วันนี้ (25 เม.ย.2567) นายภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรี และรมว.พาณิชย์ เปิดเผยว่า หลังจากที่กรมการค้าต่างประเทศ เจรจาซื้อขายข้าวกับอินโดนีเซีย ในช่วงการประชุมสุดยอดอาเซียน-ญี่ปุ่น สมัยพิเศษ เมื่อปลายปี 2566

นายภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์
นายภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์
ล่าสุดรัฐบาลไทยและรัฐบาลอินโดนีเซีย ตกลงซื้อขายข้าวล็อตแรก ปริมาณ 55,000 ตัน โดยจะเริ่มส่งมอบตั้งแต่เดือน เม.ย.2567 เป็นต้นไป
นายภูมิธรรม กล่าวว่า การเจรจาซื้อขายข้าวแบบรัฐต่อรัฐ ไม่ใช่เรื่องง่าย เนื่องจากการจัดหาข้าวส่งมอบ ต้องอาศัยความร่วมมือจากภาคเอกชน ประกอบกับรัฐบาลอินโดนีเซีย ให้ความสำคัญกับปัจจัยด้านราคา ในการพิจารณานำเข้าข้าวเป็นหลัก ยิ่งในช่วงที่ราคาข้าวไทยปรับตัวสูงขึ้นก็จะแข่งขันในตลาดได้ยากขึ้น

ความร่วมมือของภาคเอกชนและรัฐ ที่ช่วยกันทำงาน โดยมีเป้าหมายเดียวกันคือ ขายข้าวไทย สร้างรายได้ให้ประเทศ ทำและพัฒนาอุตสาหกรรมข้าวไทยให้แข็งแกร่ง เพื่อเพิ่มส่วนแบ่งตลาดข้าวไทย และตอกย้ำจุดยืนไทยในฐานะหนึ่งในผู้นำการส่งออกข้าวคุณภาพดี และเป็นแหล่งความมั่นคงทางอาหารของโลกต่อไป
นายรณรงค์ พูลพิพัฒน์ อธิบดีกรมการค้าต่างประเทศ กล่าวว่า กรมมีแผนที่จะบุกตลาดเดิม และตลาดใหม่ที่มีศักยภาพ เช่น ตลาดข้าวพรีเมียม เช่น สหรัฐฯ เซเนกัล จีน ฮ่องกง ซาอุดีอาระเบีย และตลาดข้าวขาว ในฟิลิปปินส์ อิรัก ญี่ปุ่น มาเลเซีย
หรือแม้แต่ตลาดข้าวนึ่ง ที่จะเน้นเจาะแอฟริกาใต้ เบนิน ไนจีเรีย บังกลาเทศ ร่วมไปถึงข้าวเพื่อสุขภาพในสหภาพยุโรป ออสเตรเลีย สิงคโปร์ ซึ่งจะเป็นการสร้างความเชื่อมั่นในคุณภาพมาตรฐานของข้าวไทย และผลักดันให้มีการนำเข้าข้าวจากไทยเพิ่มขึ้น

ช่วงต้นปี 2567 เอกชนไทยชนะการประมูล การนำเข้าข้าวขาว 5 % ของอินโดนีเซียกว่า 4 แสนตันอีกด้วย แสดงให้เห็นว่า ข้าวขาวไทย ยังเป็นที่นิยม และเป็นที่ต้องการของตลาดต่างประเทศนอกเหนือจากข้าวหอมมะลิไทย และมีแนวโน้มที่จะมีคำสั่งซื้อข้าวชนิดดังกล่าวจากไทยเพิ่มขึ้น
ข้อมูลสถิติกรมศุลกากร และตามใบอนุญาตส่งออกข้าวของกรมการค้าต่างประเทศในปี 2567 (ม.ค.-22 เม.ย.) พบว่า ไทยส่งออกข้าวแล้วปริมาณ 3.06 ล้านตัน คิดเป็นมูลค่ากว่า 70,717 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปี 2566 ที่ส่งออกปริมาณ 2.48 ล้านตัน มูลค่า 45,975 ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้นร้อยละ 23.39 และ 53.82 ตามลำดับ

โดยตลาดที่ไทยส่งออกข้าวไปเป็นอันดับหนึ่ง คืออินโดนีเซีย ปริมาณ 680,099 ตัน รองลงมา อิรัก ปริมาณ 353,100 ตันแอฟริกาใต้ ปริมาณ 216,050 ตัน เซเนกัล ปริมาณ 120,140 ตัน และฟิลิปปินส์ ปริมาณ 116,925 ตัน
อธิบดีกรมการค้าต่างประเทศ กล่าวอีกว่า หากสถานการณ์การส่งออกข้าวไทยยังมีทิศทางที่ดีเช่นนี้ ราคาข้าวไทยยังคงปรับตัวอยู่ในระดับที่แข่งขันได้เช่นในปัจจุบัน
รวมทั้งมีการจัดกิจกรรมส่งเสริมตลาดและประชาสัมพันธ์ข้าวไทยเพื่อกระตุ้นให้เกิดความต้องการบริโภคและการซื้อข้าวไทยอย่างต่อเนื่อง คาดว่าปริมาณการส่งออกข้าวไทยทั้งปีจะทะลุเกินเป้าหมายที่ 7.5 ล้านตัน
อ่านข่าว : พาณิชย์เฟ้นหาสุดยอด”หอมไทย-ข้าวสารแห่งปี”เจาะตลาดโลก
"ยูโอบี" หวั่นสงครามอิสราเอลกระทบ แนะลดเสี่ยง-กระจายลงทุนตราสารหนี้
ทองสวิงต่อเนื่อง เปิดตลาดบวก 200 บาท ลุ้นจีดีพีสหรัฐฯ Q1คืนนี้