ค้นหา
ทีวีออนไลน์
เว็บไซต์ในเครือ
เว็บไซต์บริการ

คุยเปิดใจ "พิรุณ" อธิบดีกรมโลกร้อน กับภารกิจฝ่าหายนะโลกเดือด

สิ่งแวดล้อม
29 เม.ย. 67
12:21
727
Logo Thai PBS
คุยเปิดใจ "พิรุณ" อธิบดีกรมโลกร้อน กับภารกิจฝ่าหายนะโลกเดือด
อ่านให้ฟัง
00:00อ่านข่าวให้ฟังโดย Botnoi Voice เว็บแอปพลิเคชันสำหรับสร้างเสียงจากข้อความด้วย AI (Text to Speech)

"เรื่องโลกร้อน หมายถึงการอยู่รอดของมวลมนุษยชาติ ไม่ใช่แค่เรื่องสิ่งแวดล้อม ฉะนั้นถึงถูกผูกโยงไปเรื่องการพัฒนาเศรษฐกิจ หากเราไม่สามารถเปลี่ยนผ่านการพัฒนาแบบเดิมจากพลังงานจากถ่านหิน มาเป็นพลังงานสะอาด ก็จะไม่มีทางแก้ปัญหานี้ได้ ส่งผลให้การพัฒนารูปแบบเศรษฐกิจสังคมถูกเปลี่ยนรูปแบบไปด้วย"

พิรุณ สัยยะสิทธิ์พานิช
อธิบดีกรมการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและสิ่งแวดล้อม

เมื่อพูดถึง "กรมการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและสิ่งแวดล้อม" หรือ "กรมโลกร้อน" หลายคนอาจจะยังไม่รู้จัก นั่นเพราะเปลี่ยนชื่อมาจาก "กรมส่งเสริมคุณภาพสิ่งแวดล้อม" โดยมีผลบังคับใช้เมื่อวันที่ 18 ส.ค.2566 พร้อมกับการแต่งตั้งอธิบดีคนใหม่เพื่อมาทำหน้าที่ในการวางรูปแบบแก้ปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศร่วมกับนานาชาติ

เพื่อขยายภาพให้ชัดขึ้น "รายการคุยนอกกรอบ กับ สุทธิชัย หยุ่น" พูดคุยกับ นายพิรุณ สัยยะสิทธิ์พานิช อธิบดีกรมการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและสิ่งแวดล้อม ถึง ภารกิจหลัก "กรมโลกร้อน" ว่าจะแก้ปัญหาอย่างไร เมื่อประเทศไทยกำลังเข้าสู่ "ยุคโลกเดือด" ตามที่เลขาธิการองค์การสหประชาติได้ประกาศไว้ในเดือน ก.ค.2566 และเรียกร้องให้ผู้นำทั่วโลกแก้ปัญหาสภาพภูมิอากาศอย่างเร่งด่วน

พิรุณ  สัยยะสิทธิ์พานิช อธิบดีกรมการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและสิ่งแวดล้อม

พิรุณ สัยยะสิทธิ์พานิช อธิบดีกรมการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและสิ่งแวดล้อม

นายพิรุณ อธิบายว่า กรมการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและสิ่งแวดล้อม ไม่ใช่แค่เปลี่ยนชื่อใหม่แทนกรมส่งเสริมคุณภาพสิ่งแวดล้อม แต่โครงสร้างก็ถูกจัดวางใหม่ ครอบคลุมในการทำพันธกิจความเชื่อมโยงระดับโลก และระดับประเทศ ให้การทำงานกับนานาชาติสอดประสานไปในทิศทางเดียวกัน รองรับการการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ แต่ยังต้องขับเคลื่อนเศรษฐกิจที่เกี่ยวข้องกับความอยู่รอดของมนุษย์

"ไทย" ไม่สามารถแก้ปัญหาโลกเดือดได้เพียงประเทศเดียว แต่ต้องทำไปพร้อมกันทั้ง 197 ประเทศทั่วโลก ภายใต้อนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และภายใต้การตกลงปารีส (Paris Agreement) มีเป้าหมายที่ท้าทายคือ "รักษาอุณหภูมิเฉลี่ยของโลกให้ต่ำกว่า 2 องศาเซลเซียส เหนืออุณหภูมิในช่วงก่อนการพัฒนาอุตสาหกรรม และพยายามจำกัดให้อุณหภูมิโลกต่ำกว่านั้นประมาณ 1.5 องศาเซลเซียส"

