กรณี 2 นักท่องเที่ยวชาวอินเดียวูบหมดสติ หลังสวม "ซีวอล์กเกอร์" ท่องโลกใต้น้ำเกาะสาก จ.ชลบุรี ยังต้องใช้เครื่องช่วยหายใจ ตำรวจและหน่วยงานท่องเที่ยวเร่งตรวจสาเหตุ พบเรือพาเที่ยวมีใบอนุญาต แต่ 6 แรงงานกัมพูชาเข้าเมืองผิดกฎหมาย
ซีวอล์กเกอร์ (Sea Walker) เป็นการท่องเที่ยวใต้ท้องทะเลรูปแบบหนึ่ง โดยจะนำอุปกรณ์หัวครอบที่มีลักษณะใส มาให้นักท่องเที่ยวสวมระหว่างที่ลงไปใต้ท้องทะเล พร้อมมีระบบหายใจใต้น้ำที่มีสายออกซิเจน ต่อมาจากบนเรือ โดยจะอยู่ความลึกระดับ 7–10 เมตร การใช้บริการจะใช้เวลา 15-20 นาทีต่อรอบราคา 800-900 บาท
โดยเจ้าหน้าที่จะประคองให้นักท่องเที่ยวลงสู่พื้นทะเลก่อน หลังจากนั้นจะปล่อยให้นักท่องเที่ยวได้ชมฝูงปลา และความงดงาม โดยที่ยังคงหายใจได้ตามปกติ ซึ่งปัจจุบันกำลังเป็นที่นิยมทั่วโลก ในไทยพบมากในพื้นที่พัทยา จ.ชลบุรี มีผู้ประกอบการ 17 ราย
อ่านข่าว 2 นทท.อินเดียวูบหลังสวม "ซีวอล์กเกอร์" ชมทะเลเกาะสาก
ตำรวจท่องเที่ยวเข้าตรวจสอบกรณีพบนักท่องเที่ยวไปทำกิจกรรมซีวอล์กเกอร์ แล้วขึ้นมาเกิดอาการวูบ ยังไม่สรุปสาเหตุ
ต้องรู้ก่อนดำดิ่งใต้ทะเล "ซีวอล์กเกอร์"
นายวุฒิพงษ์ วงศ์อินทร์ ผอ.ส่วนอนุรักษ์ทรัพยากรทางทะเล สำนักงานทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งที่ 2 กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง (ทช.) ให้สัมภาษณ์ไทยพีบีเอสออนไลน์ว่า กิจกรรมซีวอล์กเกอร์ ในพื้นที่พัทยามีหลายหน่วยงานดูแล ในส่วนของ ทช.ดูแลเฉพาะทรัพยากรทางทะเลและปะการัง เช่นการเหยียบย่่ำปะการัง และการอนุญาตให้ใช้พื้นที่ประกอบกิจกรรม 19 พื้นที่ของเกาะสาก เกาะล้าน โดยจะแบ่งให้เข้าท่องเที่ยวใน 2 ฤดูกาลสลับกัน
ในส่วนกรมเจ้าท่า จะดูแลการท่องเที่ยวทางเรือ มาตรฐานเรือ ขณะที่กรมการท่องเที่ยวจะดูแลเรื่องความปลอดภัย แต่ทั้ง 3 ส่วนจะอยู่ภายใต้ประกาศของ
เมืองพัทยา
กิจกรรมดำน้ำแบบ
วุฒิพงษ์ บอกว่า สำหรับซีวอล์กเกอร์ เดิมเคยให้ไปดูแนวปะการัง แต่เกิดปัญหานักท่องเที่ยวเหยียบย่ำ จึงปรับรูปแบบใหม่ให้ใช้จะเป็นพื้นที่ทะเลโล่ง ๆ มีการปูพื้นและกั้นราวรั้วไม่ให้ออกนอกแนวเขตจุดไม่เกิน 30X30 ตร.ม.แต่ไม่ได้ปรับสภาพใต้ท้องทะเล ส่วนใหญ่กำหนดความลึก 5-7 เมตรและนักท่องเที่ยวที่ลงไปจะอยู่ได้ 10 นาที
