- สั่งปิดโรงงานน้ำแข็งแอมโมเนียรั่วชั่วคราว ยอดผู้ป่วย 160 อาการหนัก 9
- คพ.แนะ "แอมโมเนีย" อันตราย ต้องรีบอพยพ- ตร.สั่งสอบสาเหตุรั่ว
กรณีการรั่วไหลของ "สารแอมโมเนีย" ภายในโรงงานน้ำแข็งราชา ต.หนองปรือ อ.บางละมุง จ.ชลบุรี เมื่อช่วงกลางดึกของวันที่ 17 เม.ย.ที่ผ่านมา โดยแอมโมเนียฟุ้งกระจายไปในรัศมี 1 กิโลเมตร
เหตุการณ์นี้ เจ้าหน้าที่เร่งอพยพประชาชนและคนงานออกจากพื้นที่เพื่อความปลอดภัย พร้อมกับสั่งห้ามผู้ไม่เกี่ยวข้องเข้าใกล้บริเวณเกิดเหตุ รวมทั้งเคลื่อนย้ายผู้ป่วยที่ได้รับสารเคมี ส่งโรงพยาบาลโดยด่วน ซึ่งบางรายมีอาการแสบตา แสบจมูก บางรายหมดสติ
จากเหตุการณ์นี้เบื้องต้นมีผู้ประสบภัยกระจายรักษาตัวตามโรงพยาบาลต่าง ๆจำนวน 141 คน ขณะที่ อุตสาหกรรมจังหวัดชลบุรี จะลงพื้นที่ตรวจสอบจุดเกิดเหตุอีกครั้ง วันนี้จะชวนมาทำความเข้าใจอันตรายของ "สารแอมโมเนีย" ให้มากขึ้น
อ่าน : ระเบิดในโรงงานน้ำแข็งบางละมุง แอมโมเนียรั่ว อพยพ ปชช.วุ่น เจ็บกว่า 100 คน
"สารแอมโมเนีย" เป็นสารเคมีที่ถูกจำแนกความอันตรายไว้เป็นประเภท (Class) 2.3 คือ ก๊าซพิษและกัดกร่อน และยังเป็นวัตถุอันตรายชนิดที่ 3 ตาม พ.ร.บ.วัตถุอันตราย พ.ศ.2535 โดยมีการนำมาใช้ประโยชน์อย่างหลากหลายทั้งด้านเกษตรกรรม เช่น ปุ๋ยแอมโมเนียไนเตรท
และอุตสาหกรรม เช่น ก๊าซแอมโมเนียสำหรับทำความเย็นของอุตสาหกรรมห้องเย็น โรงผลิตน้ำแข็ง ซึ่งเป็นโรงงานประเภทหนึ่ง ที่มีความเสี่ยงอันตรายจากเคมีดังกล่าว และก่อให้เกิดมลพิษทางสิ่งแวดล้อม โดยหากมีการปนเปื้อนสู่แหล่งน้ำ จะส่งผลให้ปลาและสัตว์น้ำตาย
สารดังกล่าว เป็นก๊าซไม่มีสี มีกลิ่นฉุน ประกอบด้วยไนโตรเจนและไฮโดรเจน มีสูตรเคมี NH3 สามารถละลายน้ำได้สูงและก่อตัวเป็นสารละลายที่มีความเป็นด่างสูง
"แอมโมเนีย" หากเกิดการรั่วไหลของสารแอมโมเนีย จะทำให้เป็นอันตรายต่อสุขภาพ หากได้รับในปริมาณมาก อาจถึงขั้นทำลาย "ปอด"
"ก๊าซแอมโมเนีย" อาการพิษเฉียบพลัน
"แอมโมเนีย" มีประโยชน์ในด้านอุตสาหกรรมที่หลากหลายประเภท แต่การสัมผัสกับ "แอมโมเนีย" ในปริมาณมากหรือความเข้มข้นสูง จะส่งผลให้เกิดความผิดปกติกับสุขภาพร่างกาย ได้อย่างไรบ้าง มีรายละเอียดดังต่อไปนี้
