วันนี้ (8 พ.ค.2567) นายเกรียงไกร เธียรนุกุล ประธานการประชุมคณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน (กกร.) กล่าวภายหลังประชุมร่วมกับผู้ประกอบการ กลุ่มอุตสาหกรรมต่างๆ ทั่วประเทศ มีความเห็นร่วมกันว่า เอกชนไม่เห็นด้วยกับการปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำทั่วประเทศ 400 บาท
นายเกรียงไกร เธียรนุกุล ประธานการประชุมคณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน (กกร.)
โดยกกร. มีความเห็นต่อประเด็นการปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำทั่วประเทศ 400 บาท ว่าการปรับอัตราค่าจ้างที่สูงเกินกว่าความเป็นจริง จะเป็นปัจจัยลบที่ส่งผลกระทบต่อภาวะเศรษฐกิจและการลงทุนในประเทศไทย
เนื่องจากภาวะเศรษฐกิจไทยในปัจจุบันยังมีปัญหาจากปัจจัยหลายประการที่มีความผันผวน อาทิ ค่าเงินบาท ราคาพลังงาน มาตรการกีดกันทางการค้าระหว่างประเทศ และสงครามการค้าระหว่างประเทศ ซึ่งกระทบต่อขีดความสามารถในการแข่งขันของภาคธุรกิจในประเทศไทย
โดยเฉพาะภาคอุตสาหกรรมที่ดัชนีผลผลิตภาคอุตสาหกรรม (MPI) เดือนมีนาคม 2567 หดตัวต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 18 และอัตราการใช้กำลังการผลิต (CapU) อยู่ที่ 62.39% ซึ่งลดลง 4.47% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน แสดงให้เห็นถึงความเปราะบางของภาคอุตสาหกรรมไทยในที่ประชุมจึงมีข้อเสนอต่อรัฐบาลดังนี้
“กกร. เห็นด้วยกับการยกระดับรายได้ของแรงงานไทยให้มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น แต่การปรับอัตราค่าจ้างขั้นต่ำประจำปี และไม่เห็นด้วยกับการปรับค่าจ้างขั้นต่ำ 400 บาทเท่ากันทั่วประเทศ แต่ควรใช้กลไก จากคณะอนุกรรมการพิจารณาอัตราค่าจ้างขั้นต่ำรายจังหวัด และคณะกรรมการค่าจ้าง (ไตรภาคี) เป็นผู้พิจารณาให้สอดคล้องกับปัจจัยทางเศรษฐกิจของแต่ละพื้นที่ อัตราเงินเฟ้อ อัตราการเจริญ เติบโตของ GDP ความสามารถในการจ่ายของนายจ้าง และประสิทธิภาพของแรงงาน”
ทั้งนี้กกร.เปิด 5 ข้อเสนอ ประเด็นค่าแรง 400 บาท ทั่วประเทศ ในที่ประชุมจึงมีข้อเสนอต่อรัฐบาลดังนี้
1.กกร. เห็นด้วยกับการยกระดับรายได้ของแรงงานไทยให้มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น แต่การปรับอัตราค่าจ้างขั้นต่ำประจำปี ควรปรับตามที่กฎหมายบัญญัติกำหนดไว้ในมาตรา 87 แห่งพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541
2.กกร. ไม่เห็นด้วยกับการปรับค่าจ้างขั้นต่ำ 400 บาทเท่ากันทั่วประเทศ แต่ควรใช้กลไกจากคณะอนุกรรมการพิจารณาอัตราค่าจ้างขั้นต่ำรายจังหวัด และคณะกรรมการค่าจ้าง (ไตรภาคี) เป็นผู้พิจารณาให้สอดคล้องกับปัจจัยทางเศรษฐกิจของแต่ละพื้นที่ อัตราเงินเฟ้อ อัตราการเจริญเติบโตของ GDP ความสามารถในการจ่ายของนายจ้าง และประสิทธิภาพของแรงงาน
3.การปรับอัตราจ้างควรพิจารณาจากทักษะฝีมือแรงงาน (Pay By Skills) ตามประกาศคณะกรรมการส่งเสริมการพัฒนาฝีมือแรงงาน โดยอัตราค่าจ้างขั้นต่ำเป็นเพียงอัตราค่าจ้างของแรงงานแรกเข้าที่ยังไม่มีฝีมือ
นายพจน์ อร่ามวัฒนานนท์ รองประธานกรรมการ หอการค้าไทยและสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย
รัฐบาลควรเร่งส่งเสริมมาตรการทางภาษี ลดอุปสรรคต่อการพัฒนาฝีมือแรงงานเพื่อจูงใจให้ผู้ประกอบการและแรงงานให้ความสำคัญกับการ UP-Skill & Re-Skill และ New Skill เพื่อสร้างแรงงานที่มีทักษะฝีมือให้สอดคล้องกับความต้องการของตลาดแรงงาน และเพิ่มผลิตภาพแรงงาน (Labor Productivity)
