สมัยที่เป็น "พรรคอนาคตใหม่" ในการแถลงนโยบายของพรรค ได้ประกาศวาระการโอบรับความหลากหลาย เคารพความแตกต่าง ศักดิ์ศรีคนต้องเท่าเทียม ต่อมาวาระนี้ถูกสานต่อโดยพรรคก้าวไกลเมื่อวันที่ 18 มิ.ย.2563 โดยธัญวัจน์ กมลวงศ์วัฒน์ สส.บัญชีรายชื่อ เสนอร่าง พ.ร.บ.แก้ไขเพิ่มเติมประมวลแพ่งและพาณิชย์ หรือ "กฎหมายสมรสเท่าเทียม" เข้าสู่สภาผู้แทนราษฎร ยืนยันหลักการว่าการก่อตั้งครอบครัว เป็นสิทธิของคนทุกคน
ร่างฉบับนี้ได้รับความสนใจอย่างมาก มีประชาชนเข้ามาแสดงความคิดเห็นสนับสนุนในเว็บไซต์ของสภาฯ มากกว่า 50,000 รายชื่อ
ที่มา : พรรคก้าวไกล
17 พ.ย.2564 ศาลรัฐธรรมนูญเผยแพร่คำวินิจฉัย มีมติเป็นเอกฉันท์ ป.พ.พ. มาตรา 1448 "ไม่ขัดหรือแย้งกับรัฐธรรมนูญ" โดยมีข้อสังเกตว่ารัฐสภา คณะรัฐมนตรี และหน่วยงานรัฐที่เกี่ยวข้อง ควรดำเนินการตรากฎหมายเพื่อรับรองสิทธิและหน้าที่ของบุคคลผู้มีความหลากหลายทางเพศต่อไป
กรณีนี้เกิดจากคู่รักเพศเดียวกัน เดินทางไปสำนักงานเขตเพื่อจดทะเบียนสมรส แต่ถูกปฏิเสธ จึงส่งเรื่องต่อให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่า ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1448 ที่จำกัดการจดทะเบียนสมรสไว้สำหรับคู่ที่เป็นเพศชาย-หญิงเท่านั้น ขัดต่อรัฐธรรมนูญหรือไม่ จากคำวินิจฉัยดังกล่าว ทำให้พรรคก้าวไกลเดินหน้าผลักดัน กม.สมรสเท่าเทียม อย่างสุดความสามารถ
9 ก.พ.2565 ธัญวัจน์ได้เสนอหลักการของร่างสมรสเท่าเทียมในการประชุมสภาฯ หลังร่างถูกบรรจุในญัตติมาเป็นปี หลังอภิปรายจบ อนุชา นาคาศัย รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรีขณะนั้น ใช้ข้อบังคับการประชุมสภาฯ 2562 ข้อ 118 ชะลอการลงมติ โดยอ้างว่าขอนำร่างไปศึกษาก่อน 60 วัน ก่อนส่งกลับคืนสภาฯ ที่ประชุมเห็นด้วยคะแนนเสียง 219 ต่อ 118 คะแนน การพิจารณาสมรสเท่าเทียมจึงล่าช้าออกไป
7 มิ.ย.2565 รัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา มีมติสนับสนุนเพียง "ร่าง พ.ร.บ.คู่ชีวิต" แต่พรรคก้าวไกลยืนยันหนักแน่นว่ากฎหมายทั้ง 2 ฉบับแตกต่างกัน นอกจากนี้ในโลกออนไลน์ ยังเกิดเสียงวิพากษ์วิจารณ์จากประชาชน แฮชแท็ก #ไม่เอาพรบคู่ชีวิต พุ่งติดเทรนด์ทวิตเตอร์ไทย
15 มิ.ย.2565 ที่ประชุมสภาฯ มีมติรับร่างสมรสเท่าเทียมของพรรคก้าวไกล ในวาระที่ 1 ด้วยคะแนนเสียง 212 ต่อ 180 เสียง และงดออกเสียง 12 เสียง พร้อมกับมีมติรับหลักการร่าง พ.ร.บ.คู่ชีวิต ที่เสนอโดย ครม.รัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ ด้วยคะแนนเสียง 229 เสียง ต่อ 167 เสียง งดออกเสียง 6 เสียง ส่วนร่าง พ.ร.บ.คู่ชีวิต ของพรรคประชาธิปัตย์ ผ่านด้วยคะแนนเห็นด้วย 251 เสียง ไม่เห็นด้วย 124 เสียง งดออกเสียง 30 เสียง
พรรคก้าวไกลเสนอชื่อกรรมาธิการวิสามัญได้แก่ ธัญวัจน์ กมลวงศ์วัฒน์ และ ณธีภัสร์ กุลเศรษฐสิทธิ์
