ปณิธาน ชี้ "เจรจาชนกลุ่มน้อย ไม่ใช่ยุทธศาสตร์ของไทย"

การเมือง
8 พ.ค. 67
19:26
467
Logo Thai PBS
ปณิธาน ชี้ "เจรจาชนกลุ่มน้อย ไม่ใช่ยุทธศาสตร์ของไทย"
อ่านให้ฟัง
00:00อ่านข่าวให้ฟังโดย Botnoi Voice เว็บแอปพลิเคชันสำหรับสร้างเสียงจากข้อความด้วย AI (Text to Speech)

ปฏิเสธไม่ได้ว่า การนัดพบระหว่าง ตัวแทนกลุ่มชาติพันธุ์ติดอาวุธ และ "ทักษิณ ชินวัตร" หลังจากไปเยือนเชียงใหม่เมื่อช่วงสงกรานต์ ทำให้เกิดแรงกระเพื่อมตลอดแนวบริเวณชายแดนไทย-เมียนมา และส่งสัญญาณถึงความพยายามในการเข้าไปเป็นตัวเชื่อมหรือคนกลางเพื่อทำให้เกิดสันติภาพระหว่าง ระหว่างสภาบริหารแห่งรัฐ (SAC) ที่มี พล.อ.อาวุโส มิน อ่องหล่าย ประธาน SAC และนายกรัฐมนตรีเมียนมา กับฝ่ายต่อต้านที่มีกลุ่มชาติพันธุ์และรัฐบาลเอกภาพแห่งชาติ (National Unity Government : NUG) อยู่ขั้วตรงข้าม

มีข้อมูลระบุว่า การเข้าไปเป็นตัวกลางของ "ทักษิณ" เกิดขึ้นอย่างไม่เป็นทางการ ก่อนที่ "ปานปรีย์ พหิทธานุกร" อดีตรมว.ต่างประเทศจะลาออก และในอดีตที่ผ่านมาอดีตนายกฯ ผู้นี้ มีความมักคุ้นกับนายทหารเมียนมาหลายคน ไม่ว่าจะเป็น พล.อ.อาวุโส มิน อ่องหล่าย พล.อ.หม่องเอ และ พล.อ.ตาน ฉ่วย

โดยการหารือกับกลุ่มผู้นำชาติพันธุ์แบ่งเป็น 2 รอบ คือ ครั้งแรกเมื่อวันที่ 13 เม.ย.2567 ได้มีการพบกับตัวแทนกองทัพปลดปล่อยแห่งชาติกะเหรี่ยง (KNLA), พรรคก้าวหน้าแห่งชาติคะเรนนี (KNPP) และองค์การแห่งชาติคะฉิ่น (KNO) ส่วนครั้งที่ 2 มีการนัดพบกันที่กรุงเทพมหานคร โดยมี พล.อ.เจ้ายอดศึก ผู้นำสภาเพื่อการกอบกู้รัฐฉาน (RCSS/SSA) และซิน มา อ่อง รมว.ต่างประเทศ รัฐบาลเอกภาพแห่งชาติ (NUG) ตัวแทนกลุ่มหนุนอองซาน ซูจี รวมทั้งตัวแทนกลุ่มชาติพันธุ์อีกหลายองค์กร

อ่านข่าว : "ราชทัณฑ์" โยนกรมคุมประพฤติตรวจปม "ทักษิณ" คุยกลุ่มชาติพันธุ์เมียนมา

รศ.ดร.ปณิธาน วัฒนายากร นักวิชาการด้านความมั่นคง วิเคราะห์ความเคลื่อนไหวดังกล่าวว่า หากมองตามกรอบยุทธศาสตร์ความมั่นคง อาจส่งผลกระทบทำให้ไทยต้องเจอสถานการณ์ที่ซับซ้อน หรือเกิดความคลุมเครืออีกระดับหนึ่ง ซึ่งความคลุมเครือดังกล่าว บางครั้งก็ใช้ได้ดี และบางครั้งก็ใช้ไม่ได้ แต่ส่วนใหญ่มักใช้ไม่ได้ เพราะผ่านจุดที่ต้องใช้คนเจรจาอย่างเป็นทางการแล้ว

