ค้นหา
ทีวีออนไลน์
เว็บไซต์ในเครือ
เว็บไซต์บริการ

เร่งตามจับ 2 นกยูงอินเดียขาว-ไฮบริด เดินชิลกลางป่าห้วยขาแข้ง

สิ่งแวดล้อม
22 มิ.ย. 67
16:40
950
Logo Thai PBS
เร่งตามจับ 2 นกยูงอินเดียขาว-ไฮบริด เดินชิลกลางป่าห้วยขาแข้ง
อ่านให้ฟัง
00:00อ่านข่าวให้ฟังโดย Botnoi Voice เว็บแอปพลิเคชันสำหรับสร้างเสียงจากข้อความด้วย AI (Text to Speech)
กรมอุทยานเร่งจับ "นกยูงอินเดียสีขาว - ลูกไฮบริด" รวม 2 ตัวหลังโผล่เดินชิลกลางป่าห้วยขาแข้ง บริเวณหอดูสัตว์โป่งช้างเผือก คาดหลุดจากกรงเลี้ยงในวัดใกล้ป่ามาผสมข้ามพันธุ์นกยูงพันธุ์ไทย วางแผนจับออกห่วงพันธุกรรมปนเปื้อนสายพันธุ์ไทยจนเสี่ยงสูญพันธุ์

กรณีนักอนุรักษ์สัตว์ป่า โพสต์ข้อความแสดงข้อเป็นห่วงพบนกยูงอินเดียสีขาว และนกยูงพันธุ์ผสมบริเวณหอดูสัตว์โป่งช้างเผือกเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้ง จ.อุทัยธานี

วันนี้ (22 มิ.ย.2567) นายอรรถพล เจริญชันษา อธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าและพันธุ์พืช ให้สัมภาษณ์ว่า ได้รับรายงานจากนายเพิ่มศักดิ์ กนิษฐชาต หัวหน้าเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้ง ยืนยันพบนกยูงอินเดียสีขาว และนกยูงที่คาดว่าเป็นลูกผสมหากินปะปนร่วมกับฝูงนกยูงไทยประมาณ 10 ตัว บริเวณหอดูสัตว์โป่งช้างเผือกเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้ง

ตอนนี้ตรวจพบ 2 ตัว เป็นนกยูงอินเดียเผือก และลูกไฮบริดที่คาดว่าจะผสมกับนกยูงพันธุ์ไทย โดยอุทยานได้ส่งทีมสำรวจและต้องจับออกจากธรรมชาติให้เร็วที่สุดเพราะเป็นห่วงเรื่องพันธุกรรมของนกยูงพันธุ์ไทย

เมื่อถามว่าจะมีการสอบสวนที่มาของนกยูงอินเดียในป่าธรรมชาติหรือไม่ อธิบดีกรมอุทยาน กล่าวว่า จากการตรวจสอบพบว่าบริเวณใกล้แนวเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้งมีวัดป่าเขามโนราห์ที่เลี้ยงนกยูงอินเดีย

โดยวัดดังกล่าวอยู่ห่างจากขอดูสัตว์โป่งช้างเผือกประมาณ 15 กม. ซึ่งอาจจะทำให้มีการเล็ดลอดของนกยูงอินเดียเข้ามาปะปนกับนกยูงไทย ยืนยันว่าไม่ได้นิ่งนอนใจตอนนี้กำลังเร่งวางแผนจับออกจากพื้นที่ให้เร็วที่สุด

ปิดหอส่องสัตว์ตามหานกยูงเผือก -ไฮบริด 2 ตัว

ด้านนายเพิ่มศักดิ์ กล่าวว่าเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้ง กล่าวว่า หลังปรากฏภาพดังกล่าว ทาง ทางเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้ง ได้ขอข้อมูลและแนวทางการค้นหาจากนายสัตวแพทย์สำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ 12 (นครสวรรค์) สถานีเพาะเลี้ยงสัตว์ป่าห้วยขาแข้ง และ ผู้เชี่ยวชาญด้านนกยูงไทย

พร้อมทั้งประกาศปิดการท่องเที่ยวบริเวณหอดูสัตว์โป่งช้างเผือก เพื่อจัดเจ้าหน้าที่เข้าดำเนินการค้นหา โดยจัดทีมเจ้าหน้าที่ 11 คนจากฝ่ายวิชาการป่าไม้และสัตว์ป่า 4 คน เจ้าหน้าที่ลาดตระเวนหน่วยพิทักษ์ป่าซับฟ้าผ่า 5 คน และเจ้าหน้าที่จุดสกัดโป่งช้างอีก 2 คน สังเกตการณ์เบื้องต้นค้นหานกยูงทั้ง 2 ตัว โดยการสังเกตการณ์บนหอดูสัตว์โป่งช้างเผือก

