ถอดแนวคิด "เศรษฐกิจมหภาค การเงินไทย" กับ "ศุภวุฒิ สายเชื้อ"

เศรษฐกิจ
20 มิ.ย. 67
13:56
247
Logo Thai PBS
ถอดแนวคิด "เศรษฐกิจมหภาค การเงินไทย" กับ "ศุภวุฒิ สายเชื้อ"
อ่านให้ฟัง
00:00อ่านข่าวให้ฟังโดย Botnoi Voice เว็บแอปพลิเคชันสำหรับสร้างเสียงจากข้อความด้วย AI (Text to Speech)

หุ้นตก ดอกเบี้ยต่ำขาดสภาพคล่องทางการเงิน เป็นอีกหนึ่งคำถามว่า เหตุใด "เศรษฐกิจไทยโตช้า – โตต่ำ" ส่งผลให้ภาคเอกชน ประชาชน เป็นห่วงว่า สภาพเศรษฐกิจไทย ยังไม่มีการพัฒนาอย่างที่ควรจะเป็น หากเทียบกับหลายประเทศ ทั้งที่ประเทศไทยมีความพร้อมทั้งทรัพยากร และมีศักยภาพในการเป็นผู้นำ หรือปรับแก้นโยบายเพื่อตอบสนองภาคธุรกิจ แต่หากมองเหตุผลเชิงลึก อาจจะเป็นเพราะการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจที่ไม่ค่อยสมดุลใช่หรือไม่

"รายการคุยนอกกรอบ กับ สุทธิชัย หยุ่น" พูดคุยกับ "ดร.ศุภวุฒิ สายเชื้อ" ประธานหทำให้เห็นสูตรสมการเศรษฐศาสตร์มหภาค (Macroeconomics) เป็นการมองภาพรวมอย่างเป็นระบบ เพื่อศึกษาวิเคราะห์จากตัวเลขในการกำหนดนโยบายวางแผนเศรษฐกิจ หลังศึกษาเรื่องนี้มาโดยตลอด เพื่อทางออกอนาคตประเทศชาติและเศรษฐกิจที่ยั่งยืนของไทย เมื่อได้เข้ารับตำแหน่งหมาดๆ

"หนี้ประชาชน สำคัญกว่าหนี้สาธารณะ เพราะประชาชนเป็นคนจ่ายภาษีให้รัฐ ถ้าประชาชนหนี้แย่ รัฐเองก็ไปไม่ได้"

กว่า 30 ปี ในฐานะนักเศรษฐศาสตร์ภาคสนาม ทำงานในบริษัทหลักทรัพย์ - บริษัทเอกชน "ดร.ศุภวุฒิ" ได้เห็นข้อมูลตัวเลขจริงเพื่อนำมาวิเคราะห์สูตรสมาการเศรษฐกิจมหภาค มองว่าเศรษฐกิจไทยโตช้าตั้งแต่ก่อนสถานการณ์โควิด -19 และพลิกฟื้นช้ากว่าประเทศอื่น โดยเฉพาะนโยบายกระทรวงการคลังให้ความสำคัญกับหนี้สาธารณะที่มีแนวโน้มค่อนข้างสูง ทั้งที่หนี้ครัวเรือนก็สำคัญ

..เมื่อถามว่าหนี้สาธารณะต่อ GDP ที่เป็นอันตรายจะต้องเท่าไหร่…

ดร.ศุภวุฒิ อธิบายเปรียบเทียบกับหลายๆ ประเทศ โดยเฉพาะโซนยุโรปที่มีกฎเหล็กว่าหนี้สาธารณะต้อง 60% ต่อ GDP แต่จริง ๆ หนี้สาธารณะตอนนี้อยู่ที่ 88.6% ขณะที่ประเทศญี่ปุ่น หนี้สาธารณะ 266% - หนี้ครัวเรือน 65% ต่อ GDP , สิงคโปร์ หนี้สาธารณะ 168% - หนี้ครัวเรือน 46% ต่อ GDP , กรีส หนี้ครัวเรือน 161% - หนี้ครัวเรือน 42% ต่อ GDP , อิตาลี หนี้สาธารณะ 137% - หนี้ครัวเรือน 39% ต่อ GDP จากตัวเลขประเทศเหล่านี้ทำให้เห็นว่า “แม้หนี้สาธารณะจะสูง แต่หนี้ครัวเรือนต่ำ” ชาวบ้านจะไม่มีปัญหาปากท้อง ดังนั้นต้องมองควบคู่กันไป ต้องลำดับความสำคัญจะช่วยใครก่อน

