ค้นหา
ทีวีออนไลน์
เว็บไซต์ในเครือ
เว็บไซต์บริการ

"ธนาคารโลก" ชี้ "เมืองรอง" เพิ่มศักยภาพผลิตภาพของไทย

เศรษฐกิจ
3 ก.ค. 67
16:24
411
Logo Thai PBS
"ธนาคารโลก" ชี้ "เมืองรอง" เพิ่มศักยภาพผลิตภาพของไทย
อ่านให้ฟัง
00:00อ่านข่าวให้ฟังโดย Botnoi Voice เว็บแอปพลิเคชันสำหรับสร้างเสียงจากข้อความด้วย AI (Text to Speech)
“ธนาคารโลก” ชี้ระยะยาวเมืองรองจะมีศักยภาพเพิ่มผลิตภาพของประเทศไทย ช่วยกระตุ้นการเติบโตทางเศรษฐกิจ และสนับสนุนความสามารถการแข่งขันในระดับโลก หากมีการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานในครอบคลุม ลดความเลื่อมล้ำเศรษฐกิจเมืองกระจุกตัว

ที่ผ่านมา ธนาคารโลก ได้ร่วมกับหน่วยงานต่าง ๆ ศึกษาพัฒนาเมืองรองของไทย โดยพบว่า โอกาสและการลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน จะช่วยผลักดันการเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศ รัฐบาลจะต้องมีแนวทางส่งเสริมให้เมืองรองสามารถเข้าถึงแหล่งเงินทุนภาคเอกชน เพื่อมาใช้ในการลงทุนและการพัฒนาเมือง

วันนี้ (3 ก.ค.67) ธนาคารโลก เผยแพร่ “รายงานการตามติดเศรษฐกิจไทย” ฉบับล่าสุด นำเสนอหัวข้อ “การปลดล็อกศักยภาพการเติบโตของเมืองรอง” ระบุว่า ในระยะยาว เมืองรองจะมีศักยภาพในการเพิ่มผลิตภาพของประเทศไทย ช่วยกระตุ้นการเติบโตทางเศรษฐกิจ และสนับสนุนความสามารถการแข่งขันในระดับโลก

สำหรับการพัฒนาเมืองของประเทศไทย ที่ผ่านมาได้มุ่งเน้นไปที่กรุงเทพมหานคร เป็นกลไกขับเคลื่อนการเติบโตของประเทศ โดยกรุงเทพฯ มีประชากรมากกว่าจังหวัดที่ใหญ่รองลงมาอย่างเชียงใหม่ถึง 29 เท่า และมี GDP มากกว่าจังหวัดที่มี GDP ในลำดับรองลงมาอย่างชลบุรี เกือบ 40 เท่า

และมีโครงสร้างพื้นฐานและเครือข่ายการคมนาคม ที่ได้รับการพัฒนาก้าวหน้ากว่า เมื่อเทียบกับเมืองอื่น ๆ แต่แม้ว่าความเป็นเมืองหลักของกรุงเทพฯ จะขับเคลื่อนการเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศ แต่ความแออัดและความเปราะบางของเมืองในด้านต่าง ๆ แสดงให้เห็นถึงความจำเป็นที่จะต้องมีการพัฒนาเขตเมืองอย่างสมดุล และต้องทำให้เกิดการกระจายตัวทางเศรษฐกิจมากขึ้น

เพราะขณะนี้เศรษฐกิจของกรุงเทพฯ เริ่มส่งสัญญาณการชะลอตัว เนื่องจากการเติบโตของ GDP ของกรุงเทพฯ ใกล้เคียงกับการเติบโตของประชากร ซึ่งเป็นสิ่งบ่งชี้ว่าเศรษฐกิจของเมืองได้เติบโตอย่างเต็มที่และถึงจุดอิ่มตัว

“จากข้อมูลล่าสุด การเติบโตของ GDP ต่อหัวของเมืองรอง สูงกว่าของกรุงเทพฯ เกือบ 15 เท่า แสดงให้เห็นถึงผลิตภาพ ประสิทธิภาพ และศักยภาพทางเศรษฐกิจที่ดีขึ้นของเมืองรอง ธนาคารโลก จึงมองว่า เมืองรองมีบทบาทสำคัญในการพัฒนาภูมิภาค โดยทำหน้าที่เป็นศูนย์กลางของการปกครองท้องถิ่นและภาคอุตสาหกรรม สนับสนุนและเชื่อมโยงทางเศรษฐกิจภูมิภาคกับกรุงเทพฯ หรือเป็นระเบียงการค้าทางเศรษฐกิจที่สำคัญ”

ทั้งนี้ ในฐานะศูนย์กลางของกิจกรรมทางเศรษฐกิจในภูมิภาค เมืองรองจะสามารถบรรเทาความแออัดและตึงเครียดในกรุงเทพฯ โดยการเป็นทางเลือกสำหรับที่ตั้งในการดำเนินธุรกิจและอุตสาหกรรม ซึ่งเห็นได้ว่าเมืองเหล่านี้มีบทบาทสำคัญในการสร้างงานและการกระจายฐานเศรษฐกิจ อีกทั้งยังส่งเสริมการพัฒนาเชิงพื้นที่ที่สมดุลมากขึ้นทั่วประเทศ