สำหรับการเจรจาที่ผ่านมา มีทั้งเป็นทางการ กึ่งทางการ และไม่เป็นทางการ โดยการเจรจาแบบไม่เป็นทางการ เริ่มมาตั้งแต่ 3 ปีแล้ว กับกลุ่มนักธุรกิจ อดีตผู้นำและเครือข่ายของอาเซียน ก่อนที่อาเซียนจะผลักดันฉันทามติอย่างเป็นทางการ 5 ข้อ คือ 1.ให้ทุกฝ่ายหยุดความรุนแรง 2.ทุกฝ่ายเจรจาอย่างสันติ 3.ให้มีทูตพิเศษเพื่อให้เกิดกระบวนการเจรจา 4.อาเซียนช่วยเหลือด้านมนุษยธรรม และ 5.ทูตพิเศษเข้าไปเมียนมาเพื่อพูดคุยกับทุกฝ่าย ซึ่งเป็นการเริ่มนับหนึ่งในการแก้วิกฤติเมียนมา ซึ่งที่ผ่านมามีความพยายามอย่างเป็นทางการมาแล้วหลายรอบ

"แบบเป็นทางการ เราเห็นความพยายามของบรูไน ในฐานะประธานอาเซียนในสมัยแรก ที่เข้าไปเจรจากับกัมพูชาและสมเด็จฮุน เซน ทั้งแบบทางการและไม่เป็นทางการ รวมทั้งการใช้ความสัมพันธ์ส่วนตัวก็ล้มเหลว หรือฝั่งอินโดนีเซีย รับไปก็ทำไม่ได้ ต้องกลับมาตั้งหลักกันใหม่ พร้อมกับการเดิน Track ใหม่ ในลักษณะกึ่งทางการ คุยกับญี่ปุ่น สหรัฐ จีน พอเริ่มเดินหน้าต่อก็มีการผลักดันระเบียงมนุษยธรรม และหลังจาก ดร.ปานปรีย์ มาเป็นรมว.ต่างประ เทศ ก็ไปคุยกับสหรัฐอเมริกาเพิ่มขึ้น ทำให้สามารถเปิดพื้นที่คุยได้ แต่ครั้งนี้รัฐบาลเมียนมาปฏิเสธขอปิดพื้นที่แล้ว ทั้งที่เป็นทางการและกึ่งทางการ"

ร.ศ.ดร.ปณิธาน บอกว่า ปัญหาที่เกิดขึ้นนายทักษิณ และสมเด็จฮุน เซน เห็นโอกาสนี้ จึงพยายามที่จะเข้าไป เพราะขณะนี้ทหารเมียนมากำลังเพลี่ยงพล้ำ เขาอาจเข้าไปช่วยดูว่า จะทำอะไรได้บ้าง หรือเข้าไปรักษาผลประโยชน์ตัวเอง เรื่องสัมปทานหรือไม่ ส่วนกลุ่มชาติพันธุ์เขาก็รู้ทาง การเชิญให้มาพูดคุยก็เป็นเรื่องที่ดี แต่ก็ยื่นเงื่อนไขที่นายทักษิณปฏิเสธไม่ได้ คือ ขอให้ไปบอกทหารเมียนมาให้ลงจากตำแหน่ง เพราะตอนนี้มีกลุ่มชาติพันธุ์ที่อยู่ในกลุ่มลงนามข้อตกลงหยุดยิงทั่วประเทศ (NCA) 10 กลุ่ม* จาก 17 กลุ่ม

