วันนี้ (15 มี.ค.2567) ผู้สื่อข่าวรายงานว่าตั้งแต่กลางดึกที่ผ่านมา อาสาสมัครชุดผลักดันช้างป่าเขาชะเมา กลุ่มกรินคีรี ทีมสัตวแพทย์ และเจ้าหน้าที่สำนักอนุรักษ์สัตว์ป่า กรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าและพันธุ์พืช สำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ 2 (ศรีราชา) เข้าตรวจสอบพื้นที่บริเวณค่ายลูกเสือภูเวียน ถนนสายวังจันทร์-เขาชะเมา ซึ่งเป็นจุดที่พบช้างป่าหากินนอกพื้นที่เป็นประจำ 3 ตัว โดยเฉพาะพลายซัน ช้างป่าตัวผู้อายุมากกว่า 10 ปีน้ำหนักกว่า 3 ตัน

หลังจากมีข้อเสนอจาก ชาวบ้าน และนายชุติพงศ์ พิภพภิญโญ สส.พรรคก้าวไกล จ.ระยอง และ นายศักดิ์ชาย ตันเจริญ สส.พรรคเพื่อไทย จ.ฉะเชิงเทรา เรียกร้องให้กรมอุทยานแห่งชาติฯ เคลื่อนย้ายออกจากพื้นที่ อ.วังจันทร์ จ.ระยอง และมีประวัติทำร้ายคนเสียชีวิต 2 คน และพบเป็นช้างป่าที่พบเข้าใกล้ชุมชนแทบทุกคืนตลอด 2 ปีที่ผ่านมา จนเจ้าหน้าที่และชาวบ้านอาสาสมัครต้องจัดชุดเฝ้าระวังช้างป่ามาเกือบ 2 ปี

อ่านข่าว : เปิดแผนย้าย “พลายซัน” ตัวตึงป่าตะวันออกคร่า 2 ชีวิต
ต่อมา ร.อ.รชฏ พิสิษฐบรรณกร ผู่ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) เป็นประธานประชุมร่วมกับทีมกรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าและพันธุ์พืช สัตวแพทย์ สัตวบาล และเจ้าหน้าที่จากพื้นที่เขาอ่างฤาไน เขาสอยดาวและผู้เกี่ยวข้องกว่า 100 คนในภารกิจนี้ เพื่อซักซ้อมขั้นตอนการทำงานเคลื่อนย้ายช้าง

ซึ่งแบ่งออกเป็นทีมแกะรอย ทีมยิงยาซึม ทีมขนย้ายช้างขึ้นรถบรรทุกสิบล้อ และทีมติดปลอกคอช้าง และทีมเคลื่อนย้ายช้างไปยังเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าเขาอ่างฤาไน ที่ห่างจากจุดนี้ 140 กม.ต้องใช้เวลา 3-4 ชม.
อ่านข่าว : 1 ปี "วัคซีนคุมกำเนิดช้าง" ไปไม่ถึงฝัน ติดขั้นตอนอนุญาตนำเข้า

พบ “พลายซัน” เพื่อน 3 ตัวนอนพักชายเขา
กระทั่งช่วงเวลา 14.00 น.นายชาญชัย คำสุวรรณ เจ้าหน้าที่ชุดแกะรอยช้างรายงานว่าพบพิกัดล่าสุดพลายซัน และช้างอีก 2 ตัว รวม 3 ตัว เข้ามานอนพักที่เขาภูเวียน อ.เขาชะเมา ซึ่งอยู่ห่างจากอ่างเก็บน้ำประแสร์ 5 กม. โดยยังคงพบร่องรอยขี้ช้าง รอยกิ่งไม้ถูกช้างดึงลงมา และรอยตีนขนาดใหญ่กว่า 30 ซม. เหยียบย่ำ กระจัดกระจายในพงหญ้าจุดนี้
ทีมสัตวแพทย์ ประเมินว่ามีโอกาสที่จะจับติดปลอกคอและเคลื่อนย้ายช้างได้สะดวก เนื่องจากมีถนนลำลอง ประกอบกับใกล้กับเส้นทางที่รถสิบล้อที่มีการทำคอกรองรับพยุงให้ช้างที่มีน้ำหนักกว่า 3 ตันสูงกว่า 3 เมตรได้ง่าย จึงส่งทีมสัตวแพทย์เข้าปฏิบัติภารกิจทันที