"ดังนั้นจึงไม่สามารถที่จะบอกได้ว่าหนี้สาธารณะจุดที่อันตรายจะต้องมีตัวเลขเท่าไหร่ แต่ให้คิดไว้เสมอว่า ‘หนี้ประชาชนดีไม่ดี สำคัญกว่าหนี้สาธารณะ เพราะว่าประชาชนเป็นคนจ่ายภาษีให้รัฐ ถ้าประชาชนหนี้แย่ รัฐเองก็ไปไม่ได้"

เปรียบเทียบให้เห็นภาพชัดขึ้น เช่น "สวิตเซอร์แลนด์" ประเทศที่มั่นคงสุด ๆ หนี้ครัวเรือนสูงถึง 126% ต่อ GDP แต่คนในประเทศกลับไม่มีใครว่า เนื่องด้วยเป็นประเทศที่ไม่เคยโดนสงคราม ฉะนั้นสินทรัพย์จึงยังอยู่ เป็นประเทศที่ร่ำรวย ฉะนั้นหนี้ครัวเรือนจึงไม่มีปัญหา สอดคล้องกับหนี้สาธารณะก็ต่ำมาก สะท้อนได้ว่า "ประชาชนแข็งแรงมาก เพราะไม่ต้องพึ่งรัฐ"

ดร.ศุภวุฒิ พูดถึงหนังสือ "This Time is Different" ของนักเศรษฐศาสตร์สองคน "Carmen M. Reinhart และ Kenneth S. Rogoff" เขียนบอกเล่าเรื่องราววิกฤตแฮมเบอร์เกอร์ ปี 2008 เป็นการวิเคราะห์วิกฤตเศรษฐกิจที่เกิดขึ้นว่า ไม่เกี่ยวกับหนี้สาธารณะ แต่ปัญหาอยู่ที่ว่าเมื่อไหร่เศรษฐกิจไม่โตจึงทำให้หนี้สาธารณะ ฉะนั้นทางแก้ปัญหาคือการทำให้ GDP โต เช่นเดียวกับกรณีประเทศไทย ช่วงวิกฤตเศรษฐกิจที่รัฐบาลต้องไปอุ้มหนี้กองทุนฟื้นฟู แบงก์ชาติทำให้ระบบสถาบันการเงินล่ม หนี้สาธารณะจึงพุ่งขึ้นไปเกือบ 60% GDP สอดคล้องกับปัจจุบันประเทศไทยหนี้ครัวเรือนสูงถึง 91.8% ต่อ GDP อยู่ในอันดับ 6 ของโลก

ฉะนั้นทางออกเวลาแก้ปัญหาหนี้สาธารณะ ส่วนใหญ่เกือบ 100% จะดัน GDP ให้โต ดังนั้น โจทย์ของประเทศไทยจะต้องดูในแต่ละบริบทว่าจะไปทางหนี้สาธารณะมากน้อยหรือไม่หลักการง่ายๆ คือทำอย่างไรให้ GDP โตเร็วกว่าหนี้สาธารณะแค่นั้นเอง แต่ก็เป็นโจทย์ยาก จึงทำให้เศรษฐกิจของไทยวนกลับมาที่จุดเดิม