ขณะที่ประเทศไทย "กรมโลกร้อน" กำลังขับเคลื่อนตามเป้าหมายที่รัฐบาลได้ประกาศไว้ในการประชุม COP26 ภายในปี 2030 (พ.ศ.2573) จะลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกให้ได้ร้อยละ 30 – 40 จากการดำเนินการตามปกติ ในปี 2050 (พ.ศ.2593) จะเป็นกลางทางคาร์บอน (Carbon Neutrality การที่ปล่อยก๊าซคาร์บอน CO2 เข้าสู่ชั้นบรรยากาศเท่ากับปริมาณคาร์บอนที่ถูกดูดซับกลับคืนมาด้วยวิธีการต่างๆ เช่น การปลูกป่า พัฒนาเทคโนโลยีเพื่อกักเก็บคาร์บอน) และในปี 2065 (พ.ศ.2608) ปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero) โดยมีแผนปฏิบัติการทั้งในระยะสั้นและระยะยาว

แผนระยะสั้น ได้มีการประกาศลดก๊าซร้อยละ 30 – 40 และอาจสูงถึงร้อยละ 43 ภายใต้แผนปฏิบัติการที่กำลังจัดทำอยู่ร่วมกับหลายๆ กระทรวงที่เกี่ยวข้องทั้งในด้านของกระทรวงพลังงาน กระทรวงคมนาคม กระทรวงอุตสาหกรรม กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม และกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม

"หลายประเทศจะทำงานกันในระดับกระทรวงด้านเศรษฐกิจ และกระทรวงการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ เพราะการแก้ปัญหาจะมีความเชื่อมโยงในด้านเศรษฐกิจ เช่นเดียวกับบริบทประเทศไทย ความเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ การลดก๊าซเรือนกระจก ไปเชื่อมโยงกับรูปแบบเศรษฐกิจที่กำลังเปลี่ยนผ่าน"

โดยได้รับความร่วมมืออย่างดีจากกระทรวงพลังงาน ขณะที่กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ให้เป้าหมายลดก๊าซเรือนกระจก 4 ล้านตัน ด้วยมาตรการหลัก "ปลูกข้าวแบบเปียกสลับแห้ง" เนื่องด้วยการปลูกข้าวแบบเดิมที่ขังน้ำในนาข้าว จะมีเศษซากพืชปริมาณมาก เมื่ออินทรียวัตถุย่อยสลายแบบไร้อากาศก็จะทำให้เกิดก๊าซมีเทน

ทั้งนี้ก๊าซมีเทนเป็นก๊าซเรือนกระจกอันดับ 2 รองจากคาร์บอนออกไซด์ที่ส่งผลให้โลกร้อนได้มากที่สุด คุณสมบัติทำให้โลกร้อนขึ้นมากกว่าคาร์บอนไดออกไซด์มากกว่า 80 เท่า "แต่" ความซับซ้อนของขั้นตอนที่ชาวนาเคย "เกี่ยว, ไถ่, เผา, หว่าน" กลายมาเป็น "ปรับหน้าดินในนาให้เรียบ เพราะมีผลต่อการถ่ายเทน้ำ, ต้องมีกระบอกน้ำ หรือเครื่องมือในการวัดน้ำ, ใส่ปุ๋ยให้ตรงกับความต้องการของดิน, ต้องไม่เผา"

อ่านข่าวอื่น : เปิดขั้นตอนขนย้าย "แคดเมียม" กลับตาก 29 เม.ย.

ทำให้มีต้นทุนที่เพิ่มขึ้น

เราต้องเข้าใจกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เขาทำงานกับชาวนาหลายสิบล้านชีวิต รูปแบบของการทำนาที่มีมานานกว่า 100 - 200 ปี พอกรมโลกร้อนได้คุยกับกระทรวงเกษตรฯ มาอย่างต่อเนื่อง ทำให้รู้ปัญหาที่มีปัจจัยหลายอย่าง รวมถึงข้อจำกัดที่ทำให้กรมโลกร้อนต้องเข้าไปดูแลและหาทางออกร่วมกัน

2 โครงการนำร่องแก้ปัญหาชาวนา

อธิบดีกรมการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและสิ่งแวดล้อม เล่าให้ฟังถึงวิธีการแก้ปัญหาว่า ในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา ได้ไปขอเงินได้เปล่าจากกองทุนระหว่างประเทศ ประมาณ 16 ล้านยูโร ผ่านองค์กรความร่วมมือระหว่างประเทศเยอรมัน GIZ ที่ทำงานอยู่ในประเทศไทยทำโครงการ "Thai Rice Nama" ใน 6 จังหวัดนำร่องภาคกลาง คือ ปทุมธานี พระนครศรีอยุธยา อ่างทอง สุพรรณบุรี ชัยนาท สิงห์บุรี ส่งผลลดก๊าซมีเทนกว่า 900,000 ตัน

