จีน-รัสเซีย-เมียนมา Top 3 ถือครองอสังหาฯ เยอะสุดในไทย

สังคม
26 มิ.ย. 67
08:07
1,743
Logo Thai PBS
จีน-รัสเซีย-เมียนมา Top 3 ถือครองอสังหาฯ เยอะสุดในไทย
อ่านให้ฟัง
00:00อ่านข่าวให้ฟังโดย Botnoi Voice เว็บแอปพลิเคชันสำหรับสร้างเสียงจากข้อความด้วย AI (Text to Speech)
อนุทินตอบอีกครั้ง! กรณีต่างชาติถือครองที่ดิน-ซื้อคอนโด ระบุนายกฯสั่งแก้ กม.ให้เพิ่มระยะเวลาเช่าที่ดินเป็น 99 ปี ซื้อคอนโดเพิ่มร้อยละ 75 เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ ไม่ได้เอื้อประโยชน์กลุ่มทุน พบ 3 อันดับแรก จีน-รัสเซีย-เมียนมา ถือครองอสังหาฯ ในไทยเยอะสุด

เมื่อวันที่ 25 มิ.ย.2567 นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกฯ และ รมว.มหาดไทย ยืนยัน ยังไม่นำร่างกฎหมายแก้ให้ต่างชาติเช่าที่ดินจาก 50 ปี เพิ่มเป็น 99 ปี และซื้อคอนโดเพิ่มเป็นร้อยละ 75 เข้าสู่การพิจารณาในที่ประชุม ครม. เพราะอยู่ระหว่างการศึกษารายละเอียดข้อกฎหมายของกรมที่ดิน ให้สอดคล้องกับการวิเคราะห์ปัจจัยด้านบวก-ปัจจัยลบ เร่งให้อธิบดีกรมที่ดิน นำข้อกังวลของประชาชนมาพิจารณาให้รอบคอบ แต่ย้ำว่าการกระตุ้นเศรษฐกิจต้องเดินหน้า พร้อมยืนยันไม่มีการเอื้อผลประโยชน์ให้กลุ่มนายทุน

สาระสำคัญของการปรับแก้กฎหมาย ให้ต่างชาติถือครองกรรมสิทธิ์ "ที่ดิน" เพิ่มจาก 50 ปี เป็น 99 ปี ส่วนการถือกรรมสิทธิ์ "คอนโดมิเนียม" เพิ่มสัดส่วน จากไม่เกินร้อยละ 49 เป็นร้อยละ 75 แต่การถือครองที่เกินกว่าร้อยละ 49 ขึ้นไป ไม่สามารถโหวตตั้งกฎระเบียบได้ การโหวตสิทธิยังเป็นของคนไทยอยู่

"ต่างชาติ" สนใจห้องชุดในไทยแค่ไหน ?

ถ้าดูตัวเลขที่ต่างชาติมาถือครองกรรมสิทธิ์ห้องชุดในประเทศไทย ก่อนโควิด มีผู้เข้ามาถือครอง 13,000 หน่วยต่อปี มูลค่า 57,000 ล้านบาท ช่วงโควิดลดลงมาอยู่ที่ 8,000หน่วย ต่อมาปี 2565 ขยับขึ้นมา 11,500 หน่วย และ ปี 2566 มีต่างชาติมาถือครองอสังหาฯ 14,500 หน่วย มูลค่า 73,000 ล้านบาท จะเห็นว่า มีความต้องการเข้ามาถือครองมากขึ้นพอสมควร

โดยเฉพาะพื้นที่ห้องชุด สัดส่วนร้อยละ 49 ไม่เพียงพอ เช่น "ภูเก็ต" ที่โควตาเต็มไปนานแล้ว และปรับใช้วิธีถือกรรมสิทธิ์เช่าระยะยาว หรือ Leasehold ระยะเวลา 30 ปี ซึ่งยังมีมูลค่าจากการให้เช่าระยะยาวเพิ่มขึ้นจากปี 2562 มูลค่า 2,000 ล้านบาท และเพิ่มขึ้นเป็น 3,130 ล้านบาท ในปี 2566

นายวิชัย วิรัตกพันธุ์ ผู้ตรวจการ ธอส. และรักษาการ ผอ. ศูนย์ข้อมูลอสังหาริมทรัพย์ อธิบายว่า การถือครองอสังหาฯ ต้องแยกเป็น 2 ส่วน ส่วนหนึ่ง คือ การซื้อที่ดิน ที่มีเงื่อนไขเพียงแค่ต่างชาติจดทะเบียนตั้งบริษัทนิติบุคคลถือหุ้นไม่เกินร้อยละ 49 หรือจดทะเบียนสมรสกับคนไทย ก็สามารถซื้อบ้านและที่ดินในไทยได้แล้ว นี่เป็นปัญหาที่ประชาชนกังวลว่าจะซ้ำรอย เหมือนเหตุต่างชาติทำร้ายหมอที่ จ.ภูเก็ต ซึ่งแตกต่างจากการ ถือครองห้องชุด หรือ การซื้อคอนโด ที่มีเงื่อนไขชัดเจนกว่า

แต่ยอมรับว่า ปัจจัยที่ทำให้ ประชาชนกังวล ก็เพราะ รัฐบาลไทยไม่เคยมีนโยบายสร้างความมั่นคงด้านที่อยู่อาศัยให้กับประชาชนเลย เมื่อต่างชาติเข้ามาจึงรู้สึกไม่มั่นใจ

"เมียนมา" ครองอสังหาฯไทย เป็นอันดับ 3

สำหรับชาติที่เข้ามาถือครองกรรมสิทธิ์ห้องชุดไทย อันดับ 1 คือ จีน อันดับ 2 คือ รัสเซีย และอันดับ 3 เมียนมา
ซึ่งเมียนมาเคยอยู่อันดับที่ 25 ในปี 2564 แต่ปี 2566 มาอยู่อันดับที่ 4 มีมูลค่าสูงถึง 3,707 ล้านบาท ที่น่าสนใจ คือ เฉพาะไตรมาสแรกปี 2567 ชาวเมียนมาเข้ามาซื้ออสังหาริมทรัพย์ในไทยแล้วมูลค่า 2,200 ล้านบาท ปัจจัยหนึ่งเกิดจากปัญหาความไม่สงบในเมียนมา แต่ไทยถูกมองว่าเป็นพื้นที่ปลอดภัย มีสาธารณูปโภคพื้นฐานที่ดี

มาตรการนี้เคยถูกผลักดันแล้วเมื่อปี 2564 ยุครัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เคยมี มติ ครม.จะแก้กฎหมายให้คนต่างชาติถือครองกรรมสิทธิ์คอนโดมิเนียมจากร้อยละ 49 เพิ่มเป็นร้อยละ 70 แต่ถูกกระแสคัดค้าน จึงถูกตีกลับไปศึกษาใหม่

ต่อมา ปี 2565 รมช.มหาดไทย ระบุว่ามีโนบายให้คนต่างชาติที่ลงทุนเกิน 40 ล้านบาท สามารถซื้อบ้านเนื้อที่ไม่เกิน 1 ไร่ ก็ถูกวิพากษ์วิจารณ์เช่นกัน เพราะเงื่อนไขเงินลงทุนน้อยไป จึงไม่สำเร็จ

อ่านข่าวเพิ่ม : 

คึกคัก! เลือก สว.ระดับประเทศ เฟ้นหาตัวจริง 200 คน

ครั้งแรก! "ยานฉางเอ๋อ-6" เก็บตัวอย่างด้านไกลดวงจันทร์ถึงโลก

ข่าวที่เกี่ยวข้อง