"ในช่วงที่ผ่านมาก่อนสถานการณ์โควิด GDP ที่โตบวกเงินเฟ้อ ไม่ถึง 5% ปกติหากเป็นแบบนี้ รัฐบาลจะเก็บภาษีเพิ่มขึ้นได้สัก 6-7% เท่านั้น ดังนั้นถ้ารัฐบาลใช้จ่ายเกิน 6-7% รัฐบาลจะขาดดุลมากขึ้น หนี้สาธารณะจะเพิ่มขึ้น"

ดร. ศุภวุฒิ วิเคราะห์ว่าหากในตอนนี้รัฐบาลไม่สามารถพลิกฟื้นได้สำเร็จ เศรษฐกิจจะกลับไปเหมือนสมัยยุคก่อนโควิด โตแบบไม่สมดุล เพราะไปโตภาคการค้า การท่องเที่ยว แล้วเงินเหลือแต่ไม่สามารถจัดเก็บเอาไว้ในประเทศได้ อธิบายได้จากเศรษฐกิจย้อนหลังไปปี 2548 – 2554 การเปลี่ยนแปลงของการเมืองมีผลต่อเศรษฐกิจ แม้จะมีการส่งออกสินค้าดีมาก เฉลี่ยต่อปี 12.47% แต่ดุลบริการติดลบตลอด เนื่องด้วยท่องเที่ยวยังไม่มาก ดุลบัญชีเงินสะพัดเกินนิดหน่อย เพราะต้องการคืนหนี้ IMF การลงทุนเฉลี่ยประมาณ 25.6% ทำให้มีเงินทุนไหลเข้าประมาณ 7,000 ล้านเหรียญ/ปี

ที่น่าสนใจเป็นในปี 2555 – 2559 มีความเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ในโครงสร้างเศรษฐกิจไทย คือ ปี 2555 เป็นครั้งแรกที่ ดุลบริการเกินดุล การท่องเที่ยวเริ่มมา พลิกจากลบ 8,000 - 9000 ล้านเหรียญ มาเป็นบวก แต่ส่งออกสินค้าไม่โต แต่โตขึ้นในปี 2559 ประมาณ 10.5 % GDP อันนี้จริง ๆ เป็นข้อไม่ค่อยดีจากการเกินดุลบัญชีสะพัด

สมมุติ เราขายของไป 100 บาท แต่เราซื้อของกลับมาแค่ 90 บาท เรามีกำลังซื้อเหลือตั้ง 10 บาท กำลังซื้อ 10 ไม่ว่ากัน แต่ที่น่ากลัวกว่าคือ การไหลออกของเงินทุน เนื่องจากมีเงินเหลือเยอะ แล้วไม่ใช้ในประเทศ สังเกตได้ว่าเงินออกเยอะ เพราะว่า 8,000 ล้านเหรียญทุกปี ปีต่อปีไปเรื่อย ๆ โดยไม่มีการกระตุ้นเศรษฐกิจภายในเพื่อไม่ให้เงินทุนไหลออก เฉลี่ยเงินไหลออกกว่า 12,500 ล้านเหรียญ ดุลบัญชีเดินสะพัดเกินดุลเฉลี่ยปีละ 7.4% ของ GDP

ส่วนของดุลบัญชีเดินสะพัดเกินนี่แหละ คือตัวที่ทำให้เงินมันไหลออกได้ ถ้า 7.4 นี้ มันเข้ามาในประเทศ จะช่วยสร้างเศรษฐกิจภายใน คำถามคือตอนนั้น ทำไมไม่มีนโยบายที่จะดึงไม่ให้เงินมันไหลออก

หากดูประวัติเศรษฐกิจไทยในช่วง 10 ปี ก่อนสถานการณ์โควิด จะเห็นว่าประเทศไทยเสียโอกาสไปเยอะ คำนวณคร่าว ๆ เงินทุนที่ไหลออกในระยะเวลา 9 ปี (ปี 2556 – 2564) ทั้งหมด 19,000 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือประมาณ 3.7 ล้านล้านบาท

