ค้นหา
ทีวีออนไลน์
เว็บไซต์ในเครือ
เว็บไซต์บริการ

มหกรรมเทคโนโลยีพร้อมใช้ เพื่อชุมชนไทยยั่งยืน 4 ภาค ตั้งเป้าปี 70 สร้างนวัตกร 5 คน/ตำบล

สังคม
10 พ.ค. 67
16:57
954
Logo Thai PBS
มหกรรมเทคโนโลยีพร้อมใช้ เพื่อชุมชนไทยยั่งยืน 4 ภาค ตั้งเป้าปี 70 สร้างนวัตกร 5 คน/ตำบล
อ่านให้ฟัง
00:00อ่านข่าวให้ฟังโดย Botnoi Voice เว็บแอปพลิเคชันสำหรับสร้างเสียงจากข้อความด้วย AI (Text to Speech)
บพท. ร่วมกับเครือข่าย มรภ. และ มทร.ทั่วประเทศ จัดแสดงผลงานเทคโนโลยีพร้อมใช้ กว่า 2,000 ผลงาน จากภูมิปัญญานักวิจัยไทย ครั้งแรกจัดขึ้น จ.นครศรีธรรมราช มีนวัตกรรมเข้าร่วม 100 ผลงาน ตั้งเป้าภายในปี 2570 สร้างนวัตกรได้ตำบลละ 5 คน

การขับเคลื่อนเทคโนโลยีที่เหมาะสมเพื่อพัฒนาพื้นที่ มีแนวคิดการดำเนินงานเพื่อสนับสนุนการดำเนินงานเชิงนโยบายของกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) ที่มีมหาวิทยาลัยในพื้นที่เป็นกลไกโดยดำเนินการเพื่อตอบโจทย์ความต้องการของพื้นที่ มีการทำงานแบบบุกเบิกโดยร่วมกับภาคีควบคู่กับการสร้างระบบการจัดการเพื่อให้เกิดความต่อเนื่อง

การขับเคลื่อนเทคโนโลยีที่เหมาะสมเพื่อพัฒนาพื้นที่ ภายใต้ความร่วมมือ ด้วยการสนับสนุนทุนวิจัยเป็นการวิจัยขยายผลวิจัยเทคโนโลยีที่เหมาะสม (Appropriate Technology) ที่นำองค์ความรู้หรือเทคโนโลยีจากงานวิจัยที่ยังจำเป็นต้องพัฒนากระบวนการเพิ่มเติมเพื่อให้ได้องค์ความรู้ที่สมบูรณ์เหมาะสมกับการแก้ไขปัญหาของพื้นที่

เช่น การทดสอบ (Testing) การจัดทำต้นแบบ (Prototype) การดำเนินการในระดับนำร่อง (Pilot Scale) หรือการพัฒนาเทคโนโลยีเพื่อประยุกต์หรือตอบสนองความต้องการเชิงเฉพาะของพื้นที่ (Area-Specific Development and Applications) เป็นต้น รวมไปถึงการขยายผลงานวิจัย (Implementation) โดยการ นำผลงานวิจัยและนวัตกรรมไปสู่การปฏิบัติให้สามารถประยุกต์กับงาน หรือขยายผลได้อย่างเหมาะสม

ในปีงบประมาณ 2563 - 2566 ภายใต้แผนงานชุมชนนวัตกรรมเพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืนที่มีเป้าหมายเพื่อพัฒนาชุมชนอย่างมีส่วนร่วมโดยกลไกการพัฒนาพื้นที่ระดับตำบลแล้วสร้างตัวแบบการเรียนรู้และนวัตกรรม (Land Innovation platform) ของชุมชนผ่านการสร้างนวัตกรชุมชนเพื่อให้กลไกพัฒนาพื้นที่อย่างมีส่วนร่วมระดับชุมชนสามารถวิเคราะห์ปัญหาของชุมชนตนเองได้อย่างแม่นยำ รวมถึงมีการยอมรับปรับใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรมเหมาะสมกับบริบท

เพื่อแก้ไขปัญหาสำคัญและพัฒนาคุณภาพชีวิตของตนเองได้อย่างเป็นรูปธรรม และยั่งยืน สามารถดำเนินการ ให้เกิดชุมชนนวัตกรรม 954 ตำบล ครอบคลุมพื้นที่ 43 จังหวัด เกิดการสร้างนวัตกรชุมชน จำนวน 4,224 คน และเทคโนโลยีและนวัตกรรมพร้อมใช้รวมทั้งนวัตกรรมกระบวนการเพื่อแก้ไขปัญหาที่สำคัญของ ชุมชนทั้งสิ้น 965 นวัตกรรม ที่ใช้ยกระดับอัตราการเติบโตของมูลค่าเศรษฐกิจฐานรากและมูลค่าสินค้าผลิตภัณฑ์ชนเพิ่มขึ้นร้อยละ 10 - 20 อีกทั้งยังเกิดการนำนวัตกรรมเข้าสู่การทำแผนพัฒนาตำบล/ท้องถิ่น โดยผ่าน Learning and Innovation Platform (LIP)

ในปีงบประมาณ 2567 บพท.ได้กำหนดนโยบายการขับเคลื่อนเทคโนโลยีที่เหมาะสมเพื่อพัฒนาพื้นที่ บนความร่วมมือระหว่าง บพท. กับเครือข่ายมหาวิทยาลัยราชภัฏ 38 แห่ง และเครือข่ายเทคโนโลยีราชมงคล 9 แห่ง พร้อมเทคโนโลยีพร้อมใช้กว่า 2,289 ผลงาน

เพื่อขยายผลต่อยอดนวัตกรรมพร้อมใช้ เทคโนโลยีที่พร้อมใช้ให้กับกลุ่มคนจนฐานราก เกษตรรายย่อย กลุ่มอาชีพ ผู้ประกอบการในพื้นที่ ผ่านการออกแบบกระบวนการเรียนรู้ นำไปปรับใช้นวัตกรรมพร้อมใช้และเทคโนโลยีที่เหมาะสม ซึ่งเป็นกระบวนการสร้างนวัตกรรมชุมชนให้มีทักษะการจัดการความรู้ เรียนรู้ และรับ ปรับใช้ เทคโนโลยีและนวัตกรรม ในการจัดการปัญหาสำคัญในชุมชน หรือการสร้างโอกาสใหม่ในชุมชนพื้นที่

กิจกรรม Appropriate Technology MATCHING DAY 2024  เทคโนโลยีพร้อมใช้ เพื่อชุมชนไทยยั่งยืน ประจำปี 2567 เป็นการเชื่อมโยง การประยุกต์ใช้และการขยายผลเทคโนโลยีที่เหมาะสม นวัตกรรมพร้อมใช้จากผลงานของเครือข่าย กับโจทย์ปัญหาและความต้องการของกลุ่มคนจนฐานราก เกษตรรายย่อย กลุ่มอาชีพ ผู้ประกอบการในพื้นที่ และสร้างโอกาสในข้อเสนอโครงการที่มีคุณภาพ ตรงกับความต้องการ และสามารถสร้างการเปลี่ยนแปลง

เพื่อ จัดแสดงผลงานและสร้างพื้นที่การเรียนรู้เทคโนโลยีที่เหมาะสม สำหรับการจัดการแก้ปัญหาคนจน และความเหลื่อมล้ำ การยกระดับเศรษฐกิจชุมชนและฐานรากทั้งภาคชนบทและเมืองให้พี่งพาตนเองได้อย่างยั่งยืน

สนับสนุนกิจกรรมแลกเปลี่ยนสำหรับการขยายผลวิจัยเทคโนโลยีที่เหมาะสม (Appropriate Technology) ระหว่างชุมชน ผู้ประกอบการกับนักวิจัย รวมถึงเป็นการสร้างความร่วมมือกับกลไกทำงานในการพัฒนาศักยภาพกลุ่มเป้าหมาย ให้เกิดการยอมรับและปรับใช้เทคโนโลยีที่เหมาะสมอย่างต่อเนื่อง และถ่ายทอดระบบฐานข้อมูลเทคโนโลยีที่เหมาะสมของเครือข่ายมหาวิทยาลัยราชภัฏ และมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลต่อกลุ่มเป้าหมาย

