ค้นหา
ทีวีออนไลน์
เว็บไซต์ในเครือ
เว็บไซต์บริการ

ภาคสังคม-ขรก.ชี้รัฐเร่งอุดช่องโหว่กฎหมาย ก่อนไทยเป็นแดนสวรรค์อาชญากรทางเพศออนไลน์

สังคม
23 พ.ค. 67
08:22
667
Logo Thai PBS
ภาคสังคม-ขรก.ชี้รัฐเร่งอุดช่องโหว่กฎหมาย ก่อนไทยเป็นแดนสวรรค์อาชญากรทางเพศออนไลน์
อ่านให้ฟัง
00:00อ่านข่าวให้ฟังโดย Botnoi Voice เว็บแอปพลิเคชันสำหรับสร้างเสียงจากข้อความด้วย AI (Text to Speech)
ข้าราชการ-เครือข่ายภาคประชาสังคม ประสานเสียงเรียกร้องรัฐเร่งแก้ไขกฎหมายอุดช่องโหว่ป้องกันการล่วงละเมิดทางเพศเด็ก ก่อนไทยถูกใช้เป็นสวรรค์ของนักก่ออาชญากรรม

ในงาน Child Protection Summit Bangkok ได้มีการจัดเสวนา Key step to reduce child sexual abuse online เพื่อร่วมป้องกันและแก้ไขปัญหาล่วงละเมิดทางเพศเด็กทั้งทางออนไลน์และออฟไลน์

เสวนา Key step to reduce child sexual abuse online เพื่อร่วมป้องกันและแก้ไขปัญหาล่วงละเมิดทางเพศเด็กทั้งทางออนไลน์และออฟไลน์

เสวนา Key step to reduce child sexual abuse online เพื่อร่วมป้องกันและแก้ไขปัญหาล่วงละเมิดทางเพศเด็กทั้งทางออนไลน์และออฟไลน์

เสวนา Key step to reduce child sexual abuse online เพื่อร่วมป้องกันและแก้ไขปัญหาล่วงละเมิดทางเพศเด็กทั้งทางออนไลน์และออฟไลน์

ตัวเลขเด็กถูกกระทำเพิ่ม-อายุ น้อยลง

ศรีดา ตันทะอธิพานิช กรรมการผู้จัดการมูลนิธิอินเทอร์เน็ตร่วมพัฒนาไทย กล่าวว่า จากสถิติที่แลกเปลี่ยนข้อมูลกับเครือข่ายฮอตไลน์สากลอินโฮป (INHOPE) และเครือข่ายต่าง ๆใน ประเทศไทย พบว่า จำนวนเคสเกี่ยวกับปัญหาภาพลามกอนาจารเกิดขึ้นมากขึ้นทุกปี

อ่านข่าว : ผู้ปกครองเอาเรื่อง "ครู" ล่วงละเมิด "ลูก" ในห้องเรียน

ในแต่ละปีได้รับการแจ้งมากกว่า 10,000 URL โดยแต่ละ URL มีผู้เสียหายจำนวนมาก รวมถึงมีภาพลามกหลายร้อยหรือพันภาพ

จากวิเคราะห์รายงานของ INHOPE ที่เผยแพร่เมื่อปี 2022 พบว่า ผู้เสียหายที่เป็นเด็กมีอายุน้อยลงกว่าช่วง 5-10 ปีก่อนหน้านี้ โดยอายุจะอยู่ระหว่าง 13-15 ปี มีมากถึง 80 % หรือในเด็กที่อายุ 0-2 ขวบ อยู่ที่ 2 %

