- เช็กเงื่อนไข คุณสมบัติ ครอบครัวอุปถัมภ์ผู้สูงอายุ รับ 3,000 บาท/เดือน
- อิสราเอลโจมตีกลับ! อิหร่านยิงสกัด-สั่งปิดน่านฟ้า
การปรากฏขึ้นของ “แคดเมียม” เกือบ 13,000 ตัน ที่ถูกจัดเก็บอยู่ในโรงงาน 3 แห่งใน จ.สมุทรสาคร,โรงงานทุนจีนที่ ต.คลองกิ่ว อ.บ้านบึง จ.ชลบุรี และโรงงานที่เขตบางซื่อ กรุงเทพมหานคร ตั้งแต่ต้นเดือนเมษายนที่ผ่านมา ทั้งหมดถูกระบุว่าเป็นตะกรันจากการหลอมสังกะสีปนเปื้อนแคดเมียมที่ถูกขุดขึ้นมาจากหลุมฝังกลบกากแร่ของบริษัท เบาด์ แอนด์ บียอนด์ (ชื่อเดิมคือ ผาแดง อินดัสตรี) ที่ อ.แม่สอด จ.ตาก ท่ามกลางคำถามที่ต้องรอคำตอบจาก 2 หน่วยงาน คือ กรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ และสำนักงานอุตสาหกรรมจังหวัดตาก ว่า ...
“อนุญาตให้ขุดกากของเสียอันตรายขึ้นมาจากหลุมฝังกลบได้อย่างไร”
หากพิจารณาจาก “เส้นทางของแคดเมียม” ตั้งแต่ถูกขุดขึ้นมาจากหลุมฝังกลบที่ จ.ตาก ผ่านการขออนุญาตขนย้ายไปยังปลายทางที่ บริษัท เจแอนด์บี เมททอล จ.สมุทรสาคร ก่อนจะถูกกระจายออกไปที่โรงงานอื่นในสมุทรสาคร ชลบุรี และ กทม. จะพบว่า มีทั้งขั้นตอนที่มีเอกสารการขออนุญาตอย่าง “ถูกต้อง” ตั้งแต่การขุด การขอขนย้าย การขอเปลี่ยนแปลงโรงงานปลายทางเพื่อให้รับกากแคดเมียมได้ ... และก็มีทั้งขั้นตอนที่ “ไม่ถูกต้อง” นั่นคือการกระจายกากแคดเมียมจากปลายทางที่ เจ แอนด์บี เมททอล จ.สมุทรสาคร ไปยังโรงงานอื่นๆ
แต่คำว่า “ถูกต้อง” ก็ต้องถูกนำมาตีความให้ชัดเจนด้วยว่า ... ถูกต้อง จริงหรือไม่
ในเมื่อต้นทางของการขนย้ายแคดเมียมล็อตนี้ มีหลักฐานเป็นเอกสารการขออนุญาตผ่านหน่วยงานของรัฐอย่างถูกต้อง ระบุชื่อโรงงานต้นทาง ระบุชื่อโรงงานปลายทาง ระบุจำนวนและชนิดของกากของเสียว่า “แคดเมียมและสังกะสี” อย่างชัดเจน และได้รับอนุญาตให้ทำได้ ... แต่เมื่อถูกตรวจพบ หรือเมื่อเรื่องการขุดและขนย้ายแคดเมียมถูกเปิดเผยจนสร้างความตื่นตกใจให้กับสังคม กระทรวงอุตสาหกรรมกลับมีกระบวนการเอาผิดและลงโทษทั้งเอกชนและเจ้าหน้าที่รัฐจากหน่วยงานในสังกัดเดียวกัน ถือเป็นการกระทำที่ย้อนแย้งกันอย่างชัดเจนของหน่วยงานรัฐ
ปรากฏการณ์นี้ทำให้เกิดคำถามใหญ่ตามมาว่า คำว่า “ถูก หรือ ไม่ถูก” อาจมีคำนิยามที่ต่างกันออกไปหรือไม่ และจะได้ผลที่ต่างออกไปจากเดิมหรือไม่ หากการพิจารณาอนุญาตใดๆ ก็ตามเกี่ยวกับการปล่อยหรือเคลื่อนย้ายของเสียอันตราย จะต้องถูกบังคับให้เป็น “ข้อมูลเปิด” หรือ เป็นข้อมูลที่ประชาชนทุกคนสามารถเข้าถึงได้
