ค้นหา
ทีวีออนไลน์
เว็บไซต์ในเครือ
เว็บไซต์บริการ

แกะรอยมฤตยูร้าย "เฮโรอีน" คร่าทำลายชีวิตเด็ก-เยาวชน

อาชญากรรม
21 พ.ค. 67
16:40
812
Logo Thai PBS
แกะรอยมฤตยูร้าย "เฮโรอีน" คร่าทำลายชีวิตเด็ก-เยาวชน
อ่านให้ฟัง
00:00อ่านข่าวให้ฟังโดย Botnoi Voice เว็บแอปพลิเคชันสำหรับสร้างเสียงจากข้อความด้วย AI (Text to Speech)

"ผมเห็นยายสูบเฮโรอีน มาตั้งแต่เด็ก และยายก็บังคับให้สูบตอนอายุ 10 ขวบ สอนให้สูบ เลยสูบตามยาย สูบแล้วมีอาการง่วงนอน สำลัก เมา และหลับ" เป็นข้อมูลจากเด็กชายวัย 12 ปี ที่เปิดเผยกับทีมวิจัยศูนย์วิจัยยาเสพติด วิทยาลัยวิทยาศาสตร์ สาธารณสุข จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

ขณะเดียวกันยังมีรายงานจากทีมโครงการสำรวจสภาพปัญหาและแนวทางในการป้องกันปัญหาเฮโรอีนของกลุ่มเด็กและเยาวชนในพื้นที่ภาคตะวันตก ระบุว่า มีผู้เข้ารับการบำบัดเฮโรอีน อายุน้อยที่สุด คือ 8 ขวบ และสาเหตุที่เด็กเสพเฮโรอีน เนื่องจากพ่อ-แม่เสพ

สองเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น แม้จะเป็นการเก็บข้อมูลของทีมวิจัยต่างสถาบัน และสะท้อนให้เห็นว่า เด็กและเยาวชน ได้ตกเป็นเป้าหมายของกลุ่มผู้ค้ายาเสพติดไปแล้ว และนับวันปัญหาการแพร่ระบาดของยาเสพติดจะทวีความรุนแรงเพิ่มขึ้นทุกขณะ โดยเฉพาะ "เฮโรอีน" ที่กลายเป็นมฤตยูเงียบ ที่ค่อย ๆ คืบคลานและแทรกซึมเข้าไปในครอบครัว สังคม และชุมชน

ข้อมูลจากรายงานของสำนักงานยาเสพติดและอาชญากรรมแห่งสหประชาชาติ (UNODC) ใน World Drug Report 2023 รายงานว่า ในปี 2564 จำนวนประชากรโลก ที่รายงานว่าเสพกัญชาในระยะ 1 ปีที่ผ่านมา มีจำนวนมากที่สุด 219 ล้านคน รองลงมาเป็นสารประเภทฝิ่น (Opioids) ประมาณ 60 ล้านคน ในจำนวนนี้ 31.5 ล้านคน เป็นผู้เสพเฮโรอีน ตามด้วยแอมเฟตามีน (ATS) 36 ล้านคน โคเคน 22 ล้านคน และใช้ยาอี “ecstasy”-type substances จำนวน 20 ล้านคน

ขณะที่ World Drug Report 2022 รายงานว่า ในปี 2563 จำนวนประชากรโลกที่เสพกัญชาในระยะ 1 ปีที่ผ่านมามี 209 ล้านคน รองลงมาเป็นสารประเภทฝิ่น (Opioids) จำนวน 61 ล้านคน ส่วนสาร ATS มีประมาณ 34 ล้านคน

ส่วน World Drug Report 2020 รายงานว่าในปี 2561 ผู้เสพกัญชาใน 1 ปีที่ผ่านมามีจำนวน 192 ล้านคน เสพสารประเภทฝิ่น 58 ล้านคน และ ATS จำนวน 27 ล้านคน ถ้าเปรียบเทียบแล้วจำนวนผู้เสพสารประเภทฝิ่นเพิ่มในอัตราที่น้อยกว่ากัญชาและ ATS

ข้อมูลจากสำนักงานป้องกันและปราบปรามยาเสพติด (ป.ป.ส.) ระบุว่า พื้นที่สามเหลี่ยมทองคำยังเป็นแหล่งผลิตเฮโรอีนใหญ่ของโลก แม้ว่าปัจจุบันพื้นที่ปลูกฝิ่นจะลดลงไปอย่างมาก แต่เนื่องจากยังมีแหล่งผลิตในเมียนมา ทำให้เฮโรอีนถูกลักลอบลำเลียงข้ามชายแดนเข้ามายังไทยได้อย่างต่อเนื่อง ทั้งในส่วนที่กระจายสู่แหล่งแพร่ระบาดในประเทศและส่วนที่ถูกส่งต่อไปยังประเทศที่สาม