โครงการนำร่องที่ "กรมโลกร้อน" ร่วมกับ "กรมการข้าว" "กระทรวงเกษตรและสหกรณ์" เพื่อผลักดันให้เกิดการทำงานอย่างเป็นรูปธรรม พิสูจน์ข้อเท็จจริงเพื่อนำจุดอ่อนมาแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นในระยะยาว และพบว่า 

"ผู้ประกอบการที่ให้เช่าเครื่องจักรเกลี่ยดินเรียบ มีจำกัด ทำให้ต้นทุนสูง โครงสร้างนำร่อง จึงเอาเงินที่ได้จาก GIZ ไปจ่ายผู้ให้เช่าเครื่องจักรครึ่งนึงของค่าเช่าทั้งหมด เพื่อให้ชาวนาสามารถเข้าเครื่องจักรได้ แต่พอเงินจากโครงการหมด มันไปต่อไม่ได้"

โครงการที่ 2 ขยายจาก 6 จังหวัด สู่ 21 จังหวัด จากเงินได้เปล่าจำนวน 31 ล้านเหรียญสหรัฐ ของกองทุนภูมิอากาศสีเขียว (Green Climate Fund เป็นกลไกทางการเงินภายใต้กรอบอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ UNFCCC)

โดยกรมการข้าว ได้เข้าไปทำกลไกการเงินร่วมกับธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) โดยมีระยะเวลาทำงาน 5 ปี ที่จะต้องทำให้สำเร็จก่อนปี 2030

ผมมั่นใจที่กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ให้เป้ามา 4 ล้านกว่าตัน เพราะเขามีแผนรองรับอยู่แล้ว เชื่อว่าเป้าหมายอาจจะน้อยกว่าสิ่งที่ทำได้ในศักยภาพที่มี โดยจะมีองค์กรที่เป็นกลางเป็นผู้เข้ามาประเมินและติดตามจากรายงานทางหลักวิชาการ ประกอบข้อเท็จนริง เพื่อยืนยันว่าโครงการดังกล่าวได้ผลที่ทำให้ลดก๊าซมีเทนได้มากน้อยเพียงใด

อ่านข่าวอื่น : กลุ่มเปราะบางระวังฮีทสโตรก คนนอนเสียชีวิตกลางอากาศร้อนจัด

การลด "โลกร้อน" ของคนเมือง

เมื่อถามว่ามาตรการในเมือง ในการลดก๊าซเรือนกระจก เป็นอย่างไร

อธิบดีกรมโลกร้อน อธิบายให้เข้าใจภาพของคนเมือง จะเป็นลักษณะกิจการเล็กๆ ต้องมองไปถึง Carbon Footprint (ปริมาณก๊าซเรือนกระจกทั้งหมดที่ปล่อยออกมาตลอดวัฏจักรชีวิตของผลิตภัณฑ์ ตั้งแต่การได้มาซึ่งวัตถุดิบ กระบวนการขนส่ง การใช้งาน ไปจนถึงการกำจัดซากผลิตภัณฑ์หลังหมดอายุการใช้งาน) ซึ่งไม่สามารถเปลี่ยนด้วยตัวเองได้ง่ายๆ ต้องเปลี่ยนด้วยโครงสร้าง และรูปแบบของ Ecosystem (ระบบนิเวศทางธุรกิจช่วยส่งเสริมสภาพแวดล้อมที่เปิดกว้าง เปิดรับมุมมองใหม่ๆ เน้นการมีส่วนร่วมที่หลากหลายและส่งเสริมความร่วมมือของผู้ที่เกี่ยวข้อง) ในรูปแบบที่รัฐจัดหา ส่งเสริม

เช่นเดียวกับที่สำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน ได้ขับเคลื่อนโครงการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์ที่ติดตั้งบนหลังคาภาคประชาชน และไฟฟ้าอาร์อี หรือ ไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียน ขณะนี้ มีจำนวนกว่า 4,000 เมกะวัตต์ และจะเพิ่มอีกกว่า 5,000 เมกะวัตต์ ดังนั้นจะทำให้มีไฟฟ้าสะอาดที่มีการติดตั้งไปแล้ว ประมาณ 12,000 กว่าเมกะวัตต์ จะมีสัดส่วนเพิ่มขึ้น 19,000 – 20,000 เมกะวัตต์