ดร.ศุภวุฒิ สะท้อนสิ่งที่เล่าให้ฟังทั้งหมดเพราะไม่อยากให้ ประเทศนี้กลับไปฟื้นตัวแล้วเหมือนเดิม หรือที่เรียกว่า "โตแบบไม่สมดุล" …ถามว่าทำไมถึงเป็นอย่างนั้น? อาจเพราะเศรษฐกิจในประเทศตึงเกินไป เพราะในช่วงเดียวกันประเทศไทยเงินเฟ้อต่ำกว่าเกณฑ์ที่แบงก์ชาติตั้งให้ตลอด สอดคล้องกับทฤษฎีนักเศรษฐศาสตร์รางวัลโนเบล "แฮร์รี่ จอห์นสัน" ที่เขียนหลักการไว้ว่า "ตอนที่ประเทศไหน มีนโยบายการเงินตึงเกินไป ประเทศนั้นจะเกินดุล ดุลที่ว่าคือดุลชำระเงิน เพราะว่าคนจะไม่อยากซื้อของ แต่อยากจะถือเงินแทน ก็เลยทำให้เกิดมีการดุลชำระเงินเกินไปตลอด"

ซึ่งดูแล้วประเทศไทยเป็นในลักษณะนั้นจริง แสดงให้เห็นว่าในประเทศไม่มีการลงทุน หรือมีสินค้าอะไรที่น่าสนใจ หรือน่าซื้อ ทำให้คนเลือกที่จะเก็บเงินไว้ และบางส่วนก็นำไปลงทุน หรือซื้ออสังหาริมทรัพย์ที่ต่างประเทศแทน

ในช่วงดังกล่าว หนี้ครัวเรือนเพิ่มขึ้นด้วย มันแสดงให้เห็นว่า เงินส่วนเกิน มันเกินอยู่ในคนรวยเท่านั้น แทนที่รัฐบาลจะไปกระตุ้นการจัดเก็บภาษีคนรวยแล้วดึงเอาเงินนั้นออกมา แต่ถ้าคนรวยมีการลงทุนด้านธุรกิจก็จะไม่ต้องถูกเก็บภาษีเพิ่ม แต่กลับไม่มีนโยบายดังกล่าว จึงทำให้เกิดสัญญาณความเหลื่อมล้ำที่ชัดเจน เพราะประเทศเกินดุลบัญชีเงินสะพัด ประเทศมีเงินทุนไหลออก แต่ข้างในหนี้ครัวเรือนเพิ่มขึ้น

"ถ้าคนที่ไม่ไปดูตัวเลข แล้วก็ค่อย ๆ ไปแกะ ก็จะเถียงกันเรื่องใดเรื่องหนึ่ง ดังนั้นต้องดูภาพรวมเพื่อแก้ตรงนโยบายเป็นหลัก เราพูดถึงนโยบายเศรษฐกิจมหภาค เราพูดถึงความสมดุลเศรษฐกิจเพื่อไม่ให้ไปเน้นแต่เรื่องการส่งออก ตอนนี้เราก็สังเกตว่าแต่ละคนจะบอกว่าอยากกลับไปเหมือนเดิม อยากให้ท่องเที่ยวกลับมาเท่าเดิม อยากให้ส่งออกโต ซึ่งถ้าทำอย่างนั้นเศรษฐกิจก็จะกลับไปโตแบบไม่สมดุลเหมือนเดิม"

หากต้องการที่จะผลักดันทั้งสองอย่างไปพร้อมกัน จะต้องทำอย่างไรบ้าง...

ดร.ศุภวุฒิ ยอมรับว่า ปัญหาใหญ่เป็นเรื่องของโครงสร้าง โดยเฉพาะภาคการเกษตร ที่มีผลผลิตต่ำมาก 12% ของจีดีพี แต่ใช้แรงงานตั้ง 30% และใช้พื้นที่ประมาณเกือบ 50% ขณะที่ ภาคอุตสาหกรรมเป็นอีกขาหนึ่ง มีสัดส่วน 30% ของจีดีพี แต่ใช้แรงงานไม่ถึง เนื่องด้วยมีประสิทธิภาพสูงกว่า ดังนั้นการจะเพิ่มประสิทธิภาพของภาคเกษตร คิดง่ายๆ ยังไงก็ต้องใช้เทคโนโลยีใหม่ๆ เข้ามาในช่วยเพิ่มผลผลิตเพื่อแข่งกับตลาดโลก

