ค้นหา
ทีวีออนไลน์
เว็บไซต์ในเครือ
เว็บไซต์บริการ

"ฮัจย์" พิธีศักดิ์สิทธิ์ครั้งหนึ่งในชีวิตที่ "มุสลิม" ทุกคนปรารถนา

สังคม
12 มิ.ย. 67
10:00
6,033
Logo Thai PBS
"ฮัจย์" พิธีศักดิ์สิทธิ์ครั้งหนึ่งในชีวิตที่ "มุสลิม" ทุกคนปรารถนา
อ่านให้ฟัง
00:00อ่านข่าวให้ฟังโดย Botnoi Voice เว็บแอปพลิเคชันสำหรับสร้างเสียงจากข้อความด้วย AI (Text to Speech)
การประกอบพิธีฮัจย์เป็นสิ่งที่มุสลิมทุกคนปรารถนา เพื่อให้การปฏิบัติศาสนกิจสมบูรณ์ ก่อนเดินทางต้องเตาบัตร (ขอลุแก่โทษ) ในการกระทำผิดทุกชนิดต่ออัลเลาะห์ จัดสรรค่าใช้จ่ายแก่ครอบครัวอย่างพอเพียง ตลอดระยะเวลาที่เดินทางไปประกอบพิธีฮัจย์และเพื่อความสะดวกปลอดภัย

การประกอบพิธีฮัจย์ หรือ การทำฮัจย์ คือการเดินทางไปปฏิบัติศาสนกิจที่มักกะฮ์ ในเดือนซุลฮิจญะฮ์ ตามวันเวลา และสถานที่ต่าง ๆ ที่ทางศาสนาอิสลามกำหนดไว้ ซึ่งศาสนกิจข้อนี้เป็นหน้าที่สำหรับมุสลิมทั้งชายและหญิง ทุกคนที่มีความสามารถในด้านร่างกาย ทรัพย์สิน และการเดินทาง ที่จะต้องปฏิบัติ สำหรับห้วงเวลาประกอบพิธีฮัจย์ ประจำปี 2567 (ฮ.ศ. 1445) วันที่ 7 ซุลฮิจยะห์ ตรงกับวันที่ 13 มิ.ย.2567

กะอ์บะฮ์ บ้านของอัลลอฮ์

บางครั้งเรียกเป็น อัลกะอ์บะตุลมุชัรเราะฟะฮ์ แปลตรงตัว คือ "กะอ์บะฮ์อันทรงเกียรติ" เป็นอาคารหินที่ใจกลางมัสยิดอัลฮะรอม มัสยิดที่สำคัญที่สุดและสถานที่ศักดิ์สิทธิ์ในศาสนาอิสลาม ที่มักกะฮ์ ประเทศซาอุดีอาระเบีย ชาวมุสลิมถือว่าเป็น บัยตุลลอฮ์ "บ้านของอัลลอฮ์" และเป็นกิบลัตทิศทางละหมาดสำหรับมุสลิมทั่วโลก โครงสร้างปัจจุบันสร้างขึ้นหลังอาคารเดิมถูกเพลิงไหม้ทำลายในช่วงการล้อมมักกะฮ์โดยฝ่ายอุมัยยะฮ์ใน ค.ศ.683

การเตรียมตัวเพื่อเดินทางไปประกอบพิธีฮัจย์

การประกอบพิธีฮัจย์เป็นรูปกุนข้อที่ 5 ของศาสนาอิสาลามที่บังคับแก่มุสลิมทุกคน ที่บรรลุศาสนภาวะและมีคุณสมบัติอยู่ในเกณฑ์กำหนด ซึ่งอยู่บนพื้นฐานและเงื่อนไขหลัก 3 ประการ คือ

  1. มีทรัพย์สินพอเพียงสำหรับใช้จ่ายในการเดินทางไปประกอบพิธีฮัจย์และกลับภูมิลำเนาโดยไม่เดือดร้อนและไม่เป็นภาระให้แก่ครอบครัวหรือผู้อยู่เบื้องหลัง
  2. มีสุขภาพที่สมบูรณ์พอที่จะทนต่อการตรากตรำในการเดินทางและประกอบพิธีฮัจย์ได้
  3. มีความปลอดภัยตลอดการเดินทาง

การเตรียมตัวด้านสัมภาระติดตัว

1. ค่าใช้จ่ายส่วนตัว เพื่อนำไปใช้จ่ายระหว่างอยู่ในประเทศซาอุดีอาระเบีย ไม่ต่ำกว่า 10,000 บาท เพราะค่าใช้จ่ายอื่น ๆ เช่น ค่าที่พัก ค่าอาหาร เป็นต้น ได้ชำระกับผู้ประกอบการแล้ว การแลกเป็นเงินสกุลดอลลาร์สหรัฐ โดยแลกเป็นเงินสดหรือเช็คเดินทาง สำหรับบัตรเครดิตทุกประเภทที่ทั่วโลกรับรองย่อมนำไปใช้ได้เช่นกัน เงินบาทไทยสามารถนำไปแลกในประเทศซาอุดีอาระเบียได้