อย่างไรก็ตาม ยังมีความท้าทาย ที่ทำให้เมืองรองไม่สามารถบรรลุศักยภาพทางเศรษฐกิจของตนได้อย่างเต็มที่ คือการพึ่งพารายได้จากส่วนกลางมากเกินไป หากการปกครองท้องถิ่นมีอำนาจมากขึ้นในการวางผังเมือง พัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน

และการเข้าถึงกลไกทางการเงินระยะยาว ควบคู่ไปกับการมีเครื่องมือทางการคลังที่เหมาะสม เช่น ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง การเรียกเก็บภาษีเงินได้เพิ่มเติม ที่ต้องชำระให้ส่วนท้องถิ่นจากฐานภาษีเงินได้ และค่าธรรมเนียมการใช้บริการสาธารณะหรือโครงสร้างพื้นฐาน ซึ่งจะทำให้เมืองเหล่านี้สามารถกำหนดทิศทางการ เติบโตทางเศรษฐกิจของตนเองได้อย่างมีประสิทธิภาพ

นอกจากนี้ รายงานเศรษฐกิจไทย ของธนาคารโลก ยังคาดการณ์ว่า ผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศไทยปี 2567 จะขยายตัวได้เพียงร้อยละ 2.4 สาเหตุหลักมาจากการส่งออกและการเบิกจ่ายภาครัฐในช่วงต้นปีน้อยกว่าคาดการณ์ แต่ในปี 2568 GDP ของไทย คาดว่าจะอยู่ที่ร้อยละ 2.8 โดยมีปัจจัยบวกจากอุปสงค์ที่เพิ่มสูงขึ้น ทั้งในประเทศและต่างประเทศ รวมถึงการใช้จ่ายภาครัฐที่เพิ่มขึ้น และจำนวนนักท่องเที่ยวที่จะเดินทางเข้ามาเพิ่มขึ้นเป็น 41 ล้านคน

ด้าน นายเผ่าภูมิ โรจนสกุล รมช.คลัง กล่าวว่า กระทรวงการคลังต้องการปลุกศักยภาพเมืองรอง โดยให้ความสำคัญกับนโยบายลดความเหลื่อมล้ำเชิงพื้นที่ โดยได้จัดทำดัชนีวิเคราะห์ปัจจัยพื้นฐานทางเศรษฐกิจเชิงพื้นที่ หรือ “SEFI” ซึ่งเป็นฐานข้อมูลขนาดใหญ่ด้านเศรษฐกิจ จากแหล่งข้อมูลที่หลากหลายประกอบกัน

ไม่ว่าจะเป็นข้อมูล ความจำเป็นพื้นฐาน ข้อมูลดาวเทียมและภูมิสารสนเทศ และข้อมูลปัจจัยพื้นฐานทางเศรษฐกิจของหน่วยงานภาครัฐและเอกชนต่าง ๆ ซึ่งประกอบด้วยเครื่องชี้ 88 เครื่องชี้ ครอบคลุม 6 มิติ ได้แก่ โครงสร้างพื้นฐาน สาธารณสุข การศึกษา เสถียรภาพเศรษฐกิจ ความท้าทายทางทรัพยากรมนุษย์ และสิ่งแวดล้อม โดยสามารถวิเคราะห์ถึงจุดแข็งและจุดอ่อนของปัจจัยพื้นฐานทางเศรษฐกิจในเชิงพื้นที่ได้ถึง “ระดับอำเภอและตำบล” ทำให้สามารถจัดลำดับความเร่งด่วนของปัญหาพื้นฐานทางเศรษฐกิจของแต่ละพื้นที่ได้ ทำให้สามารถวางแผนจัดทำนโยบายการคลังได้อย่างมีประสิทธิภาพ

ทั้งนี้ SEFI สะท้อนว่า เมืองหลักมีความพร้อมของปัจจัยพื้นฐานทางเศรษฐกิจสูงกว่าเมืองรองอย่างชัดเจน า SEFI เฉลี่ยเมืองหลักอยู่ที่ 0.081 ในขณะที่เมืองรองเฉลี่ยอยู่ที่ -0.046 ซึ่งโมเดลนี้จะมีตัวเลขในทุกอำเภอ ทุกตำบล ทำให้ SEFI สามารถใช้ในการประเมินจุดแข็งและจุดอ่อนของเมืองรอง เพื่อจัดทำมาตรการในการพัฒนาพื้นที่ ถือเป็นการต่อยอดจุดแข็งและการแก้ไขจุดอ่อนของเมืองรอง และส่งเสริมการเติบโตทางเศรษฐกิจในระยะยาว ซึ่งเป็นต้นแบบโมเดลของกระทรวงการคลังในการลดความเหลื่อมล้ำแบบตรงจุด ตรงพื้นที่ ตรงความต้องการ

อ่านข่าว : เปิดเบื้องหลังเฉือนป่าทับลาน 2.6 แสนไร่ ใครได้ประโยชน์

จับตา ! ประมูลข้าว 10 ปี "ล้ม-ไม่ล้ม" โจทย์ใหญ่ ทำไมต้อง "ธนสรร ไรซ์"

“ชาวบ้านภูเก็ต” โอด หน่วยงานรัฐเงียบ ไม่มีใครช่วยเหลือ-เคลียร์พื้นที่หลังน้ำทะลัก

ข่าวที่เกี่ยวข้อง