วันที่ 14 เมษายน เป็นอีกวันสำคัญในช่วง "สงกรานต์ 2567" นั้นเพราะคือ "วันครอบครัว" หรือ "วันครอบครัวแห่งชาติ" กำหนดขึ้นเพื่อให้ทุกคนตระหนักถึงความสำคัญของสถาบันครอบครัว
นั้นด้วยสังคมปัจจุบันเปลี่ยนจากที่เคยเป็น "ครอบครัวขนาดใหญ่" กลายเป็น ครอบครัวที่มีขนาดเล็กลง บ้างก็เป็น พ่อเลี้ยงเดี่ยว หรือ แม่เลี้ยงเดี่ยว ครอบครัวที่มีผู้สูงอายุอยู่กับหลาน ขณะที่ความรัก ความอบอุ่นของบางครอบครัว ก็อาจเปลี่ยนไป "ไม่เหมือนเดิม"
วันนี้จะพามาทำความเข้าใจ "วันครอบครัว" นั้นมีจุดเริ่มต้นขึ้นมาได้อย่างไร และทำไมถึงถูกกำหนดให้อยู่ในช่วงเทศกาล "สงกรานต์" พร้อมข้อแนะนำดี ๆ ให้ทุกคนได้เป็นส่วนหนึ่งในการช่วยเติมเต็มความสุขให้กันและกันใน "ครอบครัว"
วันครอบครัว 14 เม.ย.
"วันครอบครัว" ถูกกำหนดขึ้นครั้งแรก เมื่อไร
ย้อนไปเมื่อ พ.ศ.2532 ในวันที่ 31 ต.ค. คณะรัฐมนตรี ซึ่งมีนายกรัฐมนตรีในขณะนั้นคือ พล.อ.ชาติชาย ชุณหะวัณ โดยคุณหญิงสุพัตรา มาศดิตถ์ รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เสนอมติให้ ครม. พิจารณาให้วันที่ 14 เม.ย. ของทุกปี เป็น วันครอบครัว ซึ่งอยู่ในช่วง "เทศกาลวันสงกรานต์" หรือ "วันปีใหม่ไทย"
ทำไมจึงกำหนด "วันครอบครัว" ขึ้น
สำนักหอสมุดกลาง มหาวิทยาลัยรามคำแหง อธิบายส่วนหนึ่งว่า สาเหตุที่ทางราชการกำหนดวันครอบครัวขึ้นมานั้น เนื่องจากคณะกรรมมาธิการกิจการสตรีและเยาวชน สภาผู้แทนราษฎร ได้รับทราบผลสรุปจากการศึกษาปัญหาเกี่ยวกับเด็กและเยาวชน พบว่า "ปัญหาครอบครัว" เป็นหนึ่งในสาเหตุสำคัญที่ก่อให้เกิดเหตุการณ์รุนแรงต่าง ๆ ในสังคมตามมา ไม่ว่าจะเรื่อง ยาเสพติด อาชญากรรม โดยปัญหาเหล่านี้ส่วนหนึ่งเกิดจากครอบครัวด้วย เนื่องจากครอบครัว ที่ไม่มีความอบอุ่น ขัดแย้ง ความไม่เข้าใจกันระหว่างคนในครอบครัว
รวมถึงวิถีชีวิต ของครอบครัวในสังคมไทยเปลี่ยนแปลงไปจากเดิมมาก สมาชิกในครอบครัวต่างต้องดิ้นรนทำมาหาเลี้ยงชีพ หนุ่มสาวที่อยู่ต่างจังหวัดก็เข้ามาในเมืองเพื่อหางานทำ ดังนั้น ภาครัฐจึงกำหนด "วันครอบครัว" ขึ้นมาเพื่อให้ทุกคนเล็งเห็นความสำคัญของ "สถาบันครอบครัว"
ความหมายของ "สถาบันครอบครัว"
พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2525 ได้ให้ความหมายของคำว่า " สถาบัน" และ " ครอบครัว " ไว้ดังนี้
"สถาบัน" หมายถึง สิ่งที่สังคมจัดตั้งให้มีขึ้น เพราะเห็นประโยชน์ว่ามีความต้องการและจำเป็นแก่วิถีชีวิตของตน เช่น สถาบันครอบครัว ฯลฯ
"ครอบครัว" หมายถึง ผู้ร่วมครัวเรือน คือ สามี ภรรยา และบุตร
สถาบันครอบครัว จึงหมายถึง สถาบันมูลฐานของมนุษย์ชาติ เป็นหน่วยขนาดเล็กที่สุดของสังคม เป็นผู้สร้างและกำหนดสถานภาพ สิทธิ หน้าที่ของบุคคลอันพึงปฏิบัติต่อกันในสังคม เป็นสถาบันแห่งแรกในการถ่ายทอดวัฒนธรรมและพัฒนาผู้ร่วมครัวเรือน คือ สามี ภรรยา และบุตร
วันครอบครัว 14 เม.ย.
