ครอบครองยาบ้าไม่เกิน 5 เม็ด ให้สันนิษฐานไว้ก่อนว่า เป็นผู้ป่วยต้องเอาไปบำบัดรักษา แต่ถ้าไม่ยอมบำบัดก็จะต้องติดคุก และถูกดำเนินคดี
พลันที่กฎกระทรวงสาธารณสุข เผยแพร่ในราชกิจจานุเบกษา ก็เรียกเสียงวิจารณ์ขรมว่า เป็นการเปิดช่องให้ผู้ค้ายารายย่อยจำหน่ายยาเสพติด มากกว่าจะนำผู้เสพไปเข้ารับการรักษา ในฐานะผู้ป่วย
หากเปิดสถิตผู้ต้องขังในราชทัณฑ์ คดี พ.ร.บ.ยาเสพติดทั่วประเทศ ในเดือน มกราคม 2567 พบว่า มีผู้ต้องที่เกี่ยวข้องกับยาเสพติดรวมทุกประเภท 206,080 คน ขณะที่เดือน กุมภาพันธ์ มีถึง 206,218 คน
และหากแยกตามลักษณะคดีข้อมูล วันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2567 พบว่า "ยาเสพติด" ครองสัดส่วนผู้ต้องขัง 207,623 คน แบ่งเป็นชาย 183,940 คน และหญิง 23,683 คน เมื่อเทียบกับ "คดีทั่วไป" ที่มีจำนวน 75,066 คน
แยกไปอีกตามประเภทของตัวยา 5 อันดับที่พบมากที่สุด ได้แก่ เมทแอมเฟตามีน (ยาบ้า) 128,507 คน ยาไอซ์ 13,548 คน กัญชา 740 คน เฮโรอีน 709 คน แอมเฟตามีน 754 คน
แยกตามประเภทคดี 3 อันดับที่พบมากที่สุด คือ รวมประเภทยาเสพติดเพื่อจำหน่าย 139,248 คน 2. ครอบครองเพื่อจำหน่าย 98,507 คน 3.รวมประเภทเสพ 24,662 คน
จากข้อมูลเห็นได้ว่า มากเกินครึ่ง "ผู้ต้องขัง" จะเกี่ยวข้องกับ "ยาเสพติด" และมองลึกลงไปอีกจะพบว่าเป็น "ยาบ้า" เป็นยาเสพติดที่พบมากที่สุด
"คุกล้น"ผู้ต้องขังคดียาเสพติด พ้นโทษกลับใช้ซ้ำ
ทพญ.จุฑารัตน์ จินตกานนท์ รองอธิบดีกรมราชทัณฑ์ กล่าวถึงสถานการณ์ผู้ต้องขังคดียาเสพติดของกรมราชทัณฑ์ ในฐานะซึ่งเป็นปลายทางของ "ผู้เสพ" ในช่วง 10 ปี ที่ผ่านมา กรมราชทัณฑ์ รับผู้ต้องขังใหม่ อยู่ที่ประมาณ 200,000 - 220,000 คน โดยในปี 2564 ซึ่งเป็นช่วงสถานการณ์โควิด-19 ระบาด ลดลงเหลือ 170,000 คน
ในปี 2565 มีการรับผู้ต้องขัง 180,000 คน ในปี 2566 ที่ผ่านมานี้ มีการยกระดับกฎหมาย พ.ร.บ.ยาเสพติดให้โทษ มาเป็นประมวลกฎหมายยาเสพติดแทน มีการรับผู้ต้องขัง 190,000 คน
เรือนจำไทยมีการปฎิบัติ และการเข้าถึงบริการสุขภาพไม่ได้ด้อย แต่ปัญหา คือ ความแออัดสูง เป็นที่อันดับ 6 ของโลก ที่ 3 ของเอเซีย ที่ 1 ของอาเซียน
