สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ (สดร.) หรือ NARIT เปิดเผยภาพถ่ายดาวเคราะห์น้อย "2011 UL21" ขณะเฉียดเข้าใกล้โลกในระยะ 6 ล้านกิโลเมตร จากกล้องโทรทรรศน์อัตโนมัติของ NARIT ณ หอดูดาวสปริงบรู๊ค ออสเตรเลีย เมื่อวันที่ 27 มิ.ย.2567 เวลา 15.22 น. ตามเวลาประเทศไทย
ดาวเคราะห์น้อย 2011 UL21 หรือที่รู้จักกันในชื่อ 415029 เป็นสมาชิกของกลุ่มดาวเคราะห์น้อยอะพอลโล (Apollo group) ซึ่งมีวงโคจรตัดผ่านทางการโคจรของโลก ดาวเคราะห์น้อยดวงนี้มีขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางอยู่ระหว่าง 1.7 ถึง 3.9 กิโลเมตร หรือขนาดใกล้เคียงกับภูเขาเอเวอเรสต์ จึงถูกจัดให้เป็นดาวเคราะห์น้อยประเภท PHA (Potentially Hazardous Asteroid) หรือดาวเคราะห์น้อยที่อาจเป็นอันตรายต่อโลก
อย่างไรก็ดี แม้ดาวเคราะห์น้อย 2011 UL21 จะถูกจัดให้เป็นดาวเคราะห์น้อยประเภท PHA แต่ในช่วงที่ดาวเคราะห์น้อยเฉียดเข้าใกล้โลกมากที่สุด ก็มีระยะห่างจากโลกของเรามากถึง 6 ล้านกิโลเมตร หรือประมาณ 15 เท่าของระยะห่างจากโลกถึงดวงจันทร์ จึงมีโอกาสน้อยมากที่ดาวเคราะห์น้อยจะทำอันตรายต่อโลกของเรา
ภาพเคลื่อนไหวได้แสดงถึงตำแหน่งของดาวเคาะห์น้อยดังกล่าว ขณะกำลังเคลื่อนที่ตัดกับดาวฤกษ์ที่เป็นฉากหลัง ซึ่งเกิดจากการรวมภาพนิ่งจำนวนหลายสิบภาพเข้าด้วยกัน เนื่องจากดาวเคราะห์น้อยเคลื่อนที่ผ่านท้องฟ้าด้วยความเร็วสูงมากจึงปรากฏเป็นเส้นสีขาวสั้นในแต่ละภาพจากการเปิดรับแสงเป็นเวลา 8 วินาที
อ่านข่าว : ครั้งแรกปี 67 ชาวกรุงเตรียมไร้เงา "ดวงอาทิตย์ตั้งฉากกรุงเทพฯ" 26 เม.ย.นี้
รับมือยังไง? เมื่อ Apple ปล่อย AI ที่คิดแทนมนุษย์ (แทบ) ทุกอย่าง
ชาติแรก! ธงชาติจีนปัก "ผิวดวงจันทร์" สำเร็จ Chang’e-6 กลับโลก