ค้นหา
ทีวีออนไลน์
เว็บไซต์ในเครือ
เว็บไซต์บริการ

อวกาศไม่ใช่สิ่งเพ้อฝัน คือ เศรษฐกิจ "อนาคต -ปากท้อง" ของไทย

Logo Thai PBS
อวกาศไม่ใช่สิ่งเพ้อฝัน คือ เศรษฐกิจ "อนาคต -ปากท้อง" ของไทย
อ่านให้ฟัง
00:00อ่านข่าวให้ฟังโดย Botnoi Voice เว็บแอปพลิเคชันสำหรับสร้างเสียงจากข้อความด้วย AI (Text to Speech)

"รัฐบาลชุดนี้ต้องการกระตุ้นเศรษฐกิจ เชื่อว่าเศรษฐกิจอวกาศมันอยู่ในสายตาที่พิจารณาอยู่แล้ว และน่าจะมีโอกาสที่จะทำรายได้ให้กับประเทศไทย แต่ต้องกลับมาดูทำและความเข้าใจก่อนว่าเศรษฐกิจของโลกมันมีโครงสร้าง มีหน้าตา"

รายการคุยนอกกรอบ กับ สุทธิชัย หยุ่น มีโอกาสมานั่งคุยสบายๆ กับ "ดร.พงศธร สายสุจริต" ภาควิชาวิศวกรรมเครื่องกลและการบิน - อวกาศ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ คนไทยคนแรกที่สร้างดาวเทียมสัญชาติไทย ซึ่งมีความมุ่งมั่นจะสร้างยานอวกาศไปสู่ดวงจันทร์ รวมทั้งมุมมองอนาคต ประเทศไทยที่รัฐบาลจะต้องเตรียมรับกับความท้าทายด้านนโยบายเศรษฐกิจอวกาศในอนาคตว่าจะมีทิศทางอย่างไร

ดร.พงศธร เปิดประเด็นความสัมพันธ์ระหว่าง "อวกาศ" กับ "เศรษฐกิจ" ให้ฟังว่า เศรษฐกิจอวกาศโลก เริ่มเกิดขึ้นตั้งแต่ยุคสงครามโลกครั้งที่ 2 หรือที่เรียกว่า "Old Space" แต่ปัจจุบันเราจะได้ยินคำว่า "New Space" ซึ่งสามารถแบ่งตลาดเศรษฐกิจอวกาศเป็น 4 กลุ่ม

กลุ่มแรกคือ "สหรัฐอเมริกา" ที่มีระบบนิเวศอุตสาหกรรมอวกาศที่สร้างขึ้นมาหลังสงครามโลกแบบแข็งแรงมาก , กลุ่มที่ 2 "สหภาพยุโรป" เป็นระบบนิเวศเศรษฐกิจอวกาศของตัวเองอย่างชัดเจน ,กลุ่มที่ 3 "รัสเซีย และ จีน" ที่จะต้องพยายามคานอำนาจสองฝ่าย และกลุ่มที่ 4 "the rest of the world" โดยไทยถูกจัดอยู่ในกลุ่มประเทศที่ยังไม่พัฒนาทางด้านอวกาศ แต่หากดูในกลุ่มนี้จะมี อินเดีย ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ สิงคโปร์ ที่ถือเป็นประเทศเจริญแล้ว

แต่มีคำถามว่า…ประเทศญี่ปุ่น ที่ให้ความสำคัญและทุ่มเทกับอุตสาหกรรมอวกาศ มานานกว่า 60 กว่าปี ทำไมยังถูกจัดอยู่ในกลุ่มประเทศที่ 4 นั่นเป็นเพราะประเทศที่อยู่ใน 3 กลุ่มนั้น ได้มีอำนาจควบคุมตลาดเกือบทั้งหมดของโลกไปแล้ว (the rest of the world) ดังนั้นแม้ว่าญี่ปุ่น จะพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศเพื่อใช้ในประเทศ หรือส่งไปขายก็จะได้เพียงประเทศที่อยู่ในโซนใกล้กัน เช่น UAE เวียดนาม แต่จะไม่ใช่ประเทศใน 3 กลุ่ม

ส่วนจะเข้าไปสู่ตลาดนี้ได้อย่างไร จะขายให้ใคร?...ดร.พงศธร บอกว่า "ถ้าเราจะขายเทคโนโลยีอวกาศ เป้าหมายของเราจะกลายเป็นกลุ่มที่ 4" ที่มีประเทศรุ่นพี่ยักษ์ใหญ่นำหน้าไปแล้ว ไม่ว่าจะเป็น อินเดีย ,จีน และสิงคโปร์

