วันนี้ (26 เม.ย.2567) นายวิทัย รัตนากร ผู้อำนวยการธนาคารออมสิน ในฐานะประธานกรรมการสมาคมสถาบันการเงินของรัฐ กล่าวว่า ที่คณะกรรมการสมาคมฯ เมื่อวันที่ 25เม.ย. 2567 ที่ประชุมมีมติร่วมกันในการปรับลดอัตราดอกเบี้ยลง 0.25% เพื่อช่วยเหลือลูกค้ารายย่อยและกลุ่มเปราะบางตามนโยบายรัฐบาล
นายวิทัย รัตนากร ผู้อำนวยการธนาคารออมสิน ในฐานะประธานกรรมการสมาคมสถาบันการเงินของรัฐ
โดย 6 ธนาคารของรัฐ อย่าง ธนาคารออมสิน ธนาคารอาคารสงเคราะห์ ธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย และบรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม รวมถึงธนาคารอิสลามแห่งประเทศไทย ร่วมกันลดอัตราดอกเบี้ยอ้างอิงสำหรับลูกค้ารายย่อยทุกกลุ่มลง 0.25%
ประกอบด้วย อัตราดอกเบี้ยเงินกู้ลูกค้ารายย่อย (MRR – Minimum Retail Rate) อัตราดอกเบี้ยตามประกาศ (Prime Rate) และอัตรากำไรอ้างอิงสำหรับลูกค้ารายย่อยชั้นดี (SPRR – Standard Profit Rate for Prime Retail Customer) เริ่มมีผลตั้งแต่วันที่ 1 พ.ค. 2567 เป็นระยะเวลา 6 เดือน
ขณะที่ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตรร่วมลดอัตราดอกเบี้ยสำหรับลูกค้ากลุ่มเปราะบางลง 0.25% เป็นระยะเวลา 6 เดือนด้วยเช่นกัน เนื่องจากได้มีการพักชำระหนี้เกษตรกรไปแล้วก่อนหน้านี้
อ่านข่าวเกี่ยวข้อง:
ส.ธนาคารไทย ช่วยกลุ่มเปราะบาง ลดดอกเบี้ย MRR 0.25%
"นายกฯ" ขอบคุณ ส.ธนาคารไทย ปรับลดดอกเบี้ย ชี้เข้าใจภาระประชาชน
ด้าน ดร.รักษ์ วรกิจโภคาทร กรรมการผู้จัดการ ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย (EXIM BANK) กล่าว่าธนาคารประกาศปรับลดอัตราดอกเบี้ย Prime Rate 0.25% ต่อปี จาก 6.60% เหลือ 6.35% ต่อปี
สำหรับลูกค้าทั่วไปและลูกค้า SMEs เทียบเท่าอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ลูกค้ารายย่อยชั้นดีหรือ MRR ของธนาคารพาณิชย์นับเป็นอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ลูกค้ารายย่อยชั้นดีที่ต่ำที่สุดในระบบ เป็นเวลา 6 เดือน เพื่อเป็นการขานรับนโยบายของนายกรัฐมนตรี ในการให้ความช่วยเหลือผู้ประกอบการกลุ่มเปราะบางและ SMEs มีผลตั้งแต่วันที่ 30 เม.ย.2567 เป็นต้นไป
ทั้งนี้ การปรับลดอัตราดอกเบี้ย Prime Rate เป็นการปรับลดอัตราดอกเบี้ยเพิ่มเติมจากการปรับลดอัตราดอกเบี้ย 0.15% ต่อปีเมื่อวันที่ 18 เม.ย.2567 เพื่อเป็นของขวัญแก่ผู้ประกอบการในช่วงเทศกาลสงกรานต์ที่ผ่านมา และเมื่อรวมกับการปรับลดอัตราดอกเบี้ยในครั้งนี้ EXIM BANK จึงได้ปรับลดอัตราดอกเบี้ยรวม 0.40% ต่อปี
