ค้นหา
ทีวีออนไลน์
เว็บไซต์ในเครือ
เว็บไซต์บริการ

อย่ามองข้าม "วัณโรคเทียม" มีกว่า 140 สายพันธุ์ ภูมิคุ้มกันต่ำเสี่ยงสูง

ไลฟ์สไตล์
3 ก.ค. 67
10:14
3,122
Logo Thai PBS
อย่ามองข้าม "วัณโรคเทียม" มีกว่า 140 สายพันธุ์ ภูมิคุ้มกันต่ำเสี่ยงสูง
อ่านให้ฟัง
00:00อ่านข่าวให้ฟังโดย Botnoi Voice เว็บแอปพลิเคชันสำหรับสร้างเสียงจากข้อความด้วย AI (Text to Speech)
กรมควบคุมโรค ย้ำเตือน อย่าปล่อยให้ร่างกายอ่อนแอ มีโอกาสเป็น "วัณโรคเทียม" มาหาคำตอบเกิดจากสาเหตุใด เช็กอาการเบื้องต้น รักษาหายหรือไม่

กลายเป็นเรื่องที่หลายคนให้ความสนใจ หลัง นพ.มนูญ ลีเชวงวงศ์ ผู้เชี่ยวชาญด้านโรคระบบทางเดินหายใจ เปิดเผยเคสหญิงอายุ 64 ปี "ติดเชื้อวัณโรคเทียม" ทั้งที่ร่างกายแข็งแรงดี ไม่สูบบุหรี่ เริ่มจากมีไข้ ไอ มีเสลดข้นเหนียวกลางวันกลางคืน เหนื่อย ไม่มีน้ำมูก ไม่เจ็บคอ และครั้งนี้ตรวจไม่พบโควิด แม้ได้ยาปฏิชีวนะ จากการรักษาที่โรงพยาบาลใกล้บ้าน ทำให้ไข้ลดลง แต่ยังไอมีเสลดมาก จนน้ำหนักลดลง 3 กิโลกรัม   

ผู้ป่วยรายนี้งานอดิเรกทำสวน ปลูกต้นไม้ ใส่ปุ๋ยคอกทำจากมูลวัวเทรอบต้นไม้ในเนื้อที่ 1 ไร่ 60 ถุง ทุก 2 เดือน ทำมากว่า 1 ปี 
ภาพจากเพจ นพ.มนูญ ลีเชวงวงศ์

ภาพจากเพจ นพ.มนูญ ลีเชวงวงศ์

ภาพจากเพจ นพ.มนูญ ลีเชวงวงศ์

จากการตรวจร่างกาย ฟังปอดมีเสียงผิดปกติทั้ง 2 ข้าง เอกซเรย์ปอดผิดปกติเข้าได้กับหลอดลมโป่งพองทั้ง 2 ข้าง ทำคอมพิวเตอร์ปอดเห็นหลอดลมโป่งพองในปอดทั้ง 2 ข้าง จึงส่งเสมหะย้อมเชื้อหาวัณโรค AFB smear ให้ "ผลบวก" โดยการวินิจฉัย โรคหลอดลมโป่งพอง สงสัยติดเชื้อวัณโรค หรือวัณโรคเทียม จึงให้ยารักษาวัณโรค ร่วมกับ azithromycin รักษาวัณโรคเทียม 2 สัปดาห์ หลังกินยาดีขึ้น หยุดไอ ไม่มีเสมหะ

ผลเพาะเชื้อขึ้นเชื้อวัณโรคเทียม 3 ชนิด คือ M.fortuitum, M. intracellulare และ M. gordonae เมื่อทราบผลได้หยุดยาทุกชนิดก่อน และแนะนำให้หยุดการเทปุ๋ยรอบต้นไม้ในสวน

ภาพจากเพจ นพ.มนูญ ลีเชวงวงศ์

ภาพจากเพจ นพ.มนูญ ลีเชวงวงศ์

ภาพจากเพจ นพ.มนูญ ลีเชวงวงศ์

นพ.มนูญ ระบุด้วยว่า ผู้ป่วยรายนี้คงติดเชื้อวัณโรคเทียม 3 ชนิด จากการหายใจเชื้อโรคลอยขึ้นมาในอากาศเวลาเทปุ๋ยคอกลงบนพื้นดิน มีการศึกษาในสหรัฐฯ ตรวจพบเชื้อวัณโรคเทียมหลายชนิดลอยขึ้นมาในอากาศในห้องปฏิบัติการเวลาเทปุ๋ยดินปลูก (Potting Soils) ซึ่งเป็นสินค้าขายในท้องตลาดลงบนพื้น