ผลการตรวจสอบวันแรกเมื่อวานนี้ (21 มิ.ย.) เจ้าหน้าที่ได้สำรวจพบนกยูงทั้ง 2 ตัวเมื่อเวลาประมาณ 14.30 น. โดยทั้ง 2 ตัวได้เดินหากินปะปนกับนกยุงไทย 10 ตัว มาตามลำห้วยทับเสลา และหากินอยู่ประมาณครึ่งชั่วโมงจึงเดินข้ามลำห้วยทับเสลาเข้าไปในป่าด้านตรงข้าม

จากการสังเกตนกยูงอินเดียตัวสีขาวมีการเดินที่ไม่แข็งแรง หยุดพักบ่อย ส่วนอีกตัวที่คาดว่าเป็นลูกผสมเดินอยู่ใกล้เคียง

หัวหน้าเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้งกล่าวอีกว่า ตอนนี้เจ้าหน้าที่ยังได้พักค้างที่หอดูสัตว์เพื่อซุ่มรอสังเกตการณ์ในช่วงเช้าและบ่ายของวันพรุ่งนี้อีกครั้ง เพื่อดูเส้นทางที่นกยูงทั้ง 2 ตัวใช้เดินหากิน เพื่อนำข้อมูลมาวางแผนการจับออก

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ในส่วนของนกยูงที่คาดว่าเป็นไฮบริดนั้น ตั้งแต่เดือน เม.ย.ที่ผ่านมา ทางเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้ง ได้ตั้งกล้องดักถ่ายภาพติดตามาเป็นเวลาสามเดือนกว่า แต่ยังไม่พบตัว จนกระทั่งช่างภาพถ่ายภาพได้คู่กับนกยูงสีขาว

นักอนุรักษ์ห่วงเรื่องใหญ่สัตว์ต่างถิ่นบุกป่า

สำหรับกรณีดังกล่าว หลังจากเพจเฟซบุ๊ก “Rungsrit Kanjanavanit” ของ “หมอหม่อง” นพ.รังสฤษฎ์ กาญจนะวณิชย์ อาจารย์แพทย์โรคหัวใจ โพสต์ข้อความแสดงความเป็นห่วงระบุว่า เรื่องใหญ่ พบนกยูงอินเดีย นกยูงเผือก ที่โป่งช้างเผือก ในเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้ง ซึ่งเป็นศุนย์กลางของ ประชากรนกยูงไทยแท้ ที่ใหญ่และสำคัญที่สุด

หากมีการผสมข้ามพันธุ์กับนกยูงไทยจะเกิดการปนเปื้อนทางพันธุกรรม ทำให้นกยูงไทยสูญเสียความเป็นนกยูงไทยแท้จึงใคร่วิงวอนหน่วยงานที่เกี่ยวข้องแก้ไขปัญหานี้อย่างเร่งด่วน

และขอร้องมายังสาธารณะ ให้ความสำคัญของ ปัญหาการปนเปื้อนทางพันธุกรรมของนกยูงไทยอย่างจริงจัง คนไทยต้องจำแนกแยกแยะนกยูงทั้งสองชนิดออกจากกันให้เป็น และห้ามมีการปล่อยนกยูงพันธุ์อินเดียเข้าสู่พื้นที่ธรรมชาติโดยเด็ดขาด มิเช่นนั้นนกยูงไทยจะสูญพันธุ์ไปจากประเทศไทยได้ในที่สุด ซึ่งคงไม่ต้องการให้สิ่งนี้เกิดขึ้น

อ่านข่าว :

อุทยานฯ โกยเงิน 1.7 พันล้าน ต่างชาติเที่ยวไทย ฮิตสุด “เกาะพีพี”

จับ "เจ้าเครา" ลิงหัวโจกพาเพื่อนแหกกรงลพบุรี 40 ตัว

“นักอนุรักษ์” ชี้ "อ่างเก็บน้ำ" กลางป่าอุทยานฯ ออบหลวงได้ไม่คุ้มเสีย

ข่าวที่เกี่ยวข้อง