ระดับน้ำในแม่น้ำโขงที่ขึ้นลงผิดปกติ ทำให้ปลาที่เคยจับได้วันละหลายกิโลกรัมลดลง บางวันแทบจะไม่ได้ปลากลับบ้าน ทำให้หลายคนต้องหยุดนำเรือออกไปหาปลาและเลือกใช้วิธีวางตาข่ายดักจับปลากลางแม่น้ำโขงแทน
เรือหาปลาของชาวบ้านริมแม่น้ำมูล ซึ่งจะได้รับผลกระทบหากมีการสร้างเขื่อนพูงอย
เกียรติกมล พรานเม่น ชาวบ้านเวินบึก บอกว่า เขาสืบทอดอาชีพหาปลามาจากบรรพบุรุษ คนในชุมชนทุกคนหาปลาเพื่อหาเลี้ยงชีพ เพราะไม่มีที่ดินทำกิน แต่หลังมีการสร้างเขื่อนกั้นแม่น้ำโขง ทั้งในประเทศจีนและลาว ทำให้การหาปลาทำได้ยาก และปลาลดลงอย่างมาก
ขณะที่ข่าวการสร้างเขื่อนพูงอย ซึ่งเป็นเขื่อนแห่งใหม่ ที่จะสร้างในแม่น้ำโขง ทางตอนใต้ของ เมืองปากเซ แขวงจำปาสัก ประเทศลาว ซึ่งอยู่ห่างจากหมู่บ้านเวินบึกเพียง 60 กิโลเมตร ทำให้ชาวบ้านยิ่งกังวลว่า อาชีพทำประมงในแม่น้ำโขงจะถึงวันล่มสลาย เพราะจุดที่จะมีการสร้างเขื่อนแห่งใหม่ เป็นปากแม่น้ำที่ปลาจากเวียดนามและกัมพูชาจะอพยพขึ้นมาที่แม่น้ำโขง
ตอนนี้กังวลมาก เพราะหากมีการสร้างเขื่อนแห่งใหม่ จะมีการกักเก็บน้ำเพื่อผลิตกระแสไฟฟ้า และจะทำให้ระดับน้ำโขงเพิ่มสูงขึ้น จากที่พูดคุยกับชาวบ้านลาวบอกว่า ระดับน้ำโขงจะสูงขึ้นจากเดิม 4 เมตร แบบนี้กระทบแน่นอนปลาที่เคยหาปลาได้น้อยอยู่แล้ว ก็คงจะหาไม่ได้เลย
หมู่บ้านเวินบึก บ้านห้วยหมากใต้ บ้านห้วยไผ่ บ้านห้วยสะคาม และบ้านด่านใหม่ 5 หมู่บ้าน ติดแม่น้ำโขงฝั่งไทย ที่คาดว่าจะได้รับผลกระทบจากระดับน้ำโขงที่สูงขึ้น หากมีการสร้างเขื่อนพูงอย ทำให้ชาวบ้านยิ่งกังวลว่า เขื่อนแห่งใหม่จะซ้ำเติมวิถีชีวิต และอาชีพประมงของพวกเขา หลังจากที่เคยได้รับผลกระทบจากการสร้างเขื่อนปากมูลมาแล้วเมื่อ 30 ปีก่อน
บริเวณปากมูล ซึ่งแม่น้ำมูลไหลมาบรรจบกับแม่น้ำโขง ที่ อ.โขงเขียม จ.อุบลราชธานี
เปิดรายงานผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม "เขื่อนพูงอย"
โครงก่อสร้างเขื่อนพูงอย เป็นเขื่อนขนาดใหญ่ สันเขื่อนยาว 3 กิโลเมตร กำลังผลิต 728 เมกกะวัตร มีขนาดใหญ่กว่าเขื่อนปากมูล 5 เท่า เป็นโครงการร่วมลงทุนและดำเนินการโดยบริษัท เจริญเอ็นเนอร์ยี่ แอนด์ วอเทอร์เอเชีย จำกัด (ประเทศไทย) และบริษัทเกาหลีใต้ 2 แห่ง เพื่อผลิตกระแสไฟฟ้าส่งขายให้ประเทศไทย
โดยประเทศลาวเสนอโครงการให้คณะกรรมาธิการลุ่มน้ำโขง หรือ MRC นำเข้าสู่กระบวนการหารือล่วงหน้า (PNPCA) ตั้งแต่ปีพ.ศ.2565 พร้อมส่งรายงานประเมินผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมข้ามพรมแดน หรือ Transboundary Environmental Impact Assessment ให้ประเทศสมาชิกพิจารณา