คนไข้รายนี้มีเชื้อวัณโรคเทียม 3 เชื้อ ในเสมหะเหมือนที่แยกจากละอองลอยจากดินปลูกในห้องปฏิบัติการในประเทศสหรัฐฯ 

คนทั่วไปที่ปอดปกติ เมื่อหายใจเชื้อวัณโรคเทียมเข้าไป ไม่ก่อให้เกิดโรค แต่คนที่มีโรคปอด เช่นมีโรคหลอดลมโป่งพอง เคยป่วยเป็นวัณโรค ควรหลีกเลี่ยงไม่อยู่ในบริเวณที่คนกำลังเทปุ๋ยลงบนพื้นดิน หรือเทปุ๋ยลงบนพื้นดินด้วยตัวเอง ต้องเทปุ๋ยลงบนพื้นดินด้วยตัวเอง ต้องใส่หน้ากากป้องกันเชื้อโรค เช่น N95 เพื่อป้องกันหายใจเชื้อวัณโรคเทียมที่ลอยขึ้นมาในอากาศเข้าปอด เพราะทำให้เกิดโรคได้อย่างผู้ป่วยรายนี้

นพ.มนูญ ยังระบุด้วยว่า วัณโรคเทียมมีหลายชนิด บางชนิดรักษายากยิ่งกว่าวัณโรคแท้ การวินิจฉัยและการรักษาให้ได้ผล ต้องอาศัย "การเพาะเชื้อ" และตรวจหา "ความไวต่อยา" เพื่อจะได้รู้ว่าเป็น "เชื้อวัณโรคเทียม" ชนิดไหน และให้ยาตัวไหนถึงจะได้ผล

ภาพจากเพจ นพ.มนูญ ลีเชวงวงศ์

ภาพจากเพจ นพ.มนูญ ลีเชวงวงศ์

ภาพจากเพจ นพ.มนูญ ลีเชวงวงศ์

วัณโรคเทียม กระจายตัวในธรรมชาติทั้งดิน-น้ำ

กรมควบคุมโรค อธิบายเกี่ยวกับ "วัณโรคเทียม" ให้เข้าใจได้ง่ายมากขึ้น พร้อมเตือน "อย่าปล่อยให้ร่างกายอ่อนแอ มีโอกาสเป็นวัณโรคเทียม"  

วัณโรค (Tuberculosis หรือ TB) เป็นโรคติดต่อที่เกิดจากเชื้อแบคทีเรีย Mycobacterium tuberculosis ซึ่งยังเป็นปัญหา ในระบบสาธารณสุขในไทย

ข้อมูลองค์การอนามัยโลก (WHO) ปี 2566 ประมาณการว่ามีผู้ป่วยวัณโรครายใหม่ กว่า 111,000 คนต่อปี และมีการเสียชีวิตเนื่องจากวัณโรคกว่า 12,000 คนต่อปี

วัณโรค เป็นโรคติดต่อที่เกิดจากเชื้อแบคทีเรียชนิด ไมโครแบคทีเรียม ทูเบอร์คูโลสิส (Mycobacterium tuberculosis) จัดอยู่ในกลุ่ม Mycobacterium tuberculosis complex เกิดได้ในทุกอวัยวะของร่างกาย ส่วนใหญ่มักเกิดขึ้นที่ "ปอด"

เชื้อ Mycobacterium แบ่งได้เป็น 3 กลุ่ม  

  • Mycobacterium tuberculosis complex (MTBC) เป็นสาเหตุของวัณโรคในคนและสัตว์
  • Nontuberculous mycobacteria (NTM) หรือ วัณโรคเทียม ซึ่งมีจำนวนมากกว่า 140 สายพันธุ์ เชื้อมัยโคแบคทีเรียที่ไม่ก่อโรควัณโรค มักก่อโรคในผู้ป่วยที่มีภูมิคุ้มกันบกพร่อง และมีอุบัติการณ์ของการติดเชื้อเพิ่มสูงขึ้นในช่วง 20 ปีที่ผ่านมา
  • Mycobacterium leprae เชื้อมัยโคแบคทีเรียที่เป็นสาเหตุของโรคเรื้อน

