วันนี้ (27 เม.ย.2567) กรมศิลปากร กระทรวงวัฒนธรรม ชวนร่วมกิจกรรมภายใต้โครงการส่งเสริมการท่องเที่ยวยามค่ำคืน อุทยานประวัติศาสตร์ศรีเทพ ยลโขนมรดกโลกสัญจร ตระการตากับการแสดงมหัศจรรย์แสงแห่งศรีเทพ Si Thep World Heritage Illumination 2024 ภาพ เสียง และสีสันสุดอลังการ เฉลิมฉลอง "เมืองโบราณศรีเทพ" ได้รับการประกาศเป็นแหล่งมรดกโลกจากองค์การการศึกษา วิทยาศาสตร์และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ (ยูเนสโก)
นายพนมบุตร จันทรโชติ อธิบดีกรมศิลปากร กล่าวว่า ตามที่เมืองโบราณศรีเทพและโบราณสถานในสมัยทวารวดีที่เกี่ยวข้อง เข้าสู่บัญชีมรดกโลกทางวัฒนธรรมได้สำเร็จ เมื่อวันที่ 19 ก.ย.2566 นับเป็นเหตุการณ์สำคัญเหตุการณ์หนึ่งในหน้าประวัติศาสตร์ของไทย เกิดกระแสมีผู้เข้าเยี่ยมชมอุทยานประวัติศาสตร์ศรีเทพ มากขึ้นกว่า 10 เท่า และนับจากวันที่ได้รับมรดกโลกจนถึงขณะนี้มีนักท่องเที่ยวครบ 1 ล้านคนแล้ว
กรมศิลปากร กระทรวงวัฒนธรรม จึงจัดกิจกรรมเพื่อเฉลิมฉลองในโอกาสดังกล่าว ณ โบราณสถานเขาคลังนอก อุทยานประวัติศาสตร์ศรีเทพ จ.เพชรบูรณ์ ระหว่างวันที่ 3 – 5 พ.ค.2567 ตั้งแต่เวลา 18.00 – 21.00 น. เพื่อให้ประชาชนได้สัมผัสบรรยากาศการท่องเที่ยวโบราณสถานสำคัญที่สวยงามในช่วงค่ำคืน โดยมีกิจกรรม ดังต่อไปนี้
อุทยานประวัติศาสตร์ศรีเทพ
อ่าน : นาทีประวัติศาสตร์ ประกาศขึ้นทะเบียน "เมืองโบราณศรีเทพ" เป็นมรดกโลก
4 ไฮไลท์ชม "ศรีเทพ" ยามค่ำคืน 3-5 พ.ค.นี้
1. นิทรรศการ 120 ปี แห่งการค้นพบเมืองโบราณศรีเทพ : เสนอข้อมูลนับตั้งแต่การค้นพบ เมืองโบราณร้างในเขตมณฑลเพชรบูรณ์ ในปี พ.ศ. 2447 สู่เมืองโบราณศรีเทพ แหล่งมรดกทางวัฒนธรรมที่มีคุณค่าโดดเด่น จนได้รับการยอมรับว่าเป็น "เมืองมรดกโลก" ในปัจจุบัน ประกอบด้วย
• การค้นพบเมืองโบราณศรีเทพ : เสนอเหตุเริ่มต้นแห่งการค้นพบเมืองโบราณ โดยสมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ เมื่อคราวเสด็จตรวจราชการหัวเมืองที่มณฑลเพชรบูรณ์ในปี พ.ศ.2447 ทรงสืบความจนได้พบตำแหน่งที่ตั้งเมืองโบราณ โบราณสถาน และโบราณวัตถุ และทรงมีพระวินิจฉัยเกี่ยวกับชื่อของเมืองโบราณแห่งนี้จนเป็นที่ทราบทั่วกันว่า เมืองโบราณร้างแห่งหนึ่งริมแม่น้ำป่าสักมีนามว่า "ศรีเทพ"
• การสำรวจเมืองโบราณศรีเทพ : นำเสนอการค้นพบใหม่จากการสำรวจเมืองโบราณศรีเทพอย่างเข้มข้น โดยนักโบราณคดีทั้งชาวไทยและชาวต่างชาติ ภายหลังการประกาศขึ้นทะเบียนเมืองศรีเทพเป็นโบราณสถานตั้งแต่ช่วงปี พ.ศ.2478 พบการทำผังเมือง การวิเคราะห์รูปแบบสันนิษฐานโบราณสถาน การค้นพบประติมากรรมรูปเคารพและหลักฐานชิ้นสำคัญ และนำไปสู่การนิยาม "สกุลช่างศรีเทพ"