ร่างพระราชบัญญัติการรายงานและเปิดเผยข้อมูลการปล่อยและการเคลื่อนย้ายสารมลพิษ หรือ กฎหมาย PRTR (Pollutant Release and Transfer Register) ถือเป็นคำตอบที่สำคัญของคำถามนี้ ... โดยเฉพาะหากเราจะไล่เรียงปรากฏการณ์ขุดและขนย้ายแคดเมียมกันไปทีละขั้นตอน เราจะเห็นได้ทันที
จะเห็นได้ทันทีว่า “ถ้ามีกฎหมาย PRTR” … เราจะได้ผลลัพธ์ของเรื่องนี้ที่ต่างออกไป
“สาระสำคัญที่อยู่ในชื่อของร่างกฎหมาย ... PRTR คือ กฎหมายที่จะไปบังคับให้ผู้ประกอบการที่มีกิจกรรมที่ทำให้เกิดมลพิษได้จะต้องเปิดเผยข้อมูลทั้งหมดสู่สาธารณะ ตั้งแต่การนำเข้า จัดเก็บ ปล่อยออก รวมไปถึงการเคลื่อนย้ายสารมลพิษ เพื่อให้ประชาชนทุกคนสามารถเข้าถึงข้อมูลเหล่านี้ และมีส่วนร่วมในการตรวจสอบหรือแสดงความเห็นได้ โดยเฉพาะในแง่ที่จะทำให้เกิดความปลอดภัยที่ประชาชนทุกคนควรจะมีสิทธิรับรู้ว่ามีกิจกรรมใดๆ ที่ก่อมลพิษอยู่ใกล้ๆ ตัวเขาหรือไม่”
ชำนัญ ศิริรักษ์ ทนายความด้านสิ่งแวดล้อม ซึ่งเป็นผู้ทำคดีฟ้องร้องให้ประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากการลักลอบทิ้งกากของเสียอุตสาหกรรมจนชนะคดีในหลายพื้นที่ อธิบายสาระสำคัญของกฎหมาย PRTR
ทนายชำนัญ เป็นหนึ่งในผู้ที่ร่วมผลักดันให้มีกฎหมาย PRTR เกิดขึ้นในประเทศไทย เพราะถึงแม้ว่าประชาชนที่เขาเข้าไปช่วยเหลือในการฟ้องร้องจะชนะคดีในชั้นศาลทุกคดี ทั้งคดีแพ่งที่ฟ้องต่อโรงงานฐานเป็นผู้ก่อและลักลอบทิ้งสารมลพิษ และคดีทางปกครองที่ฟ้องต่อหน่วยงานรัฐฐานละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ แต่ล้วนเป็นเพราะมีความเสียหายเกิดขึ้นมากแล้ว และสิ่งที่ประชาชนได้กลับมาก็มีเพียงคำพิพากษาที่ให้สถานะเป็น “ผู้ชนะคดี” แต่ยังไม่มีพื้นที่ไหนเลยที่ได้รับเงินเยียวยาตามคำสั่งศาล รวมทั้งไม่มีพื้นที่ไหนเลยที่สามารถกำจัดกากของเสียอันตรายออกไปได้หลังมีพิพากษา ดังนั้นเขาจึงมีความเห็นว่า การแก้ปัญหาลักลอบทิ้งกากอุตสาหกรรม ต้องแก้ตั้งแต่การป้องกันให้ “ไม่กล้าทิ้ง” เพราะเมื่อมันเกิดขึ้นแล้ว ก็ยากที่จะช่วยเหลือผู้ได้รับกระทบ
และกรณีแคดเมียม ก็เป็นตัวอย่างที่เห็นได้ชัดว่า สามารถนำหลักการ “ถ้ามีกฎหมาย PRTR” มาเปรียบเทียบกับปรากฏการณ์ไปทีละขั้นตอน
ขั้นตอนการขุด
มีรายงานว่า บริษัท เบาด์ แอนด์ บียอนด์ จำกัด (จ.ตาก) ซึ่งเป็นเจ้าของเหมืองแร่สังกะสีและหลุมฝังกลบ ยื่นคำขอไปยังหน่วยงานทีมีหน้าที่รับผิดชอบคือกรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ เพื่อขอขุด “กากแร่” ขึ้นมาจากหลุมฝังกลบ โดยมีสัญญาขาย “กากแคดเมียม กากสังกะสี” ให้กับบริษัท เจ แอนด์ บี เมททอล จำกัด (จ.สมุทรสาคร) เป็นเอกสารที่ต้องแนบประกอบไปให้หน่วยงานรัฐ
ถ้ามีกฎหมาย PRTR … ทนายชำนัญ ยืนยันว่า ประชาชนที่ จ.ตาก จะสามารถรับรู้และจะเคลื่อนไหวคัดค้านได้ตั้งแต่ก่อนการขุดจะเกิดขึ้นอย่างแน่นอน ด้วยเหตุผลหลัก 2 ประเด็น คือ
- แบบฟอร์มที่ เบาด์ แอนด์ บียอนด์ ยื่นขอขุดกากแร่ขึ้นมาจากหลุมฝังกลบ จะต้องถูกเปิดเผยต่อสาธารณะว่า มีเหตุผลอะไรในการขอขุดกากของเสียอันตรายขึ้นมาใหม่ ขุดเมื่อไหร่ ปริมาณเท่าไหร่ ทำสัญญาซื้อขายกับใคร ราคาเท่าไหร่ และที่สำคัญคือ ใคร ... เป็นผู้มีอำนาจลงนามอนุญาตให้ทำ
- หากต้องเปิดเผยข้อมูลทั้งหมดนี้ต่อสาธารณะ ก็ไม่แน่ว่าเอกชนรายนี้จะยังคงขอขุดกากแร่ขึ้นมาหรือไม่ ผู้รับซื้อจะยังซื้ออยู่หรือไม่ และผู้มีอำนาจจะกล้าลงนามอนุญาตหรือไม่
“ถึงแม้ในปัจจุบันจะยังไม่มีกฎหมาย PRTR ก็ยังน่าแปลกใจอยู่ดี เพราะในระหว่างที่มีกระบวนการสอบสวนเกิดขึ้นมากมายทั้งจากภายในกระทรวงอุตสาหกรรม ในชั้นกรรมาธิการสภาฯ รวมถึงสื่อมวลชน แต่เอกสารสำคัญอย่าง แบบฟอร์มการขออนุญาตขุด และสัญญาซื้อขายแคดเมียม ซึ่งเป็นเอกสารที่มีอยู่จริงอย่างแน่นอน และมีความสำคัญถึงขั้นที่จะบ่งบอกได้ถึงเหตุผลในการขอขุดและเหตุผลที่ได้รับอนุญาตให้ขุดกลับยังไม่เคยถูกเปิดเผยต่อสาธารณะ”
“เราจึงต้องมีกฎหมาย PRTR เพื่อให้การเปิดเผยข้อมูลมีสภาพบังคับตามกฎหมาย” ทนายชำนัญ กล่าว
ขั้นตอนการขนย้าย
การขนย้ายแคดเมียมครั้งนี้ ถูกตรวจสอบพบ “เอกสารกำกับการขนย้าย” (Manifest) ที่ผ่านการพิจารณา “อนุญาต” จากอุตสาหกรรม จ.ตาก 3 ครั้ง (จากการขอ 6 ครั้ง) โดยการอนุญาตครั้งแรก คือ คำขอเมื่อวันที่ 28 มิถุนายน 2566 จาก บริษัท เบาด์ แอนด์ บียอนด์ จำกัด ยื่นต่ออุตสาหกรรม จ.ตาก แจ้งขอขนย้าย “กากแคดเมียมและกากสังกะสี” ปริมาณ 5,000 ตัน ไปกำจัดด้วยวิธีรีไซเคิล (รหัส 049) ที่บริษัท เจ แอนด์ บี เมททอล จ.สมุทรสาคร เลขทะเบียน 3-106-45/57สค โดยขออนุญาตขนย้ายตั้งแต่วันที่ 10 กรกฎาคม 2566 – 9 กรกฎาคม 2566 .... (106 คือ โรงงานรีไซเคิล) (57 คือ ปีที่ก่อตั้งโรงงาน) (สค คือ สมุทรสาคร) ซึ่งแน่นอนว่า มีเอกสารแบบเดียวกันนี้ ครบทั้ง 13,000 ตันที่ขอขนย้าย ...
