเฉพาะเทคโนโลยีการปรับแต่งจีโนม (Genome Editing, GEd) ที่มีศักยภาพสำหรับการปรับปรุงพันธุ์สิ่งมีชีวิต เพื่อใช้ประโยชน์ในภาคการเกษตร สามารถปลดปล่อยสู่สิ่งแวดล้อมได้อย่างปลอดภัย และจำหน่ายเชิงพาณิชย์อย่างเหมาะสม

เพื่อรองรับการพัฒนาพันธุ์พืช สัตว์ประมง จากเทคโนโลยีปรับแต่งจีโนม ประกาศดังกล่าวจะใช้บังคับเมื่อกำหนด 30 วัน นับตั้งแต่วันถัดจากประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป

นายรพีภัทร์ กล่าวต่อว่า เทคโนโลยี Ged เป็นเทคนิคในการปรับเปลี่ยน และแก้ไขรหัสพันธุกรรมของสิ่งมีชีวิตที่มีความจำเพาะและแม่นยำ หรือเพื่อแก้ไขให้ได้ยีนที่มีลักษณะตามต้องการ ซึ่งองค์การอาหารและเกษตรแห่งสหประชาชาติ (FAO) และองค์การเพื่อความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการพัฒนา (OECD) ให้การยอมรับ

ที่สำคัญเทคโนโลยี GEd ไม่มียีนถ่ายฝากจากสิ่งมีชีวิตอื่น ไม่จัดว่าเป็นพืชดัดแปลงพันธุกรรม หรือ GMOs และมีความปลอดภัยสูง เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม

มีหลายประเทศทั่วโลก ได้ลงทุนงานวิจัย และอนุมัติการใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยี Ged อาทิ แคนาดา อเมริกา บราซิล อาร์เจนตินา ชิลีญี่ปุ่น จีน อังกฤษ ฟิลิปปินส์เคนยา รัสเซีย ออสเตรเลีย ต่างให้การยอมรับเทคโนโลยี GEd ทั้งในเชิงการค้า และการบริโภคเช่นเดียวกับพืชทั่วไป เพื่อสร้างความมั่นคงทางอาหารของประเทศสำหรับประเทศไทย

เทคโนโลยีดังกล่าว จะเป็นการปรับปรุงพันธุ์พืช การเตรียมความพร้อมในการเป็น Seed hub ซึ่งเทคโนโลยี Ged จะช่วยยกระดับรายได้ 3 เท่าของ 4 ปี ของเกษตรกรไทยอย่างแท้จริง

หลังจากประกาศกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ จะมีประกาศการขอรับรองสิ่งมีชีวิตที่พัฒนาจากเทคโนโลยีการปรับแต่งจีโนม กรณีพืชให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์วิธีการ และเงื่อนไข ที่กรมวิชาการเกษตร ประกาศกำหนด กรณีสัตว์น้ำ ให้เป็นไปตาม หลักเกณฑ์วิธีการ และเงื่อนไข ที่กรมประมงประกาศกำหนด

กรณีสัตว์ให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์วิธีการ และเงื่อนไข ที่กรมปศุสัตว์ประกาศกำหนด กรณีจุลินทรีย์ให้เป็นไปตาม หลักเกณฑ์วิธีการ และเงื่อนไข ที่กรมวิชาการเกษตร กรมประมง และกรมปศุสัตว์ประกาศกำหนด โดยจะมีการออกประกาศหลักเกณฑ์วิธีการ และเงื่อนไขของกรมวิชาการเกษตร กรมประมง และกรมปศุสัตว์ภายในเดือน ก.ค.นี้ เพื่อรองรับประกาศฯ ดังกล่าว

อธิบดีกรมวิชาการเกษตร กล่าวว่า ในด้านงานวิจัย กรมวิชาการเกษตร ได้สร้างเครือข่ายด้านการวิจัยการปรับแต่งจีโนม ร่วมกันระดับประเทศ สร้างโมเดลพืชเริ่มต้น : พืช Ged ทดแทนการนำเข้า อาทิ ข้าวโพด ถั่วเหลือง

พืช Ged พลังงาน อาทิ อ้อย ปาล์มน้ำมัน พืช Ged ผัก สมุนไพร เพื่อรองรับปัญหาวิกฤตปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และโรคอุบัติใหม่ในพืชเศรษฐกิจที่สำคัญของประเทศ

นอกจากนั้นในระดับนานาชาติ กรมวิชาการเกษตรได้เตรียมความพร้อมในการสร้างความร่วมมือและเครือข่ายกับต่างประเทศ ในการส่งเสริมการใช้เทคโนโลยี GEd เพื่อพัฒนาสายพันธุ์พืช GEd และการพัฒนาบุคคลกรวิจัยกับสถาบันในต่างประเทศ เช่น สหรัฐอเมริกา สหภาพยุโรป จีน และญี่ปุ่น เป็นต้น

อ่านข่าว : โมเดลแก้จน เติมความรู้-สร้างอาชีพ ลดรุนแรงชายแดนใต้

ค่าไฟงวด ก.ย.-ธ.ค.67 จ่อปรับขึ้นแตะ 4.65 - 6.01 บาทต่อหน่วย

Paris 2024 ศตวรรษแห่งการเฉลิมฉลอง "โอลิมปิก" ครั้งที่ 33

ข่าวที่เกี่ยวข้อง