เช็กใช้ "ชุดตรวจ HIV" ต้องมีเลข อย.พบผู้ติดเชื้อ 522,581 คน

สังคม
2 ก.ค. 67
17:56
158
Logo Thai PBS
เช็กใช้ "ชุดตรวจ HIV" ต้องมีเลข อย.พบผู้ติดเชื้อ 522,581 คน
อ่านให้ฟัง
00:00อ่านข่าวให้ฟังโดย Botnoi Voice เว็บแอปพลิเคชันสำหรับสร้างเสียงจากข้อความด้วย AI (Text to Speech)
กรมควบคุมโรค ระบุพบผู้ติดเชื้อเอชไอวี 522,581 คน บางส่วนไม่รู้สถานะการติดเชื้อไม่กล้ารับการตรวจ ด้าน อย.แนะวิธีเลือกซื้อชุดตรวจคัดกรองการติดเชื้อเอชไอวีด้วยตนเองที่ได้มาตรฐาน ต้องมีเลข อย. เพื่อให้ได้ชุดตรวจที่มีคุณภาพไม่ได้ผลคลาดเคลื่อน

วันนี้ (2 ก.ค.2567) นพ.วีรวัฒน์ มโนสุทธิ นายแพทย์ทรงคุณวุฒิ โฆษกกรมควบคุมโรค กล่าวว่า จากสถานการณ์เอชไอวีประเทศไทย ในปี 2566 คาดว่ามีผู้ติดเชื้อเอชไอวี จำนวน 576,397 คน (ข้อมูลจาก Thailand Spectrum-AEM, 12 มี.ค.67) มีผู้ติดเชื้อเอชไอวีที่รู้สถานะการติดเชื้อของตนเอง จำนวน 522,581 คน คิดเป็นร้อยละ 90 (ข้อมูลจากระบบสารสนเทศการให้บริการผู้ติดเชื้อเอชไอวี/ผู้ป่วยเอดส์แห่งชาติ)

นพ.วีรวัฒน์ กล่าวว่า ขณะนี้มีผู้ติดเชื้อจำนวนไม่น้อยที่ยังไม่ทราบสถานะการติดเชื้อของตนเอง โดยอาจเกิดจากหลากหลายสาเหตุ เช่น มองว่าตัวเองไม่เสี่ยง ไม่กล้าไปตรวจที่สถานบริการสุขภาพ กังวลเรื่องผลตรวจ กังวลเรื่องค่าใช้จ่าย และไม่รู้ว่ามีทางเลือกอื่นๆ ที่ง่าย สะดวก และตรวจได้ด้วยตนเองได้แล้ว

การติดเชื้อเอชไอวีส่วนใหญ่เกิดจากพฤติกรรมเสี่ยง เช่น การมีเพศสัมพันธ์กับคู่นอนที่ไม่รู้จักโดยไม่ใช้ถุงยางอนามัย การใช้เข็มฉีดสารเสพติดที่ไม่ปลอดภัย เป็นต้น คนไทยสามารถตรวจการติดเชื้อเอชไอวีฟรี ปีละ 2 ครั้ง ภายใต้ระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ เพียงแค่นำบัตรประจำตัวประชาชนไปยื่นขอตรวจที่โรงพยาบาลใกล้บ้าน

นายแพทย์วีรวัฒน์ กล่าวว่า ทางเลือกที่ทำให้การตรวจเอชไอวีเป็นเรื่องง่าย และสามารถตรวจได้ด้วยตนเอง คือ ชุดตรวจคัดกรองการติดเชื้อเอชไอวีด้วยตนเอง (HIV self-test) ปัจจุบันมี 2 ชนิด คือ ชุดตรวจที่ตรวจจากเลือดเจาะปลายนิ้ว รู้ผลภายใน 1-15 นาที และชุดตรวจที่ตรวจจากน้ำในช่องปาก รู้ผลภายใน 20 นาที โดยสามารถตรวจหลังมีความเสี่ยงมาประมาณ 21-90 วัน

โดยศึกษาได้ในเอกสารกำกับที่อยู่ภายในชุดตรวจ ซึ่งประชาชนทุกสิทธิการรักษา สามารถขอรับชุดตรวจคัดกรองเอชไอวีด้วยตนเองได้ฟรีผ่านเมนูกระเป๋าสุขภาพในแอปพลิเคชันเป๋าตัง หรือซื้อได้ที่ร้านขายยาทั่วไป และหากผลการตรวจด้วยตนเองเป็นบวก ต้องไปตรวจยืนยันและเข้าสู่ระบบการรักษาโดยเร็วที่โรงพยาบาลต่อไป

เช็กใช้ชุดตรวจ HIV ต้องมีเลขอย.