ภายในปี 2030 สอดคล้องกับฉันทามติ COP28 ให้ประเทศภาคีเพิ่มการผลิตพลังงานหมุนเวียนทั่วโลก (RE) ขึ้นเป็น 3 เท่าภายในปี 2573 จนถึงขณะนี้ประเทศไทยทำได้ค่อนข้างดี หลักสำคัญแผนขับเคลื่อนต้องมีการรายงานข้อมูลให้กับสำนักเลขาธิการอนุสัญญาทุก 2 ปี และ 4 ปี

อ่านข่าวอื่น : "เศรษฐา" ขอโทษ "ปานปรีย์" ยันรับผิดชอบคนผิดหวัง แย้มมีคนใหม่

ปัญหาของการทำงานในระดับกระทรวง

เมื่อถามว่า ในบางรายละเอียดที่มีหลายกระทรวงมีหน้าที่เป็นผู้รับผิดชอบ กรมโลกร้อน อาจจะไม่ได้มีสิทธิไปสั่งได้โดยตรง เจอปัญหานี้หรือไม่

อธิบดีกรมโลกร้อนยอมรับว่า "มี" ทั้งคำถามเชิงนโยบายที่ว่า ทำไม? คุณไม่เร่งในบางเรื่องให้เร็วขึ้นกว่านี้ จึงได้อธิบายให้เห็นในบริบทของแต่ละประเทศ โดยเฉพาะประเทศกำลังพัฒนาที่ต้องเปลี่ยนผ่าน มีข้อจำกัดแตกต่างกัน ความท้าทายไม่เท่ากัน

ขณะที่ไทยอยู่ระหว่างทำงานร่วมกับกระทรวงที่เกี่ยวข้อง เพื่อวางรากฐานรองรับการเปลี่ยนผ่านที่จะเกิดขึ้นในอนาคต เชื่อว่าทุกประเทศก็เจอกับปัญหา และผลกระทบในแบบเดียวกัน

"หากวันนี้เราเดินไปบอกชาวนาให้ช่วยเปลี่ยนวิธีปลูกข้าวหน่อย ก็จะเกิดการตั้งคำถาม ชาวนาจะไม่เข้าใจว่าอะไรคือ "ก๊าซมีเทน" แต่ถ้าเรามีงบอุดหนุนเข้าไปสร้าง "Ecosystem" (ระบบนิเวศทางธุรกิจช่วยส่งเสริมสภาพแวดล้อม) พร้อมกับการให้องค์ความรู้ และการสนับสนุนทางเทคโนโลยี ก็จะทำให้ผลลัพธ์มากกว่าแค่การเดินไปบอกให้เขาเปลี่ยนอย่างเดียว"

อ่านข่าวอื่น : "วันพืชมงคล" พระราชพิธีสำคัญคู่การเกษตรไทย

"ภาษีคาร์บอน" ไทยน่าห่วง

ขณะที่หลายประเทศเริ่มมีมาตรการสินค้าที่ผ่านเข้ามายังประเทศของตัวเอง หนึ่งในมาตรการที่มีการเลือกใช้คือ "ภาษีคาร์บอน" (Carbon Tax) ถามว่าประเทศไทยเป็นกังวลหรือไม่

อธิบดีกรมโลกร้อน กล่าวว่า ช่วงนี้ถือเป็นช่วงทดลองเฟสแรก ที่ยังไม่ได้รับผลกระทบ เนื่องด้วยสินค้าที่กำหนดประเทศไทยไม่ได้มีการส่งออกมากนัก แต่กังวลในเฟส 2 ที่กำลังจะถึงด้วยลิสต์ของสินค้าที่ค่อนข้างหลากหลาย เป็นสินค้าสำเร็จรูปที่ประเทศไทยมีการส่งออก อาทิ น็อต สกรู เคมีคอลโปรดักส์ ดังนั้นต้องมีการเตรียมตัวการทำงานทั้งระยะสั้นและระยะยาว

ระยะสั้นอาจจะต้องวางรูปแบบใช้เงินอุดหนุนได้รับมาจาก GIZ มาวางกลไกการทำงานร่วมกับสถาบันเหล็ก ให้ผู้ประกอบการสามารถเข้าถึงกลไกซับซ้อน เทคโนโลยี ที่ทำให้ขั้นตอนการผลิตภัณฑ์เกิดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมน้อยที่สุด

