ในปี 2567 เป็นปีครบรอบชาตกาล 100 ปี ของนักเขียนไทยถึง 3 คน คือ วิลาศ มณีวัต , หม่อมดุษฎี บริพัตร และ อ.อุดากร ที่ล้วนสร้างสรรค์ผลงานอันทรงคุณค่ามาในอดีตแตกต่างกันไป แต่สิ่งหนึ่งที่ทุกคนทำเหมือนๆ กันคือ การดำรงศักดิ์ศรีและความเป็นนักเขียน กลายเป็นตำนานส่งทอดมาถึงคนรุ่นหลัง และเป็นไฟ ที่นักเขียนรุ่นพี่จุดประกายส่งมาถึงนักเขียนรุ่นน้องจนวันนี้ สมาคมนักเขียนแห่งประเทศไทย จัดกิจกรรมงานเสวนา เพื่อรำลึกถึงท่านเหล่านี้ ในงานสัปดาห์หนังสือแห่งชาติ ครั้งที่ 52 ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์
อ่านข่าว : ความหวัง "สถาบันหนังสือ" ซอฟต์พาวเวอร์ นับ 1 กับงบ 69 ล้าน
“วิลาส” จุดกำเนิด สายลม-แสงแดด
อาชญาสิทธิ์ ศรีสุวรรณ กวี นักเขียน นักประวัติศาสตร์ กล่าวว่า วิลาศ มณีวัต คือจุดกำเนิดคำว่าสายลมแสงแดด ที่มาจากคอลัมน์สายลม-แสงแดด ในหนังสือพิมพ์รายสัปดาห์นิกรวันอาทิตย์ โดย ใช้นามปากกาว่า “นภาพร” ซึ่งขณะนั้นวิลาสเรียน ปี 3 จุฬาฯ และในเวลาต่อมาได้รับการรวมเล่มพิมพ์ต่อเนื่องหลายครั้ง
โดยช่วงภาวะสงคราม คนมีสภาพจิตใจหดหู่ มีแต่ความเครียด ความโศกเศร้า นิกรวันอาทิตย์เปิดคอลัมภ์สายลม-แสงแดด เพื่อเยียวยาใจผู้อ่าน วิลาสถ่ายทอดเรื่องราวตลก มองโลกในแง่บวกผ่านตัวหนังสือ และมีอารมณ์ขันอยู่ในนั้น ทำให้สายลม-แสงแดดเป็นที่รู้จัก และกลายเป็นคำแทนบริบททางสังคมช่วง ณ ขณะนั้น ว่าไม่คิดอะไรกับสังคม แต่ในทางกลับกันสายลมแสงแดด คือการเยียวยาสังคม
"ไพรัชนิยาย" ซึ่งเป็นนิยายอีกเรื่องหนึ่งที่วิลาสใช้ฉากต่างประเทศ จากการสะสมจากการอ่าน โดยที่ไม่เคยเดินทางไปต่างประเทศมาก่อน
นอกจากนี้ผลงาน วิลาสยังมีอีกหลายเรื่องๆ ไม่ว่าจะเป็น ธรรมะของคนนอกวัด การเมืองเรื่องสนุก พระราชอารมณ์ขัน เป็นต้น
อาชญาสิทธิ์ ศรีสุวรรณ กวี นักเขียน นักประวัติศาสตร์
อาชญาสิทธิ์ ยังเล่าว่า คุ้นเคยกับหนังสือของวิลาสมาตั้งแต่เด็ก เนื่องจากเป็นศิษย์โรงเรียนเดียวกัน ที่ จ.สุราษฎร์ธานี ในห้องสมุดโรงเรียนรวบรวมหนังสือของนักเขียนหลายๆ คน หนึ่งในนั้นคือวิลาส