2. อาหาร นำไปเฉพาะในจำเป็น ควรเป็นอาหารแห้งและจัดใส่ภาชนะที่ตรวจสอบได้ง่าย 

3. ยารักษาโรค ผู้ที่มีโรคประจำตัวจำเป็นต้องใช้ยาเป็นประจำ ควรนำยาพร้อมใบรับรองการนำยาไปด้วย เพราะยาที่จะนำเข้าประเทศซาอุดีอาระเบียได้ จะต้องเป็นยาที่แพทย์สั่งเท่านั้น 

4. เครื่องแต่งกาย ผู้หญิงควรมีชุดแต่งกายมุสลิมะห์ (ปกปิดร่างกาย เว้นแต่ใบหน้าและฝ่ามือ) ซึ่งสอดคล้องกับกฎหมายของซาอุดีอาระเบีย ส่วนผู้ชายต้องมีชุดเอียะห์รอม ได้แก่ ผ้าขาวสำหรับนุ่ง 1 ผืน ห่ม 1 ผืน รองเท้าแตะ ย่าม และเข็มขัด ปีใดเทศกาลฮัจย์อยู่ในช่องฤดูหนาวก็ให้นำชุดกันหนาวไปด้วย

5. หนังสือคู่มือการประกอบพิธีฮัจย์ ควรนำติดตัวไปด้วย เพื่อช่วยทบทวนความจำในเรื่องต่าง ๆ ที่อาจจะเกิดปัญหาหลงลืม สับสน หรือเกิดความไม่แน่ใจในการประกอบศาสนกิจ และควรจะมีเพื่อนร่วมเดินทางที่สนิทเพื่อคอยให้คำแนะนำและช่วยเหลือซึ่งกันและกัน

การเตรียมตัวด้านสุขภาพกาย

หลักปฏิบัติอย่างหนึ่งของศาสนาอิสลาม คือ การประกอบศาสานากิจหรือทำพิธีฮัจย์ ณ เมืองมักกะห์ ประเทศซาอุดีอาระเบีย ในวันที่ 9 เดือนซุลฮิจญะฮของทุก ๆ ปี จะมีมุสลิมทั่วโลกเดินทางพักอาศัยอยู่ร่วมกันอย่างหนาแน่นเพื่อประกอบศาสนกิจ อาจพบปัญหาการตาย การเจ็บป่วย บางคนอาการโรคประจำตัวกำเริบในขณะทำพิธี บางคนก็ต้องนอนเจ็บป่วยอยู่ในที่พักอาศัย เนื่องจากอยู่ไกลจากหน่วยพยาบาล

ปัญหาดังกล่าวประเทศซาอุดีอาระเบียและหลาย ๆ ประเทศที่มีชาวมุสลิมเดินทางไปทำพิธีฮัจย์ ได้ร่วมมือช่วยเหลือกันป้องกัน แก้ไข ดูแล รักษาพยาบาล แต่ปัญหายังคงมีอยู่ทุก ๆ ปี เนื่องจากไม่สามารถให้การดูแลได้อย่างทั่วถึง ดังนั้นมุสลิมทุกคนจึงควรมีความตระหนักเรื่องการดูแลสุขภาพของตนเองก่อนเดินทางไปประกอบพิธีฮัจย์

ประการที่ 1 การป้องกันการเกิดโรคหรือโรคประจำตัวกำเริบขณะประกอบพิธี หากมีโรคดังต่อไปนี้

  • โรคความดันโลหิตสูง
  • โรคหัวใจ
  • โรคหอบหืด
  • โรคปอดหรือหลอดลมอุดกั้น
  • โรคไส้เลื่อน
  • โรคไขมันในเลือดสูง
  • โรคเบาหวาน

ควรปฏิบัติตนดังนี้

  1. พบแพทย์ที่รักษาอยู่ประจำเพื่อตรวจและแจ้งให้ทราบว่าต้องเดินทางไปประกอบพิธีฮัจย์
  2. ขอยาที่ใช้อยู่ประจำติดตัวไปในปริมาณที่เพียงพอจนถึงวันเดินทางกลับ
  3. ขอให้แพทย์เขียนชื่อโรคและชื่อยาที่ใช้อยู่ประจำเป็นภาษาอังกฤษเพื่อนำไปแสดงต่อเจ้าหน้าที่ตรวจคนเข้าเมืองเจดดาห์
  4. ปฏิบัติตัวตามแพทย์สั่งโดยเคร่งครัด 

ประการที่ 2 ยาสามัญที่ควรติดตัวไปด้วยเพื่อใช้ในยามฉุกเฉิน หรือเมื่อมีอาการเจ็บป่วยเพียงเล็กน้อย

  • พลาสเตอร์ ยาดม ยาหม่อง ครีมกันแดด
  • ยาลดไข้
  • ยาแก้หวัดหรือแก้แพ้อากาศ
  • ยาแก้ท้องเสียหรือผงน้ำตาลเกลือแร่
  • ยาระบายหรือยาถ่าย
  • ยาแก้เมาเครื่องบินและเมารถ