ด้านเภสัชกรเลิศชาย เลิศวุฒิ รองเลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) กล่าวว่า สถานการณ์โรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ โดยเฉพาะโรคติดเชื้อเอชไอวี (HIV) ยังคงเป็นปัญหา และสาเหตุสำคัญของการเจ็บป่วย เสียชีวิตของประชากรทั่วโลก

ทั้งนี้ อย.เล็งเห็นถึงปัญหาที่เกิดจากโรคติดเชื้อเอชไอวี จึงได้ออกประกาศกระทรวงสาธารณสุข เรื่องชุดตรวจที่เกี่ยวข้องกับการตรวจคัดกรองการติดเชื้อ เอชไอวีด้วยตนเอง พ.ศ.2562 และประกาศ อย.เรื่องหลักเกณฑ์การขออนุญาตชุดตรวจที่เกี่ยวข้องกับการตรวจคัดกรองการติดเชื้อเอชไอวีด้วยตนเอง เพื่อเพิ่มทางเลือกในการตรวจคัดกรองเบื้องต้นด้วยตนเอง และรู้สถานการณ์ติดเชื้อตั้งแต่ระยะเริ่มแรก นำไปสู่การวินิจฉัยที่เหมาะสม ทั้งยังป้องกันการแพร่เชื้อเอชไอวี

สำหรับชุดตรวจคัดกรองการติดเชื้อเอชไอวีด้วยตนเอง จัดเป็นเครื่องมือแพทย์ ซึ่งตามประกาศกระทรวงสาธารณสุข กำหนดให้มีหลักเกณฑ์ และระบบคุณภาพการผลิตที่ดี เช่น มาตรฐาน ISO 13485 รวมถึงกำหนดให้แสดงฉลากต่อผู้บริโภคในประเด็นที่สำคัญต่าง ๆ เช่น ข้อบ่งใช้ วิธีการใช้ วิธีการเก็บรักษา คำเตือน

อ่านข่าว อย.ปลดล็อก "ชุดตรวจ HIV" ซื้อจากร้านขายยาตรวจเองได้

รายละเอียดการติดต่อเพื่อขอคำแนะนำให้คำปรึกษาและมีข้อความว่า “ใช้ตรวจคัดกรองเบื้องต้นด้วยตนเองเท่านั้น หากตรวจพบมีปฏิกิริยา (reactive) ต้องได้รับการตรวจยืนยันการวินิจฉัยการติดเชื้อเอชไอวีจากหน่วยบริการที่สามารถตรวจยืนยันวินิจฉัยได้

พฤติกรรมเสี่ยง-คนรับยาต้านไวรัสเลี่ยงใช้ชุดตรวจ

ดังนั้นขอให้ประชาชนเลือกซื้อชุดตรวจคัดกรองการติดเชื้อเอชไอวีด้วยตนเองจากแหล่งที่น่าเชื่อถือ เช่น ร้านขายยา ที่ได้รับอนุญาตถูกต้องตามกฎหมาย พร้อมสังเกตเลขใบอนุญาตเครื่องมือแพทย์ ซึ่งผ่านการรับรองจาก อย. อ่านฉลากก่อนซื้อ ตรวจดูวันที่ผลิต วันหมดอายุ และศึกษาวิธีการใช้จากเอกสารกำกับเครื่องมือแพทย์ก่อนใช้ทุกครั้ง

ทั้งนี้ ชุดตรวจเอชไอวีด้วยตนเอง เป็นชุดตรวจคัดกรองเบื้องต้น หากบนแถบแสดงผลเป็น “ลบ” และมีพฤติกรรมเสี่ยงครั้งล่าสุดในช่วงระยะเวลา 3 เดือนก่อนการตรวจ อาจยังอยู่ในระยะที่ชุดตรวจ ยังไม่สามารถตรวจพบการติดเชื้อได้ ในกรณีนี้ควรตรวจซ้ำอีกครั้ง อย่างน้อย 3 เดือน หลังจากมีพฤติกรรมเสี่ยงครั้งล่าสุด อย่างไรก็ตาม ไม่แนะนำให้ใช้ในผู้ติดเชื้อเอชไอวีที่ได้รับยาต้านไวรัสแล้ว เพราะอาจทำให้เกิดผลลบปลอมได้ (false negative)

ข่าวที่เกี่ยวข้อง