- 10 พ.ค. "วันพืชมงคล" วันหยุดราชการที่มีแต่ราชการเท่านั้นที่หยุด
- หน้าร้อน ต้องระวัง สาเหตุเสี่ยง "ไฟไหม้" กับเรื่องน่ารู้เกี่ยวกับ "ไฟ"
ไทยพีบีเอส ถ่ายทอดสด พระราชพิธีจรดพระนังคัลแรกนาขวัญ วันพืชมงคล 2567
ประวัติพระราชพิธีพืชมงคลจรดพระนังคัลแรกนาขวัญ
พระราชพิธีพืชมงคลจรดพระนังคัลแรกนาขวัญเป็นพระราชพิธี 2 พิธีรวมกัน คือ
- พระราชพิธีพืชมงคล อันเป็นพิธีสงฆ์ จะประกอบพระราชพิธีวันแรกในพระอุโบสถวัดพระศรีรัตนศาสดาราม
- พระราชพิธีจรดพระนังคัลแรกนาขวัญ อันเป็นพิธีพราหมณ์ จะประกอบพระราชพิธีในวันรุ่งขึ้น ณ มณฑลพิธีสนามหลวง
พระราชพิธีจรดพระนังคัลแรกนาขวัญเป็นพระราชพิธีที่มีมาแต่โบราณตั้งแต่ครั้งกรุงสุโขทัยเป็นราชธานี ซึ่งในสมัยกรุงสุโขทัยนั้น พระมหากษัตริย์ไม่ได้ลงมือไถนาเอง เป็นแต่เพียงเสด็จไปเป็นองค์ประธานในพระราชพิธีเท่านั้น
ครั้งถึงสมัยกรุงศรีอยุธยา พระมหากษัตริย์ ไม่ได้เสด็จไปเป็นองค์ประธาน เหมือนกับสมัยกรุงสุโขทัย และจะทรงจำศีลเงียบ 3 วัน แต่จะมอบอาญาสิทธิ์ให้ เจ้าพระยาจันทกุมาร เป็นผู้แทนพระองค์ โดยทรงทำเหมือนอย่างออกอำนาจจากกษัตริย์ ซึ่งวิธีนี้ได้ใช้ตลอดมาถึงปลายสมัยกรุงศรีอยุธยา
สมัยกรุงรัตนโกสินทร์ ได้มีการประกอบพระราชพิธีนี้มาตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 1 แต่ผู้ทำการแรกนาเปลี่ยนเป็นเจ้าพระยาพลเทพ คู่กันกับการยืนชิงช้า แต่พอถึงรัชกาลที่ 3 ให้ถือว่าผู้ใดยืนชิงช้าผู้นั้นเป็นผู้แรกนา ในสมัยรัชกาลที่ 4 ได้ทรงโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้จัดมีพิธีสงฆ์เพิ่มขึ้นในพระราชพิธีต่างๆ ทุกพิธี ดังนั้น พระราชพิธีพืชมงคล จึงได้เริ่มมีขึ้น แต่บัดนั้นมา โดยได้จัดรวมกับพระราชพิธีจรดพระนังคัลแรกนาขวัญ และมีชื่อเรียกรวมกันว่า พระราชพิธีพืชมงคลจรดพระนังคัลแรกนาขวัญ
อ่านข่าวอื่น : เรื่องราวทางประวัติศาสตร์ที่น่าสนใจ "วันฉัตรมงคล" 4 พฤษภาคม
ความมุ่งหมายพิธีแรกนา
พระราชพิธีพืชมงคลจรดพระนังคัลแรกนาขวัญ เป็นพิธีการเพื่อความเป็นสิริมงคลและบำรุงขวัญเกษตรกร กำหนดจัดขึ้นในเดือน 6 ของทุกปี ระยะนี้เป็นระยะเหมาะสมที่จะเริ่มต้นการทำนา อันเป็นอาชีพหลักของประชาชนคนไทย แต่ไม่ได้กำหนดวันที่แน่นอนไว้เหมือนกับวันในพระราชพิธีอื่น ส่วนจะเป็นวันใดในเดือน 6 หรือเดือน พ.ค.ที่มีฤกษ์ยามที่เหมาะสมต้องตามประเพณีก็ให้จัดขึ้นในวันนั้น