4.การปรับอัตราค่าจ้างขั้นต่ำเฉพาะพื้นที่จังหวัดและประเภทธุรกิจ ควรให้มีการรับฟัง ความคิดเห็น และศึกษาถึงความพร้อมของแต่ละพื้นที่จังหวัดและประเภทธุรกิจ รวมทั้งควรให้มีการหารือร่วมกับภาคเอกชนที่เกี่ยวข้อง และใช้กลไกจากคณะอนุกรรมการพิจารณาอัตราค่าจ้างขั้นต่ำ จังหวัดเป็นผู้พิจารณาตามความเหมาะสมในแต่ละพื้นที่หรือประเภทธุรกิจเช่นกัน
5.นอกเหนือจากการยกระดับรายได้ของแรงงานแล้ว ภาครัฐควรเข้ามาดูแลค่าครองชีพในการดำรงชีพของแรงงาน เพื่อช่วยลดภาระค่าใช้จ่ายให้แก่ภาคแรงงานและประชาชน เช่น ราคาอาหารสำเร็จรูป และสินค้าอุปโภคบริโภคที่จำเป็น รวมถึง ค่าเดินทาง ค่าไฟฟ้า เป็นต้น ซึ่งจะช่วยสร้างความสมดุลด้านรายได้และค่าใช้จ่ายในการดำรงชีพให้กับแรงงานให้สอดคล้องตามภาวะเศรษฐกิจในปัจจุบัน
นายเกรียงไกร กล่าวอีกว่า กกร. จะมีการทำหนังสือถึงกระทรวงแรงงาน เพื่อขอคัดค้านการขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ 400 บาททั่วประเทศ 13 พ.ค. และหารือถึงแนวทางการปรับขึ้นค่าแรงให้เหมาะสมกับการเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน และเป็นประโยชน์ต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจในประเทศ
ประชุมกกร. 3 สถาบัน
พร้อมกันนี้จะมีการหารือกับภาคเอกชนในแต่ละจังหวัดถึงผลกระทบและจัดทำข้อเสนอต่อการขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำ เพื่อนำเสนอคณะอนุกรรมการพิจารณาอัตราค่าจ้างขั้นต่ำรายจังหวัด โดยจะยึดกลไกการพิจารณาของคณะกรรมการค่าจ้าง (ไตรภาคี) เป็นสำคัญ
นอกจากนี้ กกร.ยังมีการปรับลดคาดการณ์ GDP ไทย ปี 2567 เหลือ ขยายตัว 2.2-2.7% จากเดิมคาดขยายตัว 2.8-3.3% เนื่องจากภาคการส่งออกมีแนวโน้มที่จะเติบโตได้เพียง 0.5-1.5% ต่ำกว่าประมาณการเดิมเช่นกันตามทิศทางการค้าโลก
ด้านนายนภินทร ศรีสรรพางค์ รมช.พาณิชย์ กล่าวว่า การปรับค่าแรง 400 บาท รัฐบาลไม่หนักใจ เพราะจะต้องดูแลในเรื่องของปากท้องประชาชน ตอนอยู่กระทรวงแรงงานก็ดูในเรื่องของความมั่นคงและความเป็นอยู่ของแรงงาน โดยการปรับค่าแรง 400 บาทถือเป็นนโยบายของรัฐบาลก็จำเป็นที่จะต้องปรับเข้าหากัน แต่เชื่อทั้งนายกและรองนายกและรมว.พาณิชย์จะมีวิธีการดูแลในเรื่องของค่าครองชีพประชาชนอยู่แล้ว
หากกลัวค่าครองชีพสูงขึ้น เราก็มีหน่วยงานดูแลอยู่แล้ว และในส่วนของภาคเอกชนเชื่อว่าหากค่าแรงขึ้นทำให้เราสามารถแข่งขันกับทั่วโลกได้ ค่าครองชีพเราก็จะต้องมีการดูแล
"ไทยพีบีเอสออนไลน์" สอบถามไปยังผู้ประการเอสเอ็มอี ซึ่งเป็นผู้ให้บริการภายในสนามบินสุวรรณภูมิ กล่าวว่า บริษัทเป็นบิษัทเล็กๆมี พนักงานประมาณ 10-20 คน ที่คอยให้บริการด้านข้อมูลภายในสนามบินสุวรรณภูมิ ซึ่งบริษัทจะจ่ายเงินเป็นรายเดือนให้กับพนักงาน เฉลี่ยเดือนละ 18,000 บาท และมีสวัสดิการด้านอื่นๆ เช่นประกันสังคม โบนัส และการปรับขึ้นเงินเดือนประจำปีอยู่แล้ว ซึ่งการปรับค่าแรง 400 บาท ทั่วประเทศของรัฐบาล มองว่าไม่กระทบกับบริษัท เพราะฐานเงินเดือนที่ให้กับพนักงานถือว่าสูงอยู่แล่ว
ด้านเจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัย กล่าวว่า ได้ค่าแรงเป็นวัน เฉลี่ยนวันละ 490-544 บาท ซึ่งเกินกว่าค่าแรงขั้นต่ำที่รัฐบาลกำหนด ดังนั้นไม่ส่งผลกระทบหรือได้รับอานิสงส์ตรงนี้ แต่อยากให้รัฐบาลดูแลเรื่องปากท้อง ค่าครองชีพทีนับวันจะพุ่งสูงจนเกินรายได้จะดีกว่า
อ่านข่าว:
ช่วยลูกหนี้ NPLs สินเชื่อโควิด-19 "ออมสิน" ยกหนี้เพิ่ม 9 หมื่นคน
ราคาทองคำ วันนี้ ปรับบวก 100 บาท "รูปพรรณ" ขาย 41,000 บาท
"เครดิตบูโร" เผย Q1 หนี้เสียพุ่ง 6.4 หมื่นล้าน Gen X-Y จ่อหนี้ท่วม