ซึ่งตามรายงานผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมข้ามพรมแดน ที่ผู้พัฒนาโครงการทำขึ้น มีการตั้งข้อสังเกต จากคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ที่ติดตามและพยายามเปิดเผยข้อมูลผลกระทบที่จะเกิดขึ้นกับประเทศไทย โดยเฉพาะ จ.อุบลราชธานี ที่มีหมู่บ้านริมน้ำโขง 5 แห่งอยู่ห่างจากพื้นที่ก่อสร้างไม่ถึง 60 กิโลเมตร ที่คาดว่าจะได้รับผลกระทบ
เขื่อนปากมูล ซึ่งถูกคัดค้านมาตลอดตั้งแต่เริ่มก่อสร้างปี 2535 ถึงที่สุดก็ส่งผลกระทบต่อแม่น้ำมูล และระบบนิเวศ อย่างมหาศาล โดยแก้ไขไม่ได้ และไม่มีผู้รับผิดชอบ
อัตถพงษ์ ฉันทานุมัติ วิศวกรพยานผู้เชี่ยวชาญ คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ระบุว่า จากการศึกษาข้อมูลผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมเขื่อนพูงอย มีประเด็นที่น่ากังวลในเรื่องของผลกระทบที่จะมีต่อประเทศไทย
เนื่องจากตามรายงานผลกระทบข้ามพรมแดน ได้ให้ข้อมูลเกี่ยวกับโครงการเขื่อนพูงอยว่า สร้างที่แขวงจำปาสัก ประเทศลาวเขื่อนจะเดินเครื่องที่ระดับความสูงของระดับน้ำที่ 98 เมตร เหนือระดับน้ำทะเลปานกลาง ความจุอ่างเก็บน้ำ 1 ,207,000,000 ลูกบาศกเมตร ความยาวอ่างตามลำน้ำ 80 กิโลเมตร
ภาพจำลองเขื่อนพูงอย ที่จะก่อสร้างกั้นแม่น้ำโขง ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อแม่น้ำมูล
การศึกษาทางชลศาสตร์มีการออกแบบเขื่อนที่ระดับปฏิบัติการ 98 เมตร ของเขื่อนพูงอย จะทำให้ระดับน้ำในแม่น้ำโขงจากจุดก่อสร้างเพิ่มสูงขึ้น 4 เมตร เป็นระยะทาง 80 กิโลเมตร นั่นหมายความว่า ระดับน้ำจะเพิ่มสูงขึ้นจนถึง อ.โขงเจียม จ.อุบลราชธานี โดยเฉพาะบริเวณปากแม่น้ำมูลที่บรรจบกับแม่น้ำโขง หรือที่เรียกว่าแม่น้ำสองสี ระดับน้ำก็จะเพิ่มสูงด้วยเช่นกัน
“จากการศึกษาการกักเก็บน้ำเพื่อผลิตกระแสไฟฟ้าของเขื่อนพูงอย จะทำให้น้ำเท้อเข้าไปในลำน้ำมูล และจะทำให้แก่งตะนะ อุทยานแห่งชาติแก่งตะนะ ใน อ.โขงเจียม จมอยู่ใต้น้ำตลอดทั้งปี รวมถึงระดับน้ำหน้าเขื่อนปากมูลก็จะเพิ่มสูงขึ้น ส่งผลกระทบต่อการระบายน้ำโดยเฉพาะในช่วงฤดูน้ำหลาก เสี่ยงเกิดอุทกภัยในจังหวัดอุบลราชธานีที่จะรุนแรงและยาวนานขึ้น นี้จึงถือเป็นประเด็นผลกระทบข้ามพรมแดนจากการสร้างเขื่อนพูงอย”
บริเวณปากมูล ซึ่งแม่น้ำมูลไหลมาบรรจบกับแม่น้ำโขง ที่ อ.โขงเขียม จ.อุบลราชธานี
หวั่น “เขื่อนพูงอย” ซ้ำรอย “เขื่อนปากมูล”