"วันครอบครัว" กับกิจกรรม "เติมสุข"
วันครอบครัวเป็นช่วงเวลาที่คนไทยไม่ว่าอยู่ที่ไหน ทั้งคนที่ไปทำงานหาเลี้ยงชีพ ต่างจังหวัด ต่างภูมิภาค ได้มีโอกาสเดินทางกลับภูมิลำเนา พบปะปู่ ย่า ตา ยาย ญาติพี่น้อง เป็นโอกาสดีในการรวมญาติ ที่บางคนไม่ได้เจอกันนานนับปี บางคนอาจหลายปีเลยด้วยซ้ำ ฉะนั้นการรวมตัวกันจึงถือเป็นช่วงเวลากระชับความสัมพันธ์ ได้ใช้เวลาทำกิจกรรมต่าง ๆ ร่วมกัน ซึ่งมีกิจกรรมที่นิยมทำกัน มีดังนี้
- ไปวัดทำบุญตักบาตรเพื่อเป็นสิริมงคล อุทิศส่วนกุศลให้กับญาติที่ล่วงลับ
- ทำกับข้าวที่ทุกคนชอบ และร่วมรับประทานร่วมกัน
- ดูหนัง ฟังเพลง ร้องเพลง ร่วมกัน
- ออกไปท่องเที่ยวตามสถานที่ต่าง ๆ หรือ ห้างสรรพสินค้า น้ำตก ทะเล
นี้เป็นแค่กิจกรรมส่วนหนึ่ง บางบ้านจำนวนญาติที่มามากน้อยไม่เท่ากัน ก็แล้วแต่บ้านไหนจะเฟ้นหากิจกรรมที่ให้ทุกคนได้ทำร่วมกันในวันครอบครัวนี้
แต่ที่สำคัญคือ "การรดน้ำดำหัว" ซึ่งเป็นสิ่งที่นิยมปฎิบัติกัน ได้ขอพรญาติผู้ใหญ่ที่เคารพทั้ง ผู้เฒ่าผู้แก่ ญาติผู้ใหญ่ พ่อ แม่ เพื่อขอโทษต่อสิ่งที่เคยล่วงเกิน แสดงถึงความความเคารพ พร้อมรับคำอวยพร เพื่อความเป็นสิริมงคลในวันสงกรานต์ ยังเป็นการแสดงความเคารพต่อบิดา มารดา ญาติผู้ใหญ่ ตามประเพณีไทยที่เคยปฏิบัติกันมาอีกด้วย สุดท้ายปีนี้ อย่าลืมถ่ายรูปไว้เป็นที่ระลึกร่วมกัน
วันครอบครัว 14 เม.ย.
สิ่งที่คนในครอบครัวควรจะมีให้กันเสมอ
วันครอบครัว ถือเป็นโอกาสของการสร้างความรัก ความสุข ความอบอุ่น ในครอบครัว โดยอาจไม่จำเป็นต้องใช้เงินมากมาย และทุกครอบครัวนั้นสามารถทำกันได้ทุกวัน ดังนี้
- ให้ความรัก ความห่วงใย ช่วยเหลือ เกื้อกูลต่อกัน
- ไม่จำเป็นต้องชนะทุกเรื่องก็ได้ เข้าใจธรรมชาติของแต่ละคน
- สื่อสารกันด้วยความรัก ใช้คำพูด ท่าทาง ที่นุ่มนวลในสื่อสารกัน
- สร้างกำลังใจให้กัน ช่วยสร้างความผูกพันรักใคร่ในครอบครัว
- การอยู่ร่วมกันของสมาชิกครอบครัว ต้องรู้จักผ่อนปรน ให้โอกาส ให้อภัยซึ่งกันและกัน
- เอาใจเขามาใส่ใจเรา ไม่เห็นแก่ประโยชน์ส่วนตน
- หันหน้าเข้าหากันและยอมรับฟังความคิดเห็นของกันและกัน
- ให้เวลากับครอบครัวมากขึ้น ใช้เวลาร่วมกันอย่างมีคุณภาพ
- การให้อภัยกันจะช่วยทำให้ครอบครัวพบแต่ "ความสุข" และ "รอยยิ้ม"
และไม่ใช่หมายความว่าจะให้ความสำคัญกับคนใน "ครอบครัว" แค่วันนี้วันเดียวเท่านั้น เราควรทำให้ทุก ๆ วันคือวันสำคัญของ "ครอบครัว" และทุกครั้งที่มีโอกาส
วันครอบครัว 14 เม.ย.
