ค้นหา
ทีวีออนไลน์
เว็บไซต์ในเครือ
เว็บไซต์บริการ

“เวียงแก้ว” พระราชวังล้านนา คุณค่าทางประวัติศาสตร์ สู่พื้นที่สาธารณะเมืองเชียงใหม่ (ตอน 1)

ภูมิภาค
8 ก.ค. 67
12:03
4,481
Logo Thai PBS
“เวียงแก้ว” พระราชวังล้านนา คุณค่าทางประวัติศาสตร์ สู่พื้นที่สาธารณะเมืองเชียงใหม่ (ตอน 1)
อ่านให้ฟัง
00:00อ่านข่าวให้ฟังโดย Botnoi Voice เว็บแอปพลิเคชันสำหรับสร้างเสียงจากข้อความด้วย AI (Text to Speech)
เชียงใหม่ อดีตศูนย์กลางอาณาจักรล้านนา คำถามว่า “หอคำ” หรือพระราชวังกษัตริย์ตั้งอยู่ที่ไหน? จากหลักฐานทางประวัติศาสตร์ และแผนที่นครเชียงใหม่ 2436 รวมถึงการขุดค้นทางโบราณคดี ทำให้ปรากฏหลักฐานความมีอยู่จริง นำมาสู่การออกแบบสวนสาธารณะเชิงประวัติศาสตร์
เวียงแก้ว คือพื้นที่หนึ่งในเขตกำแพงเมืองเชียงใหม่ ที่ชาวเชียงใหม่และนักประวัติศาสตร์ไม่น้อยเชื่อว่าเป็นพระราชวังของพญามังรายปฐมกษัตริย์แห่งล้านนาและกษัตริย์ในราชวงศ์มังราย

สายกลาง จินดาสุ นักโบราณคดีชำนาญการ สำนักศิลปากรที่ 7 พูดถึงเวียงแก้ว แม้หลักฐานไม่ได้กล่าวชี้ชัดว่า คราวพญามังรายสร้างเมือง พระราชวังตั้งอยู่จุดใด แต่เอกสารกล่าวถึงที่ตั้งเชิงความสัมพันธ์ของพื้นที่ว่า พระราชวังตั้งอยู่ทางทิศตะวันตกเฉียงใต้ของวัดเชียงมั่น

นี่คือเหตุผลสำคัญนำมาสู่การขุดค้นทางโบราณคดี และเปิดแผนพัฒนาพื้นที่เวียงแก้ว หลังการขุดค้นโบราณคดีและปรับแบบ หลังชาวเชียงใหม่รอคอยมานานมากกว่า 10 ปี และเพิ่งจะเริ่มก่อสร้าง 

มุมสูงเวียงแก้ว หากก่อสร้างแล้วเสร็จ

มุมสูงเวียงแก้ว หากก่อสร้างแล้วเสร็จ

มุมสูงเวียงแก้ว หากก่อสร้างแล้วเสร็จ

สายกลาง เล่าถึงการขุดค้นทางโบราณคดีบริเวณเวียงแก้ว ระบุถึงโบราณสถานที่พบในสมัยล้านนา “เวียงแก้ว” หรือพระราชวังล้านนา และอีกส่วนคือ การอนุรักษ์เรือนจำมณฑลยัพ อาคารประวัติศาสตร์ช่วงสมัยรัชกาลที่ 5

อ่านข่าว : "คุ้มเวียงแก้ว" ความสำคัญในอดีต สู่การใช้พื้นที่ขนาดใหญ่กลางเมืองเชียงใหม่

ทั้งสองส่วนเป็นหลักฐานและส่วนประกอบสำคัญทางโบราณคดี และประวัติศาสตร์ ที่นำมาวิเคราะห์แบบก่อสร้างในพื้นที่ เพื่อรักษาคุณค่าของการเป็นเขตพระราชวังหลวง และอาคารประวัติศาสตร์ ที่จะบอกเล่าประวัติศาสตร์เมืองเชียงใหม่ และการใช้ประโยชน์พื้นที่ในเชิงสาธารณะที่ผ่านกระบวนการประชาพิจารณ์รับฟังความเห็นประชาชนชาวเชียงใหม่

