ความคืบหน้าเหตุเครื่องบินสิงคโปร์แอร์ไลน์ เที่ยวบิน SQ321 ตกหลุมอากาศและขอลงจอดฉุกเฉินที่สนามบินสุวรรณภูมิ และนำตัวเข้ารักษาตัวที่โรงพยาบาลสมิติเวชศรีนครินทร์
วันนี้ (23 พ.ค.2567) นพ.อดินันท์ กิตติรัตนไพบูลย์ ผอ.โรงพยาบาลสมิติเวชศรีนครินทร์ ชี้แจงความคืบหน้าอาการของผู้ได้รับบาดเจ็บจากเหตุการณ์ดังกล่าวว่า ขณะนี้ทางโรงพยาบาล ยังรับดูแลคนไข้ผู้ป่วยในจำนวน 41 คน เป็นชาวอังกฤษ 10 คน ชาวออสเตรเลีย 9 คน มาเลเซีย 7 คน ฟิลิปปินส์ 4 คน สหรัฐอเมริกา 2 คน นิวซีแลนด์ 2 คน เมียนมา 2 คน และอีกประเทศละ 1 คนคือ ไอร์แลนด์ อิสราเอล เกาหลีใต้ สิงคโปร์ ญี่ปุ่น
นพ.อดินันท์ กล่าวอีกว่า ในจำนวน 41 คน พบว่ามีอาการบาดเจ็บของกระดูกสันหลัง และไขสันหลัง 21 คน กระโหลกศรีษะ 6 คน บาดเจ็บกระดูกกล้ามเนื้อและอื่นๆ 13 คน ซึ่งบางคนอาจมีอาการบาดเจ็บมากกว่า 1 จุดแต่จะนับจุดที่มีอาการรุนแรงที่สุด คนไข้ทั้ง 41 คนมีคนไข้ที่อาการทุเลาลง และแพทย์อนุญาตกลับบ้านได้ 1 คนและเหลือคนไข้ในที่ดูแล 40 คน
อ่านข่าว อัปเดตผู้ได้รับบาดเจ็บ SQ321 กลับบ้านแล้ว 27 รักษาตัว 58 คน
นพ.อดินันท์ กิตติรัตนไพบูลย์ ผอ.รพ.สมิติเวชศรีนครินทร์ แถลงความคืบหน้าอาการของผู้ได้รับบาดเจ็บเที่ยวบิน SQ321 มีคนไข้ใน 41 คน
ผ่าตัดแล้ว 17 คนหนักสุดกระดูกสันหลังคอ 5 คน
สำหรับคนไข้ที่อยู่ในโรงพยาบาลได้รับการรักษาแบบผ่าตัด 17 คน เป็นผ่าตัดกระดูกสันหลังช่วงคอ 5 คน และผ่าตัดกระดูกสันหลังช่วงอก 4 คน และซ่อมแซมแผลที่ฉีกขาด 8 คน และบางส่วนรักษาแบบประคับประคอง
คนไข้ที่รับรักษามีหลายคนที่อาการรุนแรงได้รับการคัดกรองเป็นสีแดง แต่ยังไม่ถึงขั้นเป็นอันตรายถึงชีวิต แต่ยังถือว่าอาการยังหนัก
นพ.อดินันท์ กล่าวอีกว่า สถานการณ์ที่เกิดขึ้นเมื่อวันที่ 21 พ.ค.ที่ผ่านมา มีคนไข้สีแดง 6 คน โดยคนไข้บางคนมีอาการอ่อนแรงของกล้ามเนื้อ แต่จุดนี้ยังเป็นการเร็วไปที่จะบอกว่าผู้ป่วยแต่ละคนจะต้องรักษาตัวนานเท่าไหร่ เพราะแพทย์จะมีการประเมินอาการทุกวัน
แพทย์ดูแลใหล้ชิด-ยังไม่ชัดเสี่ยงพิการ
สำหรับผู้ป่วยที่อาการหนักที่สุด ขณะนี้พบว่ามีอาการบาดเจ็บที่กระดูกสันหลังส่วนคอ ซึ่งเบื้องต้นมีการผ่าตัดไปแล้ว ส่วนการประเมินว่าผู้ป่วยจะพิการหรือไม่ยังไม่สามารถตอบได้ในขณะนี้ เพราะจำเป็นจะต้องมีการประเมินจากแพทย์และติดตามอาการรายวัน
ผู้ป่วยที่มีอาการเกี่ยวกับกระดูกสันหลัง จะต้องมีการดูแลจากทีมแพทย์อย่างใกล้ชิด เพราะอาจส่งผลกระทบต่อระบบทางเดินหายใจ
ส่วนกรณีที่ผู้ป่วยรักษาจนหายดีแล้ว และจะเดินทางกลับประเทศต้นทางนั้นได้มีการประสานงานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกันอย่างใกล้ชิดในการดำเนินการส่งตัวกลับประเทศต่อไป โดยผู้ป่วยที่เข้ารับการรักษามีอายุตั้งแต่ 2-83 ปี ซึ่งในอาการของผู้ป่วยที่เป็นเด็กไม่น่าเป็นห่วง
อ่านข่าว
เปิดใจทีมปิดทองหลังเครื่อง ปฏิบัติการรับมือเหตุฉุกเฉิน SQ321