6 ข้อเลี่ยง ความขัดแย้งในครอบครัว
ปัญหาความขัดแย้งและความรุนแรงในครอบครัว เป็นสิ่งที่ไม่มีใครอยากให้เกิด แล้วจะทำอย่างไรเพื่อไม่ให้เกิดขึ้น กรมกิจการสตรีและสถาบันครอบครัว อธิบายไว้ดังนี้
- รู้จักขอโทษและให้อภัย : นับเป็นการเยียวยาความสัมพันธ์ให้กลับมาแน่นแฟ้น ไม่ควรปล่อยให้เกิดความไม่เข้าใจสะสม จนทำให้เกิดความขัดแย้ง ทั้งนี้การน้อมรับความผิดพลาด และพร้อมปรับปรุงแก้ไขเป็นสิ่งที่ดีต่อความสัมพันธ์
- รู้จักควบคุมอารมณ์ : เมื่อเกิดความขัดแย้งภายในครอบครัว ควรหลีกเลี่ยงการโต้เถียงที่รุนแรง ลดการปะทะ ไม่ใช้อารมณ์เป็นที่ตั้ง
- เปิดใจคุยกันอย่างไม่ปิดบัง : หาเวลาที่สะดวกเพื่อพบปะพูดคุยกัน แลกเปลี่ยนเรียนรู้ร่วมกัน เปิดโอกาสพูดถึงสิ่งที่คิดอย่างตรงไปตรงมา บอกความต้องการของแต่ละคนอย่างไม่ปิดบัง
- ยอมรับและเคารพความคิดเห็น : การยอมรับความคิดเห็นภายใต้ความถูกต้อง นับเป็นการรับรู้ เห็นคุณค่าและเคารพความเชื่อของผู้อื่น ทำให้ความสัมพันธ์ในครอบครัวมีความอบอุ่นแน่นแฟ้น
- การตั้งกฏ ระเบียบภายในบ้าน : เพื่อให้เกิดความเป็นระเบียบเรียบร้อยและความเข้าใจที่ตรงกันของทุกคนในครอบครัว จึงจำเป็นที่จะต้องสร้างเงื่อนไข กฎ ระเบียบ สำหรับการอยู่ร่วมกันในครอบครัว
- ร่วมกันคิดและแก้ไขปัญหา : เมื่อเกิดปัญหาที่กระทบต่อสถาบันครอบครัว ไม่ว่าจะเป็นทางตรงหรือทางอ้อม สมาชิกในครอบครัวจะต้องร่วมกันรับรู้ และวางแนวทางในการแก้ไขปัญหาร่วมกัน เพื่อให้เกิดความเข้าใจที่ตรงกัน
หลัก 5 อ. ปฏิบัติในครอบครัว
นอกจากนี้ ยังมีหลัก 5 อ. เพื่อปฏิบัติในครอบครัว นั้นเพราะความสัมพันธ์ในครอบครัวเป็นสิ่งสำคัญ
- อ.อภัย : ไม่นำเอาสิ่งที่ผิดพลาดมาพูดซ้ำเติม หากมีใครในครอบครัวทำอะไรผิดพลาด ให้นึกถึงคำว่า "อภัย" เสมอ
- อ.เอื้อเฟื้อ : ต้องช่วยเหลือซึ่งกันและกัน อย่าคิดว่าเป็นหน้าที่ของใครคนใดคนหนึ่ง อย่าคิดว่าไม่ใช่เรื่องของฉัน
- อ.อารมณ์ขัน : ฝึกให้มีอารมณ์ขันเสียบ้าง ไม่ว่าจะเป็น พ่อ แม่ ลูก นั้นเพื่อช่วยลดความตึงเครียด สร้างความรัก ความผูกพัน
- อ.อดทน อดกลั้น อดออม : รู้จักเก็บเงินทองเพื่อแบ่งไว้ใช้ยามจำเป็น เช่น ส่วนที่หนึ่ง ใช้จ่ายในครอบครัวส่วนที่สองสำหรับการศึกษาของลูก และอีกส่วนสำหรับค่ารักษาพยาบาลเมื่อยามเจ็บไข้
- อ.อบอุ่น : เมื่อสมาชิกทุกคนรู้หน้าที่และบทบาทของตัวเองแล้ว ความอบอุ่นก็จะตามมา ดังคำขวัญวันครอบครัวที่ว่า "สุขภาพจิตเริ่มต้นที่บ้าน"
วันครอบครัว 14 เม.ย.