ประการที่ 3 ฉีดวัคซีนป้องกันโรคไข้กาฬหลังแอ่นหรือไข้สมองอักเสบ (MENINGOCO CALMENINGITIS) ประเทศซาอุดีอาระเบียบังคับให้ผู้ประกอบพิธีฮัจย์ทุกคนฉีดวัคซีนป้องกัน ถ้าไม่ฉีดจะถูกจับฉีดทันที และจะถูกกักบริเวณที่สนามบินเมืองเจดดาห์ วิธีการป้องกันที่ดีที่สุด คือ การฉีดวัคซีนสามารถขอฉีดวัคซีนได้ที่สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดทุกแห่ง

ประการที่ 4 ร่างกายต้องแข็งแรงก่อนออกเดินทาง การประกอบพิธีฮัจย์ในปีหนึ่ง ๆ ใช้เวลาประมาณ 1-2 เดือน ผู้ที่ไปต้องเดินทางด้วยเท้าในระยะไกล ๆ ถ้าร่างกายไม่แข็งแรงพอจะทำให้เจ็บป่วยได้บ่อย ๆ จึงควรฝึกฝนร่างกายให้แข็งแรงมีความอดทน

ประการที่ 5 การระวังรักษาสุขภาพประจำวันระหว่างพำนักในเมืองมักกะห์หรือมะดีนะห์ ควรปฏิบัติดังนี้

  • ดื่มน้ำมาก ๆ และสม่ำเสมอ
  • ถ้าเสียเหงื่อมากจนร่างกายอ่อนเพลียหรือท้องเสีย ให้รับประทานผงน้ำตาลเกลือแร่ละลายน้ำดื่มให้มาก ๆ
  • เมื่อต้องออกจากบ้านพัก ควรกางร่มหรือใช้ผ้าขนหนูชุบน้ำแล้วคลุมศรีษะ เพื่อความชุ่มชื้นใช้ผ้าปิดปากและปิดจมูก เพื่อป้องกันฝุ่นเข้าปากและจมูก
  • งดสูบบุหรี่ในห้องพักหรือสถานที่ที่อากาศถ่ายเทไม่สะดวก
  • ใช้ผ้าปิดปากและจมูกเวลาไอหรือจาม
  • เมื่อมีปัญหาสุขภาพควรปรึกษาแพทย์ การปฏิบัติตนตามแนวทางดังกล่าวจนเป็นนิสัยจะมีสุขภาพกายและจิตใจ ตลอดจนสามารถอยู่ในสังคมได้อย่างมีความสุข สามารถปฏิบัติศาสนกิจได้อย่างสมบูรณ์และมีความสุข

การปฏิบัติตนของผู้แสวงบุญขณะอยู่ในประเทศซาอุดีอาระเบีย

ในเทศกาลฮัจย์ผู้แสวงบุญที่ประเทศซาอุดีอาระเบียจะมีจำนวนมาก ผู้แสวงบุญทุกคนต้องระมัดระวังตนเองตลอดเวลา โดยปฏิบัติดังนี้

  1. ให้ติดบัตรประจำตัวและสวมใส่เลสข้อมือตลอดเวลา
  2. ไม่ควรออกจากห้องพักไปไหนคนเดียว หรือไปกับบุคคลที่ไม่รู้จักกันมาก่อน
  3. อย่าพยายามเข้าไปในที่ที่มีผู้คนอยู่หนาแน่นแออัด
  4. ควรใช่ร่มกันแดดเพื่อป้องกันความร้อน และควรสวมเสื้อกันหนาวหรือเสื้อผ้าหนา ๆ เพื่อป้องกันลมหนาวหรืออากาศชื้น รวมทั้งควรใช้ผ้าปิดปากและจมูกเพื่อป้องกันฝุ่นละออง
  5. ควรใช้ครีมทาผิวและเท้าเพื่อป้องกันผิวแห้งและแตก
  6. ต้องล้างภาชนะใส่อาหารให้สะอาด
  7. ควรดื่มน้ำและกินผักผลไม้มาก ๆ และควรพักผ่อนให้เพียงพอ รวมทั้งไม่ควรออกกำลังโดยไม่จำเป็น
  8. หากมีอาการป่วย ให้ติดต่อผู้นำกลุ่มหรือแซะห์ เพื่อไปพบแพทย์ที่หน่วยพยาบาลไทย
  9. ให้ความร่วมมือปฏิบัติงานตามที่ผู้นำกลุ่มและเจ้าหน้าที่หน่วยพยาบาลไทยให้คำแนะนำโดยเคร่งครัด

ที่มา : กระทรวงการต่างประเทศ

อ่านข่าวอื่น :

ทีมชาติไทย ชนะ สิงคโปร์ 3-1 คัดบอลโลก 2026 แต่ตกรอบ 18 ทีม

ครอบครัวติดใจหญิงวัย 70 เสียชีวิตในห้องอบไอน้ำฟิตเนส

คลี่ปมล็อกสเปก "รถบัส" จอดทิ้ง 6 คันกทม.ยันรับส่งนักกีฬา

ข่าวที่เกี่ยวข้อง