ซีวอล์กเกอร์ เป็นอาชีพใหม่ที่กฎหมายการท่องเที่ยวยังไม่ครอบคลุม เพราะกิจกรรมดำน้ำมี 3 รูปแบบคือ ดำน้ำตื้น ดำน้ำลึกแบบ Scuba และการดำน้ำลึกแบบ Snuba ส่วนซีวอล์กเกอร์ยังไม่มีคำอนุญาต แต่ไม่ได้หมายความว่าห้าม
ขณะที่การดูแลเชิงพื้นที่ไม่ให้กระทบกับทรัพยากรทางทะเล ทางทช.เคยมีการจัดทำร่างประกาศกำหนดมาตรการ หลักเกณฑ์ วิธีการและเงื่อนไขการประกอบกิจกรรมท่องเที่ยวดำน้ำแบบเดินใต้ทะเล (Sea Walker) ไว้แล้ว
อ่านข่าว เปิดใจคุย "ธรณ์" วิกฤตปะการังฟอกขาว ในวันใต้ท้องทะเลไทยเดือด
เมื่อถามมีความเสี่ยงจากข้อบกพร่องของตัวอุปกรณ์ หรือคนควบคุมมากแค่ไหน วุฒิพงษ์ บอกว่า จากที่เคยทดลองท่องเที่ยวรูปแบบซีวอล์กเกอร์มาแล้ว ระบบหัวสวมมีน้ำหนักประมาณ 10 กก.เพื่อกดไม่ให้หัวลอย แต่เมื่ออยู่ในน้ำจะไม่หนัก
ส่วนด้านหลังจะมีหัวจุกที่เครื่องปั้มอากาศด้านบนเรือที่ต่อสายจากเรือ เมื่อนักท่องเที่ยวลงไปใต้ทะเลแล้ว จะสวมหัว เพื่อดันอากาศเข้าไปที่ตัวซีวอล์กเกอร์ และคนที่ดำน้ำจะมีอากาศทำให้ลอยตัวในน้ำได้ ส่วนอากาศที่เข้ามาในหัว มีปัญหาหรือไม่นั้น เท่าที่เคยมีประสบการณ์พบว่าบนเรือจะมีเครื่องอัดปั้มอากาศสำหรับดำน้ำอัดเก็บในถัง เมื่อความดันได้จะส่งต่อลงไปที่หัวสวม
ผมมองว่ากีฬาทางน้ำทุกชนิดมีอันตรายทั้งหมด ถ้ามีความประมาท และไม่ทำตามคำแนะนำ ซึ่งส่วนใหญ่จะบรีฟข้อมูล ข้อควรระวัง อีกทั้งนักท่องเที่ยวอาจจะไม่ประเมินสุขภาพของตัวเอง เช่น นอนดึก ดื่ม หรือมีโรคประจำตัว
ทั้งนี้แม้จะยังไม่มีการกำหนดออกมาเป็นระเบียบ เหมือนกรณีการดำน้ำลึกที่ต้องมีใบรับรองอายุเป็นลำดับขั้น เช่น Junior Open Water มีข้อจำกัด นักดำน้ำอายุ 10-11 ปี ต้องดำน้ำกับ PADI Professional พ่อแม่หรือผู้ปกครองที่ผ่านการรับรองเป็นนักดำน้ำมาแล้ว และการดำน้ำต้องไม่เกิน 12 เมตร/40 ฟุต เพื่อความปลอดภัย นักดำน้ำอายุ 12-14 ปี ต้องดำน้ำกับผู้ใหญ่ ที่ผ่านการรับรองเป็นนักดำน้ำมาแล้ว และดำน้ำได้ไม่เกิน 18 เมตร 60 ฟุต ซึ่งในมุมของตัวเองก็ยังมองว่ายังเด็ก และนักดำน้ำเองก็เสียชีวิตได้เช่นกัน
อ่านข่าวอื่นๆ เปิดเบื้องหลังเฉือนป่าทับลาน 2.6 แสนไร่ ใครได้ประโยชน์
ก่อนหน้านี้เมื่อปี 2560 เคยเกิดกรณีนักท่องเที่ยวชาวจีน อายุ 52 ปี สำลักน้ำเสียชีวิต หลังจากการเล่นกิจกรรมทางน้ำประเภทซีวอล์กเกอร์ ที่บริเวณหาดหัวโขด เกาะล้าน-เมืองพัทยา มาแล้ว โดยบริษัทประกันได้จ่ายเงินสินไหมทดแทนให้กับทายาทจำนวน 1.2 ล้านบาท