• ทริคในการสร้างสุขภาพจิตในครอบครัว
นานทีปีหน คนในครอบครัวจะกลับมาพร้อมหน้า ยิ่งในวันสงกรานต์ปีนี 2567 การร่วมโต๊ะอาหารกันในครอบครัวสักมื้อ สองมื้อ แลกเปลี่ยนประสบการณ์ และรับฟังกันและกัน ก็เพียงพอต่อการสร้างบรรยากาศที่ดี นำมาสู่สุขภาพจิตที่ดีอีกด้วย นอกจากนี้ การคิดีด ทำดี พูดดี ก็สามารถทำให้วันครอบครัวเป็นวันที่ดีได้ และเมื่อสุขภาพจิตดี ทุกคนในครอบครัวก็จะมีความสุข
• คำพูดที่เลี่ยงไม่พูดจะดีกว่า
การรวมญาติ หรือ คนในครอบครัวกลับมารวมกัน บางครอบครัวมีขนาดใหญ่ เล็ก แตกต่างกันออกไป แต่บางครอบครัวหรือบางคนมักจะมีคำพูดหรือคำทักทาย ที่อาจเป็นการบั่นทอนผู้อื่นโดยที่ผู้พูดไม่รู้ตัว ขอยกตัวอย่างคำพูดที่ควรหลีกเลี่ยงไม่พูดจะดีกว่า เช่น
ช่วงนี้ดูอ้วนขึ้นนะ, เมื่อไรจะแต่งงาน (ฟังแล้วเจ็บ)พูดเชิงเปรียบเทียบเรื่องงาน, ถามเงินเดือน, พูดถึงความฝันคนอื่นในเชิงลบ นั้นเพราะคนเรามีเกราะป้องกันทางใจไม่เท่ากัน
ดังนั้น ในเมื่อคนในครอบครัวนานนานเจอกันสักครั้ง เราควรระมัดระวังคำพูด เพื่อป้องกันไม่ให้บั่นทอนความรู้สึกของคนในครอบครัว ที่อาจนำไปสู่สุขภาพจิตที่ไม่ดี
สุดท้าย "วันครอบครัว" 14 เม.ย. ที่กำหนดขึ้นเพื่อให้ทุกคนเห็นความสำคัญของ "สถาบันครอบครัว" แต่อาจไม่จำเป็นว่าเราจะต้องให้ความสำคัญกับคนในครอบครัวเฉพาะวันสงกรานต์เท่านั้น ควรที่จะให้ความสำคัญกับทุกคนในครอบครัวในทุกวัน
รวมถึงหาเวลามาพบปะกันให้มากขึ้น หาโอกาสไปเที่ยวตามสถานที่ท่องเที่ยวต่าง ๆ เพื่อพักผ่อนหย่อนใจบ้าง ชวนกันทำอาหารกินที่บ้าน ฟังเพลง ร้องเพลงด้วยกัน หรือ หาหนังสักเรื่องมาดูด้วยกันทั้งครอบครัว เติมความสุขให้กันให้บ่อยขึ้น
สุขสันต์ วันสงกรานต์ 2567
วันครอบครัว 14 เม.ย.
อ้างอิง : กรมส่งเสริมวัฒนธรรม กระทรวงวัฒนธรรม, dmc, สสส.
อ่านข่าวอื่น ๆ
“เจิมศักดิ์ ปิ่นทอง” วิเคราะห์ เลือก สว.อย่างพิสดาร จะไม่ได้ตัวแทนประชาชน