ถ้ามีกฎหมาย PRTR … ทนายชำนัญ แสดงความเห็นว่า เมื่อมีเอกสารที่ปรากฏอยู่ในระบบของกรมโรงงานอุตสาหกรรม นี่จึงเป็นการขออนุญาตขนย้ายกากของเสียอันตรายอย่างถูกต้อง ... แต่มีปัญหา คือ มีเพียงแค่กรมโรงงานอุตสาหกรรมเท่านั้น ที่มองเห็นเอกสารฉบับนี้ คนสมุทรสาครซึ่งจะต้องแคดเมียมไปอยู่ใกล้บ้านมองไม่เห็น รับรู้ ประชาชนที่อยู่ระหว่างทางการขนย้ายแคดเมียมก็ไม่รับรู้
“นี่เป็นประเด็นเดียวกับขั้นตอนการขุด คือ ถ้าเอกสารกำกับการขนย้ายของเสียอันตรายทุกฉบับถูกกฎหมายบังคับให้ต้องเปิดเผยต่อสาธารณะ ซึ่งจะรวมถึงการขอขนย้ายแคดเมียม 13,000 ตัน จาก จ.ตาก ไปที่ จ.สมุทรสาครด้วย ... การขนย้ายครั้งนี้จะถูกประท้วงจากคนสมุทรสาครแบบเดียวกับที่คนจังหวัดตากกำลังออกมาประท้วงการขนแคดเมียมกลับไปที่หลุมฝังกลบหรือไม่ และหากถูกประท้วงจริง การขนย้ายจะเกิดขึ้นได้หรือไม่”
“ถ้ามีกฎหมาย PRTR การขนย้ายไปโรงงานทุนจีนเถื่อน ที่ ต.คลองกิ่ว อ.บ้านบึง จ.ชลบุรี ก็อาจจะไม่เกิดขึ้นหรือเกิดขึ้นได้ยาก เพราะแคดเมียมจะมาถึงสมุทรสาครก็ยากแล้ว หรือหากเขายังจะทำกันจริงๆ ก็ต้องทำด้วยวิธีการลักลอบ ซึ่งมีโทษรุนแรงกว่ากันมาก”
ขั้นตอนการขอเปลี่ยนแปลงวัตถุประสงค์ประกอบกิจการโรงงาน
ในเอกสารใบยอนุญาตจัดตั้งโรงงาน (รง.4) ของ บริษัท เจ แอนด์ บี เมททอล จำกัด (สมุทรสาคร) มีการแจ้งขอเปลี่ยนแปลงโรงงานเกิดขึ้น ... โดยมี “บันทึกการเปลี่ยนแปลง” ลำดับที่ 7/1 ข้อ 5 ระบุว่า “แจ้งเพิ่มเครื่องจักรจากเดิม 771.65 แรงม้า เครื่องบดย่อยโลหะ 50 แรงม้า เพื่อเตรียมวัตถุดิบบดย่อย กาก ตะกรัน สังกะสี แคดเมียม ทองแดง ทองเหลือง ... พิจารณาแล้ว ไม่เข้าข่ายขยายโรงงาน ตามคำขอทั่วไป เลขรับที่ 3275 ลงวันที่ 16 มิถุนายน 2566” ลงนามโดย อุตสาหกรรมจังหวัดสมุทรสาคร (ณ ขณะนั้น)
เอกสารที่ระบุว่า เจ แอนด์ บี ขอเปลี่ยนแปลงโรงงานให้รับกากสังกะสีและแคดเมียมได้เมื่อ 16 มิถุนายน 2566 ... เป็นคำตอบสำคัญของคำถามที่ว่า เบาด์ แอนด์ บียอนด์ (ตาก) สามารถทำเรื่องขอส่งกากสังกะสีและกากแคดเมียมไปที เจ แอนด์ บี (สมุทรสาคร) ซึ่งเป็นโรงงานรีไซเคิล มีเพียงใบอนุญาตหลอมอลูมิเนียมได้อย่างไร
ถ้ามีกฎหมาย PRTR…ประชาชนก็จะรู้ทันทีว่า โรงงานหลอมอลูมิเนียมที่ชื่อ เจ แอนด์ บี เมททอล...แจ้งขอเปลี่ยนแปลงให้มีความสามารถบดย่อยสังกะสีและแคดเมียมซึ่งเป็นสารก่อมะเร็งได้แล้ว