แนวคิดเก็บรักษาพื้นที่อนุรักษ์สมัยล้านนากับสมัยรัชกาลที่ 5

“ยุคล้านนา” การขุดค้นโบราณคดี มีส่วนประกอบของ เวียงแก้ว คือ เก็บรักษา กำแพงด้านทิศเหนือ ทิศใต้ ทิศตะวันออก ร่องน้ำ บ่อน้ำ หอพระประจำของพระราชวังที่อยู่ด้านทิศตะวันออก หรือว่า “หอพระนางไหว้” สมัยพระเมกุฏ

องค์ประกอบนี้กรมศิลปากรกำหนดให้มีการแสดงคุณค่าและแสดงให้เห็นเมื่อสวนสาธารณะก่อสร้าง

พื้นที่สวนสาธารณะเวียงแก้ว ไม่ใช่แค่สถานที่เป็นของเมืองเปล่าๆ แต่เป็นสวนประวัติศาสตร์ ที่แสดงถึงความเป็นมาพระราชวังหลวงของล้านนา

สายกลางระบุว่า คนที่เข้ามาในสวนต้องรับรู้ว่าเข้ามาอยู่ในพื้นที่ของพระราชวัง แม้โบราณสถานที่กระจายอยู่อาจไม่มีความต่อเนื่อง เพราะพื้นที่มีการรบกวนสมัยเป็นเรือนจำมณฑลพายัพและเรือนจำจังหวัด มีการขุดค้นทางโบราณคดี ปี 2564 และ 2566 และล่าสุดบริเวณด้านตะวันออก คือ หอพระนางไหว้ หรือ ศาลเจ้าพ่อข้อมือเหล็ก

กรมศิลปากรได้ปรับแผนพิจารณาอะไรคือ “คุณค่าหลักในยุคสมัยนี้” คุณค่าหลัก คือ สิ่งที่ที่แสดงให้เห็นถึงกายภาพของความเป็นพระราชวัง คือ กำแพงวัง คุณค่าหลักที่ต้องเก็บรักษาไว้

โบราณสถานที่สื่อความหมายได้ คือ ร่องน้ำ บ่อน้ำ หอพระประจำวัง ตัวหลักที่แสดงถึงคุณค่าของพื้นที่ร่วมกันเป็นพื้นที่สาธารณะ

พื้นที่การขุดเปิดทุกจุด ทำให้เห็นกลุ่มโบราณสถานที่จะจัดแสดง คือ กำแพงด้านทิศใต้ ทิศเหนือ กำแพงส่วนนี้จะเป็นจุดแบ่งส่วนของวังหลังกับวังหน้า

อ่านข่าว : เปิดหลักฐานพระราชวังล้านนา “คุ้มเวียงแก้ว” เชียงใหม่

ทำไมต้องเก็บรักษาอาคารเรือนจำ?

การเก็บรักษามี 3 อาคารหลัก คือ อาคารบัญชาการ เรือนเพ็ญ และอาคารแว่นแก้ว ประตูทางเข้าเรือนจำเดิม ด้านทิศใต้ ป้อมทางทิศตะวันตกเฉียงใต้และมีกำแพงต่อเนื่องจากป้อม

อาคารเหล่านี้ มีคุณค่าพัฒนาการของกิจการศาล กระบวนการยุติธรรม และงานราชทัณฑ์ในประเทศไทย

มณฑลพายัพก่อนหน้าที่จะมีเรือนจำ แต่ในภูมิภาคไม่มีเรือนจำแบบมาตรฐานสากล การสร้างขึ้นเรือนจำมณฑลพายัพจึงใช้เป็นที่จำคุกของนักโทษต่างชาติด้วย ในอดีต สมัย ร.5 ถือว่าเป็นเรือนจำที่ทันสมัยขนาดใหญ่

แสดงถึงความเท่าเทียมอารยประเทศ ก่อสร้างอาคารลักษณะสมมาตรตรงกัน สร้างเป็นคู่ ได้เก็บรักษาอาคารที่เป็นแกนกลางพื้นที่ คือ อาคารเรือนบัญชาการ กับอาคารเรือนเพ็ญ และอาคารแว่นแก้ว ทางด้านทิศตะวันออก

รูปแบบอาคารเทคนิคการสร้าง เป็นรูปแบบเฉพาะช่วงสมัยรัชกาลที่ 5 คือใช้ผนังรับน้ำหนัก เนื่องจากอาคารยุคดังกล่าว ไม่มีระบบคานถ่ายเทน้ำหนัก ผนังจึงมีความหนากว่า 50 ซม.รับน้ำหนักอาคารทั้งหมด เป็นลักษณะเฉพาะอาคารช่วงเวลาดังกล่าว

คุณค่าในปัจจุบันอาคาร สมัย ร.5

การพิจารณากรมศิลปากร มองว่า อาคาร 3 หลัง สามารถใช้ประโยชน์อนาคตได้ จึงมีข้อพิจารณาเก็บรักษาไว้ อาจใช้อาคารเป็นสำนักงาน ร้านค้า หรือประโยชน์ในเชิงสาธารณะ เช่น การจัดประชุม หรือแสดงข้อมูล ความรู้ เกี่ยวกับประวัติศาสตร์พื้นที่เวียงแก้ว ซึ่งอาจเป็นเพียงแนวคิด ทั้งนี้ก็ขึ้นอยู่กับประชาชนว่าจะใช้ประโยชน์แบบไหนเพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดกับชาวเชียงใหม่

การออกแบบผังสวนควบคู่กับหลักฐานทางประวัติศาสตร์ 

ร่องรอยโบราณสถานใต้ดิน และอาคารคุกเดิมพร้อมป้อมและแนวกำแพงบางส่วน ที่กรมศิลป์เสนอให้คงไว้

ร่องรอยโบราณสถานใต้ดิน และอาคารคุกเดิมพร้อมป้อมและแนวกำแพงบางส่วน ที่กรมศิลป์เสนอให้คงไว้

ร่องรอยโบราณสถานใต้ดิน และอาคารคุกเดิมพร้อมป้อมและแนวกำแพงบางส่วน ที่กรมศิลป์เสนอให้คงไว้

ประตูทางเข้าสวน ผ่านเข้ามาแล้วจากด้านนอกจะแสดงถึงความเป็นวัง ทุกคนจะรู้ด้วยกายภาพของพื้นที่ ว่าเดินข้ามกำแพงจะเข้าสู่วังแล้ว

ภาพถ่ายทางอากาศหลังปี 2400 ปลายๆ อาจเป็นคุ้มหลวงเจ้าหลวงพุทธวงศ์ จึงมีการแสดงคุณค่าเพิ่มอีก จำลองฐานขึ้นมาอีก ทางเข้าสวนตั้งอยู่ทิศตะวันออกเฉียงใต้ แนวคิดการออกแบบ “เผยแผ่นดิน ถิ่นเวียงแก้ว” ลักษณะการออกแบบพื้นที่จึงเหมือนการเอามีดกรีดบนกระดาษ บนพื้นดิน เพื่อเผยอขึ้นเหมือนทางเข้าย้อนไปสู่อดีต

เมื่อเดินเข้าไปเหมือนมีทางบังคับให้เดินตามทาง จุดแรกที่พบจะข้ามสะพานมองเห็นกำแพงเวียงแก้ว เมื่อข้ามสะพานจะเหมือนให้รับรู้ว่าเข้าสู่เขตพระราชวัง ต่อจากนั้นจะผ่านอาคารเล็กๆมีลักษะคล้ายกรอบทางเดิน ชื่อ “โถงแห่งความระลึกถึง” ใช้ดินในเวียงแก้วสร้างบนผนังเพื่อสื่อความหมายว่า “เป็นถิ่นเวียงแก้ว”

พื้นที่ตรงกลางสวนออกแบบเป็น “ข่วง” หรือลานพิธีกรรม เพื่อใช้ประโยชน์สาธารณะของเมือง มีต้นไม้ใหญ่ ทางด้านขวามีอาคารเล็กๆเรียก “ศาลพิธีกรรม” ออกแบบเป็นอาคารล้านนาประยุกต์

ด้านหลัง (ทิศเหนือ) มีแนวกำแพงยาวทั้งแนว ด้านตะวันตกมีร่องน้ำ เมื่อดูในผังพื้นที่ค่อนข้างเปิดโล่งเป็นพื้นที่สีเขียวเชิงสวน สามารถเห็นความต่อเนื่องและแสดงคุณค่าโบราณสถานค่อนข้างชัด