สำหรับ วิลาส มณีวัต เกิดเมื่อวันที่ 16 พ.ค.2467 ที่ ต.บ้านดอน อ.เมือง จ.สุราษฎร์ธานี เริ่มเขียนหนังสือตั้งแต่อายุ 17 ปี นอกจากคอลัมน์สายลม-แสงแดด วิลาสมีงานเขียนมากมาย ทั้งงานเขียนเชิงสารคดี ทั้งสารคดีท่องเที่ยว เกร็ดความรู้ สารคดีต่างแดนและสารคดีเชิงธรรม งานแปล คอลัมน์ประจำ เรื่องสั้น และนวนิยายนอกจากความเป็นนักเขียน วิลาศยังเป็นบรรณาธิการนิตยสาร โดยได้เป็นบรรณาธิการคนแรกของนิตยสารชาวกรุงในด้านสังคม
งานเขียนของวิลาศ ที่ได้รับการพิมพ์เป็นเล่มไม่ต่ำกว่า 70 เล่ม หลายเล่มได้รับการพิมพ์ 20-30 ครั้ง โดยเฉพาะชุด "พระราชอารมณ์ขัน" ที่กล่าวถึงความประทับใจ ชื่นชมและเทิดทูนในพระราชจริยาวัตร อันเปี่ยมล้นด้วยพระราชอารมณ์ "ขัน" ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว
นายวิลาส มณีวัด ถึงแก่อนิจกรรมด้วยโรคกล้ามเนื้อหัวใจล้มมเหลว เมื่อวันที่ 23 ธ.ค. 2546 สิริอายุ 79 ปี
อ่านข่าว : จัดเต็ม 12 วัน! งานสัปดาห์หนังสือแห่งชาติ 2567 เริ่ม 28 มี.ค.- 8 เม.ย.2567
“หม่อมดุษฎี” โมเดลการสอนไม่ติดกับดักวิชาการ
เรืองศักดิ์ ปิ่นประทีป ประธานมูลนิธิหนังสือเพื่อเด็ก เล่าว่า หม่อมดุษฎี เป็นนักการศึกษาประถมวัย ทำโรงเรียนสมประสงค์ที่เป็นโมเดลการเรียนการสอนประถมวัย รูปแบบใหม่ ที่เป็นรูปแบบที่ไม่ติดกับดักวิชาการ ใช้ชีวิต สอนชีวิต และสร้างชีวิต
อีกทั้งเป็นนักวิชาการ นักคิด นักเขียน นักแปล นักร้อง นักดนตรี นักศิลปะ นักปฏิบัติ นักทดลอง นักสร้างสรรค์ และนักบุกเบิกเรื่องของการใช้ภาษา เป็นต้นแบบของการใช้ภาษา ในการสื่อสารกับเด็กแม้จะเป็นร้อยแก้ว ต้องมีจังหวะของคำที่เร้าให้เด็กเกิดความสนใจ ถึงแม้ว่าคำนั้นจะไม่มีความหมายแต่เด็กจะเข้าใจได้เองตามบริบทของคำนั้น
เรืองศักดิ์ ปิ่นประทีป ประธานมูลนิธิหนังสือเพื่อเด็ก
หม่อมดุษฎียังเป็นนักภาษาศาสตร์ เป็นนักการศึกษา ที่ใช้ฐานของความเป็นจริงในชีวิตผ่านซีรีย์ต่างๆ ที่เขียน กว่า 43 เรื่อง โดยสอดแทรกคติชน ความเชื่อ วิถีชีวิต คุณธรรม จริยธรรม แฝงอยู่ในทุกๆ เรื่อง
การเขียนเรื่องราวที่จะไม่จบไปกับหนังสือ แต่จะทิ้งคำถามปลายเปิด ที่ไม่มีถูกหรือผิดของคำตอบ แต่เร้าให้เด็กได้ขบคิด ได้แสดงออกทางความคิด รวมทั้งใช้ภาพประกอบที่สวยงามปลุกเร้าจินตนาการของผู้อ่าน นั่นคือที่มาของคำว่าไม่ติดกับดักกรอบ
นอกจากนี้เป็นการใช้ภาษาที่เก่าๆ ที่ไม่ค่อยได้ใช้ เช่น “ระเร้ง” ที่หมายถึง รีบเร่ง เร่งรัด “ระรี่” แปลว่าหัวเราะร่วน ซึ่งทำให้คนอ่านได้เติมคำใหม่ๆ ในคลังสมองด้วย และเร้าให้เราคิดต่อ ซึ่งถือว่าเป็นเสน่ห์ของหนังสือ
