วันนี้ (27 มี.ค.2567) นายภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรีและรมว.พาณิชย์ กล่าวว่า ไทยและฟินแลนด์ เป็นหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจที่สำคัญ และมีความสัมพันธ์อันดีระหว่างกันมาเป็นเวลานานกว่า 70 ปี ซึ่งกระทรวงพาณิชย์ของไทยพร้อมร่วมมือกับภาครัฐและภาคเอกชนของฟินแลนด์ ในการส่งเสริมความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจ การค้า และการลงทุนระหว่างกัน
นายภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรีและรมว.พาณิชย์ หารือกับนายบิลเล ตาบีโอ รัฐมนตรีด้านการค้าต่างประเทศและการพัฒนา กระทรวงการต่างประเทศฟินแลนด์
ทั้งนี้จากการหารือกับนายบิลเล ตาบีโอ รัฐมนตรีด้านการค้าต่างประเทศและการพัฒนา กระทรวงการต่างประเทศฟินแลนด์ ทั้งสองฝ่ายย้ำว่าให้ความสำคัญอย่างมากกับการเจรจา FTA ไทย-สหภาพยุโรป (อียู) โดยไทยยืนยันว่าเป็นหนึ่งในนโยบายสำคัญที่รัฐบาลให้ความสำคัญ
ต้องการเร่งรัดการเจรจาให้สำเร็จโดยเร็ว เพราะจะเป็นประโยชน์กับทั้งไทยและอียู และประเทศสมาชิกอียู 27 ประเทศ รวมถึงฟินแลนด์ ที่จะขยายโอกาสทางการค้า ทั้งสินค้าและบริการ ตลอดจนการลงทุนระหว่างกัน
นายภูมิธรรม กล่าวอีกว่า การเจรจา FTA ไทย-อียู จัดประชุมไปแล้วสองรอบ ล่าสุดเมื่อเดือน ม.ค.2567 ที่ผ่านมา มีความคืบหน้าที่ดีตามลำดับ และกำหนดนัดเจรจารอบต่อไปในช่วงปลายเดือน มิ.ย.2567
โดยฟินแลนด์ยินดีที่จะให้การสนับสนุนอย่างเต็มที่เพื่อให้สามารถสรุปผลการเจรจา FTA ได้สำเร็จภายใน 2 ปี ตามเป้าหมายที่กำหนดไว้ และหากเจรจาสำเร็จ จะเป็น FTA ที่มีความทันสมัยและมีมาตรฐานสูงมากที่สุด เมื่อเปรียบเทียบกับ FTA ที่ผ่านมาของไทย
ทั้งนี้กระทรวงพาณิชย์ ได้แจ้งฟินแลนด์ ว่า รัฐบาลไทยอยู่ระหว่างขับเคลื่อนนโยบายการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคมและขนส่ง ไม่ว่าทางบก น้ำ ราง และอากาศ จึงเชิญชวนให้ฟินแลนด์ รวมทั้งประเทศสมาชิกอียู เข้ามาลงทุนในไทยเพิ่มขึ้น
โดยเฉพาะในสาขาเทคโนโลยีขั้นสูงที่อียูมีความเชี่ยวชาญ เพื่อประโยชน์ร่วมกัน และเสริมสร้างขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ ทำให้เศรษฐกิจมีการขยายตัวและมีเสถียรภาพ ซึ่งนักลงทุนจากฟินแลนด์ สามารถใช้ไทยเป็นประตูเชื่อมโยงสู่ภูมิภาคเอเชียด้วย
นอกจากนี้ ยังได้สร้างความเชื่อมั่นให้กับฟินแลนด์ว่ารัฐบาลให้ความสำคัญกับการปรับปรุงกฎหมายและกฎระเบียบ เพื่ออำนวยความสะดวกทางการค้าตลอดจนสอดรับกับการค้ายุคใหม่
ปี 2566 ฟินแลนด์ เป็นคู่ค้าอันดับ 14 ของไทยในยุโรป การค้ารวมมีมูลค่า 572.73 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ไทยส่งออกไปฟินแลนด์ 143.12 ล้านดอลลาร์สหรัฐ นำเข้าจากฟินแลนด์ 429.60 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ส่วนการค้ารวมไทย–อียู มูลค่า 41,582.24 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ไทยส่งออกไปอียู 21,838.37 ล้านดอลลาร์สหรัฐ และนำเข้าจากอียู 19,743.87 ล้านดอลลาร์สหรัฐ
สินค้าไทยส่งออกไปฟินแลนด์ และอียู เช่น เครื่องคอมพิวเตอร์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ อัญมณีและเครื่องประดับ เครื่องปรับอากาศและส่วนประกอบ แผงวงจรไฟฟ้า หม้อแปลงไฟฟ้าและส่วนประกอบ ผลิตภัณฑ์ยาง รถยนต์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ เครื่องใช้บนโต๊ะอาหาร เครื่องครัว และของใช้ในบ้านเรือน รถจักรยานยนต์และส่วนประกอบ