สมปอง เวียงจันทร์ ประธานชีวิตชุมชนลุ่มน้ำมูล สมัชชาคนจน ที่ต่อสู้เรียกร้องสิทธิจากการได้รับผลกระทบจากการก่อสร้างเขื่อนปากมูล เมื่อ 32 ปีก่อน บอกว่า ชาวบ้านลุ่มน้ำมูลติดตามข่าวการก่อสร้างเขื่อนพูงอยมาอย่างต่อเนื่อง และมีความกังวล หากมีการก่อสร้างเขื่อนกั้นแม่น้ำโขง
เพราะจะยิ่งซ้ำเติมวิถีชีวิตของชาวประมงในลุ่มน้ำโขงและลุ่มน้ำมูล ที่พี่น้องสมัชชาคนจนเคยได้รับบทเรียนจากการก่อสร้างเขื่อนปากมูล ที่ส่งผลให้อาชีพประมงของชาวบ้านต้องล่มสลาย ซึ่งปัจจุบันรัฐก็ยังจ่ายเงินชดเชยเยียวยา ยังไม่แล้วเสร็จ จึงอยากให้รัฐเห็นความสำคัญของวิถีชีวิตของชาวบ้านลุ่มน้ำที่ต้องพึ่งพาสายน้ำโข งและน้ำมูลในการดำรงชีวิต โดยมองว่าการสร้างเขื่อนถือเป็นหายนะของคนลุ่มน้ำ
สมปอง เวียงจันทร์ ประธานชีวิตชุมชนลุ่มน้ำมูล สมัชชาคนจน
“เราอยากเห็นรัฐ ให้ความสำคัญ เพราะรัฐถือเป็นกลไกขับเคลื่อนการทำงานระหว่างประเทศ รัฐต้องให้ความสำคัญ เรื่องความเดือดร้อนของประชาชน ในประเทศของตัวเอง เราก็เป็นคนไทยที่ใช้สายน้ำ ไม่ว่าจะเป็นแม่น้ำโขง แม่น้ำมูลและทะเลสาบเขมร พวกนี้เป็นแม่น้ำสาธารณะ ที่ประชาชนใช้ร่วมกัน ถ้าหากเราไปกั้นที่ใดที่หนึ่ง ก็เป็นการกั้นเส้นทางของปลา ซึ่งรัฐก็ต้องเห็นถึงความเดือดร้อนและผลกระทบที่จะเกิดขึ้นต่อประชาชนในประเทศของตัวเอง”
เช่นเดียวกับเครือข่ายประชาชนจับตาน้ำท่วมอุบลฯ-เขื่อนแม่น้ำโขง ที่ออกมาเคลื่อนไหวและต้องการให้ผู้มีส่วนเกี่ยวข้อง เปิดเผยข้อมูลผลกระทบข้ามพรมแดน ที่จะเกิดขึ้นในประเทศไทย โดยเฉพาะ จ.อุบลราชธานี ที่เป็นจุดรวมน้ำมูลและชีก่อนจะระบายลงแม่น้ำโขง และเป็นพื้นที่เสี่ยงเกิดอุทกภัยในช่วงฤดูน้ำหลาก
ซึ่งมีบทเรียนน้ำท่วมใหญ่ในปี พ.ศ.2562 และ พ.ศ.2565 ซึ่งขณะนี้เครือข่ายอยู่ระหว่างการสร้างกระบวนการรับรู้ พร้อมเรียกร้องให้มีการลงชื่อ เพื่อคัดค้านการก่อสร้างเขื่อนพูงอย ให้ครบ 5 หมื่นรายชื่อ
เพื่อเสนอต่อคณะกรรมการแม่น้ำโขงแห่งชาติไทย พิจารณาข้อมูลผลกระทบอย่างรอบด้านก่อนจะนำโครงการก่อสร้างเขื่อนพูงอย เข้าสู่กระบวนการหารือล่วงหน้า ซึ่งเป็นกระบวนการปรึกษาหารือ ระหว่างประเทศสมาชิกในลุ่มน้ำโขง เพราะหากเข้าสู่กระบวนการหารือล่วงหน้า (PNPCA) ซึ่งจะใช้เวลาเพียง 6 เดือน ก็จะสามารถเดินหน้าดำเนินโครงการได้
รายงาน : พจนีย์ ใสกระจ่าง ผู้สื่อข่าวไทยพีบีเอส ศูนย์ข่าวภาคอีสาน
อ่านข่าว : ชาวบ้านกังวล “เขื่อนพูงอย” ทำน้ำมูลเท้อ-แก่งตะนะจม-เมืองอุบลฯ ท่วม
วันแรก! ปิดเมืองจับลิงลพบุรีได้ 30 ตัว เปิดอาวุธคู่กายปราบจ๋อ