วันนี้ ( 9 ก.ค.2567) น.ส.วิมลมาศ นุ้ยภักดี หน.อุทยานแห่งชาติขนอม-หมู่เกาะทะเลใต้ (เตรียมการ) จ.นครศรีธรรมราช กล่าวถึงปัญหาการประกาศเขตอุทยานแห่งชาติขนอม ว่า จนถึงตอนนี้ผ่านมาถึง 34 ปียังคงไม่สามารถประกาศเขตอุทยานแห่งชาติได้ ทั้งที่เริ่มเตรียมการมาตั้งในปี 2533 ครอบคลุมพื้นที่ 197,614 ไร่
โดยได้กันออกพื้นที่ทับซ้อนกับหน่วยงานต่าง ๆ และได้กันออกพื้นที่ทำกินของชาวบ้านออกทั้งหมดแล้ว รวมถึงพื้นที่คัดค้านต่าง ๆ จนเหลือพื้นที่เตรียมการประกาศจัดตั้งอุทยานแห่งชาติเพียง 108,570 ไร่ แบ่งเป็นพื้นที่ทางบก 51,390 ไร่ และทางทะเล 57,180 ไร่
นับเป็นเวลา 34 ปี ที่พื้นที่เตรียมการได้หายไป 71,797 ไร่ ซึ่งเป็นเหตุมาจากพื้นที่ทับซ้อน จนที่ดินถูกตัดออกเป็นหย่อมป่า ยอมรับว่ายากในการดูแล แต่ก็จะสู้แบบหลังพิงฝาเพื่อหาทางคุ้มครองพื้นที่ส่วนที่เหลือ
ประกาศขาย "เกาะราบ" อ้างมีเอกสารที่ดิน
น.ส.วิมลมาศ กล่าวว่า เหตุผลที่ต้องรักษาพื้นที่และประกาศพื้นที่อนุรักษ์ เพราะสภาพเริ่มมีการซื้อขายเปลี่ยนมือจากคนนอกพื้นที่ และลักษณะพื้นที่หย่อมป่าถูกล้อมรอบด้วยพื้นที่ทำกิน จนจะไม่เหลือบ้านของสัตว์ป่า รวมถึงเกาะหลายแห่งที่พบมีการนำป้ายมาประกาศขาย เช่น เคสล่าสุดขาย “เกาะราบ” ยกเกาะ ซึ่งไม่เคยมีเอกสารสิทธิครอบครองมาก่อน เพราะก่อนหน้าเคยขอผังโฉนดของกรมที่ดินเมื่อปี 2551 มาตรวจสอบ และพบว่าได้กันพื้นที่ออกหมดแล้วรวม 185 ไร่ เนื่องจากมีหลักฐานการใช้ประโยชน์ที่ดินจากการปลูกต้นมะพร้าวมานาน
หัวหน้าอุทยานแห่งชาติขนอม กล่าวอีกว่า แต่การสำรวจปี 2567 ล่าสุดกลับพบมีแปลงที่ดินอ้างเอกสารสิทธิ 373 ไร่ที่ประกาศขายที่ดินบนเกาะราบ เมื่อตรวจสอบทำให้พบว่าผังที่ประกาศขายตรงกับในเว็บไซต์ของกรมที่ดินชัดเจนว่าออกเอกสารสิทธิเพิ่มขึ้นจริง ๆ นอกจากนี้ยังพบมีการเรียกเก็บค่าขึ้นเกาะคนละ 50 บาทอีกด้วย
น่าตกใจกว่าหลังเปิดในเว็บไซต์กรมที่ดิน เพราะทั้งเกาะมีการออกโฉนดไปหมดแล้ว ทั้งที่ปี 2551 มีเพียงหย่อมเดียว จากการบินโดรนที่ที่มีอ้างเอกสาร ยังยืนยันที่ดินเป็นป่า และเป็นแหล่งปะการังที่สมบูรณ์
เบื้องต้นหลังจากหารือไปยังคณะกรรมการใช้ประโยชน์ที่ดินกรมอุทยานฯ มีข้อสรุปคือให้ตัดพื้นที่เกาะราบ เฉพาะที่ออกเอกสารสิทธิกับพื้นที่เคยกันออกไปรวมพื้นที่ 425 ไร่ และหากในอนาคตหากพบออกโดยมิชอบก็จะดำเนินการเพิกถอนและเอาที่กลับคืนมา
คาด 2 ปีจบแนวเขต-ประมงพื้นบ้านไม่กระทบ
ขณะที่ภาพรวมการประกาศเขตอุทยานฯ ตามขั้นตอนอยู่ระหว่างเริ่มทำความเข้าใจและรับฟังความคิดเห็นจากผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย ชุมชนที่เกี่ยวข้องรวม 30 กว่าหมู่บ้าน จำนวน 49 ครั้งให้แล้วเสร็จ โดยตั้งเป้าจะประกาศเขตอุทยานแห่งชาติสำเร็จภายใน 2 ปี ระหว่างปี 2567-2568
