วันนี้ (13 พ.ค.2567) ทีมข่าวไทยพีบีเอส พร้อมด้วย ผศ.ดร.ธรณ์ ธำรงนาวาสวัสดิ์ ภาควิชาวิทยาศาสตร์ทางทะเล คณะประมง มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ลงพื้นที่เกาะมันใน อ.แกลง จ.ระยอง สำรวจปะการังฝั่งทิศใต้ของเกาะ ซึ่งเป็นพื้นที่ที่เคยอุดมสมบูรณ์ด้วยปะการังน้ำตื้น ความลึก 1-4 เมตร ขณะนี้กว่า 80% เกิดการฟอกขาว
แม้แต่ปะการังวัยอ่อน ที่ศูนย์วิจัยทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งอ่าวไทยฝั่งตะวันออก เพาะพันธุ์บนแผ่นกระเบื้องและวางลงตามแนวปะการัง ก็พบการฟอกขาวหลายแผ่น บางแผ่นปะการังตายลงไปแล้ว
ขณะที่กองหินต่อยหอย ที่คณะสำรวจของภาควิชาวิทยาศาสตร์ทางทะเล คณะประมง มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ดำน้ำเก็บข้อมูลพบการฟอกขาวจำนวนมากเช่นกัน ซึ่งทั้ง 2 จุดเป็นแหล่งปะการังใหญ่ที่สุดใน จ.ระยอง และมีความอุดมสมบูรณ์ที่สุดในหมู่เกาะมันที่มีปะการังเนื้อที่รวม 1,204 ไร่
ผศ.ดร.ธรณ์ กล่าวว่า สถานการณ์น้ำทะเลอุณหภูมิสูงเกิน 30 องศาเซลเซียสยังไม่สิ้นสุด แม้เดือน พ.ค.นี้จะมีฝนตกในทะเล แต่ทำให้น้ำทะเลเย็นลงเพียงเล็กน้อย จึงน่าเป็นห่วงว่าปะการังจะเกิดการฟอกขาวต่อเนื่อง ซึ่งจะส่งผลกระทบระบบนิเวศใต้ทะเลและเป็นลูกโซ่ต่ออาชีพประมงชายฝั่ง เพราะปะการังเป็นแหล่งอาศัยของสัตว์ทะเลหลากหลายชนิด
อ่านข่าว : วิกฤต "ปะการังฟอกขาว" ในยุคทะเลเดือด
งดกิจกรรมทางน้ำใกล้แนวปะการัง หน้าเกาะกระดาน
อุทยานแห่งชาติหาดเจ้าไหม ประกาศปิดกิจกรรมดำน้ำตื้น (Snorkeling) และกิจกรรมทางน้ำบริเวณแนวปะการัง ด้านหน้าเกาะกระดานเป็นการชั่วคราว หลังจากอุทยานแห่งชาติหาดเจ้าไหม ร่วมกับศูนย์ปฏิบัติการอุทยานแห่งชาติทางทะเลที่ 3 จ.ตรัง สำรวจติดามสถานการณ์การฟอกขาว พบว่าบริเวณแนวปะการังหน้าเกาะกระดานมีการฟอกขาวเป็นจำนวนมาก
อุทยานฯ หาดเจ้าไหม จึงประกาศปิดกิจกรรมดังกล่าวเพื่อป้องกันไม่ให้เกิดความเสียหายต่อแนวปะการัง รวมถึงลดผลกระทบจากกิจกรรมประเภทต่างๆ ที่อาจเป็นการเร่งให้ปะการังเกิดการฟอกขาว ไปจนกว่าสถานการณ์จะคลี่คลาย โดยนักท่องเที่ยวสามารถลงเล่นน้ำตามแนวชายหาด และประกอบกิจกรรมอื่นๆ นอกพื้นที่แนวปะการังด้านหน้าเกาะกระดานได้ตามปกติ ทั้งนี้มีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 15 พ.ค.2567 เป็นต้นไป
อ่านข่าว