วันนี้ (1 เม.ย.2567) นายสมควร ต้นจาน ผอ.ส่วนพยากรณ์อากาศกลาง กรมอุตุนิยมวิทยา ให้สัมภาษณ์ไทยพีบีเอสออนไลน์ว่า ในช่วงสัปดาห์นี้ ตั้งแต่วันที่ 2-8 เม.ย.นี้ มีความกดอากาศต่ำเนื่องจากความร้อนปกคลุม ทำให้ทั่วทุกภาคของไทยมีอากาศร้อนถึงร้อนจัด ภาคเหนือ ภาคกลาง และภาคอีสาน และมีโอกาสที่อุณภูมิจะแตะ 42-43 องศาเซลเซียสในบางจังหวัด เช่น ลำปาง ลำพูน ตาก กาญจนบุรี
- ร้อนฉ่า! ไทยเข้าสู่ฤดูร้อนปลาย ก.พ.นี้ แตะ 43-44.5 องศาฯ
- สภาพอากาศวันนี้ ระวังฮีทสโตรก! หลายจังหวัดร้อนทะลุ 40 องศาฯ
โดยเฉพาะในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา ตอนนี้คนรู้สึกร้อนจนแสบผิว เพราะความร้อนสะสมมาหลายวัน และตอนนี้ยังไม่ในช่วงร้อนสุดของฤดูร้อนปีนี้หรือไม่ ต้องรอดูช่วงปลายเดือน เม.ย.นี้
ประเมินว่ามีโอกาสที่อุณหภูมิร้อนจัดอาจแตะ 42-43 องศาเซล เซียส และคิดว่าปีนี้อาจจะทุบสถิติอากาศร้อนได้
ทั้งนี้เนื่องจากภาพรวมปี 2567 อุณหภูมิฤดูร้อนกว่าค่าปกติ 1-2 องศาเซล เซียส โดยเฉพาะช่วงเดือนมี.ค.-เม.ย.นี้ มีโอกาสที่อุณหภูมิบางจังหวัด เช่น ลำปาง ลำพูน ตาก ร้อนจัด 43.-44 องศาเซลเซียส
สถิติร้อนสุดของวันที่ 31 มี.ค. ภาคกลาง จ.กาญจนบุรี 41.7 องศาเซลเซียส
สำหรับอุณหภูมิสูงสุดในไทย (ข้อมูล 31 มี.ค.)
- ภาคกลาง 41.7 องศาเซลเซียส อ.เมืองกาญจนบุรี จ.กาญจนบุรี
- ภาคเหนือ 41.2 องศาเซลเซียส อ.เมืองลำปาง จ.ลำปาง
- ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 40.4 องศาเซลเซียส ต.ท่าพระ อ.เมืองขอนแก่น จ.ขอนแก่น
- กทม.และปริมณฑล อุณภูมิสูงสุด 40.2 องศาเซลเซียส อ.คลองหลวง จ.ปทุมธานี
สถิติปี 2566 ร้อนสุด
- ภาคเหนือ เมื่อวันที่ 15 เม.ย.2566 อ.เมือง ตาก 44.6 องศาเซลเซียส
- ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ เมื่อวันที่ 15 เม.ย.2566 อ.เมือง อุดรธานี 43.2 องศาเซลเซียส
- ภาคกลาง เมื่อวันที่ 25 เม.ย.2566 อ.เมือง จ.นครสวรรค์ 42.2 องศาเซลเซียส
- ภาคตะวันออก เมื่อวันที่ 6 เม.ย.2566 อ.กบินทร์บุรี จ.ปราจีนบุรี 40.4 องศาเซลเซียส
- ภาคใต้ เมื่อวันที่ 11 เม.ย.2566 อ.เหนือคลอง จ.กระบี่ 38.8 องศาเซลเซียส
- กทม.และปริมณฑล เมื่อวันที่ 20 เม.ย.2566 อ.เมือง 40 องศาเซลเซียส
นอกจากนี้กรมอุตุนิยมวิทยา คาดการณ์อากาศร้อนในช่วง 7 วันระหว่าง 1-6 เม.ย.นี้ ความกดอากาศต่ำเนื่องจากความร้อนปกคลุมประเทศไทยตอนบน ทำให้บริเวณประเทศไทยมีอากาศร้อน โดยทั่วไปกับมีฟ้าหลัวในตอนกลางวัน และมีอากาศร้อนจัดบางพื้นที่
ขอให้ประชาชนบริเวณประเทศไทยตอนบนดูแลรักษาสุขภาพเนื่องจากสภาพอากาศที่ร้อนถึงร้อนจัด โดยหลีกเลี่ยงการทำงานหรือกิจกรรมในที่โล่งแจ้งเป็นเวลานาน
คาดหมายอากาศรายภาค (31 มี.ค.-6 เม.ย.67)