สำหรับ หม่อมดุษฎี บริพัตร ณ อยุธยา สกุลเดิม น ถลาง เกิดเมื่อ 14 ธ.ค.2467 หม่อมดุษฎี เป็นผู้ริเริ่มรณรงค์การใช้หนังสือภาพสำหรับเด็ก ทั้งยังเขียนคู่มือการสอนสำหรับครูปฐมวัย และหนังสืออ่านสำหรับเด็ก ซึ่งมีผลงานการเขียน และแปลทั้งหมด 46 เล่ม
หม่อมดุษฎี บริพัตร ณ อยุธยา ถึงแก่อนิจกรรมด้วยโรดชราเมื่อวันที่ ก.ย. พ.ศ. 2558 สิริอายุ 90 ปี
“อ.อุดากร” นักเขียนหนุ่มตลอดกาล
ชมัยภร แสงกระจ่าง ศิลปินแห่งชาติ สาขาวรรณศิลป์ ปี 2557 เล่าว่า อุดม อุดาการ หรือ อ.อุดากร เป็นนักเขียนหนุ่มตลอดกาล เพราะเสียชีวิตเมื่ออายุ 26 ปี โดยเขียนหนังสือไว้ทั้งหมด 21 เรื่อง อ.อุดากร เริ่มเขียนหนังสือเรื่องแรกตอนอายุ 17 ปี คือเรื่อง “ธนูดอกที่หนึ่ง”
อ.อุดากร สอบเข้าเรียนเรียนแพทย์ และไม่สามารถเรียนแพทย์ต่อได้ เนื่องจากมีปัญหาสุขภาพ ป่วยวัณโรค
ชมัยภร แสงกระจ่าง ศิลปินแห่งชาติ สาขาวรรณศิลป์ ปี 2557
ในช่วงที่เจ็บป่วย อ.อุดากร ใช้เวลาที่ไม่สามารถที่จะทำอย่างอื่นได้นี้ไปกับการเขียนหนังสือ เมื่อครั้งนั้นนิตยสารสยามสมัย จัดประกวดเรื่องสั้นโบว์สีฟ้า อ.อุดากร เขียนส่ง 3 เรื่อง ตึกกรอสส์ เกสราลิขิต และ ชำหนึ่ง ทุกเรื่องได้รับการลงตีพิมพ์ และเรื่อง “ตึกกรอสส์” ได้รับรางวัลชนะเลิศ
“ตึกกรอสส์” เป็นเรื่องสั้นที่นักเรียนแพทย์ต้องอ่าน เป็นเรื่องเกี่ยวกับนักเรียนแพทย์ และนักโทษที่อุทิศร่างกายเป็นอาจารย์ใหญ่ โดยที่ไม่รู้มาก่อนว่าอาจารย์ใหญ่ท่านนั้นเป็นพ่อของตัวเอง
“สยุมพรเหนือหลุมฝังศพ” เรื่องราวความรักของวัยหนุ่มสาว แต่ด้วยประเพณีคลุมถุงชนทำให้ความรักไม่สมหวัง
“ชำหนึ่ง” เป็นเรื่องราวของเจ้านายกับลูกน้องและภรรยาของลูกน้อง
อ.อุดากร มุ่งมั่นเขียนหนังสือแม้ยังป่วย โดยเรื่องสั้น “สัญชาตญาณมืด” ซึ่งตีพิมพ์ในนิตยสารสยามสมัย ที่สร้างความสั่นสะเทือนในวงการวรรณกรรม ซึ่งเป็นเรื่องสั้นซึ่งตีแผ่คำว่าศีลธรรม
สำหรับ อ.อุดากร เกิดเมื่อวันที่ 10 ธ.ค.2467 ที่ อ.นครชัยศรี จ.นครปฐม โดย อ.อุดากร มีแววเป็นนักเขียนตั้งแต่เด็ก วิชาเรียงความของเขามักได้รับคำชมจากครู นอกจากนั้นก็มักจะเขียนเรื่องสั้นให้เพื่อนๆ อ่านและเขียนบทละครให้โรงเรียนเป็นประจำ
อ.อุดากร เสียชีวิตเมื่อวันเสาร์ที่ 27 มกราคม 2494 ขณะอายุ 27 ปี
อ่านข่าวอื่นๆ :