เมื่อวันที่ 12 มี.ค.2567 ครูโรงเรียนแห่งหนึ่งในจ จ.หนองคาย โพสต์ TikTok โดยในคลิปสอบถามนักเรียนว่า วัตถุที่อยู่ในมือของครู "เอาไว้ทำอะไร" ซึ่งเด็กๆ ที่อยู่ในคลิป ชั้น ป.1 บอกว่า เอาไว้ดม เอาไว้สูบให้เย็นคอ
ขณะที่เด็กอีกคน บอกว่า "มันคือบุหรี่ไฟฟ้า" ครูจึงถามว่าแล้วทำไมเอามาโรงเรียน ซึ่งเด็กคนหนึ่งในคลิปตอบว่า "พี่คนหนึ่งให้มา" ในคลิปไม่ได้ระบุชัดเจนว่า เด็กที่นำบุหรี่ไฟฟ้ามาโรงเรียนได้ทดลองสูบหรือไม่ แต่ครูได้เน้นย้ำว่านี่เป็นสิ่งของอันตราย และควรทิ้งทันที
นี่เป็นเพียง 1 สถานการณ์ การเข้าถึงบุหรี่ไฟฟ้าในเด็ก พรพนา พ่วงเพชร หัวหน้ากลุ่มเครือข่ายครูเพื่อโรงเรียนปลอดบุหรี่ ที่ทำงานด้านการรณรงค์ป้องกันบุหรี่ในโรงเรียน บอกว่า เป็นเรื่องยากมากที่จะควบคุมการเข้าถึงบุหรี่ไฟฟ้าของเด็ก เพราะการขายแพร่หลายทั่วไป แม้ครูจะพยายามป้องปรามด้วยการตรวจสอบ และการให้ความรู้ สร้างความเข้าใจเรื่องพิษภัยของบุหรี่ไฟฟ้า แต่หากกฎหมายไม่เข้มงวดก็ไม่มีประโยชน์
เชื่อว่าทุกพื้นที่ทำงานอย่างเต็มที่ แต่สถาบันครอบครัวก็มีส่วนสำคัญ ต้องช่วยแก้ปัญหา ส่วนกฎหมายต้องเข้มงวด เจอต้องจับ ไม่อย่างนั้นงานรณรงค์ไม่มีความหมาย
ปคบ.ตรวจยึดตู้กดบุหรี่ไฟฟ้ารายแรกในไทย
นอกจากเข้าถึงเด็กในห้องเรียน เมื่อวันที่ 12 มี.ค.2567 ตำรวจ ปคบ.ยังไปตรวจยึดตู้กดบุหรี่ไฟฟ้าในตลาดใกล้มหาวิทยาลัยแห่งหนึ่ง ในเมืองกำแพงแสน จ.นครปฐม หลังได้รับการร้องเรียนว่า มีการสร้างห้องเฉพาะเพื่อติดตั้งตู้เอาไว้ภายใน ซึ่งคาดว่าเป็นการหลบเลี่ยงสายตาเจ้าหน้าที่ เพราะตามคำสั่งคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค บุหรี่ไฟฟ้าและน้ำยา เป็นสินค้าห้ามจำหน่าย
สำหรับตู้กดที่พบ เป็นตู้อัตโนมัติขนาดใหญ่ แยกจำหน่ายบุหรี่ไฟฟ้า และน้ำยา มีระบบสั่งสินค้าและจ่ายเงินผ่านหน้าจอ ไม่พบเจ้าของหรือพนักงานให้บริการ ตำรวจอยู่ระหว่างสืบสวนหาเจ้าของ พ.ต.ท.ไพรัช พรมวงศ์ รอง ผกก.1 บก.ปคบ. เปิดเผยว่า นับเป็นรายแรกในไทย ที่จำหน่ายผ่านตู้กดไฟฟ้า คาดว่า ชิ้นส่วนตู้อาจจะนำเข้ามา แต่โปรแกรมการสั่งซื้อคาดว่าทำในไทย อยู่ระหว่างขยายผลเพิ่มเติม
"บุหรี่ไฟฟ้า" สินค้าที่ห้ามจำหน่ายและมีความผิดตามกฎหมายหลายฉบับ เช่น พ.ร.บ.คุ้มครองผู้บริโภค ห้ามขายหรือห้ามให้บริการสินค้า บารากู่ไฟฟ้า หรือ บุหรี่ไฟฟ้า รวมถึงน้ำยาเติม มีโทษจำคุกไม่เกิน 3 ปี หรือ ปรับไม่เกิน 600,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
บุหรี่ไฟฟ้าเป็นสิ่งผิดกฎหมายในประเทศไทย
กรณีผู้นำเข้า มีความผิดตามประกาศกระทรวงพาณิชย์ มีโทษจำคุกไม่เกิน 10 ปี หรือปรับเป็นเงิน 5 เท่า ของราคาสินค้า หรือทั้งจำทั้งปรับ กับให้ริบบุทรี่ไฟฟ้า รวมทั้งสิ่งที่ใช้บรรจุ และพาหนะใดๆ ที่ใช้ในการบรรทุกสินค้านั้นด้วย และยังเป็นความผิดตาม พ.ร.บ.ศุลกากร มีโทษจำคุกไม่เกิน 10 ปี หรือ ปรับไม่เกิน 500,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
กรณีผู้ครอบครองหรือรับไว้จะมีความผิดฐาน ช่วยซ่อนเร้น ช่วยจำหน่าย พ.ร.บ.ศุลกากร กำหนดว่ามีโทษจำคุกไม่เกิน 5 ปี หรือปรับเป็นเงิน 4 เท่าของราคาสินค้า หรือทั้งจำทั้งปรับ
เมื่อบุหรี่ไฟฟ้าเป็นสินค้าต้องห้ามแม้จะไม่มีเจตนาหรือไม่รู้ว่าเป็นของมีความผิด ก็ต้องถูกริบให้ตกเป็นของแผ่นดิน และนำไปทำลายตามกฎหมาย ส่วนการสูบในที่สาธารณะ เป็นการกระทำที่ผิด พ.ร.บ.ควบคุมผลิตภัณฑ์ยาสูบ โดยมีบทลงโทษ ปรับไม่เกิน 5,000 บาท
อ่านข่าวอื่น :