โดยเส้นทางการลักลอบนำเข้าเฮโรอีนจากชายแดนเมียนมาสู่ประเทศไทย พบว่า มักจะซุกซ่อนและลำเลียงมากับสารเสพติดอื่น ๆ เช่น ไอซ์ ยาบ้า และคีตามีน เข้ามาด้าน จ.เชียงราย เชียงใหม่ กาญจนบุรี

ส่วนด้านประเทศลาว จะเข้ามาทาง จ.มุกดาหาร เฮโรอีนที่เข้ามามีทั้งลักลอบเข้ามาขายในไทยและอีกส่วนหนึ่งส่งต่อไปยังต่างประเทศ เช่น มาเลเซีย ไต้หวัน และออสเตรเลีย

เมื่อปี 2021 สำนักงานยาเสพติดและอาชญากรรมแห่งสหประชาชาติ (UNODC) รายงานผลกระทบทางสุขภาพของสารประเภทฝิ่นทั่วโลก อยู่ในวงกว้างมาก กล่าวคือ ร้อยละ 69 เสียชีวิตเนื่องจากการเสพสารประเภทฝิ่น ร้อยละ 40 เข้ารับการบำบัด และการเสพสารประเภทฝิ่นทำให้สูญเสียความจำ 12.9 ล้านคน เนื่องจากการเจ็บป่วย หรือการเสียชีวิตก่อนวัยอันควร ของภาวะบกพร่องทางสุขภาพ หรือร้อยละ 71 ของปีที่สุขภาพดีหายไป

สำหรับประเทศไทย ไม่มีการคำนวณความสูญเสียทางสุขภาพและการตายเนื่องมาจากการเสพสารประเภทฝิ่น แต่จากรายงานการศึกษาปี 2560 พบว่า ผู้เสพเฮโรอีนด้วยวิธีฉีด ประมาณร้อยละ 25 ยังคงติดเชื้อ HIV

นอกจากนี้ ยังพบว่า ประมาณร้อยละ 17 รายงานว่าตัวเองเคยใช้ยาเกินขนาด ซึ่งในกลุ่มนี้ประมาณร้อยละ 70 ของผู้ที่เคยใช้ยาเกินขนาด เสียชีวิต ซึ่งนับเป็นอัตราที่สูงมาก มีข้อพิสูจน์จากข้อมูลที่ได้ว่าผู้ที่ใช้ยาเกินขนาด มักจะเป็นผู้ที่กลับมาใช้ยาเสพติดทันทีหลังจากหยุดเสพยา หรือเข้าบำบัด

มีการเปิดเผยผลการศึกษาในกลุ่มประชากรที่เสพเฮโรอีนด้วยวิธีฉีด เมื่อปี 2564 จำนวน 340 คน (ทุกกลุ่ม อายุ) พบว่า ผู้ที่มีผลเป็นการติดเชื้อ HIV ลดลงจากร้อยละ 25 เหลือประมาณร้อยละ 10 กลุ่มอายุต่ำกว่า 25 ปีเคยตรวจ HIV/AIDS ในชีวิต ร้อยละ 68.4

ส่วนผู้ที่ไปตรวจรอบ 1 ปีร้อยละ 60.5 และผู้ที่ได้รับการตรวจรอบ 6 เดือนที่ผ่านมา ร้อยละ 32.6 โดยที่เป็นผู้ไม่ได้รับแจ้งสูงถึงร้อยละ 34.2 ทั้งนี้ในจำนวนที่ได้รับแจ้ง ไม่มีใครติด HIV เลย

พล.ต.ท.ภาณุรัตน์ หลักบุญ เลขาธิการคณะกรรมการป้องกันและเลขาธิการคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด (ป.ป.ส) ยอมรับว่า ปี 2566 นอกจากปัญหาการแพร่ระบาดของ "ยาบ้า" ที่พบในทุกพื้นที่แล้ว ยังต้องเฝ้าระวังเฮโรอีนด้วย

มีข้อมูลที่น่าตกใจ คือ ปัจจุบันพบผู้เสพเฮโรอีนหน้าใหม่ตั้งแต่อายุ 13 ปี มีผู้เข้าบำบัดทั้งหมดจำนวน 6,160 คน และมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องทุกปี โดยเฉพาะเด็กและเยาวชนอยู่ในพื้นที่กรุงเทพมหานคร กาญจนบุรี เชียงใหม่ เชียงราย และสงขลา