จึงต้องมีการวางแผนว่าจะไปทิศทางใด หรือประเทศไทยจะยอมแพ้ด้วยการที่ไม่เป็นเจ้าของเทคโนโลยี และย้อนกลับไปเป็นเหมือนยุค 60 ที่รับจ้างผลิตรถให้กับประเทศที่พัฒนาแล้ว ซึ่งเป็นสิ่งที่รัฐบาลจะต้องคิดเพื่อกำหนดยุทธศาสตร์

หากให้วิเคราะห์ว่าเส้นทางไหนยากกว่า เส้นทางไหนเป็นไปได้มากกว่า ดร.พงศธร เห็นว่า หากประเทศไทยเลือกเส้นทางแรก...ที่เคยทำมา คือรับจ้างผลิต แต่ไม่สามารถคาดเดาได้ว่าการขับเคลื่อนทางเศรษฐกิจจะเป็นเหมือนอุตสาหกรรมรถยนต์หรือไม่ แต่สิ่งหนึ่งที่ตอบได้ "ถ้าเราไม่ใช่เจ้าของเทคโนโลยี เราจะไม่มีวันร่ำรวยจากสิ่งนี้ แต่เราจะมีเงินใช้ เป็นประเทศที่เป็นเหมือนเดิม เป็นประเทศที่มีรายได้ปานกลาง มีงานทำ จับจ่ายซื้อของได้ แต่ไม่ใช่ประเทศที่ร่ำรวย"

ดร.พงศธร  สายสุจริต ภาควิชาวิศวกรรมเครื่องกลและการบิน - อวกาศ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ

ดร.พงศธร สายสุจริต ภาควิชาวิศวกรรมเครื่องกลและการบิน - อวกาศ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ

ดร.พงศธร สายสุจริต ภาควิชาวิศวกรรมเครื่องกลและการบิน - อวกาศ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ

….ทางเลือกที่สอง เป็นทางเลือกที่ยาก เหมือนกับประเทศอื่นๆ ที่ผ่านมา แต่ท้ายที่สุดเราจะเป็นประเทศที่เป็นเจ้าของเทคโนโลยีที่ร่ำรวย "ถ้าเรามีกินท้องอิ่มวันนี้ ก็เลือกเส้นทางเก่า แต่ถ้าจะเลือกอดทน เพื่ออนาคตที่ดี ก็เลือกเส้นทางที่สอง แต่มันก็จะยากลำบาก แต่เชื่อว่าเราทำได้"

ดร.พงศธร กล่าวว่า สิ่งที่คิดอยู่ไม่ได้เกินตัว สำหรับประเทศไทย ยกตัวอย่าง ประเทศอินเดีย ที่แม้จะเลือกเส้นทางแรก คือ รับจ้างผลิตชิ้นส่วน แต่ยังมีการวางแผนไปสู่เส้นทางที่สอง ด้วยการเป็นเจ้าของเทคโนโลยี การโชว์ศักยภาพบุคลากรของคนในประเทศที่มีความรู้ทางด้านเทคโนโลยีขึ้นสูง ด้วยการส่งยานอวกาศไปสำรวจดวงจันทร์ได้สำเร็จ ซึ่งถือเป็นประเทศที่ 4 ของโลก สหภาพโซเวียต ,สหรัฐอเมริกา, และจีน ด้วยความรู้ความสามารถด้านบุคลากร เทคโนโลยีขั้นสูง ค่าแรงที่ถูกกว่า จึงทำให้กลุ่มประเทศในยุโรปเลือกที่จะไปตั้งโรงงานผลิตชิ้นส่วนดาวเทียมที่ประเทศอินเดีย

"ไม่ง่ายสำหรับประเทศไทยหากจะเลือกแนวทางแรก เพราะเรามีคู่แข่ง เช่นเดียวกับเวียดนาม ก็มีการสร้างดาวเทียมภายในประเทศ ซื้อดาวเทียมใช้ และใช้เทคโนโลยีอวกาศกระตุ้นเศรษฐกิจ เพราะฉะนั้นเราก็มีคู่แข่งอีกหลายที่"

อย่างไรก็ตาม หากย้อนกลับไปดูนิยามของ "สนธิสัญญาอวกาศของโลก" ดร.พงศธร ระบุว่า เป็นดินแดนที่มนุษยชาติ หรือใครก็ได้สามารถไปหาประโยชน์ได้ ดังนั้นเมื่อกลายเป็นโลก "New Space" ที่ไม่ใช่แค่ประเทศมหาอำนาจแสวงหาผลประโยชน์จากอวกาศ แต่ประเทศอื่น ๆ เริ่มรู้สึกว่า หากตัวเองไม่ไปใช้ประโยชน์ถือว่าเสียเปรียบ จึงเป็นที่มาว่าหลายๆ ประเทศทำไมจึงพยายามที่จะไปสู่อวกาศเพื่อค้นหาโอกาสใหม่ๆ