รองอธิบดีกรมราชทัณฑ์ กล่าวว่า ในประเทศไทยมาตรฐานของพื้นที่นอน สำหรับผู้ต้องขังที่กำหนดโดยกรมราชทัณฑ์ คือ 2.25 ตารางเมตรต่อผู้ต้องขัง 1 คน แต่ในความเป็นจริงนั้น ผู้ต้องขังมีพื้นที่นอนน้อยกว่าที่ควรจะเป็น สาเหตุเพราะจำนวนผู้ต้องขังถูกจับกุมเข้ามาอยู่ในเรือนจำมีมากขึ้น โดยเฉพาะผู้ต้องขัง "คดียาเสพติด"
ขณะที่ อัตราการกระทำผิดซ้ำของผู้ต้องขังไทย ไม่สูงมากนักหากเทียบกับต่างประเทศ จากการติด ตามผู้ต้องขังที่มีการปล่อยตัวในช่วงปี 2565 - 2566 พบว่า มีการกระทำผิดซ้ำสูงขึ้น ร้อยละ 17 แต่หากเปรียบเทียบกับเรือนจำอื่น ๆ ทั่วโลก การกระทำผิดซ้ำในปีแรกถือว่าไม่มาก ทั้งนี้ หากลดความแออัดในเรือนจำได้ การปฎิบัติต่อผู้ต้องขังในเรื่องร้องเรียนต่าง ๆ เชื่อว่าจะดีขึ้น
รองอธิบดีกรมราชทัณฑ์ กล่าวว่า พฤติกรรมของผู้พ้นโทษทั่วโลก หลังออกจากเรือนจำส่วนใหญ่มักดื่มแอลกอฮอล์ และอาจกลับไปใช้สารเสพติดอีกครั้ง โดยมีรายงานว่า ในช่วง 1 เดือนแรกที่พ้นออกจากเรือนจำ จะมีเสียชีวิตจากการใช้ยาเกินขนาด เนื่องจากไม่ได้ใช้ยาเป็นระยะเวลานาน
ในช่วงที่ผ่านมา เชื่อมั่นว่าเรือนจำมีการสกัดกั้นยาเสพติดได้ผล ซึ่งผลมาจากการตรวจจู่โจมเป็นประจำ แต่กลับพบว่า ผู้ต้องขังพยายามใช้ยาอื่น ๆ ที่มีฤทธิ ง่วง หาว นอน มากขึ้น โดยผู้ต้องขังพยายามหาทางใช้ยาประเภทนี้ ทั้งพยายามแกล้งป่วย หลอกว่ามีอาการต่าง ๆ เพื่อให้ได้ใช้ยากลุ่มนี้
เปิดใจ"นักเสพ"หนีไม่พ้นวังวนยาเสพติด
แม้ประมวลกฎหมายยาเสพติด พ.ศ.2564 ระบุว่า ผู้ผลิต ผู้จำหน่าย และผู้ค้า ยังผิดตามกฎหมาย ขณะที่ "ผู้เสพ" มีทางเลือกระหว่างถูกดำเนินคดีมีโทษตามปกติ หรือไม่ถูกดำเนินคดี แต่ต้องกลายเป็น "ผู้ป่วย" ประเด็นนี้ก็ยังเป็นคำถามว่า การแก้ไขปัญหา เดินมาถูกทางแล้วหรือไม่
และหากเลือกวิธีการนี้แล้ว ขั้นตอนถัดไป คือ การหาทางจำแนก "ผู้ค้า" กับ "ผู้เสพ" เพื่อแยก "ผู้เสพ" ให้กลายเป็น "ผู้ป่วย" ก่อนเข้าสู่กระบวนการบำบัดอย่างที่ตั้งใจ
