พีคสุดรอบ 10 ปี "ปะการังหมู่เกาะอ่างทอง" ฟอกขาวเกิน 80%

สิ่งแวดล้อม
10 ก.ค. 67
07:30
756
Logo Thai PBS
พีคสุดรอบ 10 ปี "ปะการังหมู่เกาะอ่างทอง" ฟอกขาวเกิน 80%
อ่านให้ฟัง
00:00อ่านข่าวให้ฟังโดย Botnoi Voice เว็บแอปพลิเคชันสำหรับสร้างเสียงจากข้อความด้วย AI (Text to Speech)
พีคสุดรอบ 10 ปี พบ 10 อุทยาน 41 จุดท่องเที่ยวทางทะเล ปะการังฟอกขาวตาย โดยหมู่เกาะอ่างทองฟอกขาวเกิน 80% ปิดจุดดำน้ำ-พายเรือคายัคยอดฮิตของนักท่องเที่ยวต่างชาติ 4 จุด ครอบคลุมเกาะสามเส้า ทะเลใน หน้าทับ และเกาะร้าง รอวันฟื้นตัว ให้ไกด์ทำความเข้าใจนักท่องเที่ย

แม้จะเข้าสู่ฤดูฝนมาเกือบ 2 เดือนเศษ แต่สถานการณ์ปะการังฟอกขาวในแหล่งท่องเที่ยวทะเลฝั่งอ่าวไทยยังคงวิกฤต

วันนี้ (10 ก.ค.2567) ไทยพีบีเอสออนไลน์ ร่วมสำรวจปะการังในแหล่งท่องเที่ยวชื่อดังที่เป็นจุดเช็กอินยอดฮิตของอุทยานแห่งชาติหมู่เกาะอ่างทอง จ.สุราษฎร์ธานี โดยเฉพาะปะการังบริเวณเกาะสามเส้า 1 ใน 13 สถานีที่พบปัญหาปะการังฟอกขาว ทำให้ต้องปิดการท่องเที่ยวไปก่อนจนกว่าสถานการณ์จะคลี่คลาย

คาด ส.ค. รอพ้นจุดพีคปะการังฟอกขาว

สุทิน พรหมปลัด หัวหน้าอุทยานแห่งชาติหมู่เกาะอ่างทอง บอกว่า จากการสำรวจปะการังทั้ง 13 สถานี พบปะการังฟอกขาวตั้งแต่ระดับ 40-75% ซึ่งพบปัญหาปะการังฟอกขาวตั้งแต่กลางเดือน เม.ย.ที่ผ่านมา ถือว่ารุนแรงที่สุดในรอบ 10 ปี

สุทิน บอกว่า สาเหตุที่ปีนี้สถานการณ์ปะการังฟอกขาวรุนแรง เนื่องจากช่วงเดือนก่อนน้ำทะเลลดลงผิดปกติ ประกอบกับอุณหภูมิน้ำทะเลสูงกว่าค่าปกติ วัดได้ 31-32 องศาเซลเซียส จนทำให้ต้องประกาศปิดจุดท่องเที่ยวยอดฮิตของนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติ คือ บริเวณเกาะสามเส้า ทะเลใน หน้าทับ และเกาะร้าง ซึ่งมีกิจกรรมดำน้ำตื้น และการพายเรือคายัค

แนะไกด์ทำความเข้าใจ ชมจุดเช็กอินทางเลือก

ปะการังฟอกขาว หน้าหาดเกาะสามเส้า ส่วนใหญ่เป็นปะการังโขด ปะการังดอกกะหล่ำ ปะการังเขากวาง ถือว่าหนักสุดในรอบ10 ปี ในจำนวนนี้ 50% ที่ฟอกขาวเริ่มตายจนไม่สามารถฟื้นฟูได้ และเริ่มมีสาหร่ายปกคลุม

หัวหน้าอุทยานแห่งชาติหมู่เกาะอ่างทอง บอกว่า จนถึงขณะนี้ผ่านมากว่า 2 เดือนที่ปะการังฟอกขาว คาดว่าเร็วสุดช่วง ส.ค.นี้ น่าจะเริ่มคลี่คลายลง อย่างไรก็ตาม การปิดจุดท่องเที่ยว ไม่ได้กระทบกับนักท่องเที่ยวที่ 80% เป็นชาวต่างชาติแถบยุโรป เนื่องจากได้ทำความเข้าใจกับผู้ประกอบการทัวร์