20 มี.ค.2566 พล.อ.ประยุทธ์ ประกาศยุบสภาฯ ตามรัฐธรรมนูญ 2560 ม.147 กำหนดว่า ถ้าอายุของสภาฯ สิ้นสุดลง หรือมีการยุบสภาฯ กฎหมายใดที่รัฐสภายังไม่เห็นชอบ จะถูกปัดตกไปทันที แต่ถ้า ครม.ชุดใหม่ในรัฐบาลใหม่ ร้องขอให้นำกฎหมายที่ค้างอยู่กลับมาพิจารณา ก็สามารถทำได้ภายใน 60 วัน นับจากวันเรียกประชุมรัฐสภาครั้งแรก
9 ส.ค.2566 หลังเปิดประชุมรัฐสภา พรรคก้าวไกลยื่นร่างกฎหมายเปลี่ยนประเทศ 9 ฉบับ หนึ่งในนั้นคือร่างสมรสเท่าเทียม
21 ธ.ค.2566 ที่ประชุม สส. ลงมติรับหลักการร่าง พ.ร.บ.สมรสเท่าเทียม ในวาระที่ 1 ด้วยคะแนนท่วมท้น รับหลักการ 369 คน ไม่รับหลักการ 10 คน งดออกเสียง 0 คน และไม่ลงคะแนนเสียง 1 คน ส่งผลให้ร่างสมรสเท่าเทียม ทั้ง 4 ฉบับ (ร่างของรัฐบาล พรรคก้าวไกล ภาคประชาชน และพรรคประชาธิปัตย์) ผ่านฉลุยในวาระที่ 1 และเข้าสู่วาระที่ 2 เพื่อปรับปรุงแก้ไขรายละเอียดในชั้นกรรมาธิการ
27 มี.ค.2567 ที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎร ลงมติวาระ 3 ผ่านร่าง พ.ร.บ.แก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ หรือ "สมรสเท่าเทียม" ด้วยคะแนนท่วมท้น เห็นด้วย 400 เสียง ไม่เห็นด้วย 10 เสียง งดออกเสียง 2 เสียง และไม่ลงคะแนนเสียง 3 เสียง ถือเป็นวันประวัติศาสตร์ของประเทศไทยในการสร้างความเท่าเทียมทางเพศ
ขั้นตอนต่อจากนี้ ร่างสมรสเท่าเทียมจะไปต่อที่ชั้น สว. พิจารณาอีก 3 วาระ โดยรัฐธรรมนูญ 2560 ไม่ได้ให้อำนาจ สว. ในการปัดตกร่างกฎหมายที่ สส. เห็นชอบ แต่สิ่งที่ สว. ทำได้คือ
- ถ้าไม่เห็นชอบ จะส่งร่างฯ กลับไปที่ สส. มีผลยับยั้งกฎหมายไว้ 180 วัน
- ถ้าแก้ไขเพิ่มเติม ต้องตั้งกรรมาธิการร่วมระหว่าง สส. และ สว. เพื่อพิจารณา
รายละเอียดร่าง พ.ร.บ.สมรสเท่าเทียม
- เปลี่ยนคำใน ป.พ.พ. มาตรา 1448 จากคำนามที่ระบุเพศ เช่น ชาย-หญิง สามี-ภรรยา เป็นคำนามไม่ระบุเพศ อาทิ บุคคล คู่สมรส ผู้หมั้น ผู้รับหมั้น
- ให้ "คนทุกเพศ" หมั้นและสมรสกันได้
- มีสิทธิในฐานะคู่หมั้นหรือคู่สมรสโดยเสมอหน้ากันทุกประการ เช่น การดูแลกันและกัน การเซ็นรักษาพยาบาล การดำเนินคดีแทนคู่สมรส สิทธิประกันสังคม สวัสดิการข้าราชการในฐานะคู่สมรส การรับบุตรบุญธรรม การจัดการทรัพย์สินร่วมกัน สิทธิลดหย่อนภาษี เป็นต้น
- แก้ไขอายุขั้นต่ำที่จะทำการสมรสได้ จากเดิม 17 เป็น 18 ปี เพื่อให้สอดคล้องกับอนุสัญญาว่าด้วยสิทธิเด็ก โดยกฎหมายจะมีผลบังคับใช้ทันทีหลังประกาศในราชกิจจานุเบกษา 120 วัน
หัวหน้าพรรคร่วมยินดี
หลังจากที่มติรับร่าง พ.ร.บ.สมรสเท่าเทียมผ่าน ทาง ชัยธวัช ตุลาธน หัวหน้าพรรคก้าวไกลได้โพสต์แสดงความยินดี เช่นเดียวกับ ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ อดีตหัวหน้าพรรคอนาคตใหม่ที่โพสต์แสดงความยินดี และชื่นชมทีมงานพรรคก้าวไกล ที่มุ่งมั่นทำงานผลักดันกฎหมายสมรสเท่าเทียมมาตั้งแต่สมัยอนาคตใหม่
- ธัญวัจน์ กมลวงศ์วัฒน์
- ณัฐวุฒิ บัวประทุม
- ธัญญ์วาริน สุขะพิสิษฐ์
- เอกราช อุดมอำนวย
- คณาสิต พ่วงอำไพ
- ณธีภัสร์ กุลเศรษฐสิทธิ์
ที่มา : พรรคก้าวไกล