ภาคเหนือ อากาศร้อนถึงร้อนจัดโดยทั่วไปกับมีฟ้าหลัวในตอนกลางวันตลอดช่วงอุณหภูมิต่ำสุด 18–26 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 36–43 องศาเซลเซียส
ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ อากาศร้อนถึงร้อนจัดโดยทั่วไปกับมีฟ้าหลัวในตอนกลางวัน โดยมีฝนฟ้าคะนองเล็กน้อยบางแห่ง ส่วนมากทางตอนล่างของภาคตลอดช่วงอุณหภูมิต่ำสุด 21–29 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 36–42 องศาเซลเซียส
ภาคกลาง อากาศร้อนถึงร้อนจัดโดยทั่วไปกับมีฟ้าหลัวในตอนกลางวัน โดยมีฝนฟ้าคะนองเล็กน้อยบางแห่ง ส่วนมากทางตอนล่างของภาคตลอดช่วงอุณหภูมิต่ำสุด 23–28 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 35–43 องศาเซลเซียส
ภาคใต้ อากาศร้อนในตอนกลางวัน โดยมีฝนฟ้าคะนองร้อยละ 10-20 ของพื้นที่ตลอดช่วงลมตะวันตกเฉียงเหนือ อุณหภูมิต่ำสุด 24–29 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 34–39 องศาเซลเซียส
กรุงเทพและปริมณฑล อากาศร้อนโดยทั่วไปกับมีฟ้าหลัวในตอนกลางวัน และมีอากาศร้อนจัดบางพื้นที่ตลอดช่วง อุณหภูมิต่ำสุด 27-30 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 33–41 องศาเซลเซียส
อากาศร้อนต่อเนื่องหลายวัน หลายคนต้องหาอุปกรณ์บังแดด
ไทยมีโอกาสร้อนแตะ 50 องศาฯหรือไม่
ขณะที่ รศ.ดร.เสรี ศุภราทิตย์ ผู้เชี่ยวชาญด้านสภาพอากาศ โพสต์เฟซบุ๊ก
จังหวัดไหนในอนาคตจะร้อนสุดขีดและอุณหภูมิสูงสุดมีโอกาสแตะ 50 องศาเซลเซียสหรือไม่? โดยระบุว่า การวิเคราะห์ประเมินการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ พบว่ามีความเป็นไปได้น้อยที่ประเทศไทย จะมีอุณหภูมิสูงสุดแตะ 50 องศาเซลเซียส
จากการประเมินฉากทัศน์ต่างๆตามรายงาน IPCC-AR6 โดยแบบจำลองคณิต ศาสตร์รายละเอียดสูง พบว่า ภายใต้ฉากทัศน์ BAU ที่ความร่วมมือระหว่างประเทศไม่สามารถบรรลุเป้าหมายตามข้อตกลงปารีส (จำกัดอุณหภูมิไม่ให้เกิน 1.5-2 องศาเซลเซียส จากอดีตยุคก่อนปฏิวัติอุตสาหกรรม) อุณหภูมิสูงสุดจะอยู่ที่ประมาณ 49.01 องศาเซลเซียส ในอีกประมาณ 60 ปีข้างหน้า
และหากความร่วมมือเกิดขึ้นตามรายงาน NDC ที่แต่ละประเทศส่งมาล่าสุด จะทำให้ประเทศไทยมีอุณหภูมิสูงสุดแตะ 46 องศาเซลเซียส และท้ายที่สุดหากโลกบรรลุข้อตกลงปารีส จะทำให้ประเทศไทยมีอุณหภูมิสูงสุดแตะ 44.75 องศาเซลเซียส
โดยทั้ง 3 ฉากทัศน์อุณหภูมิสูงสุดจะเปลี่ยนแปลงตามความแปรปรวนสภาพภูมิอากาศแต่ละปี (จากปรากฏการณ์ El Nino และ La Nina เหตุการณ์ภูเขาไฟระเบิด และการปลดปล่อยพลังงานจากดวงอาทิตย์ เป็นต้น)
ขณะเดียวกันจำนวนวันในรอบปีของจังหวัดที่อุณหภูมิสูงสุดเกิน 40 องศาเซลเซียส จะเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ จากปัจจุบันประมาณ 9 วันเพิ่มเป็นประมาณ 75 วัน (มากกว่า 25 วัน ทุกๆ เดือนมี.ค.-เม.ย.-พ.ค.)