 

นอกจากนี้ มีกิจกรรมอื่นเป็นทางเลือกให้กับนักท่องเที่ยวที่มาเยี่ยมชมในฤดูกาลนี้ เช่น เส้นทางขึ้นผาแจ่มจรัส ลงต้องใช้เวลาประมาณ 1 ชม. เพื่อขึ้นไปจุดชมวิวของหมู่เกาะอ่างทองสามารถมองเห็นวิวแบบพาโรนามา 360 องศาของ 42 เกาะเรียงตัวตามแนวทะเลทิศเหนือใต้ และระหว่างทางจะมีค่างแว่นถิ่นใต้ และพืชหายากเฉพาะถิ่น รองเท้านารีช่องอ่างทอง ซึ่ง IUCN ขึ้นทะเบียนเป็นพืชหายากของโลก

“หมู่เกาะขนอม” สำรวจบางจุด ปะการังฟอกขาว 90%

ขณะที่วิมลมาศ นุ้ยภักดี หัวหน้าอุทยานแห่งชาติหาดขนอม-หมู่เกาะทะเลใต้ (เตรียมการ) บอกถึงสถานการณ์ปะการังฟอกขาวในพื้นที่เขตอุทยานแห่งชาติหาดขนอม-หมู่เกาะทะเลใต้ (เตรียมการ) จากผลกระทบของการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศของโลก ส่งผลให้อุณหภูมิน้ำทะเลสูงขึ้น โดยเฉพาะปีนี้จากสำรวจของอุทยานฯ ด้วยการใช้โดรนบินสำรวจมุมสูงพบปะการังฟอกขาวอยู่ในระดับวิกฤตทุกพื้นที่ เกิดปะการังฟอกขาวมากกว่าร้อยละ 80 เช่น เกาะราบทิศเหนือ ปะการังฟอกขาวถึง 85% มีพื้นที่ฟอกขาวมากกว่า 1 ไร่ ส่วนเกาะราบทิศตะวันตก ปะการังฟอกขาวแล้ว 80% มีพื้นที่ฟอกขาวมากกว่า 1 ไร่ ส่วนเกาะวังในทิศตะวันตก ปะการังฟอกขาวแล้ว 80%มีปะการังเริ่มซีดจาง 10% มีพื้นที่ฟอกขาวแล้วมากกว่า 1 ไร่

ส่วนเกาะมัดโกงหนักสุด ปะการังฟอกขาว 90% ปะการังซีดจาง 5% คิดเป็นพื้นที่เสียหายกว่า 1 ไร่ ภาพรวมถือว่าน่ากังวลมาก เพราะแนวโน้มยังฟอกขาวเพิ่มขึ้นจนจะส่งผลต่อระบบนิเวศในระยะยาว

หัวหน้าอุทยานแห่งชาติหาดขนอม บอกว่า หากดูจากสภาพแวดล้อมในพื้นที่ พบปีนี้หาดขนอมมีอุณหภูมิน้ำทะเลร้อนมากที่สุด จากเดิมไม่มีไฟป่า แต่ปีนี้เกิดไฟป่าขึ้นหลายพื้นที่ คาดว่าหากมีฝนเข้ามา จะทำให้อากาศดีขึ้นและปะการังที่ฟอกขาวน่าจะฟื้นตัวดีขึ้นด้วย

ถือว่าโชคดีที่อุทยานแห่งชาติหาดขนอม-หมู่เกาะทะเลใต้ นักท่องเที่ยวยังไม่หนาแน่นมาก ความเสียหายของปะการังจากฝีมือของนักท่องเที่ยวจึงไม่น่ากังวล