แต่ส่วนใหญ่จะไม่อยู่แล้ว เช่น พล.อ.หม่อง ชิต ตู ก็รอดูสถานการณ์ คือ ไม่อยู่กับทหารเมียนมา และกะเหรี่ยง รอดูว่าใครจะชนะ ระหว่างนี้ก็ช่วยลาดตระเวนเรียกเก็บค่าต๋ง ค่าส่วยเพราะมีกองกำลังเกือบหมื่นคน

ส่วนการเจรจากับ พล.อ.เจ้ายอดศึก ผู้นำกองทัพรัฐฉานใต้ RCSS/SSA และกลุ่มชาติพันธุ์อื่นๆ ที่ไม่ได้มีกองกำลังมากเหมือนกะฉิ่น หรือกลุ่มอาระกันที่มีกองกำลังเข้มแข็งนั้น นักวิชาการคนเดิม บอกว่า กลุ่มนี้เจรจากับทหารเมียนมา และได้ยื่นข้อเสนอให้ทหารเมียนมา ออกไปจากการเมืองและการจัดระบบชายแดน พร้อมกับคืนอำนาจให้พวกเขาตั้งรัฐปกครองตนเอง แต่จะอยู่ในสมาพันธ์หรือสหพันธ์ค่อยมาถกกันอีกรอบว่า จะวางอาวุธหรือไม่วางอาวุธ แต่อย่ามาโน้มน้าวให้ยอมกลับไปส่งส่วย จ่ายค่าต๋งให้ ทหารเมียนมาไม่เอาแล้ว และประเด็นนี้ เชื่อว่า พล.อ.อาวุโส มิน อ่องหล่าย และทหารเมียนมาคงไม่รับ และเชื่อว่านายทักษิณ คงคุยให้ไม่ได้

ดังนั้นเมียนมาจึงไม่เชิญนายทักษิณไปหารือ ทั้งๆ ที่นายทักษิณไปคุยกับกลุ่มชาติพันธุ์ให้แล้ว ส่วนตัวเชื่อว่าทหารเมียนมาทราบดีว่า นายทักษิณพูดคุยอะไรกับกลุ่มผู้นำชาติพันธุ์ เนื่องจากฉันทามติ 5 ข้อ ส่วนใหญ่เอียงไปทางข้อเสนอของกองกำลังพิทักษ์ประชาชน (People's Defence Force : PDF) และรัฐบาลเอกภาพแห่งชาติ( (National Unity Government: NUG)

แต่สำหรับนายทักษิณ เชื่อว่า น่าจะมีลวดลายมากกว่านั้น คือ เข้าไปหาทางช่วยเหลือ ประคับประคอง เพื่อให้ทหารเมียนมายืนได้ แต่ต้องยอมเสียพื้นที่ปกครองประเทศไปบางส่วน โดยเฉพาะจุดที่มีพวก "ฮาร์ดแลนด์" ซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อประไทยมาก

"จริงๆ การเข้าไปเจรจากับชนกลุ่มน้อย ไม่ใช่ยุทธศาสตร์ของเรา เพราะยุทธศาสตร์ไทย ต้องทำให้เป็นทางรอดของทุกฝ่าย เป็นพื้นที่ทุกฝ่ายจะต้องมารับความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรม ดูแลความปลอดภัย หนีภัย พื้นที่พักรอ ไม่เรียกให้ไปซื้ออาวุธ หรือฝึกอาวุธ ซึ่งหลายฝ่ายเริ่มเดินแบบนั้น การที่เอ็นจีโอของสหรัฐฯ เข้ามา ฝึกอาวุธ ทำให้ทหารเมียนมา ไม่พอใจและตั้งข้อสังเกตมานานแล้ว จึงส่งสัญญาณเตือนเรื่องความมั่นคงด้านพลังงาน เราต้องไม่ลืมว่า หากทางการเมียนมาปิดท่อส่งพลังงาน ไทยจะทำอย่างไร"