ขณะที่สิ่งที่น่ากังวลคือ ภาพลามกอนาจารของเด็กที่อยู่ในอินเทอร์เน็ตจะถูกซื้อขายแลกเปลี่ยนไม่มีที่สิ้นสุด และไม่มีทางมั่นใจได้เลยว่าจะตามลบได้หมด ซึ่งทำให้เด็กได้รับผลกระทบทางจิตใจ โดยเด็กต้องใช้เวลารักษาเยียวยาจิตใจเป็นระยะเวลานานตั้งแต่ 3 เดือนถึง 1 ปี หรือบางคนที่สู้ไม่ไหวก็อาจจะทำร้ายตัวเองหรือฆ่าตัวตาย

กรรมการผู้จัดการมูลนิธิอินเทอร์เน็ตร่วมพัฒนาไทย ยังกล่าวว่า ปัจจุบันมีข้อมูลว่า เด็กอยู่กับการใช้สื่อสังคมออนไลน์วันละ 10 ชม.และ จากการสำรวจตัวอย่างเด็กกว่า 30,000 คน พบว่า เด็กร้อยละ 81 % มีโทรศัพท์มือถือเป็นของตนเอง และ 85 % แอคทีฟในสื่อสังคมออนไลน์ เมื่อเด็กใช้สื่อสังคมออนไลน์และแอคทีฟมากก็มีความเสี่ยงที่จะได้รับผลกระทบจากภัยออนไลน์สูงถึง 40 %

นอกจากนี้ ปัญหาคือ เด็กไม่มีความรู้เท่าทันด้านสื่อ Media literacy และยังไม่มีหลักสูตรสอนทั้งในและนอกโรงเรียน รวมถึงความรุนแรงในครอบครัวก็เป็นปัญหาสำคัญ เนื่องจากความรุนแรงในครอบครัวเป็นสิ่งที่ผลักไสเด็กไปเชื่อและไว้ใจคนในโลกออนไลน์และนำไปสู่การ Grooming (การเข้าหาเพื่อแสวงประโยชน์ทางเพศ) และเมื่อเด็กตกเป็นผู้ได้รับความเสียหายก็จะไม่กล้าบอกพ่อแม่ กลัวถูกสังคมตีตราว่าจะเป็นเด็กไม่ดี จึงทำให้เด็กไม่กล้าบอกใคร เด็กจึงต้องสู้ด้วยตัวคนเดียว

เมื่อเด็กที่มีปัญหาเกี่ยวกับการถูกล่วงละเมิดตัดสินใจเข้าสู่กระบวนการยุติธรรมเพื่อขอความช่วยเหลือ ก็ไปเจอกับระบบที่ไม่เป็นมิตร มีการละเมิดด้วยวาจา เช่น การสอบสวน สัมภาษณ์เด็กกลางสถานีตำรวจ ซึ่งเป็นการประจานเด็กซ้ำ ซึ่งต้องจัดการให้ดีขึ้น

รวมถึงปัญหาการขาดแคลนพนักงานเจ้าหน้าที่คุ้มครองเด็กทั้ง ตำรวจ นักจิตวิทยา และกฎหมายที่ไม่ทันสมัย ตอนนี้กฎหมายของไทยต้องถูกข่มขืนหรือถูกกระทำอนาจารแล้วเท่านั้น จึงจะสามารถเอาผิดได้ แต่ในความเป็นจริง เมื่อจับกุมผู้ก่อเหตุ 1 คน และนำมือถือมาตรวจสอบก็จะพบว่า กำลังล่อลวงเด็กอีก 10 คน ซึ่งยังไม่มีโทษเพราะยังไม่ได้ข่มขืน ยังไม่ได้อนาจาร นี่เป็นความล้าหลังของประเทศเราที่ต้องแก้ไขโดยเร็วที่สุด