ระยะยาว คือการผลักดันให้อยู่ในร่าง พ.ร.บ.การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ที่จะมีกลไกราคาคาร์บอน การจัดสรรสิทธิในการปล่อยคาร์บอนจากการผลิต ซึ่งหากทำได้มีมาตรการบังคับแล้ว ก็จะสามารถเทียบเคียงกับมาตรฐานของ EU

หากเทียบเคียงกับการเก็บภาษีทั่วไปแบบสรรพามิต สมมติเป็นการผลิตเม็ดพลาสติ ไม่ว่าใครจะผลิตก็แล้วแต่ ผลิต 1 ตันเท่ากัน สรรพสามิตจะเก็บภาษีด้วยอัตราเท่ากัน แต่ถ้าเป็นการเก็บภาษีคาร์บอน ก็จะต้องมาดูว่าสินค้าจำนวนเท่ากัน แต่หากปล่อย footprint หรือกระบวนการผลิตมีผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม อาจจะต้องจ่ายมากกว่า

อ่านข่าวเพิ่ม : เช็ก 22 พื้นที่ร้อนสุดปีนี้ พบบางจังหวัดทุบสถิติอดีตในรอบ 41 ปี

ตลาดคาร์บอนเครดิต ปัญหาของไทย

เมื่อถามว่า "ตกลงตลาดคาร์บอนเครดิตของไทยก็ไม่เกิดใช่ไหม"

อธิบดีกรมโลกร้อน อธิบายว่า ตลาดเกิดขึ้นจริง แต่มาตรฐานต่ำ การซื้อขายน้อย คนไม่ตื่นตัว เพราะคนมองว่าซื้อไปทำไม ได้ประโยชน์อะไร ปัญหาที่เกิดขึ้นกลายเป็นโจทย์จากนายกรัฐมนตรี และ รมว.ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม มอบให้กรมโลกร้อนมาวิเคราะห์ถึงปัญหา เท่าที่เห็นในขณะนี้ปัญหาไม่ใช่เรื่องการสร้างตลาด แต่คือการสร้างความต้องการ และการผลิต

ถามสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) บอกมีกลไกควบคุมแน่นอน สามารถทำได้ เพียงแต่ต้องไปทำให้เกิดความต้องการจากตลาดบังคับก่อน เพราะหากความต้องการเกิด สินค้าก็จะวิ่งมาจาก SME ต่างๆ

เมื่อถามว่ามีคนอยากซื้อคาร์บอน SME เปลี่ยนผ่านได้จริงหรือไม่ เพราะ SME ส่วนใหญ่ไม่สามารถไปขอเงินจากธนาคารพาณิชย์ได้ง่ายๆ

อธิบดีกรมโลกร้อน กล่าวว่า บริษัทใหญ่ๆ ในไทยมีการตื่นตัวอยู่แล้วไม่น่าเป็นห่วง สิ่งที่กังวลคือผู้ประกอบการระดับ "SME" (วิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม ที่ดำเนินธุรกิจโดยผู้ประกอบการรายย่อย เป็นธุรกิจที่มีสินทรัพย์ไม่มาก และมีพนักงานไม่เยอะ) โดยการเปลี่ยนผ่านเป็นธุรกิจสีเขียวจะต้องใช้เงินจำนวนมาก

และการขับเคลื่อนในระยะสั้นก็จะใช้เงินจากกองทุนภูมิอากาศสีเขียว UNFCCC (เป็นกลไกทางการเงินภายใต้กรอบอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ) ในการสร้างแผนงานให้กับธุรกิจ SME ขณะที่ในระยะยาวได้มีการวางโครงสร้างเชิงธุรกิจ SME ที่มีการกระจัดกระจายตัวกันอยู่ ด้วยการจำแนกประเภท เพื่อง่ายต่อการทำคู่มือ แผนงาน เพื่อเสนอต่อสถาบันการเงินในอนาคต

รวมถึงยังต้องเร่งผลักดันร่าง พ.ร.บ.การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ เพื่อให้ภาครัฐเตรียมความพร้อมส่งเสริมโครงสร้างเชิงสถาบันให้ประสบความสำเร็จ

พบกับรายการ :คุยนอกกรอบ กับ สุทธิชัย หยุ่น ทุกวันพฤหัสบดี เวลา 21.30-22.00 น. ทางสถานีโทรทัศน์ไทยพีบีเอส

อ่านข่าวอื่น : ตร.แจ้ง 2 ข้อหา 3 เยาวชนก่อเหตุทำร้ายคู่อริ จนประสบอุบัติเหตุ

ข่าวที่เกี่ยวข้อง