วันนี้ (10 ก.ค.2567) ผู้สื่อข่าวไทยพีบีเอสออนไลน์ ติดตามการซื้อขายปลาหมอคางดำ ใน อ.เมือง จ.สมุทรสาคร ตั้งแต่ต้นทางถึงปลายทาง อย่างจุดที่ชาวประมงรายหนึ่งกำลังนำเรือเข้าฝั่ง มาส่งแพตอนเช้าพบว่า ปลาที่มีเต็มเรือ เป็น “ปลาหมอคางดำ” 100 % แม้ชาวประมงมีความตั้งใจใช้อวนรุนจับสัตว์น้ำประเภทอื่นกลับมาด้วยแต่ก็ไม่พบ
ผู้สื่อข่าวพบกับนายนิพัทธ์ เกี้ยมรอด เจ้าของแพธนูทอง ซึ่งประกอบกิจการมาตั้งแต่รุ่นพ่อแม่ มีความเชี่ยวชาญด้านธุรกิจแพปลากว่า 50 ปี เปิดเผยว่า สถานการณ์ปลาหมอคางดำ เริ่มแพร่ระบาดเข้าในกลุ่มประมง จ.สมุทรสาคร เมื่อประมาณ 3-4 ปีมาแล้ว

แต่ช่วงเวลาที่ปลาหมอคางดำแพร่ระบาดหนักคือ ช่วงปีที่แล้ว ที่เริ่มกินสัตว์น้ำอื่น ๆ เช่น ปลาชนิดต่าง ๆ, ปู, กุ้ง, หอย, สาหร่าย และทุกอย่าง จนกระทั่งต้นปีมานี้ รวมถึงวันนี้เป็นภาพสะท้อนชัดว่า ระบบนิเวศพังทะลาย ดูจากที่ชาวประมงจับมาได้และที่เห็นในตระกร้าทั้งหมด เป็นปลาหมอคางดำทั้ง 100 %
ส่วนการรับซื้อขณะนี้อยู่ที่กิโลกรัมละ 6 บาท และไปนำไปขายส่งให้โรงงานปลาป่นใน จ.สมุทรสาคร ได้ราคากิโลกรัมละ 7 บาท ทุกเบอร์ไม่คัด

เมื่อรวมราคารับซื้อกับราคาส่งแล้ว ตอนนี้ก็เท่ากับผมเหลือแค่บาทเดียวต่อกิโลฯ และยังต้องไปเฉลี่ยไปกับค่าน้ำมัน ค่าแรงงานลูกน้อง ค่าใช้จ่ายต่าง ๆ ถามว่าคุ้มไหมไม่คุ้ม แต่ตอนนี้ ก็ถือว่าช่วยกรมประมง ซึ่งก็อยากให้รัฐบาลเข้ามาช่วยทุกภาคเหมือนกัน
ส่วนการรับซื้อช่วงนี้ ที่มีแต่ปลาหมอคางดำจากชาวประมง 100 % นายนิพัทธ์ระบุว่า ไม่ได้มีปัญหาอะไร แต่ชาวบ้านแถบนี้ริมคลองหรือระบบนิเวศอื่น ที่ไม่ควรเกิดเหตุอะไรแบบนี้ ชาวบ้านจะอยู่กันอย่างไร ไม่มีสัตว์น้ำอื่นมาขาย ไม่มีกุ้ง ไม่มีปลาอื่น ๆ รายได้ทดถอย และ ราคาปลาหมอคางดำ ก็ไม่ใช่ว่าได้ราคาดี เขามาขายให้แบบนี้ก็ได้ราคาต่ำ

ถ้าทุกฝ่ายช่วยกันก็จะได้ช่วยระบบนิเวศ ตัดวงจรปลาหมอคางดำ แต่สถานการณ์ตอนนี้ มันพังไปแล้ว กว่าจะฟื้นก็อีกนาน ตอนนี้มันพังอย่างที่เห็น อยู่ในน้ำจับปลาไม่เจออะไรเลยนอกจากคางดำ รัฐควรเข้ามาช่วย เพราะหากให้ชาวบ้านช่วยกันเอง ก็จะไม่ไหว
ด้านนายเผดิม รอดอินทร์ ประมงจังหวัดสมุทรสาคร กล่าวถึงสาเหตุที่ต้องกำจัดปลาหมอคางดำ เพราะเป็นปลาที่ไม่ธรรมดา กินหอย ปู กุ้ง ปลาอื่น ที่อยู่ในแหล่งน้ำ และการกินของเขาเป็นการกินดุดันมาก กินแล้วจะทำให้ระบบนิเวศตายหมด จนเหลือแต่สายพันธุ์ของพวกเขาเท่านั้น ซึ่งถือว่าเป็นระบบนิเวศล่มสลาย ดังนั้นเราต้องกำจัดให้มันเหลือน้อยที่สุด แม้จะไม่หมดไป แต่ต้องอยู่ควบคู่กับสัตว์น้ำบ้านเราได้ด้วย

ส่วนวิธีกำจัด สำนักงานประมงจังหวัดสมุทรสาคร ดำเนินการทั้งกิจกรรม “ลงคลอง ลงแขก” เมื่อวานนี้ (9 ก.ค.2567) และการรณรงค์ให้ประชาชน ใช้อวนรุนจับปลาหมอคางดำ ซึ่งตอนนี้ในสมุทรสาคร มีสมาชิกอวนรุนแล้ว 32 ราย รวมถึงการเตรียมปล่อยปลากะพงล็อตใหญ่ รวม 90,000 ตัว ตลอดเดือน ก.ค.2567 โดยวันที่ 18 ก.ค.นี้ จะปล่อยรอบแรก 30,000 ตัว

“ตอนนี้สัตว์น้ำตัวอื่น ที่มีสถานะต่อสู้กับปลาหมอคางดำไม่ได้ ก็จะถูกกลืนกิน เราต้องการได้สัตว์น้ำเศรษฐกิจกลับมาด้วย ได้กุ้ง ได้ปลาอื่น ๆ กลับคืนมาด้วย แต่อย่างภาพวันนี้ ที่พวกเราเห็นกัน เป็นเรื่องที่บ่งชี้ได้ ว่าปลาหมอคางดำเป็นมหันตภัยร้ายแรง ที่เราต้องกำจัดจริง ๆ แม้ว่าเป็นสัตว์น้ำที่บริโภคได้ แต่เราก็เลือกจะอยากให้มีสัตว์น้ำตัวอื่นมากกว่าที่จะมีปลาหมอคางดำเท่านั้น ตอนนี้ปลาหมอคางดำมายึดพื้นที่เรา เราก็ต้องยึดคืนพื้นที่จากปลาหมอคางดำ”

อ่านข่าว : ไขปริศนา! ทำไมต้องใช้ "ปลากะพงขาว" จัดการ "ปลาหมอคางดำ"
จับ "ปลาหมอสีคางดำ" ได้ 50 กก.ปรับแผนหลังพบปัญหาน้ำขึ้น-ปลาหนี
ปลาหมอสีคางดำ ระบาด 13 จังหวัด หนุนเป็นอาหารประจำถิ่น สร้างมูลค่า