ส่วนสินค้านำเข้าจากฟินแลนด์และอียู เช่น เครื่องจักรกลและส่วนประกอบ ผลิตภัณฑ์เวชกรรมและเภสัชกรรม เครื่องจักรไฟฟ้าและส่วนประกอบ เคมีภัณฑ์ เครื่องบิน เครื่องร่อน อุปกรณ์การบินและส่วนประกอบ เครื่องมือเกี่ยวกับวิทยาศาสตร์การแพทย์ แผงวงจรไฟฟ้า ส่วนประกอบและอุปกรณ์ยานยนต์เครื่องเพชรพลอย อัญมณี เงินแท่งและทองคำ เหล็ก เหล็กกล้าและผลิตภัณฑ์ และผลิตภัณฑ์ทำจากพลาสติก
ด้านการลงทุนของไทยในอียู ในช่วงม.ค.-ก.ย.2566 มีมูลค่า 3,173.07 ล้านดอลลาร์สหรัฐ มีการลงทุนสำคัญ ได้แก่ อุตสาหกรรมอาหารและเครื่องดื่ม ธุรกิจโรงแรม ธุรกิจอัญมณีและเครื่องประดับ และการลงทุนของอียูในไทย
ในช่วงเดียกัน มีมูลค่า 2,745.07 ล้านดอลลาร์สหรัฐ มีการลงทุนสำคัญ ได้แก่ อุตสาหกรรมยานยนต์ อุตสาหกรรมเคมีภัณฑ์และยา ธุรกิจนำเข้าและจัดจำหน่ายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ธุรกิจบัญชี ธุรกิจขนส่ง และธุรกิจการเงิน
นายปาเวล ปีเตล (H.E. Mr.Pavel Pitel) เอกอัครราชทูตสาธารณรัฐเช็ก ประจำประเทศไทย
นอกจากนี้ ยังได้หารือกับ นายปาเวล ปีเตล (H.E. Mr.Pavel Pitel) เอกอัครราชทูตสาธารณรัฐเช็ก ประจำประเทศไทย โดยได้เชิญชวนให้เช็กขยายการลงทุนเพิ่มในไทย ในสาขาอุตสาหกรรมที่เช็กมีความเชี่ยวชาญและในพื้นที่เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC)
เช่น การผลิตรถยนต์ อุปกรณ์ทางการแพทย์ และการป้องกันประเทศ โดยเช็กสามารถใช้ไทยเป็นศูนย์กลางเพื่อขยายการค้าและการลงทุนในภูมิภาคอาเซียนได้
และผลักดัน soft power เช่น มวยไทย การท่องเที่ยว ให้เป็นรูปธรรมต่อไป รวมทั้งได้แลกเปลี่ยนความเห็นเกี่ยวกับการเจรจาความตกลงการค้าเสรี (FTA) ไทย-สหภาพยุโรป (EU) ที่อยู่ระหว่างการเจรจา
โดยได้ขอให้เช็กในฐานะประเทศสมาชิกของ EU สนับสนุนการเจรจาดังกล่าว เพื่อให้สามารถสรุปผลการเจรจาได้โดยเร็ว เป็นประโยชน์ต่อการพัฒนาเศรษฐกิจ ขยายโอกาสทางการค้าและการลงทุนระหว่างไทยกับประเทศสมาชิก EU 27 ประเทศ รวมถึงเช็กด้วย
ทั้งนี้เช็กเป็นคู่ค้าอันดับที่ 43 ของไทย และอันดับที่ 8 จาก EU โดยในปี 2566 ไทยและเช็กมีการค้าระหว่างกันรวม 1,137.78 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (39,387.75 ล้านบาท) เพิ่มขึ้นจากปีก่อนหน้าร้อยละ 3.62 มีสัดส่วนการค้ารวมคิดเป็นร้อยละ 0.20 ของการค้าทั้งหมดของไทยกับโลก
โดยไทยส่งออกไปเช็ก 784.51 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (27,064.81 ล้านบาท) และไทยนำเข้าจากเช็ก 353.27 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (12,322.94 ล้านบาท) สินค้าส่งออกสำคัญ เช่น เครื่องคอมพิวเตอร์และส่วนประกอบ หม้อแปลงไฟฟ้าและส่วนประกอบ เครื่องโทรสาร โทรศัพท์ และส่วนประกอบ แผงสวิทซ์และแผงควบคุมกระแสไฟฟ้า เครื่องใช้ไฟฟ้าและส่วนประกอบอื่นๆ
สินค้านำเข้าสำคัญ เช่น เครื่องจักรกลและส่วนประกอบ เครื่องจักรไฟฟ้าและส่วนประกอบ ส่วนประกอบและอุปกรณ์ยานยนต์ เครื่องมือเครื่องใช้เกี่ยวกับวิทยาศาสตร์ การแพทย์ ผลิตภัณฑ์ทำจากพลาสติก
อ่านข่าวอื่นๆ:
ล้งจีน บุกเมืองจันทบุรี ชิงตลาดส่งออกผู้บริโภค "ทุเรียน"ไทย
กกพ.เคาะ"ค่าไฟ"ใหม่ งวด พ.ค.– ส.ค. อยู่ที่ 4.18 บาท
แรงงาน 3 สัญชาติกลับบ้านสงกรานต์ 1 เม.ย.-15 พ.ค.ไม่มีค่า Re-Entry