"การสัมผัส" : แอมโมเนียเป็นสารเคมีที่เป็นอันตรายสูงต่อสุขภาพ หากสัมผัสหรือเข้าสู่ร่างกายจะทำให้เจ็บป่วยเฉียบพลัน เมื่อก๊าซแอมโมเนียสัมผัสกับน้ำจะทำให้เกิดปฏิกิริยา มีฤทธิ์กัดกร่อนเนื้อเยื่อ เยื่อบุต่าง ๆ ของร่างกายที่มีน้ำเป็นองค์ประกอบ ทำให้ผู้ป่วยมีอาการแสบตา ตาบวม น้ำตาไหล เวียนหัว ตาลาย อาเจียน ระคายเคืองผิวหนัง แสบคันตามผิวหนัง เป็นแผลไหม้
"การสูดดม" : หากสูดดมแอมโมเนีย เข้าไปทำให้ แสบจมูก แสบคอ บางรายอาจมีอาการไอ เจ็บหน้าอก ทำให้ปอดบวมน้ำ เสี่ยงหัวใจวาย หากสูดดมก๊าซที่ความเข้มข้นสูงมากจนหมดสติ จะระคายเคืองหลอดลมและถุงลมอย่างต่อเนื่อง มีอาการเหมือนเป็นหืด หรือมีอาการระคายเคืองง่ายขึ้นหลังสูดดมก๊าซ หรือฝุ่นอื่น ๆ รวมไปถึงจะส่งผลระยะยาวเป็นเดือนหรือปี ทำให้คุณภาพชีวิตลดลง
หากได้รับ "ก๊าซแอมโมเนีย" ที่มีความเข้มข้นมากกว่า 1,700 ppm เกิน 30 นาที จะทำให้หมดสติและเสียชีวิตได้
อาการระยะยาว ได้แก่ ผู้ที่สัมผัส (มักพบในกรณีผู้ทำงานในโรงงาน) เป็นระยะเวลานาน อาจมีอาการไอเรื้อรัง เหนื่อยขึ้น เอกซเรย์ปอดผิดปกติหรือตรวจการทำงานปอด ผิดปกติ มีรายงานการเกิดพังพืดในปอด ทั้งนี้ ในส่วนของอุบัติภัยการรั่วไหลมักจะเกิดอาการแบบเฉียบพลันเป็นส่วนใหญ่
ป้องกันอย่างไรหาก "ก๊าซแอมโมเนียรั่วไหล"
นพ.ทวีชัย วิษณุโยธิน ผู้อำนวยการสำนักงานป้องกันควบคุมโรคที่ 9 นครราชสีมา อธิบายไว้ว่า "สารแอมโมเนีย" อุบัติเหตุรั่วไหลของ "แอมโมเนีย" ในประเทศไทย ส่วนใหญ่เกิดจากการเลือกใช้อุปกรณ์ที่ไม่เหมาะสมกับการใช้งาน อุปกรณ์ชำรุด เช่น วาล์วรั่ว เกิดความผิดพลาดระหว่างจัดเก็บหรือขนย้ายสารแอมโมเนีย ประเก็นรั่ว และขาดการบำรุงรักษาอย่างถูกวิธี
วิธีป้องกัน ก๊าซแอมโมเนียรั่วไหล สำหรับผู้ประกอบการโรงงานต้องคำนึงถึงเรื่องความปลอดภัยเป็นอันดับแรก ใช้อุปกรณ์ที่ได้รับมาตรฐานสากล ดูแลรักษา ซ่อมบำรุงอุปกรณ์อยู่เสมอ ดังนี้
- สวมอุปกรณ์ป้องกันขณะทำงาน
- ตรวจภาชนะบรรจุ และท่อส่งก๊าซสม่ำเสมอ
- เก็บแอมโมเนียในที่ปลอดภัยนอกอาคาร
- รถบรรทุกสารเคมีต้องมีสัญลักษณ์บอกอันตราย
- ฝึกซ้อมรับมือเหตุฉุกเฉินปีละ 1 ครั้ง
ทำอย่างไรเมื่อเกิดเหตุ "ก๊าซแอมโมเนียรั่วไหล"
ไม่มีใครอยากให้เกิดเหตุร้าย แต่การป้องกันและรู้วิธีการปฏิบัติที่ถูกต้อง เหมาะสมเมื่อเกิดเหตุ "ก๊าซแอมโมเนียรั่วไหล" จะทำให้เราสามารถที่จะลดผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นได้ แล้วเราจะสามารถทำได้อย่างไรบ้างนั้น มีรายละเอียดดังนี้