ทั้งนี้ หากไม่ถูกประกาศเป็นอุทยานแห่งชาติ มีโอกาสสูงที่พื้นที่จะถูกเปลี่ยนมือให้กับคนนอกพื้นที่ เนื่องจากประชาชน อ.ขนอม เริ่มมีผู้สูงอายุมากขึ้น และจะกลายเป็นสังคมผู้สูงอายุในอนาคต จากอัตราการเกิดต่ำมาก ไม่มีผู้สืบทอดมรดกในพื้นที่ อีกทั้งพื้นที่ดังกล่าวเป็นแหล่งอาศัยของสัตว์ป่าแห่งสุดท้าย ควรอนุรักษ์ก่อนจะค่อย ๆ หายไป
ต้องยืนหยัดในการประกาศเป็นพื้นที่อุทยานแห่งชาติให้ได้ เพราะห่วงพื้นที่มีโอกาสซื้อขายเปลี่ยนมือให้คนนอกพื้นที่สูง หากไม่เร่งประกาศเป็นพื้นที่อุทยานฯ สุดท้ายพื้นที่ที่ควรอนุรักษ์จะหายไปเรื่อย ๆ
สำหรับกลุ่มประมงพื้นบ้านในพื้นที่จะไม่ได้รับผลกระทบจากการประกาศขึ้นเป็นอุทยานแห่งชาติ ชาวประมงยังสามารถประกอบอาชีพประมงพื้นบ้านได้ตามปกติ ภายใต้เงื่อนไขหรือข้อกำหนดของกรมอุทยานฯ และไม่ขัดต่อพระบัญญัติประมงฯ สิ่งสำคัญได้ออกแนวเขตการทำประมงไว้ใช้ชัดเจนอยู่ในพื้นที่กิจกรรมพิเศษ 2 ขอให้ไม่ต้องกังวลกับกรณีนี้ เพราะมีกฎหมายมาควบคุมเรียบร้อยแล้ว
34 ปียังประกาศอุทยานไม่สำเร็จ
สำหรับอุทยานฯหาดขนอม (เตรียมการ) ประกาศจัดตั้งเป็นอุทยานแห่งชาติมาตั้งแต่ปี 2533 ประกอบด้วยพื้นที่ทางบกและทางทะเล มีลักษณะพื้นที่แยกเป็นส่วน ๆ ไม่ต่อเนื่องกัน เนื่องจากได้กันพื้นที่ที่ทำกินของราษฎรออกจากพื้นที่เตรียมการประกาศอุทยานแห่งชาติ คงเหลือเพียงพื้นที่ป่าสมบูรณ์เท่านั้น มียอดเขาหลวงความสูง 814 เมตรจากระดับน้ำทะเล เป็นจุดสูงสุดของพื้นที่ พื้นที่ทางบกเป็นหย่อมป่าที่มีความสำคัญอย่างยิ่งต่อระบบนิเวศ เป็นแหล่งป่าต้นน้ำที่สำคัญของ อ.ขนอม อ.สิชล จ.นครศรีธรรมราช และ อ.ดอนสัก จ.สุราษฏร์ธานี เป็นแหล่งที่อยู่อาศัยที่สำคัญของเลียงผา กวางม้า ค่างแว่นถิ่นใต้ และสัตว์ป่าอื่น ๆ อีกกว่า 153 ชนิด
ในขณะที่พื้นที่ทางทะเลเป็นแหล่งที่อยู่อาศัยที่สำคัญของโลมาสีชมพู เต่าตนุ และทรัพยากรทางทะเลอื่น ๆ ที่สำคัญของฝั่งอ่าวไทย เกาะที่สำคัญ ได้แก่ เกาะท่าไร่ เกาะนุ้ย เกาะวังนอก เกาะมัดโกง และเกาะมัดแตง มีแหล่งท่องเที่ยวที่สวยงาม เช่น จุดชมวิวพลายจำเริญ หาดท้องชิง น้ำตกกลางทอง
หินพับผ้า ซึ่งเป็นปรากฎการณ์ทางธรณีวิทยาที่มีลักษณะเป็นแผ่นหินที่ทับซ้อนเรียงกันเป็นชั้น ๆ สูงขึ้นไป เกิดเป็นผาเขาที่มีลักษณะคล้ายผ้าที่พับซ้อนทับกันไว้เป็นชั้น ๆ จึงเป็นที่มาของชื่อ “หินพับผ้า” หรือ Pancake Rock เมืองไทย และมีจุดสักการะหลวงปู่ทวดบริเวณเกาะนุ้ยที่มีแหล่งน้ำจืดในทะเลตามตำนานหลวงปู่ทวดเหยียบน้ำทะเลจืด อุทยานแห่งชาติหาดขนอม – หมู่เกาะทะเลใต้ เป็นแหล่งนำเที่ยวชมโลมาสีชมพูที่มีชื่อเสียงของประเทศไทยที่ดำเนินการโดยชุมชนท้องถิ่น คาดว่า จะเร่งประกาศเป็นอุทยานแห่งชาติให้ได้ภายใน 2 ปี ระหว่างปี 2567-2568