อัปเดต 41 จุด 10 อุทยานฯ ปะการังฟอกขาวตาย

ข้อมูลจากส่วนจัดการอุทยานแห่งชาติทางทะเล (สทล.) สำนักอุทยานแห่งชาติ กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช ถึงการสำรวจปะการังฟอกขาวในอุทยานแห่งชาติทางทะเล ตั้งแต่วันที่ 2 เม.ย.-2 ก.ค.2567 พบการตายจากการเกิดปะการังฟอกขาว 10 อุทยานแห่งชาติ 41 บริเวณ โดยแบ่งเป็นปะการังที่เกิดการฟอกขาวแล้วตายระดับสูง (31-50%) จำนวน 3 บริเวณ ปะการังที่เกิดการฟอกขาวแล้วตายระดับปานกลาง (11-30%) จำนวน 15 บริเวณ ปะการังที่เกิดการฟอกขาวแล้วตายระดับปานกลาง (1-10%) 23 บริเวณ

สำหรับ 10 อุทยานแห่งชาติ ที่พบการตายจากการเกิดปะการังฟอกขาว ได้แก่

  • อุทยานแห่งชาติเขาแหลมหญ้า-หมู่เกาะเสม็ด 5 บริเวณ ได้แก่ เกาะทะลุ-หมู่เกาะเสม็ด, เกาะกุฎี, อ่าวลุงดำ, อ่าวกิ่วใน และเกาะกรวย
  • อุทยานแห่งชาติธารโบกขรณี 2 บริเวณ ได้แก่ เกาะเหลากา และเกาะปากกะ
  • อุทยานแห่งชาติสิรินาถ 3 บริเวณ ได้แก่ เขาไสคู, เกาะแวว และหน้าสถาบันประชารัฐพิทักษ์ทะเล
  • อุทยานแห่งชาติหมู่เกาะช้าง 6 บริเวณ ได้แก่ เกาะทองหลาง-หมู่เกาะช้าง, เกาะมะปริง (หาดศาลเจ้า), เกาะไม้ซี้ใหญ่, เกาะหวาย, เกาะคลุ้ม และเกาะยักษ์ใหญ่
  • อุทยานแห่งชาติหมู่เกาะชุมพร 1 บริเวณ ได้แก่ เกาะรังกาจิว
  • อุทยานแห่งชาติหมู่เกาะเภตรา 3 บริเวณ ได้แก่ เกาะตามะใน, เกาะตามะกลาง และเกาะตามะนอก
  • อุทยานแห่งชาติหมู่เกาะสิมิลัน 1 บริเวณ ได้แก่ เกาะปายัง (เกาะสอง)
  • อุทยานแห่งชาติหมู่เกาะสุรินทร์ 4 บริเวณ ได้แก่ เกาะสุรินทร์ใต้ (อ่าวเต่า), อ่าวไทรเอน, อ่าวแม่ยาย และอ่าวช่องขาด
  • อุทยานแห่งชาติหมู่เกาะอ่างทอง 13 บริเวณ ได้แก่ เกาะสามเส้า 05 (ทิศตะวันออกเฉียงใต้), เกาะสามเส้า (ทิศตะวันตก), เกาะวัวตาหลับ (อ่าวหม่อง), เกาะไผ่ลวก (ไผ่ลวกน้อยทิศใต้), เกาะไผ่ลวก (ทิศตะวันตก), เกาะวัวตาหลับ (อ่าวทองหลาง), เกาะวัวตาหลับ (อ่าวคา), เกาะผี (อ่าวหน้าเกาะผี), เกาะแม่เกาะ (ทิศตะวันตกเฉียงเหนือ), เกาะสามเส้า (หน่วยพิทักษ์ฯ), เกาะวัวตาหลับ (อ่าวดีปรี), เกาะแม่เกาะ (ทิศตะวันตก) และเกาะวัวตาหลับ (อ่าวตาซ้วง)
  • อุทยานแห่งหาดขนอม-หมู่เกาะทะเลใต้ (เตรียมการ) จำนวน 3 บริเวณ ได้แก่ เกาะวังใน (ทิศตะวันตก), เกาะราบ (ทิศเหนือ) และเกาะราบ (ทิศตะวันตก)

อ่านข่าว : ช็อก! ประกาศขาย "เกาะราบ" อ้างมีเอกสารสิทธิ 

เปิดเหตุผล "อนรรฆ" สงวนสิทธิไม่เห็นด้วยเพิกถอน "ทับลาน" 

“ปลาหมอสีคางดำ” ระบาดหนักทุกสายน้ำ “นครศรีธรรมราช” 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง