ค้นหา
ทีวีออนไลน์
เว็บไซต์ในเครือ
เว็บไซต์บริการ

เปิดใจ "วันมูหะมัดนอร์ มะทา" อยากถอยให้คนรุ่นใหม่โชว์ศักยภาพ

การเมือง
19 เม.ย. 67
11:15
764
Logo Thai PBS
เปิดใจ "วันมูหะมัดนอร์ มะทา" อยากถอยให้คนรุ่นใหม่โชว์ศักยภาพ
อ่านให้ฟัง
00:00อ่านข่าวให้ฟังโดย Botnoi Voice เว็บแอปพลิเคชันสำหรับสร้างเสียงจากข้อความด้วย AI (Text to Speech)

44 ปี ที่คร่ำหวอดอยู่ในแวดวงการเมือง ชนะการเลือกตั้งมาแล้ว 11 ครั้ง ด้วยประสบการณ์ในสนามการเมืองมาอย่างยาวนาน "วันมูหะมัดนอร์ มะทา" ในวัย 79 ปี จึงถูกเลือกให้เป็น "ประธานรัฐสภา และประธานสภาผู้แทนราษฎร" ในฐานะคนกลาง สยบศึก 2 พรรคใหญ่ "ก้าวไกล-เพื่อไทย"

"รายการคุยนอกกรอบ กับ สุทธิชัย หยุ่น" เปิดใจ อาจารย์วันนอร์ หลังเข้ารับตำแหน่งประธานรัฐสภามานาน 7 เดือน โดยใช้สายตาของนักการเมืองรุ่นเก่าและเก๋าเกม มองลอดแว่นไปยัง นักการเมืองรุ่นลูก รุ่นหลาน คนรุ่นใหม่ บนความคาดหวัง ความเชื่อ ของประชาชนต่อระบอบประชาธิปไตย ยังมีอยู่หรือไม่ อดีตและปัจจุบันมีการเปลี่ยนแปลงไปอย่างไร 

ความรู้สึกตั้งแต่แรก ผมเชียร์พรรคที่มีเสียงข้างมาก ให้เขาได้เป็นประธานรัฐสภา - ประธานสภาผู้แทนราษฎร เพราะเป็นความถูกต้องตามระบอบประชาธิปไตยและประชาชนตัดสินมาแล้ว ผมเป็นพรรคเล็กๆ ก็ไม่ควรจะเป็น ผมได้แสดงเจตนารมณ์กับพรรคใหญ่ๆ แล้ว แต่มีเหตุการณ์ที่ไม่ลงตัว

"วันมูหะมัดนอร์ มะทา" ย้อนเหตุการณ์กลับไปเมื่อ 9 เดือนที่แล้ว หลังการเลือกตั้งพรรคก้าวไกล มีคะแนนเสียงมากที่สุด 151 เสียง การพูดคุยกันมีทั้ง ถ้าพรรคก้าวไกลได้เป็นนายกรัฐมนตรี ประธานสภาก็ควรจะให้พรรคเพื่อไทย และพรรคก้าวไกล อาจจะไม่ได้เป็นนายกรัฐมนตรี พรรคเพื่อไทยเป็นนายกรัฐมนตรี ก็จะให้พรรคก้าวไกล เป็นประธานรัฐสภา แต่จนแล้วจนรอด ดีลก็ไม่ลงตัว ทั้ง 2 พรรคการเมืองเห็นว่าต้องหาคนกลางมาทำหน้าที่ประธานรัฐสภา ตนเองจึงได้รับเลือกให้เข้ามาทำหน้าที่

จากนั้นมีการเลือก "นายกรัฐมนตรี" เพื่อจัดตั้งรัฐบาลอย่างเร่งด่วน สร้างความน่าเชื่อให้ต่างประเทศ แต่ก็เกิดสถานการณ์พลิกไปพลิกมาอีกครั้ง เมื่อพรรคเพื่อไทยได้เป็นนายกรัฐมนตรีแทนพรรคก้าวไกล เกิดการตั้งรัฐบาลเปลี่ยนขั้วใหม่ ที่ทำให้เห็นสัจจะธรรมการเปลี่ยนแปลงตามวิถีการเมือง แต่ในที่สุดก็คิดว่า สิ่งสำคัญที่สุด "ประเทศต้องมีรัฐบาล รัฐบาลก็ต้องตั้งคณะรัฐมนตรีบริหารประเทศกันไป"

…เป็นเพราะว่า "วันมูหะมัดนอร์ มะทา" มานั่งอยู่ตรงนี้หรือไม่ ถึงทำให้คลื่นลมสงบลง และการเมืองสามารถเดินต่อไปได้จนถึงทุกวันนี้

อาจารย์วันนอร์ ยอมรับว่า อาจจะเป็นส่วนหนึ่งที่มาจากพรรคเล็กไม่มีอิทธิพลอะไรมากมาย พรรคใหญ่ๆ เลยเห็นว่าน่าจะเป็นกลางได้ แต่สิ่งสำคัญที่เมื่อมานั่งจุดนี้ต้องยอมรับให้ได้ต่อคำตำหนิ เพราะเวลาตัดสินมีทั้งคนที่พอใจและไม่พอใจ

"เราต้องวางตัวเป็นกลาง และให้โอกาสทุกพรรคการเมืองได้แสดงความคิดเห็นเต็มที่ เพราะรัฐสภาคือที่แสดงความคิดเห็นของผู้แทนที่มาจากการประชาชน จะแสดงผิดถูก หรือจะแสดงอย่างไร นั่นคือผู้แทนของประชาชน เวทีนี้ต้องเปิดโอกาสให้ ผมก็พยายามที่จะเปิดโอกาสให้ทุกฝ่าย ได้มีโอกาสได้แสดงความคิดเห็น"

"รัฐสภา" ยุคของคนรุ่นใหม่

"วันมูหะมัดนอร์ มะทา" ตั้งข้อสังเกตในช่วง 9 เดือน การทำหน้าที่ประธานรัฐสภา และประธานสภาผู้แทนราษฎร การแจกใบเหลือง ใบแดง หรือข้อตักเตือน ลดน้อยลง แสดงให้เห็นพัฒนาการของสมาชิกรัฐสภาที่ได้รับเลือกตั้งทั้ง 500 คน ซึ่งส่วนใหญ่เป็นคนรุ่นใหม่ "ไม่มีการประท้วง ไม่มีการตั้งทีมปกป้ององครักษ์พิทักษ์นาย" อาจจะเกิดขึ้นบ้างเล็กน้อย และเป็นเหตุการณ์เฉพาะหน้า

"ผมมีความพอใจว่าสมาชิกรัฐสภาสมัยที่ 26 เลือกตั้ง ปี 66 มีการพัฒนาตัวบุคคล ความรู้ความสามารถ ก็คือการเตรียมตัวที่จะอภิปราย ตั้งกระทู้ถาม เสนอกฎหมาย ผมว่ามันพัฒนาไปเยอะ มีการทำการบ้านดีขึ้น มีการอภิปรายเป็นสาระมากขึ้นน่าติดตาม"

ด้วยความที่มีเทคโนโลยีสมัยใหม่ ประชาชนสามารถติดตามได้จากสื่อสังคมออนไลน์หลากหลายช่องทาง ดังนั้นนักการเมืองเหล่านี้จึงมีการเตรียมข้อมูลเรื่องที่พูดมาเป็นอย่างดี การอัปเดตข้อมูลใหม่ๆ รวมถึงวิธีการนำเสนอให้น่าสนใจ ดึงดูดประชาชนให้เข้ามาดูมากขึ้น

ประธานรัฐสภา กล่าวว่า หากย้อนไปสมัยก่อนอาจจะเตรียมตัวน้อย ทำให้ต้องใช้ข้อมูลจากหนังสือพิมพ์ จากข่าว จากสื่อ มาอภิปราย แต่ตอนนี้นักการเมืองทำการบ้านเอง เป็นคนหาข้อมูลเองมากขึ้น กลายเป็นว่าสื่อต้องตาม แม้กระทั่งตนเองก็ยังต้องนั่งฟัง เพราะการอภิปรายแต่ละครั้งในตอนนี้มีแต่ข้อมูลที่น่าสนใจ