หมายความว่าอาจจะมีแคดเมียมมาถูกเก็บไว้ที่นี่ ก็จะสามารถเรียกร้องขอให้เปิดเผยต่อมาได้ว่า มีเทคโนโลยีในการบดย่อยและจัดเก็บแคดเมียมที่ปลอดภัยพอจริงตามอุตสาหกรรม จ.สมุทรสาคร ตรวจสอบไว้แล้วจริงหรือไม่ และที่สำคัญ คือ จะรู้ด้วยว่า การลงนามของอุตสาหกรรม จ.สมุทรสาครครั้งนี้ เกิดขึ้นล่วงหน้าเพียง 12 วัน ก่อนที่จะมีคำขอส่งแคดเมียมมาจาก จ.ตาก
ในฐานะทนายความที่ทำคดีเกี่ยวกับปัญหาการลักลอบทิ้งกากอุตสาหกรรมมาในหลายกรณี ชำนัญ ศิริรักษ์ จึงพยายามสะท้อนให้สังคมเห็นถึงปัญหาที่ใหญ่ไปกว่าการขุดและเคลื่อนย้ายมลพิษอันตรายอย่างกากแคดเมียม นั่นคือ ปัญหาที่ประเทศไทย ยังไม่สามารถออกกฎหมายให้ภาคอุตสาหกรรมต้องเปิดเผยข้อมูลการปล่อยและเคลื่อนย้ายสารมลพิษได้ ซึ่งมีความหมายตามมาด้วยว่า ข้อมูลมลพิษ ถูกผูกขาดการรับรู้ไว้ที่หน่วยงานรัฐไม่กี่หน่วยงานเท่านั้น
“ภาคอุตสาหกรรม เขามักจะมีข้ออ้างว่า ข้อมูลการใช้สารเคมีต่างๆ เป็นเรื่องของสูตรผสมที่เป็นความลับทางการค้า หากเปิดเผยจะส่งผลให้ถูกขโมยสูตรได้ แต่จริงๆ แล้ว กฎหมาย PRTR เพีงขอให้เปิดเผยข้อมูลการจัดเก็บ นำเข้า การปล่อย หรือการเคลื่อนย้ายสารมลพิษเท่านั้น ไม่น่าจะเกี่ยวข้องกับสูตรลับทางการค้าแต่อย่างใด”
“ถ้าไม่โลกสวย ก็เข้าใจกันได้ว่า แม้จะมีกฎหมาย PRTR ก็ยังอาจมีความพยายามปกปิดข้อมูลการปล่อยหรือเคลื่อนย้ายมลพิษได้อยู่ดี ดังนั้นมันก็ต้องสร้างกลไกการบังคับใช้กฎหมายให้เข้มแข็งและมีประสิทธิภาพควบคู่ไปด้วยเลย”
“ในกฎหมาย PRTR ที่หลายประเทศใช้กันไปแล้ว เขาสามารถลงลึกไปได้ถึงการคำนวณว่า โรงงานที่รับของเสียไปรีไซเคิลจะต้องเหลือกากสุดท้ายที่ต้องถูกส่งออกไปกำจัดอย่างถูกต้องอีกเท่าไหร่ ซึ่งนี่เป็นอีกหนึ่งปัญหาใหญ่ของประเทศไทย คือ เมื่อโรงงานรีไซเคิลรับของเสียไปรีไซเคิลแล้ว กลับแทบไม่เคยส่งกากสุดท้ายที่เหลือจากการรีไซเคิลออกไปกำจัดอย่างถูกต้องเลย”
“ถ้ามีกฎหมาย PRTR … ประชาชนก็จะรู้ได้เลย ว่า มีกากของเสียอันตรายจำนวนนับล้านตันหายไปจากระบบที่รัฐดูแลอยู่ในแต่ละปี และอย่างน้อยเราก็จะรู้ว่า มันหายไปในขั้นตอนไหน และจะไปตามหาของหายได้จากหน่วยงานไหนบ้าง” ทนายชำนัญ ทิ้งท้าย
รายงานโดย: สถาพร พงษ์พิพัฒน์วัฒนา