ค้นหา
ทีวีออนไลน์
เว็บไซต์ในเครือ
เว็บไซต์บริการ

“ปลาหมอสีคางดำ” ระบาดหนักทุกสายน้ำ “นครศรีธรรมราช”

สิ่งแวดล้อม
8 ก.ค. 67
15:50
2,313
Logo Thai PBS
“ปลาหมอสีคางดำ” ระบาดหนักทุกสายน้ำ “นครศรีธรรมราช”
อ่านให้ฟัง
00:00อ่านข่าวให้ฟังโดย Botnoi Voice เว็บแอปพลิเคชันสำหรับสร้างเสียงจากข้อความด้วย AI (Text to Speech)
ปลาหมอสีคางดำโผล่ทุกสายน้ำใน อ.หัวไทร ชาวบ้านระบุผลกระทบกว้างขวาง อยู่ได้ทั้งน้ำจืด น้ำกร่อย และน้ำเค็ม

วันนี้ (8 ก.ค.2567) ที่ อ.หัวไทร จ.นครศรีธรรมราช ผู้สื่อข่าวไทยพีบีเอส เข้าสำรวจร่วมกับชาวบ้าน ในพื้นที่ลำรางขนาดเล็ก เส้นทางน้ำเข้าบ่อเลี้ยงกุ้ง บ่อเลี้ยงปูดำ ท้องที่หมู่ 9 ต.หน้าสตน อ.หัวไทร จ.นครศรีธรรมราช

ชาวบ้านระบุว่า ในทุกสายน้ำของ อ.หัวไทร สามารถพบปลาชนิดนี้จำนวนมาก หลังจากที่ได้ทอดแหเพียงครั้งเดียว ปรากฏว่า พบลูกปลาหมอคางดำนับร้อยตัว ปะปนกับลูกปลานวลจันทร์ทะเล เพียงไม่กี่ตัวเท่านั้น และปลาหมอคางดำเหล่านี้ มีความสมบูรณ์เพศมีอายุ 2-3 เดือน แม้จะตัวเล็ก แต่สามารถแพร่ขยายพันธุ์ได้อย่างรวดเร็ว บางตัวมีไข่เต็มท้อง บางตัวอมลูกไว้ในปาก ตามลักษณะการเลี้ยงลูกของสายพันธุ์นี้

นอกจากนี้ยังพบว่า มีจุดระบาดที่สำคัญอยู่ที่ปากคลองชะอวด-แพรกเมือง ต.หน้าสตน ลำคลองสายนี้ระบายน้ำมาจาก อ.ชะอวด มาจนถึงหัวไทรออกทะเลที่ปากน้ำแพรกเมือง ปรากฏปลาชนิดนี้อยู่เป็นจำนวนมาก สิ่งที่น่าเป็นห่วงคือ จะระบาดไปอยู่ในลำคลองลึกไปจนถึง อ.เชียรใหญ่- อ.ชะอวด แล้วหรือไม่

นายนันทวี แขกพงค์ ชาวบ้าน หมู่ 9 ต.หน้าสตน ระบุว่า พบปลาชนิดนี้มาได้ราว 1 ปีแล้ว และขยายเร็วมากจนน่ากลัว การทอดแหหาปลาและสัตว์น้ำของชาวบ้านพบว่า มีผลกระทบแล้วโดยเฉพาะกลุ่มปลากระบอก แต่เดิมมีอยู่อย่างชุกชุม ในพื้นที่ปากน้ำ น้ำกร่อย แต่ทุกวันนี้เมื่อทอดแหไปปลากระบอกน้อยลงหรือไม่ได้เลย

ทุกครั้งจะได้ปลาหมอสีคางดำมาแทน บางรายมีการหาปลาชนิดนี้มาขายให้กับชาวประมงกลุ่มลอบปูเป็นหลัก นำมาทำเป็นปลาเหยื่อในลอบดักปู กิโลกรัมละ 20 บาท ส่วนที่มานั้นชาวบ้านไม่รู้เลยว่า เข้าสู่แหล่งน้ำในพื้นที่ได้อย่างไร

ขณะที่เจ้าหน้าที่สำนักงานประสานงานโครงการพระราชดำริ (กปร.) ระบุว่า สิ่งที่น่ากลัวอีกอย่างของปลาชนิดนี้คือ สามารถอาศัยอยู่ได้ทั้ง 3 น้ำทั้งน้ำจืด น้ำกร่อย และน้ำเค็ม เมื่อเทียบกับปลากระบอกจะอาศัยอยู่ที่ความเค็มประมาณ 20-25 PPM. แต่ปลาหมอสีคางดำสามารถอยู่ได้ที่ความเค็มสูงถึง 30 PPM. โดยในวันที่ 14 ก.ค. กปร.จะไปร่วมรับซื้อปลาหมอสีคางดำจากชาวบ้านที่จัดกิจกรรมกวาดล้างปลาหมอคางดำในพื้นที่อ่าง 180 ไร่ บ้านหน้าโกฏ อ.ปากพนัง รอยต่อ อ.หัวไทร

อ่านข่าว : เปิดเอกสาร “กรรมการสิทธิฯ” หลังถูกร้อง “ปลาหมอสีคางดำ” ระบาด "สมุทรสาคร-เพชรบุรี"

รู้หรือไม่ “ปลาหมอสีคางดำ” เข้ามาระบาดในไทยได้ยังไง

ประกาศจับ “ปลาหมอสีคางดำ” เอเลี่ยนสปีชีส์ทำลายระบบนิเวศ

ข่าวที่เกี่ยวข้อง