พระยาแรกนา ได้แก่ อธิบดีกรมการข้าวโดยตำแหน่ง สำหรับเทพีทั้ง 4 พิจารณาคัดเลือก จากภริยาข้าราชการชั้นผู้ใหญ่ในกระทรวงเกษตรและสหกรณ์
ภายหลังพระยาแรกนา ได้แก่ ปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์โดยตำแหน่ง ส่วนผู้ที่มาทำหน้าที่เป็นเทพีคู่หาบทอง และคู่หาบเงินนั้น ได้ทำการพิจารณาคัดเลือกจากข้าราชการหญิงโสดในสังกัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ที่มีตำแหน่งตั้งแต่ข้าราชการพลเรือนสามัญชั้นโทขึ้นไป
- วันพืชมงคล ตรงกับ วันศุกร์ที่ 10 พ.ค.2567
- นายประยูร อินสกุล ปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ทำหน้าที่พระยาแรกนางานพระราชพิธีพืชมงคลจรดพระนังคัลแรกนาขวัญ
- เทพีคู่หาบทอง ได้แก่ น.ส.ปนัดดา เปี่ยมมอญ นักวิเคราะห์นโยบายและแผนชำนาญการพิเศษ สำนักงานปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และ น.ส.ภัทรปภา มินรินทร์ นักวิชาการส่งเสริมการเกษตรชำนาญ กรมส่งเสริมการเกษตร
- เทพีคู่หาบเงิน ได้แก่ น.ส.ธิรดา วงษ์กุดเลาะ นักวิชาการส่งเสริมการเกษตรชำนาญ กรมส่งเสริมการเกษตร และ น.ส.วราภรณ์ วิลัยมาตย์ เจ้าพนักงานธุรการปฏิบัติงาน กรมวิชาการเกษตร
พระราชพิธีพืชมงคล เป็นพิธีทำขวัญพืชพันธุ์ธัญญาหารที่พระมหากษัตริย์ทรงอธิษฐานเพื่อความอุดมสมบูรณ์ของพืชพันธุ์ธัญญาหารแห่งราชอาณาจักรไทย ข้าวนั้นถือว่าเป็นอาหารหลักของประชาชนในภาษาบาลีเรียกว่า ปุพพัณณะ หรือ บุพพัณณะ หรือ บุพพัณณชาติ ส่วนพืชอื่นๆ ที่เป็นอาหารเรียกว่า อปรัณณ หรืออปรัณชาติ หมายถึง พืชจำพวกถั่ว งา เป็นต้น ถ้าเรียกควบทั้งสองอย่างก็เรียกว่า บุพพัณณปรัณณชาติ ที่หมายถึงพืชที่เป็นอาหารทุกชนิด
อ่านข่าว : ถ่ายทอดสด พระราชพิธีจรดพระนังคัลแรกนาขวัญ วันพืชมงคล 2567
บุพพัณณปรัณณชาติที่นำเข้าพระราชพิธีพืชมงคลนั้น เป็นข้าวเปลือก มีทั้งข้าวเจ้า และข้าวเหนียว นอกจากนี้มีเมล็ดพืชต่างๆ รวม 40 อย่าง แต่ละอย่างบรรจุถุงผ้าขาว กับเผือกมันต่างๆ พันธุ์พืชเหล่านี้เป็นของปลูกงอกได้ทั้งสิ้น นอกจากนี้ยังมีข้าวเปลือกที่หว่าน ในพิธีแรกนาบรรจุกระเช้าทองคู่หนึ่งและเงินคู่หนึ่ง เป็นข้าวพันธุ์ดีที่โปรดเกล้าโปรดกระหม่อม ให้ปลูกในโครงการส่วนพระองค์สวนจิตรลดา และพระราชทานมาเข้าพระราชพิธีพืชมงคล
พันธุ์ข้าวพระราชทานนี้ จะใช้หว่านในพระราชพิธีแรกนาส่วนหนึ่ง อีกส่วนหนึ่งที่เหลือทางการ จะบรรจุซอง แล้วส่งไปแจกจ่ายแก่ชาวนาและประชาชนในจังหวัดต่างๆ ให้เป็นมิ่งขวัญและเป็นสิริมงคลแก่พืชผลที่จะเพาะปลูกในปีนี้