นอกจากนี้ก่อนจะมีการประชุมหารือกันก่อน ทั้งวิปฝ่ายค้าน ฝ่ายรัฐบาล และตัวแทนจากรัฐบาล ถึงเรื่องที่จะมีการอภิปราย จะใช้เวลาเท่าไหร่ เพื่อตกลงกันก่อน ซึ่งก็ทำให้ประธานรัฐสภาไม่ต้องหนักใจว่าจะให้ใครใช้เวลาเท่าไหร่ เพราะแต่ละส่วนจะมีการกำหนดกรอบเวลากันเอง

"เช่น ฝ่ายค้านเขาขอเวลาไป 3 ชั่วโมง ไปบริหารกันเองนะ รัฐบาลเขาขอ 2 ชั่วโมง บริหารกันเองนะ ถ้าเกินก็ต้องบริหารจัดการให้ตามเวลา เพราะฉะนั้นให้ภาพรวมเขาบริหารกันเอง ภาพรวมเวลามันจำกัด คนที่ได้พูด 10 นาที ทั้งๆ ที่อยากจะพูด 20 นาที เมื่อเหลือ 10 นาที เขาก็ต้องบริหารเวลาเอง เอาข้อมูลมาพูดให้กระชับขึ้น และทุกคนก็ทำตามกติกานี้พอสมควร"

พัฒนารัฐสภาสู่มาตรฐานสากล

อาจารย์วันนอร์ ในฐานะประธานรัฐสภา และประธานสภาผู้แทนราษฎร กล่าวว่า การเตรียมตัวก็ดีแล้ว ข้อมูลองค์ประกอบต่างๆ ก็ดีแล้ว เพียงแต่ รัฐบาล ก็ต้องเร่งทำงานให้ทันกับรัฐสภา เพราะมีกฎหมาย หลายฉบับที่เสนอโดยสมาชิกรัฐสภา และภาคประชาชน ในขณะนี้มีอยู่ประมาณ 33 ฉบับ ส่วนหนึ่งที่ช้าเข้าใจว่ารัฐบาลต้องเอาไปดูก่อน เพื่อเสนอกฎหมายเข้ามาประกบ

ในสมัยการประชุมนี้ สภาผู้แทนราษฎรได้มีการประชุมถึง 32 ครั้ง จะมีเพียง 1 ครั้งเท่านั้นที่ "สภาล่ม" แต่จนถึงวันนี้ก็ยังไม่มีการล่มของสภา เพราะคนตื่นตัว และห่วงภาพลักษณ์ของการเป็นผู้แทนมากขึ้น หลังจากที่เราไม่ได้ทำงานในระบอบประชาธิปไตยมาหลายปี ขณะที่เหลืออีก 2 ครั้ง ที่เป็นวาระสำคัญในเรื่องเสนอกฎหมายแก้ไขรัฐธรรมนูญ และการอภิปรายไม่ไว้วางใจมาตรา 152 โดยไม่ลงมติ ซึ่งคิดว่าองค์ประชุมต้องครบ

"ที่องค์ประชุมครบเพราะว่าเราได้บอกให้สมาชิกและพรรคการเมือง สภาที่สำคัญมากก็คือ การประชุม หากวันนั้นการประชุมไม่สามารถดำเนินการได้พี่น้องประชาชนก็จะโทษสภา และโทษผู้แทนราษฎร สิ่งที่ได้ต่อไป ประชาชนจะเบื่อระบบของรัฐสภา เบื่อประชาธิปไตย ไม่ศรัทธาต่อระบบประชาธิปไตย ในที่สุดแล้วประชาธิปไตยของเราก็จะไม่พัฒนาขึ้น"

