เพราะอย่างน้อย ป.ป.ช.ต้องดำเนินการตามคำร้องให้ไต่สวนนายกฯ นายเศรษฐา ทวีสิน กรณีแต่งตั้งนายพิชิต ชื่นบาน เป็น รัฐมนตรีผิดจริยธรรมอย่างร้ายแรงหรือไม่
หลังจาก นายวัชระ เพชรทอง อดีต สส.พรรคประชาธิปัตย์ ยื่นเรื่องนี้ต่อ ป.ป.ช. ระบุว่า นายพิชิต เคยถูกสภาทนายความ ถอดชื่อจากทะเบียนผู้ประกอบวิชาชีพทนายความ 5 ปี
กรณีถูกศาลฎีกาสั่งจำคุก 6 เดือน โดยไม่รอลงอาญา ฐานละเมิดอำนาจศาล เมื่อปี 2551 ที่เกิดเหตุการณ์พยายามนำถุงขนมใส่เงินสด 2 ล้านบาท ไปมอบให้เจ้าหน้าที่ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ในระหว่างการพิจารณาคดีที่ดินรัชดาฯ ของนายทักษิณ ชินวัตร
แล้วมีคำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4599/2551 วินิจฉัยชี้ขาดว่า เป็นการกระทำที่อุกอาจ ท้าทาย โดยระบุว่า ผู้ถูกกล่าวหาประกอบอาชีพทนายความ ย่อมตระหนักดีว่า จะก่อให้เกิดความเสื่อมเสียสถาบันศาลยุติธรรม และกระทบศรัทธาในการทำหน้าที่ของอำนาจตุลาการ สมควรลงโทษสถานหนัก เพื่อมิให้เป็นเยี่ยงอย่าง จำคุกคนละ 6 เดือน ไม่รวมความผิดฐานให้สินบน
ล่าสุด เลขาธิการ ป.ป.ช. นายนิวัติไชย เกษมมงคล ย้ำว่า ป.ป.ช.กำลังดำเนินการปมร้องสอบคุณสมบัติดังกล่าวอยู่ แม้จะเน้นไปดูว่า การแต่งตั้งมีคุณสมบัติหรือไม่ มีเจตนาอย่างไร และได้มีการตรวจสอบประวัติและรับรองคุณสมบัติจากหน่วยงานใดบ้างหรือไม่
แต่ถือเป็นการเดินหน้าต่อ เพราะเป็นเรื่องที่หลายฝ่ายกังวล และสงสัยการพิจารณาเลือกคนเข้าไปเป็นรัฐมนตรี ซึ่งมีความสำคัญต่อการขับเคลื่อนและบริหารงานของประเทศชาติ สะท้อนผ่านเสียงวิจารณ์ในวงกว้าง และการยื่นเรื่องตรวจสอบ
นอกจากนายวัชระแล้ว ยังมีเครือข่ายนักศึกษาประชาชนปฏิรูปประเทศ หรือ คปท. นำโดยนายพิชิต ไชยมงคล ยื่นเรื่องต่อ กกต. ให้ตรวจสอบคุณสมบัติ ขัดรัฐธรรมนูญ มาตรา 160 (5) ) ไม่มีพฤติกรรมอันเป็นการฝ่าฝืนหรือไม่ ปฏิบัติตามมาตรฐานทางจริยธรรมอย่างร้ายแรงหรือไม่
ยังมีนางวิรังรอง ทัพพะรังสี ประธานเครือข่ายมหาวิทยาลัยเพื่อการปฏิรูปประเทศ ยื่นเรื่องต่อต่อผู้ตรวจการแผ่นดินให้วินิจฉัย หรือส่งเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่านายพิชิต ชื่นบานขาดคุณสมบัติความเป็นรัฐมนตรี ตามมาตรา 160 (4) (5) หรือไม่
สำหรับ มาตรา 160 (5) คือเรื่องความซื่อสัตย์สุจริตต้องเป็นที่ประจักษ์ นางวิรังรอง ยังระบุถึงความห่วงใยประเทศชาติ และรู้สึกไม่สบายใจที่นายกฯ นำชื่อบุคคลที่น่าจะขาดคุณสมบัติไปเป็นรัฐมนตรี
รวมทั้งนำคำวินิจฉัยของกฤษฎีกา ปี 2566 ที่ตอบคำหารือของสำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี แสดงบนเฟซบุ๊คส่วนตัว และโพสต์ข้อความตั้งเป็นคำถามว่า 3 หน่วยงาน กกต. ป.ป.ช. และผู้ตรวจการแผ่นดิน หน่วยงานไหนจะวินิจฉัยกรณีนี้เสร็จก่อนกัน
ขณะที่นายเศรษฐา นายกรัฐมนตรี ให้สัมภาษณ์สื่อสิ้นเดือนเมษายนว่า ก่อนจะเสนอชื่อ ได้ส่งรายชื่อให้ตรวจสอบ โดยคณะกรรมการกฤษฎีกาแล้ว และแสดงความมั่นใจว่าไม่มีอะไรที่เป็นปัญหา
แต่กระนั้น การตรวจสอบในเชิงข้อกฎหมาย ก็เป็นเรื่องหนึ่ง แต่ประเด็นเกียรติศักดิ์หรือความเหมาะสม ก็เป็นอีกเรื่องหนึ่งที่ควรให้น้ำหนักเช่นกัน เพราะหากดูจากกำหนดคุณสมบัติของคนเป็นรัฐมนตรี ตามมาตรา 160 มีมากถึง 8 ข้อ
และยังมีปลีกย่อยและเชื่อมโยงถึงคุณสมบัติและข้อห้ามอื่น ๆ สะท้อนให้ความสำคัญสำหรับคนที่เป็นรัฐมนตรี
คนเป็นรัฐมนตรี ต้องเป็นแบบอย่างที่ดีของผู้คน รวมทั้งเด็กและเยาวชน ทั้งในเรื่องคุณธรรม จริยธรรม มีหิริโอตัปปะ คือละอายและเกรงกลัวต่อการทำบาป
ความจริงการประกาศไม่รับตำแหน่งรัฐมนตรีของนายพิชิต ตั้งแต่การฟอร์ม ครม.เศรษฐา 1 ก็ได้รับเสียงชื่นชมพอสมควร แต่ครั้งนี้เปลี่ยนใจ กลับเข้ามาเป็นรัฐมนตรีในชุดนี้ได้อย่างไร
เรื่องนี้ ความกระจ่างอย่างเดียวไม่พอ ต้องเรื่องมาตรฐานคุณธรรม รู้อะไรควรไม่ควร มาประกอบด้วย
วิเคราะห์ : ประจักษ์ มะวงศ์สา