ดีเอสไอยกเครื่องสืบจากภาพลามกจับผู้กระทำผิด

ร.ต.อ.เขมชาติ ประกายหงษ์มณี ผู้อำนวยการศูนย์คดีละเมิดทางเพศเด็ก กรมสอบสวนคดีพิเศษกล่าวว่า ก่อนหน้านี้ในช่วง 20 ปีที่ผ่านมา ดีเอสไอเริ่มมีบทบาทการสอบสวนคดีละเมิดทางเพศเด็กมาโดยตลอด ในช่วงเริ่มต้นยังไม่มีกฎหมายเกี่ยวกับสื่อลามกอนาจารเด็ก โดยข้อมูลที่ได้รับส่วนใหญ่จะมาจากหน่วยงานพันมิตร หน่วยงานต่างประเทศ และเอ็นจีโอ และสิ่งที่ได้รับขณะนั้นคือการให้เบาะแสเรื่องการละเมิดทางเพศเด็ก ซึ่งไม่มีหลักฐานทางการออนไลน์มากนักในช่วงนั้น เพราะอินเทอร์เน็ตยังไม่แพร่หลายเท่าปัจจุบัน

ขณะที่ ข้อมูลที่สอดคล้องกันก็คือ อายุของเด็กที่ถูกละเมิดที่ดีเอสไอช่วยเหลือปกป้องคุ้มครองในอดีต อายุเฉลี่ยในระยะแรกจะอยู่ที่ 13-15 ปี แต่หลังจากนั้นพบว่า มีอายุน้อยลงเรื่อย ๆ และเมื่อมีภัยออนไลน์เข้ามา

อย่างไรก็ตาม ประเทศไทยเริ่มมีกฎหมายในเรื่องการครอบครองสื่อลามกอนาจารของเด็กตั้งแต่ปี ธ.ค.2558 และมีกฎหมายเพิ่มเข้ามา คือ ประมวลกฎหมายอาญา ม 27 (1) และ 27 (2) จุดนี้คือจุดเปลี่ยนในการสืบสวนสอบสวนคดีละเมิดทางเพศเด็ก

เดิมเจ้าหน้าที่จะต้องรอการให้ปากคำ รอเด็กที่จะพร้อมในการพูดคุยกับเจ้าหน้าที่ แต่เราพบว่าเด็กหลายคน ผ่านไป 10 ปี ในเคสจริงผ่านไปกว่า 20 ปี เด็กกว่าจะพร้อมเด็กก็โตเป็นผู้ใหญ่ ซึ่งต้องทนต่อแรงเสียดทานเยอะแยะมากมาย กว่าจะพร้อมพูดคุย


ดังนั้นแทนที่จะใช้คำให้การเด็กเป็นจุดเริ่มต้นการทำคดี ดีเอสไอได้ใช้หลักฐานจากภาพลามกอนาจารของเด็กเป็นจุดเริ่ม นี่คือทิศทางที่ดีในการรวบรวมหลักฐาน โดยเฉพาะสื่อออนไลน์ ทำให้พบว่าผู้กระทำผิด 1 คนหลายครั้งพบว่า แชร์ภาพลามกอนาจารหลายแสนภาพ

ดีเอสไอเข้าทำเป็นคดีพิเศษหลังกฎหมายอาญามีการปรับแก้ ในเรื่องการครอบครองหรือผลิต เผยแพร่สื่อลามกอนาจารเด็ก คณะกรรมการคดีพิเศษได้บัญญัติเพิ่ม ในท้ายบัญชีประกาศ กรรมการคดีพิเศษฉบับที่ 9 ให้กรมสอบสวนคดีพิเศษมีอำนาจในการสืบสวนสอบสวน โดยสามารถเริ่มทำคดีจากสื่อลามกอนาจารเด็กได้

จากนั้นดีเอสไอจึงพยายามพัฒนาศักยภาพและเทคโนโลยีเพื่อให้เท่าทันต่อผู้ก่อเหตุที่พยายามปิดบังอำพรางอัตลักษณ์ของตนเองและตัวเด็กเพื่อให้ยากต่อการสืบค้น โดยเจ้าหน้าที่ต้องเดินหน้าสนับสนุนกระบวน Victim ID เพื่อระบุผู้เสียหายและขยายผลจับกุมก่อเหตุ