หากประเทศไทยเราอยู่นิ่งๆ ก็หมายความว่าตรงนี้มีพื้นที่ว่างเปล่า ใครก็ได้สามารถไปใช้ประโยชน์ได้ หากเราลังเลว่าจะไปหรือไม่ไปดี ไม่มีการกำหนดยุทธศาสตร์ที่ดี เราก็จะตกขบวน หากมองปัจจุบันไทยถือว่าใกล้ตกขบวนแล้ว

ถามว่า ทำไมถึงคิดแบบนั้น… ดร.พงศธร มองว่า หากเป็นเมื่อ 10 ปีที่แล้ว คิดว่าประเทศไทยยังไม่ตกขบวน หรืออาจจะอยู่ในประเทศต้นๆ ของกลุ่มที่ 4 แต่วันนี้ ประเทศไทยรั้งท้ายและใกล้ตกขบวน ถ้าจะไม่ตกขบวน จะต้องตามให้ทันด้วยเวลาอันสั้น นั่นหมายความว่า มันมีสิ่งที่เราต้องเสียไปพอสมควร สอดคล้องกับทรัพยากรด้านการเงิน และบุคลากร เมื่อเปรียบเทียบกับประเทศอื่น ก็น่าเป็นห่วงเพราะอยู่ในสภาพ "Old Space" รวมถึงงบประมาณของรัฐก็มีแบบจำกัด ดังนั้นหากจะทำก็จะต้องวางแผนอย่างเป็นระบบ

สิ่งที่น่าเป็นกังวลในขณะนี้ ประเทศไทยยังไม่มีแนวทางขับเคลื่อนชัดเจน ส่งผลให้มหาวิทยาลัย และสถาบันการศึกษา โดยเฉพาะ "นักวิศวะ" "นักฟิสิกส์" ไม่สามารถพัฒนาหลักสูตรสร้างคนให้สอด คล้องกับทิศทางนโยบายรัฐบาล

หากประเทศไทยเลือกที่จะเดินตามแนวทางรับจ้างผลิต ก็จะต้องผลิตบุคลากรเพื่อมารองรับอุตสาหกรรมรูปแบบนี้ แต่หากเลือกจะเป็นเจ้าของเทคโนโลยี การพัฒนาคนก็จะเป็นไปอีกแบบ"ในขณะที่เรากำลังลังเลว่าเราจะไปแบบไหน เราจะทำหรือไม่ทำ เราก็สูญเสียโอกาสไปมากพอสมควร" แต่หากถามว่าจะต้องเลือกแนวทางไหน…มองว่าจะเลือกทั้งสองแนวทาง ต้องทำคู่กันในสัดส่วนที่เหมาะสม

"ส่วนใหญ่ที่ผ่านมาเรามองไปในเรื่องของโครงสร้างวิศวกรรมขนาดใหญ่ ถือเป็นวิสัยทัศน์ที่ดี เพราะเป็นการกระตุ้นเศรษฐกิจขนาดใหญ่ ทำให้คนในชาติฮึกเหิม แต่สิ่งนั้นเป็นกรอบด้านนอก แต่เนื้อในถ้าเราไม่มาคิดถึงรายละเอียดว่าเราจะไปต่อยังไง สุดท้ายเราก็จะไม่มีอะไรเหมือนเดิม"

"คนไทยคนแรก"สร้างยานอวกาศไปดวงจันทร์

ในฐานะที่เป็นคนทำดาวเทียมสัญชาติไทยรุ่นแรก ต่อมาก็พยายามฝันสร้างยานอวกาศไปดวงจันทร์ ในแง่ของการผลักดันประเทศไทยให้อยู่ในตำแหน่งไหนของเวทีโลก ถ้ารัฐบาลคุยด้วยจะเสนออย่างไร

ดร.พงศธร บอกว่า ปัญหาของประเทศไทยไม่ใช่เรื่องเทคนิค แต่อยู่ที่การตัดสินใจ เราจะทำอะไร ทำอะไรให้ดีกว่า ทำอะไรให้สำเร็จก่อน หากประเทศไทยตั้งใจที่จะต้องมีอุตสาหกรรมอวกาศ ต้องมีกลุ่มคนที่พัฒนาเทคโนโลยีอวกาศให้ได้ ต้องตัดสินใจอย่างมุ่งมั่น หรือหากต้องการเป็นศูนย์กลางในการสร้างดาวเทียมขาย ชิ้นส่วนจรวดขาย ไทยก็ต้องวางแนวทางอย่างจริงจัง ประเทศไทยจะทำหรือไม่ และจะทำอะไร คือโจทย์ของรัฐบาล