- ก่อนเกิดเหตุ หากอยู่ใกล้โรงงานในระยะ 1 กิโลเมตร ต้องคอยสังเกตความผิดปกติ หากเห็นควันสีขาวจากโรงงาน รีบแจ้งหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทันที
- ขณะเกิดเหตุ ไม่วิ่งไปทางใต้หรือเหนือลม แต่ตั้งฉากออกจากทิศทางลม
- ไม่ใช้ผ้าชุบน้ำปิดปากและจมูก เพราะอาจได้รับก๊าซมากขึ้น เนื่องจากแอมโมเนียละลายน้ำได้ดี ควรใช้ผ้าแห้งและหนาปิดแทน
วิธีปฐมพยาบาลเบื้องต้น จากเหตุ "ก๊าซแอมโมเนียรั่วไหล"
สำหรับวิธีการปฐมพยาบาลเบื้องต้น สามารถทำได้ตามวิธีการดังต่อไปนี้
- หากสาร "เข้าตา" ควรตะแคงเอียงหน้าเอาคอนแทคเลนส์ออก (ถ้ามี) แล้วล้างตาด้วยนํ้าสะอาดจํานวนมากจากหัวตามาหางตาจนกว่า จะไม่เคืองตา ห้ามขยี้ตา ควรล้างนํ้าอย่างน้อย 30 นาที รีบนําส่งโรงพยาบาลทันที
- หากรับสาร "ทางปาก" ให้ดื่มนํ้ามาก ๆ ห้ามทําให้อาเจียน ถ้าหมดสติ ควรจัดให้นอนหงายราบเอียงหน้าไปด้านใดด้านหนึ่งสังเกตการหายใจ และจับชีพจรที่คอ หรือขาหนีบ
- หาก "ทางผิวหนัง" ควรถอดเสื้อผ้าและเครื่องประดับออกให้หมด ล้างด้วยนํ้าให้มาก ๆ อย่างน้อย 15 นาที ล้างบริเวณที่สัมผัสถูกสารด้วยนํ้าที่ไหลผ่านจํานวนมากจนแน่ใจว่าออกหมด
- หากหายใจเอาสารแอมโมเนียเข้าไป ให้ใช้อุปกรณ์ช่วยหายใจชนิด มีที่ครอบให้อากาศแบบวาล์วทางเดียว (One-way valve)
- รีบนําผู้ประสบเหตุออกจากที่เกิดเหตุไปอยู่บริเวณเหนือลม และมีอากาศถ่ายเท สะดวกโดยเร็วที่สุด
- หากยังหายใจ ให้คลายเสื้อผ้าให้หลวม ปลดเข็มขัดหรือเสื้อชั้นใน ถ้ามีเหงื่อออก ให้เช็ดตัว หากรู้สึกตัวให้ดื่มนํ้าหรือเครื่องดื่มเย็นๆ
- หากหายใจขัดควรให้ออกซิเจน แต่ถ้าหยุดหายใจต้องช่วยผายปอดจนกว่าจะหายใจสะดวก ห้ามใช้วิธีผายปอด ด้วยวิธีเปาปาก
- ตรวจสอบการหายใจและการเต้นของหัวใจ หากหยุดหายใจต้องทําการปั้มหัวใจเพื่อช่วยชีวิต และรีบนําส่งโรงพยาบาลทันที
- วิธีการรักษา เป็นการรักษาตามอาการและไม่มียาต้านพิษเฉพาะ
- หลังเกิดเหตุให้สังเกตตัวเองเป็นเวลา 1 เดือน ว่ามีอาการไอ แสบคอ มีเสมหะหรือไม่ หากมีควรรีบไปพบแพทย์
อ่านข่าวอื่น ๆ
"นิวเคลียร์" จุดอ่อนอิหร่าน ทั่วโลกหวั่น "อิสราเอล" โจมตี