เพื่อช่วยลดภาระให้กับผู้ประกอบการ โดยเฉพาะกลุ่มเปราะบาง และ SMEs สอดคล้องกับภารกิจของธนาคารในการสนับสนุนผู้ประกอบการไทยให้มีสภาพคล่องในการดำเนินธุรกิจ บรรเทาภาระหนี้และต้นทุนทางธุรกิจ และสามารถปรับตัวให้แข่งขันในเวทีโลกได้อย่างยั่งยืนในสภาวะที่เศรษฐกิจไทยเติบโตในอัตราที่ช้าลง ในขณะที่อัตราดอกเบี้ยในตลาดการเงินยังอยู่ในระดับสูง
นายกมลภพ วีระพละ กรรมการผู้จัดการ ธนาคารอาคารสงเคราะห์ (ธอส.) กล่าวว่า ธอส. ปรับลดอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ สำหรับลูกค้ารายย่อยชั้นดี (MRR) 0.25% ต่อปี จากเดิม 6.795% ต่อปี ลดลงเหลือ 6.545% ต่อปี เป็นระยะเวลา 6 เดือนเริ่มมีผลตั้งแต่วันที่ 1 พ.ค.เป็นต้นไป เพื่อช่วยลดภาระค่าใช้จ่ายให้กับลูกค้ากว่า 1.8 ล้านบัญชี รวมถึงลูกค้ากลุ่มผู้มีรายได้น้อย และลูกค้ากลุ่มเปราะบาง ให้มีเงินเหลือเพียงพอในการดำรงชีพ และมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น
นอกจากนี้ ธอส. ยังพร้อมสนับสนุนการออมภาคประชาชน ให้มีวินัยทางการเงินเพิ่มมากขึ้น ด้วยการเพิ่มทางเลือกในการออมเงินที่ได้รับผลตอบแทนสูง จึงได้จัดทำผลิตภัณฑ์เงินฝากออมทรัพย์ เก็บออมเพียงเปิดบัญชีเงินฝากขั้นต่ำ 500 บาทขึ้นไป
และมีวงเงินฝากคงเหลือไม่เกิน 200,000 บาท จะได้รับอัตราดอกเบี้ยสูงถึง 1.95% ต่อ สามารถเปิดบัญชีเงินฝากออมทรัพย์ เก็บออม ได้ตั้งแต่วันที่ 7 พ.ค. – 30 ธ.ค. 2567 หรือจนกว่าจะเต็มกรอบวงเงินโครงการ ณ สาขาธนาคารทั่วประเทศ
ขณะที่ บรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม (บสย.) เสริมแกร่ง SMEs 36,142 ราย สร้างสินเชื่อในระบบ 15,378 ล้านบาท และ ปรับลดอัตราดอกเบี้ยตามประกาศ 0.25% ช่วย SMEs รายย่อยและกลุ่มเปราะบาง มีผล 1 พ.ค.นี้
เช่นเดียวกับนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย (ธพว.) หรือ SME D ประกาศปรับลดอัตราดอกเบี้ย MRR ลง 0.25% ต่อปี เป็นระยะเวลา 6 เดือน มีผลตั้งแต่ 1 พ.ค. 67 เป็นต้นไป พร้อมเสิร์ฟสินเชื่อ SME Refinance อัตราดอกเบี้ยถูกพิเศษ คงที่ปีแรกเพียง 2.99% ต่อปี ช่วยลดภาระ ผ่อนหนักเป็นเบา
ขณะที่ ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) ประกาศปรับลดอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ MRR ลงร้อยละ 0.25 เป็นระยะเวลา 6 เดือน ให้กับลูกค้าเกษตรกรกลุ่มเปราะบางและ SMEs ที่ประสบปัญหาในการผลิตจนทำให้ความสามารถในการชำระหนี้ลดลง รวมถึงลูกหนี้ NPLs ที่อยู่ระหว่างปรับปรุงโครงสร้างหนี้ เพื่อลดภาระค่าใช้จ่าย และสนับสนุนการฟื้นตัวของลูกค้าระหว่างที่เศรษฐกิจยังฟื้นตัวไม่เต็มที่และไม่ทั่วถึง มีผลตั้งแต่ 1 พ.ค. นี้
อ่านข่าวอื่นๆ:
ศูนย์วิจัยกสิกรฯ เผยประชุม FOMC ปลายเม.ย.นี้ เฟดยังไม่ลดดอกเบี้ย