อ่านข่าวอื่น : 25 เม.ย.2402 วันแรกเริ่มต้นขุด "คลองสุเอซ" ทางเชื่อมยุโรป-เอเชีย
พันธุ์ข้าวพระราชทาน
สำหรับปี 2567 กรมการข้าวได้ดำเนินการขอพระราชทานพระบรมราชานุญาตนำพันธุ์ข้าวนาสวน จำนวน 6 พันธุ์ ได้แก่
- ข้าวเจ้าหอมขาวดอกมะลิ 105
- ข้าวเจ้า กข 43
- ข้าวเจ้า กข 81
- ข้าวเจ้า กข 85
- ข้าวเจ้า กข 83
- ข้าวเจ้า กข 95
พันธุ์ข้าวเหนียว 2 พันธุ์ ได้แก่
- พันธุ์ กข 6
- พันธุ์สันป่าตอง 1
น้ำหนักรวม 2,743 กิโลกรัม ซึ่งได้จากการปลูก ณ โครงการนาทดลองในโครงการส่วนพระองค์สวนจิตรลดา เป็น "พันธุ์ข้าวทรงปลูกพระราชทาน" นำเข้าพระราชพิธีพืชมงคลจรดพระนังคัลแรกนาขวัญ ประจำปี 2567 และบรรจุซองพลาสติกแจกจ่าย เพื่อเป็นมิ่งขวัญและสิริมงคลในการประกอบอาชีพการเกษตรตามประเพณีนิยม เพื่อให้เป็นไปตามพระราชประสงค์สืบไป
การตั้งสัตยาธิษฐานหยิบผ้านุ่งแต่งกาย (การเสี่ยงทายผ้านุ่ง)
"ผ้านุ่งแต่งกาย" คือ ผ้านุ่งซึ่งเป็นผ้าลาย มีด้วยกัน 3 ผืน คือ 4 คืบ 5 คืบ และ 6 คืบ วางเรียงบนโตกมีผ้าคลุมเพื่อให้พระยาแรกนาตั้งสัตยาธิษฐานหยิบ หากหยิบได้ผ้าผืนใด ให้นุ่งผืนนั้นทับผ้านุ่งผืนเดิมอีกชั้นหนึ่งเพื่อเตรียมออกแรกนา โดยผ้านุ่งนี้ ถ้าหยิบได้ผืนใดก็จะมีคำทำนายไปตามนั้น คือ
- ถ้าหยิบผ้าได้ 4 คืบ พยากรณ์ว่า น้ำจะมากสักหน่อยนาในที่ดอนจะได้ผลบริบูรณ์ดี นาในที่ลุ่มอาจจะเสียหายบ้าง ได้ผลไม่เต็มที่
- ถ้าหยิบได้ผ้า 5 คืบ พยากรณ์ว่า น้ำในปีนี้จะมีปริมาณพอดี ข้าวกล้าในนาจะได้ผลบริบูรณ์ และผลาหาร มังสาหาร จะอุดมสมบูรณ์ดี
- ถ้าหยิบได้ผ้า 6 คืบ พยากรณ์ว่า น้ำจะน้อยนาในที่ลุ่มจะได้ผลบริบูรณ์ดี แต่นาในที่ดอนจะเสียหายบ้างได้ผลไม่เต็มที่
การเสี่ยงทายของกิน 7 สิ่ง
"ของกิน 7 สิ่ง" ที่ตั้งเลี้ยงพระโคนั้น มี ข้าว ข้าวโพด ถั่วเขียว งา เหล้า น้ำ และหญ้า ถ้าพระโคกินสิ่งใดก็จะมีคำทำนายไปตามนั้น คือ
- ถ้าพระโคกิน ข้าว หรือ ข้าวโพด พยากรณ์ว่า ธัญญาหาร ผลาหาร จะบริบูรณ์ดี
- ถ้าพระโคกิน ถั่ว หรือ งา พยากรณ์ว่า ผลาหาร ภักษาหาร จะอุดมสมบูรณ์ดี
- ถ้าพระโคกิน น้ำ หรือ หญ้า พยากรณ์ว่า น้ำท่าจะบริบูรณ์พอสมควร ธัญญาหาร ผลาหาร ภักษาหาร มังสาหารจะอุดมสมบูรณ์
- ถ้าพระโคกิน เหล้า พยากรณ์ว่า การคมนาคมจะสะดวกขึ้น การค้าขาย กับต่างประเทศดีขึ้น ทำให้เศรษฐกิจรุ่งเรือง
อ่านข่าว: ดับร้อนแบบอิ่มท้อง! แนะกิน "ข้าวแช่" เมนูสมุนไพรฤทธิ์เย็น