ส่วนสถานการณ์การแพร่ระบาดเฮโรอีน รอบ 6 เดือน ประจำปีงบประมาณ 2566 ผู้เข้ามาบำบัดเฮโรอีนครั้งแรก ร้อยละ 45.36 เป็นเด็กและเยาวชนอายุต่ำกว่า 25 ปี โดยเด็กและเยาวชนกลุ่มนี้ ใช้ยาเสพติดครั้งแรกตอนอายุ 15 - 19 ปี (ร้อยละ 63.86) และตอนอายุต่ำกว่า 15 ปี ร้อยละ 28.71 โดยจังหวัดที่พบปัญหาการแพร่ระบาดของเฮโรอีน นอกจากกรุงเทพมหานครแล้ว ยังพบว่ามีกลุ่มเยาวชนในจังหวัดภาคตะวันตกเข้ารับการบำบัดเฮโรอีนทั่วประเทศ โดยเป็นเยาวชนใน จ.กาญจนบุรี สูงถึงร้อยละ 19 รองมา คือ ราชบุรี ประจวบคีรีขันธ์ สุพรรณบุรี และนครปฐม

เกรียงไกร พึ่งเชื้อ กรรมการบริหารเครือข่ายองค์กรวิชาการสารเสพติด มูลนิธิศูนย์วิชาการสารเสพติด เปิดเผยถึงสถานการณ์ เฮโรอีนในเยาวชนว่า กรณีเคสเด็ก 14 ปี อ้างว่าผงที่เจอตอนตรวจค้นเป็นแป้ง เป็นเรื่องจริงที่น่าห่วงอย่างยิ่ง และนี่ไม่ใช่ข้ออ้างของเด็ก

แต่จากการวิจัยพบว่าปัจจุบันเด็กไม่รู้จักเฮโรอีนเพราะผู้ขายมีการเปลี่ยนรูปแบบนำเฮโรอีนใส่ไว้ในแคปซูลยา หลอกขายให้เด็ก บอกว่าสามารถนำไปผสมกับกัญชาหรือนำไปสูดดม ทำให้เด็กหลงเชื่อ

เฮโรอีน 50 บาทนั้นมีจริง แต่จะมาในรูปแบบผงในแคปซูล หรือ 100 บาท จะใส่ไว้ในหลอดเล็ก ๆ ขนาดความยาวเท่าเหรียญบาท หากเป็นถุงซิปล็อคจะอยู่ที่ราคา 200-300 บาท

อย่างไรก็ตาม จากการเก็บตัวอย่างเยาวชนอายุ 15-24 ปีในพื้นที่ภาคตะวันตกจำนวน 205 คน แบบเจาะจงรายตัว ผลสำรวจพบว่าร้อยละ 92.2 ที่ใช้เฮโรอีนเคยสูบบุหรี่มาก่อน อายุของผู้ลองเฮโรอีนครั้งแรกต่ำสุด 13 ปี สูงสุด 23 ปี โดยร้อยละ 69.3 ใช้เฮโรอีนผสมกับยาเส้น รองลงมาร้อยละ 36.8 ใช้ผสมกับกัญชา

ส่วนใหญ่ได้เฮโรอีนจากเพื่อนมากที่สุด สาเหตุที่ใช้ เพราะต้องการการยอมรับจากเพื่อน รองลงมาต้องการเคลิบเคลิ้ม มีความสุข ผ่อนคลาย และการสำรวจพบข้อมูลที่น่าตกใจว่า เด็กที่ใช้เฮโรอีน ไม่ทราบว่าเฮโรอีนมีฤทธิ์ร้ายแรง ติดง่าย ถอนพิษยาก ส่วนใหญ่คิดว่าเป็นผงยาเสพติดที่นำมาผสมกับบุหรี่เพื่อความเพลิดเพลินเท่านั้น

อ่านข่าว : จับกระแสการเมือง 21 พ.ค.2567 เสียม้ารักษาขุน มือใหม่ป้ายแดง "พิชิต (ไม่) ชื่นบาน โบกมือลาเก้าอี้ รมต.

ย้อนรอย มหากาพย์ "โครงการจำนำข้าว" ปิดฉากฟอกข้าว 10 ปี

รู้จัก "Golden Boy" พร้อมลำดับเหตุการณ์สหรัฐส่งคืนกลับไทย

ข่าวที่เกี่ยวข้อง