ค้นหา
ทีวีออนไลน์
เว็บไซต์ในเครือ
เว็บไซต์บริการ

จับผู้ก่อเหตุบุกสถานกงสุลในตุรกีได้แล้ว 9 คน นักวิชาการชี้ไทยถูกกดดันจากมุสลิม-สหรัฐฯ

ต่างประเทศ
10 ก.ค. 58
04:47
96
Logo Thai PBS
จับผู้ก่อเหตุบุกสถานกงสุลในตุรกีได้แล้ว 9 คน นักวิชาการชี้ไทยถูกกดดันจากมุสลิม-สหรัฐฯ

นักวิชาการประเมินว่า การที่ไทยส่งชาวอุยเกอร์ไปยังจีน ทำให้ต้องเผชิญกับภาวะความกดดันจากโลกมุสลิม และสหรัฐฯ รวมถึงคำถามเกี่ยวกับสิทธิมนุษยชน ขณะที่นายกรัฐมนตรียืนยันว่า ไทยดำเนินการตามพันธสัญญาระหว่างประเทศ ส่วนเหตุสถานกงสุลไทยที่ได้รับความเสียหาย มีรายงานว่า จับกุมผู้ก่อเหตุได้แล้ว 9 คน

วันนี้ (10 ก.ค.2558) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า หลังเกิดเหตุกลุ่มบุคคลบุกเข้าไปในสถานกงสุลใหญ่กิตติมศักดิ์ของไทย ในนครอิสตันบูล ประเทศตุรกี ซึ่งคาดว่า เป็นการแสดงความไม่พอใจที่รัฐบาลไทย ที่ส่งตัวชาวอุยเกอร์ที่หลบหนีเข้าเมืองผิดกฎหมาย กลับไปยังประเทศจีน ล่าสุดมีรายงานว่า ตำรวจจับกุมผู้ก่อเหตุได้แล้ว 9 คน เป็นสมาชิกของกลุ่มที่เรียกตัวเองว่า “สมาคมศึกษาเติร์กสถานตะวันออก”

ส่วนการเผยแพร่ข่าวว่า สถานเอกอัครราชทูตไทย ณ กรุงแองการา ถูกปิดล้อมและมีเจ้าหน้าที่ของไทยติดอยู่ภายใน 7 คน ขณะนี้กระทรวงการต่างประเทศได้ตรวจสอบไปยังสถานเอกอัครราชทูตไทย ณ กรุงแองการาแล้ว และยืนยันว่าข่าวดังกล่าวไม่เป็นความจริงฃ

ส่วนการดูแลคนไทยในประเทศตุรกี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ขณะนี้มีการประสานงานกันในระดับสูง ทั้งกระทรวงการต่างประเทศ และผู้นำก็มีการสื่อสารกันทำความเข้าใจกัน พร้อมเน้นย้ำถึงความปลอดภัยของเจ้าหน้าที่และคนไทย รวมถึงสาเหตุของเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น

ส่วนท่าทีของไทยต่อปัญหานี้ นายกรัฐมนตรีย้ำว่า ได้ปฏิบัติตามพันธสัญญาระหว่างประเทศ ซึ่งการส่งตัวมีกระบวนการตรวจสอบสัญชาติอยู่แล้ว และให้ความสำคัญเรื่องสิทธิมนุษยชนและเคารพกฎหมายของทุกประเทศ

ด้าน พล.ต.วีรชน สุคนธปฏิภาค รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า การส่งกลับคนอุยเกอร์ไปประเทศจีน ทั้งหมดได้มีการพิสูจน์แล้วว่าเป็นคนจีน ในฐานะที่ไทยเป็นผู้รับผิดชอบการส่งกลับ มีการพูดคุยเรื่องข้อกังวลต่างๆ กับรัฐบาลจีน ถึงเรื่องความปลอดภัย รวมถึงการดำเนินการหลังการส่งกลับ ซึ่งจีนยืนยันว่า มีการดูแลตามหลักพื้นฐานของมนุษยธรรม

นายศราวุฒิ อารีย์ รองผู้อำนวยการศูนย์มุสลิมศึกษา สถาบันเอเชียศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ประเมินว่า ปัญหาชาวอุยเกอร์เป็นประเด็นทั้งศาสนา การเมืองภายในของตุรกี และการเมืองระหว่างประเทศ โดยสถานการณ์ที่เกิดขึ้นมาจาก 3 ปัจจัย คือ
1.รัฐบาลของตุรกีในระยะหลังเป็นรัฐบาลนิยมแนวทางอิสลาม จึงมีนโยบายช่วยเหลือมุสลิมตกยากในทุกประเทศ รวมทั้งอุยเกอร์ ซึ่งที่ผ่านมารัฐบาลตุรกีให้ความช่วยเหลือมุสลิมในซีเรียที่เกิดสงครามกลางเมือง ขณะที่ชาวอุยเกอร์ รัฐบาลตุรกีก็มีนโยบายให้สัญชาติเป็นจำนวนมากในแต่ละปี
2.รัฐบาลตุรกีไม่พอใจรัฐบาลจีน เกี่ยวกับการจัดการปัญหาอุยเกอร์ในมณฑลซินเจียง ถึงขั้นเรียกทูตจีนเข้าพบ และออกแถลงการณ์ตำหนิ ขณะที่ฝ่ายจีนก็ออกมาแสดงท่าทีตอบโต้
3.การเมืองภายในของตุรกีเอง คือ หลังการเลือกตั้ง รัฐบาลเดิมสูญเสียที่นั่งไปในสภาทำให้ไม่สามารถตั้งรัฐบาลพรรคเดียวได้ จึงมีการต่อสู้แย่งชิงเสียงสนับสนุนกับพรรคฝ่ายค้าน ซึ่งฝ่ายค้านมีแนวทางชาตินิยม ได้ปลุกกระแสต่อต้านนโยบายการช่วยเหลือมุสลิมเชื้อสายอื่นที่ไม่ใช่ชาวเติร์ก

รองผู้อำนวยการศูนย์มุสลิมศึกษา ระบุด้วยว่า การที่ไทยส่งตัวชาวอุยเกอร์ไปยังจีนครั้งนี้ จะทำให้ไทยต้องเผชิญแรงกดดันใน 3 ด้าน คือ ด้านสิทธิมนุษยชน ไทยจะถูกสหรัฐอเมริกากดดันมากขึ้น เพราะสหรัฐฯ เป็นพันธมิตรกับตุรกี และกำลังขยายอิทธิพลในภูมิภาคนี้แข่งกับจีน และไทยต้องเผชิญกับความไม่พอใจของโลกมุสลิม
 


ข่าวที่เกี่ยวข้อง