อ่านข่าว : พงศกร ชี้ "ทักษิณ" คุย "ชาติพันธุ์" ไม่ใช่เวลาเจรจาสันติภาพ

ร.ศ.ดร.ปณิธาน กล่าวว่า การนัดกลุ่มชาติพันธุ์ให้มาเจรจากับนายทักษิณ ในฐานะตัวกลางการเจรจาสันติภาพ ทั้งสองฝ่ายก็ไม่ได้เสียอะไร สุดท้ายนายทักษิณก็อาจได้สัมปทานอะไรใหม่ๆ กลับมา ส่วนกลุ่มผู้นำชาติพันธุ์ก็ถือว่า ได้ใช้ช่องทางพิเศษในการสื่อสารกับทหารเมียนมา คือ ขอให้กองทัพเมียนมาถอยออกไปจากการเมือง เปิดให้มีการเลือกตั้ง จัดระบบใหม่

แต่ผลการตอบรับจากทหารเมียนมา คือ การเรียกกระทรวงการต่างประเทศมาคุย และบอกให้เตรียมพร้อมภายในเดือน ต.ค.นี้ และขอให้เริ่มจัดการเลือกตั้งแบบประเทศอินเดียในปลายปี 2567 นี้

ร.ศ.ดร.ปณิธาน ย้ำว่า ช่วงนี้ทหารเมียนมาตกอยู่ในสถานการณ์ที่กำลังเพลี่ยงพล้ำ และฤดูฝนเข้ามาแล้ว เขาจะใช้กองกำลังทางอากาศได้น้อยลง และหมายความว่า เขาเสียพื้นที่ควบคุมไปอีก และกองกำลังกลุ่มชาติพันธุ์จะไม่ต่อรอง จึงหลายฝ่ายมองว่า เป็นโอกาสดีที่ทหารเมียนมาอ่อนกำลังลงแล้ว

อ่านข่าว : "เศรษฐา" ปัด "ทักษิณ" เจรจาคู่ขนานสันติภาพเมียนมา

ดังนั้นการเข้าไปช่วยคุยเพื่อให้เกิดทิศทางมาใหม่ๆ เพื่อเกิดประโยชน์กับทุกฝ่าย อาจเป็นทางเลือกที่ดี ซึ่ง สมช. และกระทรวงการต่างประเทศต้องมีความชัดเจนในนโยบายที่ส่งผลกระทบต่อความมั่นคงของประเทศ

*ทั้งนี้สำหรับ 10 กลุ่มชาติพันธ์ที่มีการลงนามข้อตกลงหยุดยิงทั่วไประเทศ NCA ประกอบด้วย สภากอบกู้รัฐฉาน (RCSS/SSA), สหภาพแห่งชาติกะเหรี่ยง (KNU), องค์กรปลดปล่อยชาติปะโอ (PNLO), กองกำลังกะเหรี่ยงประชาธิปไตย (DKBA), แนวร่วมแห่งชาติชิน (CNF), แนวร่วมประชาธิปไตยของมวลนักศึกษาพม่า (ABSDF), พรรคปลดปล่อยอาระกัน (ALP), สภาแห่งชาติกะเหรี่ยงสันติภาพ (KNU/KNLA-PC), พรรครัฐมอญใหม่ (NMSP) และสหภาพประชาธิปไตยลาหู่ (LDU)

ส่วนกลุ่มชาติพันธุ์ติดอาวุธ ที่ยังไม่ลงนามข้อตกลงหยุดยิง NCA มี 7 กลุ่มที่รวมตัวกันในนาม Myanmar Peace Commission and Federal Political Negotiation Consultative Committee หรือ FPNCC คือ กองทัพสหรัฐว้า (UWSA), กองทัพคะฉิ่น (KIA), กองทัพเมืองลา (NDAA), กองทัพโกก้าง (MNDAA), พรรคก้าวหน้ารัฐฉาน (SSPP/SSA) ,กองทัพตะอั้ง (TNLA) และกองทัพอาระกัน (AA)

ข่าวที่เกี่ยวข้อง