“หมอล็อต” ชี้ช้างออกนอกพื้นที่เครียด ถูกทำร้าย
นสพ.ภัทรพล มณีอ่อน หัวหน้ากลุ่มวิชาการสัตว์ป่า กรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าและพันธุ์พืช กล่าวว่า การแก้ปัญหาช้างให้อยู่ในพื้นที่ต้องทำให้บ้านของช้างน่าอยู่แล้วมีความสุข คือมีแหล่งน้ำ แหล่งอาหารเพื่อไม่ให้ออกนอกพื้นที่ ซึ่งพบว่าช้างที่ออกมาใช้ชีวิตนอกป่า มีความเครียด
ช้างบางตัวที่ออกมาหากินนอกป่า โดยเฉพาะป่าตะวันออก บางตัวมีร่องรอยบาดเจ็บถูกทำร้าย จนมีพฤติกรรมเปลี่ยน บางตัวพาเพื่อนออกมาหากินจนเกิดความขัดแย้งคนช้าง

ปลอกคอจีพีเอส
ปลอกคอจีพีเอส
ติด “ปลอกคอจีพีเอส” รายงานเรียลไทม์ เตือนชาวบ้าน
ขณะที่เจ้าหน้าที่ได้นำสายหนังปลอกคอใหม่ที่สั่งมาประเทศสวีเดน ขนาดความยาว 5 เมตร มาติดอุปกรณ์จีพีเอส และแผงโซลาร์เซลล์ ให้เข้ากับพลายซัน โดยพัฒนาจากนายธนดล วังวิจิตร เยาวชนอายุ 17 ปีโรงเรียนโชรส์เบอรี กรุงเทพ ซึ่งจะพัฒนาจะเป็นเคสแรกที่จะรายงานข้อมูลเรียลไทม์ ใช้ศึกษาว่าช้างตัวนี้จะใช้เวลาในการเดินทางกลับมาในจุดเดิมนานแค่ไหน และแจ้งเตือนประชาชนระยะใกล้สุด 1 กม.
โดยปลอกคอเส้นแรก มีการพัฒนาให้ดีขึ้นกว่าปลอกคอจีพีเอสที่กรมอุทยานฯ ดำเนินการมาก่อนเพราะปลอกคอรุ่นใหม่ตัวนี้จะรับโซลาร์เซลล์ เพื่อให้การใช้งานยืนยาวขึ้น
อ่านข่าว : ปลอกคอจีพีเอส "ช้างป่า" ติดนาน 6 ปี "ไม่มีอะไร เร็วเท่าใจคน"

ขณะที่ทีมเตรียมรถเคลื่อนย้าย ได้ติดตั้งคานไม้และคอกด้านข้างรถเคลื่อนย้าย ความสูง 2.30 เมตร เพื่อให้พยุงตัวช้างเมื่อรถเบรก หรือเคลื่อนตัวไปข้างหน้า หรือเข้าโค้ง ไม่ให้ช้างเสียหลัก และรถเสียการทรงตัว โดยคาดว่าช้างตัวที่จับมีความสูง 3 เมตร

นอกจากนี้มีรายงานว่าการจับและย้ายช้างป่าตะวันออกตัวนี้ ถือเปิดปฏิบัติการครั้งแรกที่ให้สื่อ เห็นภาพการย้ายช้าง ซึ่งต่อไปจะใช้โมเดลเดียวกับพื้นที่อื่นๆ ในการจัดการช้างกระเด็น ที่ออกนอกพื้นที่ทุกแห่ง

อ่านข่าวอื่นๆ :
ชงของบกลาง 1,000 ล้านแก้ช้างป่า จัดทัพเฝ้า 200 ชุด 60 จุดเสี่ยง
สั่งปฏิรูปที่ดินโคราช เพิกถอน ส.ป.ก.4-01 ยกเลิกรังวัด 1,279 ไร่
ควักลูกตาเสือโคร่ง "บะลาโกล" หมอยืนยันความเป็นนักล่ายังเต็มเปี่ยม
อัปเดต "พังกันยา" ลูกช้างป่ากำพร้า พัฒนาการดีขึ้น ทั้งเล่น-กิน