วันนี้ (17 มิ.ย.2567) บ้านพักที่สร้างขึ้นอย่างเรียบง่ายเน้นความแข็งแรงคงทน เป็นมาตรการช่วยเหลือคนจนของเทศบาล ต.ยางคราม อ.ดอยหล่อ จ.เชียงใหม่
หลังพบว่า ครอบครัวนี้ตกเกณฑ์ข้อมูลความจำเป็นพื้นฐาน (จปฐ.) เพราะบ้านมีสภาพผุพัง เจ้าของบ้านไม่มีรายได้พอจะซ่อมแซม หรือ สร้างใหม่
ครอบครัวนี้ เป็น 1 ในประชากร "คนจนเป้าหมาย" ตามข้อมูลระบบบริหารจัดการข้อมูลการพัฒนาคนแบบชี้เป้า หรือ TPMAP โดยวัดจากดัชนีความยากจน 5 มิติ คือ สุขภาพ ความเป็นอยู่ การศึกษา รายได้ และการเข้าถึงบริการรัฐ ซึ่งรายงานล่าสุดปี 2566 พบว่า จ.เชียงใหม่ มีคนจนเป้าหมาย 15,605 คน มากที่สุดในประเทศไทย
ผู้นำท้องถิ่นระบุว่า แม้เกณฑ์ประเมินคนจนจะให้ข้อมูล จปฐ.เป็นหลัก แต่แท้จริงแล้วยังมีชาวบ้านอีกไม่น้อยที่ผ่านเกณฑ์ขั้นต่ำ แต่ก็เผชิญกับความยากจนเช่นกัน สาเหตุหลัก คือ ปัญหาราคาพืชผลการเกษตรตกต่ำ ทำให้มีหนี้สะสม ส่วนในเขตเมืองเชียงใหม่
แม้ตามรายงานของ TPMAP จะไม่มีคนจน แต่ข้อมูลของ สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (องค์การมหาชน) พบว่าในตัวเมืองเชียงใหม่ ยังมีกลุ่มคนจนเมืองกว่า 2,000 ครอบครัว ที่ประสบปัญหาที่อยู่อาศัย และ รายได้ 1 ในนั้น คือ ชาวชุมชนคลองเงิน ซึ่งสะท้อนว่าต้นเหตุของความยากจน คือ รายได้ที่ต่ำไม่สอดคล้องกับค่าครองชีพ
นักวิชาการ ระบุว่า สาเหตุที่ทำให้เชียงใหม่มีคนจนมากที่สุดในประเทศทั้งที่เป็นจังหวัดศูนย์กลางภาคเหนือ มาจากปัญหาเชิงโครสร้างหลาย ๆ ปัจจัย อาทิ ปัญหาไร้สิทธิในที่อยู่อาศัยและที่ทำกิน การบริหารราชการที่อ่อนแอ การนำงบประมาณไปอุดหนุนไม่ถูกที่ รวมทั้งระบบการศึกษา ที่ไม่ยึดโยงกับการทำมาหากิน แต่กลับสร้างภาระให้กับคนยากจน
รายงานของ TPMAP เป็นความร่วมมือ ของสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ และ ศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี โดยปีนี้จังหวัดที่มีคนจนมากที่สุด 5 อันดับแรก รองจาก จ.เชียงใหม่ คือ อุดรธานี 12,117 คน บุรีรัมย์ 10,935 คน เชียงราย 9,564 คน และ นครศรีธรรมราช 9,179 คน
อ่านข่าวเพิ่ม :
พิษบุหรี่ไฟฟ้า-น้ำกระท่อม พ่อแม่ป้องกันภัย (ร้าย) เดียงสา
โปรดเกล้าฯ สถาปนา "พระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าเฉลิมศึก ยุคล"
เช็กรายชื่อ 40 สว.ระดับจังหวัด กทม.ชิงระดับประเทศ 26 มิ.ย.นี้