สำหรับการจัดกิจกรรม จะจัดขึ้นทั้ง 4 ภูมิภาคทั่วประเทศ ซึ่งจัดครั้งแรกโซนภาคใต้ที่ จ.นครศรีธรรมราช ในวันที่ 9 พ.ค.2567 โดยครั้งนี้มีผู้ลงทะเบียนเข้าร่วมงาน 534 คน มีนวัตกรรมจำนวน 100 ผลงาน แบ่งเป็นจากเครือข่ายมหาวิทยาลัยราชภัฏ 60 ผลงาน และเครือข่ายมหาวิทยาลัยราชมงคล 40 ผลงาน มีชุมชนเข้าร่วมงานเป็นหลัก กลุ่มคนจนฐานราก เกษตรกรรายย่อย กลุ่มอาชีพและผู้ประกาชอบการเชิงพื้นที่

อ่านข่าว : “ปลาใส่อวน” เมืองคอน อัพเกรดสู่ผลิตภัณฑ์ Zero Waste ยกระดับเพิ่มมูลค่า สร้างรายได้

สุชาดา แทนทรัพย์ เลขานุการ รมว.การอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม

สุชาดา แทนทรัพย์ เลขานุการ รมว.การอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม

สุชาดา แทนทรัพย์ เลขานุการ รมว.การอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม

น.ส.สุชาดา แทนทรัพย์ เลขานุการ รมว.การอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) กล่าวว่า การนำเทคโนโลยีที่เหมาะสมและพร้อมใช้เพื่อช่วยพัฒนาชุมชนสร้างอาชีพ กระจายรายได้ ให้คนในชุมชนสามารถพึ่งพาตัวเองได้แบบยั่งยืน ถือว่าเป็นหนึ่งในนโยบายของกระทรวง อว. ที่ไม่ได้เน้นเพียงเพื่อความเป็นเลิศ แต่ยังเป็นการมุ่งเน้นเพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืน กระจายรายได้สู่ชุมชน

การนำเทคโนโลยีและนวัตกรรมเพื่อสร้างอาชีพ สร้างรายได้ในชุมชน เป็นการยกระดับอย่างแท้จริง เปลี่ยนจากงานวิจัยที่ขึ้นหิ้ง เป็นงานวิจัยที่ขึ้นห้าง เพื่อเป็นตัวขับเคลื่อนเศรษฐกิจ โดยนำไปช่วยในการแก้ไขปัญหาและพัฒนาเศรษฐกิจฐานราก

ทั้งนี้ภายในงานมีการจับคู่เทคโนโลยีที่เป็นประเด็นปัญหาของชุมชนให้เกิดเป็นนวัตกรรมพร้อมใช้และเป็นเทคโนโลยีที่เหมาะสม ตรงกับความต้องการชองชุมชน ซึ่งคาดหวังว่าจะสามารถจับคู่ระหว่างชุมชนในพื้นที่และนักวิจัยเจ้าของนวัตกรรม ได้มากกว่า 200 คู่ สามารถสร้างรายได้ที่ยั่งยืน แก้หนี้ครัวเรือน เพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตของคนในชุมชนในพื้นที่ได้อย่างแท้จริง

และคาดการณ์ภายในปี 2570 จะสามารถสร้างนวัตกรได้ตำบลละ 5 คน เพื่อเป็นคนกลางในการเข้าไปสื่อสารและนำความต้องการในพื้นที่เข้ามาร่วม สามารถสร้างอาชีพ กระจายรายได้ แก้ปัญหาความยากจน ตลอดจนเกิดผลสัมฤทธิ์ในระดับนโยบาย ขยายผลในวงกว้าง ยกระดับเศรษฐกิจฐานราก ทั้งภาคชนบท และเมืองให้พึ่งตัวเองได้อย่างยั่งยืน

ดร.กิตติ สัจจาวัฒนา ผู้อำนวยการหน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการพัฒนาระดับพื้นที่ (บพท.)

ดร.กิตติ สัจจาวัฒนา ผู้อำนวยการหน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการพัฒนาระดับพื้นที่ (บพท.)

ดร.กิตติ สัจจาวัฒนา ผู้อำนวยการหน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการพัฒนาระดับพื้นที่ (บพท.)