บางคดีพบว่า มีภาพลามกอนาจารเด็กถึงกว่า 500,000 ไฟล์ภาพ ในชื่อ Operation Black Wrist โดยแกะรอยจากสายรัดข้อมือสีดำ และขยายผลร่วมมือกับหน่วยงานทั้งในและต่างประเทศ สามารถช่วยเหลือเด็ก นำไปสู่การจับกุมในต่างประเทศได้อีกหลายคดี ทั้งในยุโรป ออสเตรเลีย และสหรัฐอเมริกา

ทั้งนี้ สิ่งที่ค้นพบมากกว่าการค้นพบภาพลามกอนาจารเด็กก็คือ การ Grooming, Sexting, Sextortion, Cyberbullying หากบังคับใช้กฎหมายจะทำให้เจ้าหน้าที่สามารถทำงานได้คล่องตัว และสามารถบังคับใช้กฎหมายได้มีความรวดเร็ว และไม่ต้องรอให้ภัยมาถึงตัวเด็กก็สามารถสกัดกั้นได้ นอกจากงานด้านปราบปราม การป้องกันก็ถือเป็นอีกแนวทางสำคัญ ด้วยการสร้างเด็กให้มีวัคซีนไซเบอร์ ครอบครัว และสิ่งแวดล้อมที่ดี 

อุดช่องโหว่กฎหมาย ก่อนไทยเป็นสวรรค์อาชญากรทางเพศ

นายมาร์ค เจริญวงศ์ อัยการจังหวัดคดีเยาวชนและครอบครัว จ.นครพนม กล่าวว่า ประเทศไทย มีกฎหมายเกี่ยวกับการข่มขืน หรืออนาจาร แต่ที่ไม่มีคือ การ Sexting โดยก่อนที่ผู้ก่อเหตุจะกระทำจนกระทบถึงเนื้อตัวร่างกาย จะเริ่มจากการ Sexting เพื่อพูดคุยกับเด็กก่อน โดยประเทศในอาเซียนมี 4-5 ประเทศ ที่มีกฎหมายที่เอาผิดกรณี Sexting แล้ว แต่ไทยยังไม่มี

ถ้ามีใครสักคนหนึ่งส่งข้อความมาหาบุตรหลานของคุณ บอกว่า อยากกอด อยากมีเพศสัมพันธ์ แต่อย่างอื่นไม่ได้ทำ เช่นส่งคลิปลามกหรืออย่างอื่นมาเลย กรณีนี้เกิดขึ้นจริง แต่ตำรวจทำอะไรไม่ได้เพราะไม่มีกฎหมาย เราต้องปล่อยให้ลูกหลานถูกกระทำถึงเนื้อตัวร่างกายก่อนหรือไม่ จึงจะบอกว่าจะได้รับการคุ้มครองตามสิทธิของประเทศไทยที่รับรอง

นอกจากนี้ยังมีการ Grooming คือ การเตรียมเด็กที่พร้อมจะเป็นผู้เสียหายจากการละเมิดทางเพศ ยกตัวอย่าง กรณีในพื้นที่ จ.ภูเก็ต ซึ่งมีชาวต่างชาติอยู่เป็นจำนวนมาก พบว่า บางคนมีลักษณะเป็นพวกใคร่เด็ก (Pedophilia) โดยมักจะมีจะสร้างบ้านหลังใหญ่ มีสนามฟุตบอล มีสระว่ายน้ำ มีทีวีขนาดใหญ่ ในบ้าน เพื่อหลอกล่อเด็กให้มาในบ้านและอาศัยจังหวะล่วงละเมิดทางเพศเด็ก กระบวนการเหล่านี้ หากเกิดในสหรัฐฯหรือ 4-5 ประเทศในอาเซียน ตำรวจจะสามารถจับกุมได้เลย