การติดเชื้อมัยโคแบคทีเรีย กลุ่มที่ไม่ได้ก่อให้เกิดวัณโรค (Nontuberculous Mycobacteria - NTM) หรือที่เรียกว่า "วัณโรคเทียม" พบว่า มีการกระจายตัวอยู่ในธรรมชาติสูงทั้งในดิน น้ำ และอาจเป็นสาเหตุที่ทำให้เกิดโรคในคนได้

คนที่มีปอดปกติเมื่อหายใจเอาเชื้อวัณโรคเทียมเข้าไป จะไม่ก่อให้เกิดโรค แต่คนที่มีโรคปอดอยู่แล้ว หรือโดยเฉพาะในกลุ่มคนที่มีภูมิคุ้มกันต่ำ เช่น ผู้ที่มีความบกพร่องของระบบภูมิคุ้มกัน ผู้ป่วยเรื้อรัง ผู้ที่ติดเชื้อ HIV ผู้สูงอายุ ผู้ที่เคยป่วยเป็นวัณโรค โดยการติดเชื้อนี้จะมีผลต่อการเกิดโรคที่บริเวณปอด ต่อมน้ำเหลือง หรือส่วนต่าง ๆ ของร่างกาย รวมทั้งผิวหนัง

ปัจจุบันพบว่า ผู้ติดเชื้อ NTM มักดื้อยารักษาวัณโรค ซึ่งหากมีการตรวจทางห้องปฏิบัติการเพื่อคัดแยกผู้ติดเชื้อ NTM ออกจากผู้ป่วยวัณโรค จะทำให้ผู้ป่วยได้รับการรักษาที่มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น ซึ่งหากไม่มีการตรวจคัดแยกผู้ติดเชื้อ NTM ออกจากผู้ป่วยวัณโรค จะทำให้ผู้ป่วยได้รับการรักษาที่ไม่มีประสิทธิภาพ และอาจส่งผลให้มีโอกาสเสียชีวิตเพิ่มมากขึ้น

เช็กอาการที่พบบ่อย 

สำหรับ "ผู้ป่วยวัณโรคเทียม" จะมีอาการคล้ายผู้ป่วยวัณโรคเนื่องจากการติดเชื้อส่วนใหญ่มักเกิดขึ้นที่ปอด อาการที่พบบ่อย ได้แก่

  • ไข้
  • ไอเรื้อรังไม่ทราบสาเหตุ
  • เหนื่อยง่าย
  • เสมหะเป็นเลือด
  • น้ำหนักลด
  • เบื่ออาหาร
  • เหงื่อออกในตอนกลางคืน
  • อ่อนเพลีย

นอกจากนี้ยังพบอาการอื่น ๆ ซึ่งขึ้นอยู่กับตำแหน่งของการติดเชื้อ เช่น ต่อมน้ำเหลืองบริเวณคอ หรือขาหนีบ ผื่นผิวหนัง ฝี หรือแผลเรื้อรัง เป็นต้น

การติดต่อส่วนใหญ่จะไม่แพร่กระจายเชื้อจากคนสู่คน สามารถเข้าร่างกายได้หลากหลายช่องทาง เช่นการหายใจรับเชื้อจากสิ่งแวดล้อม หรือทางผิวหนังบริเวณที่มีบาดแผล 

สุดท้าย หากสังเกตตัวเองว่ามีอาการเหล่านี้ หรือสงสัยว่าตนเองป่วยวัณโรค ควรรีบไปตรวจหาการป่วยเป็นวัณโรคโดยเร็ว ด้วยการเอกซเรย์ปอดและการตรวจเสมหะ ณ โรงพยาบาล หรือ สถานบริการสาธารณสุขใกล้บ้าน เพื่อเข้าสู่กระบวนการการรักษาตามมาตรฐาน

ทุกคนสามารถป้องกันการป่วยเป็นวัณโรคได้ ด้วยการรักษาสุขภาพให้แข็งแรง ตรวจสุขภาพอย่างน้อยปีละ 1 ครั้ง สวมใส่หน้ากากอนามัยเมื่อมีอาการไอ 

วัณโรค รู้เร็ว รักษาหาย

อ่านข่าว : อัปเดตครึ่งปีหลัง 2567 เช็กวันหยุดราชการ ธนาคาร - เอกชน และ วันหยุดยาว

ความเป็นมา "เรือพระราชพิธี" ขบวนพยุหยาตราทางชลมารค

รื้อฟื้นมัดรวม “บ้านใหญ่” ยุทธศาสตร์ “ทักษิณ-เพื่อไทย” กลับคืนเบอร์ 1

ข่าวที่เกี่ยวข้อง