คันไถอายุกว่า 28 ปี
คันไถที่ใช้ในพระราชพิธีจรดพระนังคัลแรกนาขวัญ ประจำปี 2567 สร้างขึ้นเมื่อปี พ.ศ.2539 (28 ปี) โดยกลุ่มเกษตรกรผู้เลี้ยงโคนมหนองโพ อ.โพธาราม จ.ราชบุรี น้อมเกล้าน้อมกระหม่อมสร้างถวาย พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร เพื่อใช้ในพระราชพิธีดังกล่าว เป็นคันไถที่ทำจากไม้สมอ ซึ่งชุดคันไถประกอบด้วย
- คันไถ
- แอกเทียมพระโค
- ฐานรอง
- ธงสามชาย
พระโคแรกนาขวัญ
พระโคในทางศาสนาพรามหณ์ หมายถึง เทวดาผู้ทำหน้าที่เป็นพาหนะของพระอิศวร ซึ่งเปรียบได้กับการใช้แรงงานและความเข้มแข็ง และเป็นสัตว์เลี้ยงที่พระกฤษณะและพระพลเทพดูแล ซึ่งเปรียบได้กับความอุดมสมบูรณ์ ดังนั้น ในการประกอบพระราชพิธีจรดพระนังคัลแรกนาขวัญ จึงได้กำหนดให้ใช้พระโคเพศผู้เข้าร่วมพระราชพิธีเสมอมาตั้งแต่รัชกาลที่ 1 เพื่อเป็นตัวแทนของความเข้มแข็งและความอุดมสมบูรณ์
ในพระราชพิธีจรดพระนังคัลแรกนาขวัญ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ได้มอบหมายให้กรมปศุสัตว์เป็นหน่วยงานดำเนินการคัดเลือกโคเพื่อใช้ในพระราชพิธีจรดพระนังคัลแรกนาขวัญ ในปี 2567 กรมปศุสัตว์ได้ทำการคัดเลือกพระโคเพื่อใช้ในพระราชพิธีจรดพระนังคัลแรกนาขวัญ จำนวน 2 คู่ คือ
- พระโคแรกนาขวัญ 1 คู่ ได้แก่ พระโคพอ อายุ 12 ปี และ พระโคเพียง อายุ 12 ปี
- พระโคสำรอง 1 คู่ ได้แก่ พระโคเพิ่ม อายุ 14 ปี และ พระโคพูล อายุ 14 ปี
พระโคแรกนาขวัญ และพระโคสำรอง ประจำปีนี้ เป็นโคพันธุ์ขาวลำพูน มีสีผิวขาวอมชมพู ขนสีขาวสะอาด ทั้งลำตัวไม่มีจุดด่างดำ หรือสีอื่นบนลำตัว เขามีสีขาว ลำตัวเป็นลำเทียน เขาทั้งสองข้างมีลักษณะโค้งสวยงาม ดวงตาแจ่มใสสีน้ำตาลอ่อน ขนตาสีชมพู บริเวณจมูกขาว กีบสีขาว ขนหางเป็นพวงสีขาวยาว ลำตัวช่วงขาหลังและกีบมีความสมบูรณ์แข็งแรง เวลายืนและเดินสง่า
อ่านข่าว : จนกว่าจะตายจากกัน! ผู้ป่วยแคดเมียม ลมหายใจสุดท้ายที่แม่ตาว
ที่มา : คณะทำงานชุดที่ 20 คณะทำงานฝ่ายประชาสัมพันธ์และประสานงานสื่อมวลชนในพระราชพิธีพืชมงคลจรดพระนังคัลแรกนาขวัญ ประจำปี พ.ศ.2567 กองเกษตรสารนิเทศ สำนักงานปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์
อ่านข่าว :
แกะรอย มหกรรมโชว์กินข้าว 10 ปี กินได้จริงหรือ? ฤาหาทางลง
ส่องนัยการเมือง "ภูมิธรรม" ชิมข้าว 10 ปี ปูทาง "ยิ่งลักษณ์" กลับไทย
"สารรมควัน" ในเมล็ดข้าวสาร "ไม่เสื่อมสภาพ ตกค้าง ล้างไม่ออก"