กระทู้สดที่อยากให้รัฐบาลตอบ

"ประธานรัฐสภา และประธานสภาผู้แทนราษฎร" ระบุว่า การประชุมทั้ง 32 ครั้ง มีทั้งหมด 186 กระทู้ เป็นกระทู้สดด้วยวาจา 36 กระทู้ ที่รัฐบาล รัฐมนตรี หรือนายกรัฐมนตรี ต้องมาตอบด้วยตัวเอง โดยข้อมูลขณะนี้มีกระทู้ทั่วไปที่รัฐบาลตอบแล้ว 21 กระทู้ นอกจากกระทู้ที่ตอบในสภาใหญ่ ยังมีกระทู้แยกในห้องเล็ก ซึ่งรัฐมนตรีต้องมาตอบ แต่ไม่มีการถ่ายทอดสด ก็จะมีวันละ 5-6 กระทู้ ก็เรียกว่ามีการตอบมากกว่าทุกสมัย ทำให้กระทู้ค้างไม่มาก

...มีคนเสนอว่าอยากจะให้ทำแบบสภาอังกฤษ ที่มีนายกรัฐมนตรีมาตอบสดทุกอาทิตย์ เป็นไปได้ไหมที่ประธานรัฐสภาจะริเริ่มเรื่องนี้

"ประธานรัฐสภา และประธานสภาผู้แทนราษฎร" บอกว่า ไม่ใช่แค่ประเทศอังกฤษเท่านั้น ประเทศที่เป็นประชาธิปไตยจัด อย่างแคนาดา และประเทศทางยุโรปหลายประเทศ ก็จะมีกระทู้สดทุกสัปดาห์ สัปดาห์ละ 1 วัน ประมาณ 1 ชั่วโมง ซึ่งมีการกำหนดวันและการถ่ายทอดสด และส่วนใหญ่เป็นกระทู้นายกรัฐมนตรี หรือรัฐมนตรีกระทรวงที่สำคัญ ที่เป็นในลักษณะ ถามมาตอบไป คล้ายกับการโต้วาที กลายเป็นช่วงที่ประชาชนให้ความสนใจมากมาย

เมื่อถามว่ารัฐสภาไทยมีหรือไม่ ? ... ประเทศไทยจะมีในลักษณะเดียวกัน แตกต่างกันที่คำถามจะมีการแจ้งก่อนการประชุมสภา เมื่อดูว่าเข้าเกณฑ์กระทู้สดก็จะส่งคำถามให้รัฐบาล เมื่อรัฐบาลได้รับคำถามก็จะมีการเตรียมตัวไว้ก่อน ไม่ได้เป็นการถามสดเหมือนในต่างประเทศ

เมื่อถามว่าประธานรัฐสภาไทยจะออกข้อบังคับได้หรือไหม ? ... ประธานรัฐสภาไม่สามารถทำนอกกติกาได้ เพราะข้อบังคับเกิดขึ้นจากสมาชิกฝ่ายรัฐบาล และฝ่ายค้าน เป็นคนตั้งกติกาขึ้นมา แต่อาจทำได้คือการขอร้องแก้ข้อบังคับให้ทันสมัยขึ้น แต่ต้องอยู่ที่เสียงข้างมาก

"จริงๆ มองว่าคำถามไม่ยากหรอก เพราะมันอยู่ที่สถานการณ์อยู่แล้ว และก็กระทู้สด หากผมเป็นรัฐบาลอันไหนผมตอบได้ก็ตอบ ตอบไม่ได้ก็บอกไปเลยว่ายังตอบไม่ได้ เพราะคุณถามกะทันหัน เดี๋ยวไปถามข้างนอกก็ได้ เดี๋ยวคราวหน้าเอารายละเอียดมาให้"

ขณะที่การประชุมกรรมาธิการ ที่มีคนอยากให้ถ่ายทอดสด … "ประธานรัฐสภาและประธานสภาผู้แทนราษฎร" ระบุว่า เรื่องนี้จะมีทั้งด้านบวกและลบ เพราะแต่ละคนที่เชิญมามีทั้งข้าราชการ ประชาชน ที่เข้ามาให้ข้อมูล อาจทำให้มีปัญหาฟ้องร้อง 

อันนี้มีทั้งบวกและลบ เพราะมีข้อโต้เถียงและได้ข้อสรุปกันแล้วก็คือว่า เพราะเวลาประชุมกรรมาธิการมันลึกกว่าประชุมในสภา เพราะแต่ละคนที่เชิญมามีทั้งข้าราชการ เป็นประชาชน เนื่องด้วยข้อมูลบางอย่างเป็นข้อมูลที่ต้องสืบสวนสอบสวน

จบตำแหน่งประธานรัฐสภา ... ไปไหนต่อ ?