ด้าน ดร.กิตติ สัจจาวัฒนา ผู้อำนวยการหน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการพัฒนาระดับพื้นที่ (บพท.) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) เปิดเผยว่า วันนี้เป็นการเปิดตัวคิกออฟ งานเทคโนโลยีพร้อมใช้ เพื่อชุมชนไทยอย่างยั่งยืน เป็นงานที่รวบรวมนวัตกรรมพร้อมใช้เทคโนโลยีที่เหมาะสม จากเครือข่าย ที่ปรับประยุกต์ใช้ในบริบทใดบริบทหนึ่งที่สำเร็จแล้วในแต่ละกลุ่มเข้ามาช่วยชุมชน เพื่อช่วยสามารถจัดการตัวเองได้อย่างยั่งยืน

การพัฒนาไม่ว่าจะเป็นการเกษตร การพัฒนากลุ่มอาชีพ ผู้ประกอบการหรือครัวเรือนยากจน สามารถพัฒนาให้เกิดอาชีพได้ แต่อย่างใดก็ตามอาชีพที่มีอยู่ในประเทศไทย ไม่ว่าจะเป็นกลุ่มเกษตรกรรายย่อย ไม่ว่าเป็นการผลิต การแปรรูปต่างๆ ยังมีปัญหาอยู่มากมาย การเกษตรผลผลิตก็ค่อนข้างต่ำ กำลังการผลิตก็ค่อนข้างต่ำ คุณภาพก็ไม่ดี เป็นเพราะการเข้าถึงเทคโนโลยีหรือนวัตกรรมของเรายังเข้าไม่ถึง

จึงเป็นที่มาของการนำงานวิจัยนำมาใช้ในชุมชน โดยการนำนวัตกรรมพร้อมมาเจอผู้ใช้ ใส่การเรียนรู้เข้าไป ทำให้เกิดความเข้าใจร่วมกัน และก่อให้เกิดนวัตกรชาวบ้าน หรือ นวัตกรชุมชุน

ความยั่งยืนก็คือ กลุ่มแกนนำชาวบ้านรับ ปรับเปลี่ยนนวัตกรรมพร้อมใช้แล้วสามารถเอาไปประยุกต์ใช้ได้เอง ถ่ายทอดได้ ขยายผลได้

งานแสดงเทคโนโลยีพร้อมใช้ เพื่อชุมชนไทยยั่งยืน จะเป็นรากฐานสำคัญของการสร้างความเชื่อมั่นด้านการพัฒนาเทคโนโลยี และพึ่งพาตัวเองด้านเทคโนโลยีของประเทศไทย จากภูมิปัญญาการศึกษา ค้นคว้า วิจัยและพัฒนาของนักวิจัยในสถาบันอุดมศึกษา โดยมีเทคโนโลยีและนวัตกรรมพร้อมใช้ที่เหมาะสมเป็นเครื่องมือ และมีกลไกกระบวนการความร่วมมือจากภาคีเครือข่ายในพื้นที่เป็นพลังขับเคลื่อน เพื่อนำสู่เป้าหมายการพัฒนาคน พัฒนาพื้นที่ ลดช่องว่างความเหลื่อมล้ำ ยกระดับคุณภาพชีวิต สร้างความอยู่ดีกินดีแก่ประชาชน และสร้างความเข้มแข็งแก่ชุมชนในแต่ละพื้นที่ ครอบคลุมทุกภูมิภาคของประเทศ

สำหรับงานเทคโนโลยีพร้อมใช้ เพื่อชุมชนไทยยั่งยืน ประจำปี 2567 ครั้งต่อไปจะจัดขึ้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ จ.นครราชสีมา ในวันที่ 15 พ.ค. ครั้งที่ 3 ที่ภาคเหนือ จ.เชียงใหม่ วันที่ 21 พ.ค. และครั้งที่ 4 ที่ภาคกลาง ที่ กรุงเทพมหานคร ในวันที่ 24 พ.ค.

อ่านข่าว : 

"เมล็ดข้าวสิริมงคล" ฝรั่งหัวใจไทย ทำสร้อยพกติดตัว

เรื่องน่ารู้ "ข้าวไทย" "หลากสี - หลายสายพันธุ์" เต็มไปด้วยคุณค่า

ข่าวที่เกี่ยวข้อง