หนึ่งในผู้ติดยาเสพติดที่กำลังจะได้รับการบำบัด ฟลุ๊ต หญิงวัย 19 ปี เล่าว่า เธอเริ่มใช้ "เฮโรอีน" ครั้งแรกตอนอายุ 17 ปี ตามคำชวนของเพื่อน แม้ความอยากรู้อยากลอง จะเป็นเหตุผลสำคัญที่ทำให้ "ฟลุ๊ต" เข้าไปยุ่งเกี่ยวกับยาเสพติด แต่วันนี้เธออยากออกจากวังวนนี้ แม้จะพยายามเลิกด้วยตัวเองหลายครั้งแต่ยังไม่สำเร็จ
ตอนนี้ไม่ได้เรียน ไม่ได้ทำงาน และต้องเลี้ยงดูลูกสาววัย 2 ขวบ
หญิงวัย 19 ปี
ฟลุ๊ต กล่าวว่า ตอนนี้ว่าอยากเลิกเฮโรอีนให้ได้ อาการเสี้ยนยา "ทรมานที่สุด" และทุกวันตลอดเวลา 3 ปี ที่เธอหลงเข้าไปในเส้นทางนี้ คือ "ความยากลำบาก" ที่ต้องเผชิญ ปัจจุบันเธอพยายามลดปริมาณการเสพลง และอยู่ระหว่างใช้ "น้ำมันกัญชา" เพื่อลด "เฮโรอีน" แต่ฟลุ๊ต ยอมรับว่า "ช่วยเธอได้แค่แป๊บเดียว"
ฟลุ๊ต เล่าต่อ แรก ๆ เสพแล้วมีความสุข จากนั้นเริ่มใช้ทุกวัน ใช้ไปนาน ๆ เริ่มเสพเพื่อหนีความทรมาร หนีจากความรู้สึกเสี้ยนยา และต้องใช้บ่อยขึ้น ตอนนี้ต้องการที่จะเข้ารับการบำบัดยาเสพติด อยากออกจากที่อยู่จุดเดิม อยากเลิกยาให้สำเร็จ แต่ก็ต้องรอคิวเพื่อเข้ารับการบำบัด ซึ่งอาจไม่ใช้เร็ว ๆ นี้
แต่ฟลุ๊ต หวังว่า ที่สถานบำบัดจะช่วยเธอให้ดีขึ้น ที่ตรงนั้นจะได้รับยารักษา และอาจทำให้อาการทรมานดีขึ้นได้ด้วย แรงผลักที่ทำให้เธอต้องการออกจากวังวนนี้ เพราะครั้งหนึ่งเคยคิดจะทำร้ายลูกสาว เหตุอยากยา
แม่ของฟลุ๊ต หนึ่งในกำลังใจที่คอยอยู่เคียงข้างลูกสาวเสมอ สิ่งที่แม่หวัง คือ อยากให้ลูกสาวเลิกยาให้สำเร็จ และวันหนึ่ง ฟลุ๊ตจะอยู่ในสังคมได้อย่างปกติ ไม่ต้องระแวงกับสายตาผู้คน และมีอาชีพ มีรายได้เลี้ยงครอบครัวให้ไม่ต้องลำบาก
เรื่องราวของฟลุ๊ตคล้ายกับ เอ อายุ 45 ปี แม่ลูก 3 เล่าถึงชีวิตของตัวเอง ซึ่งคนในครอบครัว คือ สามี และลูกชาย 3 คน ติดยาเสพติด ทั้ง "เฮโรฮีน" และ "ยาบ้า" หนึ่งในนั้นป่วยจิตเวชจากการใช้ยาเสพติด
ในขณะที่ เอ เพิ่งเลิกเสพ "ยาบ้า" หลังใช้มานานกว่า 10 ปี ตั้งแต่อายุ 30 ปี ช่วงทำงานที่พัทยา ตอนนั้นยังไม่มีลูก ไม่ได้คิดอะไร และถึงแม้ราคา "ยาบ้า" จะแพงมากในช่วงนั้นก็ต้องพยายามหาเงินมาให้ได้ สุดท้ายเปลี่ยนจาก "ผู้เสพ" เป็น "ผู้ขาย"