"วันมูหะมัดนอร์ มะทา" บอกว่า ปัจจุบันอายุ 80 ปี ถือเป็นผู้สูงอายุแล้ว จึงอยากถอยให้คนรุ่นหลังที่เก่งๆ ได้แสดงศักยภาพ แต่ว่าประสบการณ์เขาอาจจะยังไม่มากพอ จึงอยากนำประสบการณ์ที่ผ่านมาถ่ายทอดให้กับนักการเมืองรุ่นใหม่ โดยจะขอเป็นพี่เลี้ยงและที่ปรึกษาให้

"ประชาชนเป็นสิ่งสำคัญ ถ้าทำอะไรเพื่อประชาชน โอกาสผิดพลาดน้อยมาก แต่ถ้าทำเพื่อตัวเอง เพื่อพรรคพวก โอกาสผิดพลาดสูง โอกาสจะสอบตกมีสูง สิ่งที่สำคัญที่สุดของ สส. คือ "สัจจะ วาจา" รับปากแล้ว ต้องทำสิ่งที่เป็นจริง แล้วต้องไม่ลืมสิ่งที่พูด หรือสิ่งรับปากไว้ พูดแล้วต้องจำ ต้องพยายามทำให้ได้ ให้สุดความสามารถของเรา หรือที่เรียกว่า "คำมั่นสัญญา"

อาจารย์วันนอร์ กล่าวว่า สิ่งที่เรารับปากกับประชาชนไว้ ต้องทำให้ได้ อย่างน้อยอาจจะไม่ใช่ในเดือนสองเดือน แต่ช่วง 4 ปี ที่ทำหน้าที่เป็นผู้แทนราษฎร สิ่งนั้นต้องเกิดขึ้นจริง

มั่นใจไทยจะไม่กลับไปสู่รัฐประหาร

"วันมูหะหมัดนอร์ มะทา" มองว่า ถ้าประชาชนยอมให้เกิดรัฐประหารได้ง่าย โดยที่เราไม่รู้สึกว่าเราเสียหาย การปฏิวัติรัฐประหารก็เกิดขึ้นได้ เราไม่สามารถจะบอกได้ เพราะว่าประชาชนยินยอม

"อย่างประเทศมาเลเซีย ผมถามว่าของคุณไม่มีเหรอ เพราะว่าคุณมีทหารเหมือนกัน …เขาบอกว่าผมต้องพักแล้วปฏิวัติ" ทำไม่ได้หรอก เพราะประชาชนไม่ยอม "แต่ของเราบางครั้งประชาชนยอม นอกจากยอมธรรมดา ยังเอาดอกไม้ไปให้ อันนี้เขาก็ได้ใจ"

"เช่นเดียวกับประธานาธิบดีตุรกีที่ ทุบปฏิวัติรัฐประหาร นำประชาชนออกมาเต็มถนน ขณะที่ข้าราชการ ก็บอกไม่ทำงาน ถ้าประเทศไม่เป็นประชาธิปไตย 3 วันเท่านั้น ทหารกลับกรมกองไม่เกิดการรัฐประหาร …ข้าราชการ ทั้งผู้พิพากษา อัยการที่เข้าข้างปฏิวัติถูกจับเป็นแถว"

เพราะฉะนั้นประชาชนสำคัญที่สุดของระบบประชาธิปไตย หากประชาชนไม่ยอม อำนาจอื่นๆ ทำอะไรไม่ได้ "ผมว่าทุกวันนี้ ดีวัน ดีคืน เพราะสภาและประเทศเป็นประชาธิปไตย"

รายการ "คุยนอกกรอบ กับ สุทธิชัย หยุ่น" ออกอากาศทางสถานีโทรทัศน์ไทยพีบีเอส เวลา 21.30-22.00 น. ทุกวันพฤหัสบดี

ข่าวที่เกี่ยวข้อง