ดร.พงศธร เชื่อว่า เอกชนพร้อมร่วมลงทุน หากรัฐบาลส่งเสริมผลักดัน พร้อมกำหนดแผนอย่างชัดเจน 10 ปี, 20 ปี, 30 ปี เพื่อเป็นแรงจูงใจสำหรับนักลงทุนทั้งชาวไทยและต่างชาติ

"พอทุกอย่างมันไม่ชัดเจน ไม่ได้ออกแบบมาเป็นระบบ เราจึงไม่สามารถดึงศักยภาพคนเก่ง ๆ ให้มาช่วยงานได้ อย่างเรื่องเศรษฐกิจอวกาศหากรัฐบาลการันตีว่า "ต่อไปนี่รัฐบาลจะเป็นลูกค้า จากนี้ไปอีก 25 ปี เราจะมีดาวเทียมปีละ 10 ดวง สมมุติเราจะใช้เงิน 1 หมื่นล้านบาท คิดต่อเนื่องไปถึง50 ปี พร้อมประกาศว่ารัฐบาลจะเป็นลูกค้า"

"รัฐ" เป็นคนที่ใช้และได้ประโยชน์ เพราะเป็นคนกำหนดคุณสมบัติดาวเทียม เช่น ดาวเทียมดูน้ำท่วม ,ดาวเทียมดู PM 2.5 ,ดาวเทียมดูไฟป่า, ดาวเทียมสื่อสารความเร็วสูง ซึ่งจะทำให้คนเก่งๆ รวมตัวกันเพื่อพัฒนาเทคโนโลยีเหล่านี้ จากนั้นจะเกิดผู้ประกอบการธุรกิจกลุ่มย่อย ๆ

ทำไม? ไทยจะต้องไปดวงจันทร์

มีคำถามว่า เหตุใดไทยต้องไปดวงจันทร์? ทั้งที่ชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชนยังไม่ดีขึ้นเลย ... ดร.พงศธร กล่าวว่า เมื่อครั้งที่มีนักวิชาการออกมาบอกว่า "คนไทยจะไปดวงจันทร์" ตนเองได้ติดตาม และอ่านหลายความเห็นว่า ทำไมไม่ทำถนนให้ดีก่อน ,โรงเรียนห้องน้ำยังไม่สะอาดเลย, ชีวิตความเป็นอยู่ของคนในชาติยังไม่ดีเลย"

"ทำไมจะต้องเอาเงินไปทำในสิ่งที่ไม่รู้จะสำเร็จเมื่อไหร่" ส่วนตัวเข้าใจกับความคิดของทุกคน แต่อีกใจหนึ่งก็อยากจะบอกว่าตัวเองก็เคยผ่านจุดนั้นมาก่อน ในสมัยที่เป็นนักเรียน ยังคิดเลยว่าสิ่งนี้เป็นสิ่งที่ประเทศร่ำรวยเท่านั้นที่จะทำ แต่พอผ่านมาระดับหนึ่ง ทำให้เข้าใจว่า ทำไมรัฐบาลประเทศเหล่านั้นถึงพยายามที่จะทุ่มเงิน ทุ่มเวลา ทุ่มทรัพยากรในการสร้าง เพราะสุดท้ายแล้วมันจะย้อนกลับมาในรูปแบบต่างๆ มากมาย ที่คืนทุน เศรษฐกิจจะดีขึ้น ส่งผลต่อคุณภาพชีวิต เพียงแต่มันมองยาก เพราะว่าสิ่งเหล่านี้มันยังไม่เห็นทันที

และอุปสรรคที่ยากไม่ใช่เรื่องการพัฒนาเทคโนโลยี แต่เป็นความเข้าใจของคนในชาติ ฉะนั้นต้องสร้างการรับรู้ เชื่อว่าทุกคนอยากได้ ทุกคนเห็นว่ามันดี แต่ก็เข้าใจได้ว่าทำไมรัฐบาลจึงลังเล เนื่องด้วยทรัพยากร ภาษีประชาชนมีอย่างจำกัด ซึ่งก็ต้องอยู่ที่การจัดลำดับความสำคัญของงบประมาณ 

เพราะ "อวกาศ"ไม่ใช่เรื่องเพ้อฝัน แต่ คือ อนาคต เศรษฐกิจ ปากท้องของประเทศไทย

พบกับรายการ:คุยนอกกรอบ กับ สุทธิชัย หยุ่น ทุกวันพฤหัสบดี เวลา 21.30-22.00 น.ทางสถานีโทรทัศน์ไทยพีบีเอส

ข่าวที่เกี่ยวข้อง