อุทยานประวัติศาสตร์ศรีเทพ
• การขุดค้น - ขุดแต่งทางโบราณคดี เมืองโบราณศรีเทพ : เสนอข้อมูลการค้นพบจากการดำเนินงานทางโบราณคดีโดยการขุดค้นและการขุดแต่งทางโบราณคดีภายในเมืองโบราณศรีเทพ อันกลายเป็นหลักฐานประกอบที่แสดงให้เห็นว่า เมืองโบราณศรีเทพ เป็นแหล่งมรดกทางวัฒนธรรมที่มีคุณค่าโดดเด่นอันเป็นสากล เหมาะสมต่อการได้รับการขึ้นทะเบียนเป็น แหล่งมรดกโลก
2.กิจกรรมส่งเสริมการสร้างงานศิลปกรรมแก่ชุมชน ชมการสาธิตการทอผ้า การจักสาน และผลิตภัณฑ์จากชุมชนเมืองโบราณศรีเทพ ที่ออกแบบโดยสำนักช่างสิบหมู่ ซึ่งได้รับแรงบันดาลใจจากงานศิลปกรรม ที่พบ ณ เมืองโบราณศรีเทพ
3.การแสดง Light & Sound "มหัศจรรย์แสงแห่งศรีเทพ Si Thep World Heritage Illumination 2024" ด้วยเทคนิคการฉาย Projection Mapping บนโบราณสถานเขาคลังนอก ชมการเติมเต็ม ต่อยอดมหาสถูปเขาคลังนอกเป็นครั้งแรกผ่านการฉายแสงเลเซอร์ และอุโมงค์แสง
อุทยานประวัติศาสตร์ศรีเทพ
4. ยลโขนมรดกโลกสัญจร เยือนนครประวัติศาสตร์ศรีเทพ พิเศษในวันที่ 3 พฤษภาคม 2567 เวลา 20.00 – 21.30 น. พบกับการแสดงโขน ซึ่งได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้จากยูเนสโก โดยสำนักการสังคีต นำการแสดง โขน ตอนลักนางสีดา ยกรบ ไปจัดแสดงท่ามกลางความงดงามของโบราณสถานยามค่ำคืน พร้อมการแสดงระบำศรีเทพที่สร้างสรรค์ขึ้นใหม่ ด้วยแนวคิดการประดิษฐ์ท่ารำจากลักษณะทางสถาปัตยกรรม โบราณวัตถุ รวมทั้งประติมากรรมปูนปั้นที่ฐานของโบราณสถาน
การแสดงโขน
นอกจากนี้ ยังมีการจัดกิจกรรมพิเศษการถ่ายภาพลงตราไปรษณียากร "Personalized Stamp" และการแสดงดนตรีและนาฏศิลป์พื้นบ้าน โดยนักเรียนและชาวบ้านในชุมชนโดยรอบเมืองโบราณศรีเทพ อีกด้วย
อ่าน : เส้นทาง "ศรีเทพ" สู่มรดกโลกทางวัฒนธรรมแห่งที่ 4 ของไทย
"ศรีเทพ" มรดกโลกแห่งที่ 4 ของไทย
สำหรับแหล่งมรดกโลกทางวัฒนธรรมของไทย ก่อนหน้านี้เคยมีการขึ้นทะเบียนมรดกโลกไว้ 3 แหล่ง ได้แก่
- นครประวัติศาสตร์พระนครศรีอยุธยา เมื่อวันที่ 13 ธ.ค.2534
- อุทยานประวัติศาสตร์สุโขทัย ศรีสัชนาลัย และ กำแพงเพชร เป็นมรดกโลก เมื่อวันที่ 12 ธ.ค.2534
- แหล่งโบราณคดีบ้านเชียง จ.อุดรธานี ซึ่งได้รับการประกาศให้เป็นมรดกโลก เมื่อปี 2535
นอกจากนี้ปัจจุบันประเทศไทยได้นำเสนอแหล่งมรดกทางวัฒนธรรมเพื่อขึ้นบัญชีเบื้องต้นแหล่งมรดกโลก (Tentative List) ซึ่งคาดว่าจะเข้าที่ประชุมมรดกโลกของยูเนสโกในปี 2567 ดังนี้อุทยานประวัติศาสตร์ภูพระบาท จ.อุดรธานี
อ่านข่าวอื่น ๆ :
สหรัฐฯ ส่งคืน Golden Boy สู่มาตุภูมิช่วง พ.ค.นี้