ขณะที่ Sextortion หรือการข่มขู่เพื่อหวังประโยชน์ทางเพศ เช่นการเก็บคลิปไว้แล้วข่มขู่ให้กลับมามีเพศสัมพันธ์ กฎหมายไทยก็ยังไม่มีกฎหมายบังคับในเรื่องดังกล่าว โดยในไทยจะใช้กฎหมายอาญา ม.309 “ผู้ใดข่มขืนใจผู้อื่นให้กระทำการใด ไม่กระทำการใด หรือจำยอมต่อสิ่งใด โดยทำให้กลัวว่าจะเกิดอันตรายต่อชีวิต ร่างกาย เสรีภาพ ชื่อเสียงหรือทรัพย์สินของผู้ถูกข่มขืนใจนั้นเองหรือของผู้อื่น หรือโดยใช้กำลังประทุษร้ายจนผู้ถูกข่มขืนใจต้องกระทำการนั้น ไม่กระทำการนั้นหรือจำยอมต่อสิ่งนั้น ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 3 ปี” 

รวมถึงกรณี Cyber Bullying และ Cyber Stocking อาจใช้กฎหมายอาญา ม.309 ได้ แต่เด็กที่ถูกบูลลี่อาจฆ่าตัวตาย ดังนั้น จึงมีการร่างกฎหมายเพื่อปิดช่องโหว่เหล่านี้ ก่อนหน้านี้ ร่างฯฉบับดังกล่าวได้ผ่านการพิจารณาของ สว. และ สว.ให้เสนอต่อ ครม.และล่าสุดและอยู่ในความดูแลของกระทรวงยุติธรรมแล้ว

ถ้าไม่มีกฎหมายฉบับนี้ อัยการ และตำรวจไม่สามารถจับผู้กระทำผิดได้ เพราะกฎหมายยังไม่ได้กำหนดว่าเป็นความผิดเพราะไม่มีบทลงโทษ เราไม่ดำเนินการใด ๆ ได้เลย เมื่อไม่มีกฎหมายผู้ก่อเหตุก็จะยังกระทำต่อไป 

นายมาร์ค ยังกล่าวว่า ก่อนหน้านี้มีการขอส่งผู้ร้ายข้ามแดนจากต่างประเทศมาที่สำนักงานอัยการสูงสุดในฐานะผู้ประสานงานความร่วมมือทางอาญาระหว่างประเทศ แต่ก็ไม่สามารถดำเนินการได้เพราะการกระทำดังกล่าวนั้นต้องเป็นความผิดระหว่าง 2 รัฐ

เมื่อไทยไม่มีกฎหมายหมายความว่าการกระทำนี้ไม่มีความผิดในไทย ไม่สามารถส่งผู้ร้ายข้ามแดนไม่ได้ ประเทศไทยจะถูกใช้เป็นฐานในการล่วงละเมิดทางเพศ และเด็กที่ได้รับผลกระทบไม่ใช่เพียงเด็กไทยเท่านั้น แต่ไทยจะถูกใช้เป็นฐานทำลายเด็กทั่วโลก

เมื่ออาชญากรทางเพศเหล่านี้ทราบว่า กฎหมายของประเทศไทยมีรูโหว่ จึงเท่ากับว่าไทยกำลังเปิดประตูให้ผู้กระทำผิดใช้ประเทศไทยเป็นฐานในการก่อเหตุและหลบหนี และไทยจะเป็นสวรรค์ของอาชญากร 

อ่านข่าว

รวบ "ป๋าตือ" เจ้าของคณะสิงโต ล่วงละเมิดลูกเลี้ยงนาน 4 ปี  

เปิดสถิติ "หญิงไทย" ถูกกระทำรุนแรง-ล่วงละเมิด 7 คนต่อวัน

แจ้งข้อหาสามี-ภรรยา ทำร้าย-ล่วงละเมิดเด็กวัย 4 ขวบ   

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง