วันนี้ (11 ก.ค.2567) ผู้สื่อข่าวไทยพีบีเอสออนไลน์ สำรวจโรงงานปลาป่น ใน อ.เมือง จ.สุมทรสาคร ต่อสถานการณ์รับซื้อปลาหมอคางดำ ซึ่งใน จ.สมุทรสาคร ปัจจุบัน มี 2 แห่ง ที่รับซื้อปลาหมอคางดำจากชาวประมง ได้แก่ บริษัท ศิริแสงอารำพี จำกัด และ บริษัท อุตสาหกรรมปลาป่นท่าจีน จำกัด ซึ่งร่วมเป็นสมาคมผู้ประกอบการปลาป่นแห่งประเทศไทย
นายปรีชา ศิริแสงอารำพี เจ้าของ บริษัท ศิริแสงอารำพี จำกัด และประธานบริหารตลาดทะเลไทย ระบุว่า ทางโรงงานรับซื้อปลาหมอคางดำ ราคากิโลกรัมละ 10 บาท สูงกว่าราคาปกติในท้องตลาด 5 บาท เพื่อช่วยเหลือแบ่งเบาสถานการณ์ ปลาหมอคางดำแพร่ระบาดเป็นวงกว้าง ใน จ.สมุทรสาคร
นายปรีชา ศิริแสงอารำพี เจ้าของ บริษัท ศิริแสงอารำพี จำกัด และประธานบริหารตลาดทะเลไทย
โดยที่ผ่านมา นับจากเจ้าหน้าที่เริ่มจับปลาหมอคางดำรอบแรก เมื่อ ก.พ.2567 ปรากฏว่า ที่นี่เป็นแห่งเดียวที่รับซื้อเข้าโรงงานมาแล้ว 500 ตัน หรือ ประมาณ 500,000 กิโลกรัม
ที่ผ่านมา การรับซื้อที่ผ่านมาถือว่า เป็นการช่วยแก้ปัญหาระดับหนึ่ง ถามว่าหมดไหมกับปัญหาปลาหมอคางดำมันไม่หมดหรอก แต่ก็ถือว่าได้ช่วยกันทำให้ปลาน้อยลง มันไม่ได้มากขึ้น
นายปรีชากล่าวต่อว่า กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ มอบหมายให้ประมงจังหวัดสมุทรสาคร มาดูแลและพูดคุยกับผู้ประกอบการว่าจะทำอย่างไรกันได้บ้าง เพื่อช่วยกันแก้ปัญหา เพราะถ้ารับซื้อราคาตามความจริงจะอยู่ที่กิโลกรัมละ 5 บาท
เราคุยกันว่า ผู้ประกอบการจะช่วยเหลืออะไร ได้แค่ไหน อย่างไร และธุรกิจที่ทำอาหารสัตว์ทั้งหมด ต้องหารือกันว่า ถ้าทุกคนช่วยจ่ายสนับสนุนกันคนละหน่อยได้หรือไม่ เพื่อช่วยเหลือชาวประมง จนกว่าชาวประมงจะสามารถนำปลาหมอคางดำไปเพิ่มมูลค่าได้ โดยที่เราไม่ต้องไปการันตี
นายปรีชากล่าวอีกว่า ตอนนี้เราผู้ประกอบการ ต้องช่วยเขาก่อน ช่วยชาวประมงแก้ไขเบื้องต้นก่อน ให้เขามีทางออก มีช่องทางที่ดีกว่านี้ หาช่องทางเพิ่มมูลค่าปลาหมอคางดำ เพราะเขาเจอปัญหาระบาดหนักขนาดนี้
ส่วนการนำไปแปรรูป สามารถนำไปเป็นปลาป่นยกระดับให้คนกินได้ จากปัจจุบันเป็นการผลิตแปรรูปเพื่อทำเป็นอาหารสัตว์ ซึ่งอนาคตอาจต้องคิดกันว่า ตลาดปลาหมอคางดำ จะต่อยอดไปเป็นน้ำพริก หรืออะไรได้อีกบ้าง
ที่สำคัญคือรัฐบาลต้องคิด ทีมวิจัยต้องช่วยเพิ่มมูลค่า ซึ่งจะทำให้เกษตรกรหันมาช่วยกันจับ เพราะถ้าเขาจับได้แล้ว ก็ต้องมีแหล่งให้เขานำมาขายได้ด้วย ต้องมีราคารับซื้อที่จูงใจ ในช่วงระยะเวลา ที่ต้องระดมกันแก้ปัญหา เพราะถ้าจับมาแล้วขายไม่ได้ ถามว่าจะจับมาทำไม แต่ถ้าขายได้ ก็จะเกิดการแย่งกันจับปลาทุก ๆ วัน ปลาก็จะเหลือน้อยลง ถ้าจับทุกวัน มันก็จะน้อยลงต่อให้มันขยายพันธุ์เร็วมาก
สำหรับการวิเคราะห์คุณภาพโปรตีน ถ้าเป็นปลาน้ำจืดทั่วไป โปรตีนจะอยู่ที่ 30-40 % แต่ปลาหมอคางดำจะได้ 55 % และถ้าปลาทะเลทั่วไป จะได้โปรตีนกว่า 60 % เรื่องโปรตีนเห็นว่าไม่มีปัญหา เพราะอยู่ที่โปรตีนถ้ามีน้อยก็ทำอาหารสัตว์ โปรตีนมาก ก็แปรรูปทำอาหาร คนส่งเสริมให้เต็มที่แม้โปรตีนน้อยกว่าปลาทะเล แต่ก็ไม่มาก
ถ้าถามว่าปลาหมอคางดำ เอาไปทำอะไรเหมาะมากที่สุด ผมคิดว่าเอาไปต้ม แต่ต้องคว้านเอาไส้ออกเอาเหงือกออก แล้วต้มทั้งตัวจากนั้นมาให้แหลก เอามาทำเป็นปลาป่นให้คนกินได้ แต่ต้องยกระดับ ต้องวิจัย ทำน้ำพริก เอาปลาหมอคางดำเหล่านี้ เอาไส้และเหงือกออก ต้มทั้งตัวแล้วใช้เครื่องบด และตากแดด
รัฐบาลต้องต่อยอดให้ได้ อย่างญี่ปุ่นเขาทำเป็นน้ำพริกเผา หรือ น้ำพริกปลาหมอ ไว้โรยข้าวราคาแพงมากหลานผมไปซื้อซองละหลายบาท ประเทศไทยต้องทำให้มันมีมูลค่าเพิ่มให้ได้
ส่วนการจะให้ภาครัฐมาสนับสนุนตลอดไปเรื่องการอุดหนุนราคาปลาหมอคางดำ เราต้องสะท้อนความจริงกันก่อนว่า เราจะให้เขาสนับสนุนตลอดเวลาไม่ได้ เพราะภาครัฐหน่วยเกี่ยวข้องยังมีอีกหลายเรื่องที่ต้องไปดูแลอีกหลายภาคส่วน
ฉะนั้นทุกคนต้องพยายามช่วยตัวเองกันก่อน อย่างเราเป็นนักธุรกิจ อาจจะออกเงินช่วยได้วันนึงหลายแสนบาท หรือหลักล้านบาท แต่ถ้าต้องควักเรื่อย ๆ ก็ไม่ไหวเหมือนกัน ต้องมีกรอบระยะเวลาที่ชัดเจน ซึ่งหากช่วยกันจริงจัง มั่นใจว่า จะเห็นจำนวนปลาหมอคางดำ ที่ลดลงใน จ.สมุทรสาคร ชัดเจนใน 3 เดือน
อ่านข่าว : "หมู่เกาะอ่างทอง" สุดฮิตนักท่องเที่ยวรายได้พุ่ง 40 ล้าน
ซัดนายกฯ ลงพื้นที่ถี่แต่ไร้ผลงาน ปัญหาไร้เอกภาพใน “เพื่อไทย” ลามถึง # SAVE ทับลาน
พบแล้ว หนุ่ม 27 ปี พลัดหลง "ภูสอยดาว" นาน 8 วัน