วันนี้ (13 มี.ค.2567) นายอิทธิพร บุญประคอง ประธานคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) กล่าวถึงกรณี กกต.มีมติให้ยื่นคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญเพื่อยุบพรรคก้าวไกลว่า กระบวนการพิจารณาเรื่องดังกล่าว ที่ประชุม กกต.ได้ให้สำนักงาน กกต.ศึกษาวิเคราะห์ ตั้งแต่วันที่ 6 ก.พ. หลังจากศาลรัฐธรรมนูญอ่านคำวินิจฉัย เมื่อวันที่ 31 ม.ค.2567
ซึ่งเป็นการศึกษาพิจารณาอย่างต่อเนื่องโดยตลอด จนกระทั่งถึงวันที่ศาลรัฐธรรมนูญมีคำวินิจฉัยอย่างเป็นทางการเมื่อวันที่ 29 ก.พ.โดยใช้เวลาในการพิจารณาเพิ่มเติมและข้อเสนอแนะ จนเป็นที่มาของผลการประชุม กกต.เมื่อวานนี้
ส่วนจะสามารถยืนยันกรอบระยะเวลาได้หรือไม่ หลังพรรคก้าวไกลตั้งคำถามว่า เร็วเกินไปที่จะตัดสิน นายอิทธิพร ยืนยันว่า เรื่องดังกล่าวเป็นการดำเนินการโดยใช้อำนาจหน้าที่ตาม มาตรา 92 ซึ่งใช้คำว่า
เมื่อคณะกรรมการ กกต.มีหลักฐานอันควรเชื่อได้ว่า มีพรรคใดกระทำการอันควรจะเป็นการล้มล้างการปกครอง ให้เสนอเรื่องไปยังศาลรัฐธรรมนูญพิจารณา ซึ่ง กกต.มีคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญและคำวินิจฉัยอย่างเป็นทางการก็ใช้เวลาพอสมควร
สิ่งที่เป็นหลักฐานอันเชื่อได้ว่า ก็คือคำวินิจฉัยของศาล มีรายละเอียด ข้อกฎหมาย ข้อเท็จจริง พยานหลักฐาน มีเอกสารประกอบ มีคำไต่สวน มีถ้อยคำของผู้ที่เกี่ยวข้อง ฉะนั้นจึงมีเหตุผลที่เชื่อได้ว่า ควรส่งศาลรัฐธรรมนูญ
ทั้งนี้ เมื่อ กกต.มีมติส่งศาลรัฐธรรมนูญพิจารณายุบพรรคก้าวไกล โดยทั่วไปจะใช้เวลาไม่เกิน 1 สัปดาห์ ในการจัดทำคำร้องเพื่อส่งศาลรัฐธรรมนูญ ซึ่งเสร็จเมื่อไหร่เราก็จะยื่นศาลรัฐธรรมนูญเมื่อนั้น
นายอิทธิพร กล่าวถึงการแสดงความเห็นในโซเชียลมีเดีย ที่ระบุว่า กกต.มีใบสั่งให้เสนอยุบพรรคก้าวไกล นายอิทธิพรกล่าวว่า กกต.ทำงานตามกฎหมาย ผู้ที่จะสั่งให้ปฏิบัติหน้าที่คือ กฎหมายที่เขียนเอาไว้ หากมองตามรัฐธรรมนูญ ก็คือ กกต.เป็นองค์กรอิสระหนึ่ง ที่ปฏิบัติตามรัฐธรรมนูญ กฎหมายและหลักนิติธรรม เพราะฉะนั้นหากไม่ทำตามกฎหมาย ก็ถือว่าไม่ปฏิบัติหน้าที่
ส่วนต่อจากนี้ไปจะมีพรรคการเมืองอื่นด้วยหรือไม่ ประธาน กกต.กล่าวว่า ไม่อยากเรียกว่าเป็นคิว หากมีการเสนอเรื่องและพิจารณาว่า พรรคการเมืองหรือผู้บริหารพรรคการเมืองใด กระทำการ อันอาจจะเป็นการฝ่าฝืนกฎหมายที่เกี่ยวข้องอันจะนำไปสู่การต้องยื่นศาลที่เกี่ยวข้อง เราก็ดำเนินการตามนั้น ไม่ได้มีเฉพาะเจาะจงอะไร
ส่วนกรณีที่นายสมชัย ศรีสุทธิยากร อดีต กกต. ระบุว่า โทษของการยุบพรรคก้าวไกล อาจร้ายแรงถึงขั้นถูกตัดสิทธิทางการเมืองตลอดชีวิต ประธาน กกต.กล่าวว่า ตาม มาตรา 92 แล้ว หาก กกต.ส่งเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยยุบพรรค กกต.สามารถยื่นให้ศาลพิจารณาเพิกถอนสิทธิในการลงสมัครรับเลือกตั้ง ซึ่งไม่ได้กำหนดระยะเวลาไว้
ตามกฎหมายแล้ว ศาลจะสั่งห้ามตั้งพรรคใหม่ ห้ามเป็นคณะกรรมการบริหารพรรคการเมืองอื่น ซึ่งตามกฎหมายศาลจะสั่งห้ามไม่ให้เกิน 10 ปี นั่นเป็นโทษสูงสุด ส่วนกกต.จะดำเนินคดีอาญากับพรรคก้าวไกลด้วยหรือไม่ ต้องพิจารณาว่า การกระทำฝ่าฝืนกฎหมายอื่นด้วยหรือไม่
ส่วนความคืบหน้าคดียุบพรรคภูมิใจไทย กรณีรับเงินบริจาค บริษัท บุรีเจริญ คอนตรัคชั่น นั้น นายอิทธิพร กล่าวว่า อยู่ระหว่างการตรวจสอบข้อเท็จจริง และรวบรวบพยานหลักฐาน ของเลขาธิการ กกต. ซึ่งเป็นนายทะเบียนพรรคการเมือง ยังไม่ถึงขั้นที่จะสรุปความเห็นและนำเข้าสู่ที่ประชุม กกต.
อ่านข่าว : ก้าวต่อไป! "พิธา" โพสต์สื่อความหมายหลัง กกต.ชงมติยุบก้าวไกล
จับกระแสการเมือง 12 มี.ค.67 วิบากกรรมสุดท้าย “ก้าวไกล” ลุ้นยุบพรรค-เพื่อไทย พา "ทักษิณ" ปิ๊กบ้าน