การปรับแบบเพื่อชูจุดเด่นคุณค่าเชิงพื้นที่

กรมศิลปากรไม่ขัดข้องประชาชนและจังหวัด ต้องใช้ประโยชน์เชิงสาธารณะ แต่สิ่งต้องทำ คือ อะไรคือคุณค่าของสองสมัยนี้ สิ่งที่มีการก่อสร้างค้นมาใหม่อะไรที่ขัดแย้งคุณค่าสองสมัยนี้ต้องปรับแบบ

พื้นที่หนึ่งมีได้หลายคุณค่า แต่จะเน้นคุณค่าใด ไม่ให้แต่ละคุณค่าไปลดทอนคุณค่าอื่น หรือลดทอนคุณค่าซึ่งกันและกัน
ความเป็นสวนพื้นที่สีเขียวค่อนข้างเยอะ มีอาคารน้อยบริเวณก่อสร้าง

ความเป็นสวนพื้นที่สีเขียวค่อนข้างเยอะ มีอาคารน้อยบริเวณก่อสร้าง

ความเป็นสวนพื้นที่สีเขียวค่อนข้างเยอะ มีอาคารน้อยบริเวณก่อสร้าง

อาคารในพื้นที่สวนหลักๆ คือ อาคารพิธีกรรม ซึ่งอาคารพิธีกรรมเป็นอาคารทรงล้านนาประยุกต์ อาคารบริการ เดิมอยู่กลางสวนแนวคิดกรมศิลปากรต้องการให้เป็นพื้นที่เปิดโล่ง สามารถมองเห็น รับรู้ภูมิทัศน์ความเชื่อมต่อความเป็นพระราชวัง กรมศิลปากรจึงย้ายมาหลบมุมอยู่ด้านทิศตะวันตกเฉียงใต้

มองอนาคตการพัฒนาเวียงแก้ว ยังไม่พบรากฐานหอคำ

แผนผังการขุดค้นเจอโบราณสถานสมัยล้านนา ค่อนข้างกระจายตัวไม่ค่อยสมบูรณ์ สื่อความหมายยากหลายจุด ข้อพิจารณาของกรมศิลปากร คือให้สามารถกลับฟื้นพื้นที่ได้เพียงแต่เปิดโอกาสให้ใช้ประโยชน์บนพื้นที่พื้นผิวด้านบนในประโยชน์สาธารณะ เนื่องจากตอนนี้ไม่สามารถหาหลักฐานเพิ่มเติมได้ว่าแนวอิฐสื่อความหมายอะไรได้บ้าง แต่มีข้อกำหนดแผนงานไว้

แผนการก่อสร้างบนพื้นผิวต้องเป็นพื้นหญ้าและโรยกรวด ไม่มีสิ่งปลูกสร้างด้านบนที่โบราณสถาน เพื่อเปิดโอกาสให้สามารถมีการศึกษาได้ในอนาคต

ปัจจุบันยังไม่เจอส่วนที่สันนิษฐานว่าเป็น “หอคำ” หรือ พระราชวังของกษัตริย์ จุดที่พบเป็นเพียงส่วนหนึ่งของเขตพระราชฐาน ส่วนที่เป็นพระราชวังหลวงล้านนา ตามแผนที่นครเชียงใหม่ ปี 2436 เขตพระราชวังแบ่งเป็น 3 ส่วน ส่วนแรก คือฝั่งตะวันออก และส่วนสองเหมือนวังหลังมี 2 ส่วนคือ ด้านทิศเหนือ กับ ด้านทิศใต้

แผนที่นครเชียงใหม่ ปี 2436

แผนที่นครเชียงใหม่ ปี 2436

แผนที่นครเชียงใหม่ ปี 2436

โครงการเวียงแก้วปัจจุบันอยู่ในส่วนวังหลังด้านทิศใต้ ปัจจุบันสองส่วนที่ไม่มีโอกาสได้ดำเนินการทางโบราณคดี คือ ทิศเหนือ กับด้านตะวันออก โดยส่วนที่สำคัญสุด คือ ด้านทิศตะวันออก ปัจจุบันคือที่เอกชน และวิทยาลัยอาชีวะเชียงใหม่

รายงาน : โกวิทย์ บุญธรรม ผู้สื่อข่าวไทยพีบีเอส ศูนย์ข่าวภาคเหนือ

ข่าวที่เกี่ยวข้อง