อีกปัญหาคือ ลักษณะประชากรศาสตร์ (Demographic) โดยเฉพาะการสร้างความสุขของผู้สูงอายุ เป็นกลุ่มประชากรที่จะเพิ่มมากที่สุดในช่วง 20-30 ปีข้างหน้า ตามหลักเศรษฐศาสตร์แก่แล้วต้องไม่เป็นภาระ จากตัวเลขที่ได้วิเคราะห์คร่าวๆ คือ หากแบ่งกลุ่มคนอายุ 20 - 64 ปี และ 65 - 74 ปี ถ้าเอาตัวเลข 65 - 74 +20 – 64 ปี จะเห็นได้ว่าประเทศไทยไม่ได้ดูแย่เลย จะมีคน 2.87 คน ที่อุ้มคนแก่ 1 คน แล้วสัดส่วนก็เพิ่มขึ้น จากปี 2000 เป็นต้นไป แต่กรณีนี้มองว่า หากต้องทำงานถึงอายุ 74 ปี ตัวเลขของคนที่อุ้มคนแก่จะเปลี่ยนไปเป็น 1.84 คน ดังนั้นนโยบายสำคัญสุดของประเทศนี้ ทำอย่างไรให้คนอายุ 65 - 74 ยังทำงานได้ สำคัญมากเลยคือเรื่องสุขภาพ โอกาสงาน และทักษะใหม่

"จะทำให้เราเห็นว่านโยบายจะต้องให้ความสำคัญจุดไหน หากอายุเยอะแล้วยังทำงานได้ ก็จะยิ่งเป็นผลดี ซึ่งก็ขึ้นอยู่ที่สุขภาพ อยู่ที่นโยบายเรื่องสวัสดิการ ทางด้านสาธารณะสุขด้วย ฉะนั้นนโยบายที่ไปดูแลเรื่องสาธารณะสุขให้เข้าถึง ให้สุขภาพดีต่อเนื่อง จะเปลี่ยนภาพเศรษฐกิจไทย"

"ดร.ศุภวุฒิ" ยังมองต่างมุมเรื่องของประชากรจากประเทศเพื่อนบ้าน (เมียนมา) ที่อยู่ในประเทศไทย บางครอบครัวมีลูกหลายคนและเรียนอยู่ในประเทศไทย ซึ่งหากรัฐบาลมีการวางนโยบาย ปรับคุณภาพการศึกษาให้เป็นไปในระดับที่ดีขึ้น วางระบบที่ชัดเจนเพื่อไม่ให้มีปัญหาในอนาคต เชื่อว่าการปลูกฝังเด็กเหล่านี้ จะทำให้เป็นแรงงาน และทรัพยากรที่มีคุณภาพของไทยได้ไม่ยาก ลดปัญหาการเป็นสังคมผู้สูงอายุ (Aging Society) เพราะในอนาคตเด็กในประเทศไทยจะลดลง เนื่องด้วยปัจจุบันผู้หญิงส่วนใหญ่ไม่อยากมีลูกแม้ว่ารัฐบาลจะมีการกระตุ้นในหลาย ๆ ด้านก็ตาม

พบกับรายการ "คุยนอกกรอบ กับ สุทธิชัย หยุ่น" เวลา21.30-22.00 น.ทางสถานีโทรทัศน์ไทยพีบีเอส ทุกวันพฤหัสบดี

อ่านข่าว :

"ดอนเมืองโทล์ลเวย์" ขึ้นค่าผ่านทาง 5-10 บาท เริ่ม 22 ธ.ค.นี้

"ภูมิธรรม" ป้อง "วีเอท " หากพบพิรุธประมูลข้าว จ่อยกเลิกทันที

ข่าวที่เกี่ยวข้อง