ผู้ใช้ยาเสพติดจำนวนไม่น้อยที่ใช้ยาเพื่อการทำงาน เอ ก็เช่นกัน เธอเล่าว่า ย้ายมาอยู่ กทม. มีลูก 3 คน และใช้ยาเพื่อให้มีแรงเก็บขยะหาเลี้ยงปากท้องและครอบครัว แต่จุดเปลี่ยนสำคัญที่ทำให้เอ คิดอยากเลิกจากการเสพยาเสพติด คือ "ลูก"
เมื่อลูกทั้ง 3 คน เข้าสู่ช่วงวัยรุ่นก็ยุ่งเกี่ยวกับยาเสพติด เธอกลับมามองตัวเอง และตัดสินใจว่าต้องเปลี่ยนแปลงอะไรสักอย่าง ต้องเลิกยาให้ได้ ไม่อยากให้ใครพูดว่า ติดยาทั้งบ้าน
ปัจจุบัน เธอต้องดูแลลูกที่ป่วยจิตเวชจากยาเสพติด ซึ่งอยู่ระหว่างการรักษา และอยากให้คนในครอบครัวได้รับการบำบัด
ใช้สารทดแทน "ยาบ้า"รักษาผู้ติดยา
"ยาทดแทนยาบ้า" คือ ความพยายามของกระทรวงยุติธรรม และกระทรวงสาธารณสุข ในการเร่งพัฒนาหาตัวยาทดแทน เพื่อช่วยเหลือผู้ติดยาเสพติด โดยใช้ยาในการบำบัดรักษา ซึ่งสารประกอบในตัวยาจะมีส่วนผสมและออกฤทธิ์ ในลักษณะเดียวกับ "ยาเมทาโดน" ที่นำมาใช้รักษาผู้ติดเฮโรอีน
และต้องทำความเข้าใจว่า การบำบัดฟื้นฟู "ผู้ป่วยยาเสพติด" ไม่ได้ใช้ "เวลาชั่วข้ามคืน" แล้วหายขาด เพราะส่วนใหญ่มักกลับมาเสพติดใหม่ได้อีก ฉะนั้นการดูแลต่อเนื่อง จึงเป็นสิ่งที่สำคัญ
ดร.ภก.อนันต์ชัย อัศวเมฆิน อาจารย์ภาควิชาเภสัชวิทยา คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ให้ข้อมูลว่า อาการติดยาเสพติดจะมีวงจร การติดยาของสมอง แรก ๆ เสพ แล้วสุข ผ่านไปเริ่มเสพเพื่อหนีความทรมาน หนีจากความรู้สึกถอนยา หายใช้ในระยะเวลานาน อาจต้องใช้ปริมาณที่สูงขึ้น ขณะที่ยาเสพติดแต่ละตัวจะมีอาการไม่เหมือนกัน รวมถึงการปรับตัวของสมอง แสดงให้เห็นว่า ไม่สามารถใช้ตัวยาที่ใช้บำบัด ในภาพรวม ของทุกตัวยาได้
ปัจจุบันหลายหน่วยงานพยายาม จัดการปัญหายาบ้าที่เกี่ยวข้องกับการบำบัด การผลิต และการพัฒนา "ยา ทดแทน ยาบ้า" ซึ่งก่อนหน้านี้ ได้มีการใช้ "ยาเมทาโดน" เพื่อรักษา "ผู้เสพเฮโรอีน" มา
ล่าสุดเมื่อวันที่ 1 มี.ค.ที่ผ่านมา ที่ประชุม ป.ป.ส. เห็นชอบร่วมกันว่าจะศึกษาวิจัยทดลองยาเพื่อใช้บำบัดรักษา "ผู้ติดยาบ้า" หรือเมทแอมเฟตามีน รวมถึงการลดอันตรายจากการใช้ยาเสพติด (Harm Reduction) สำหรับผู้ติดยาเสพติดเรื้อรังที่ไม่สามารถหยุดการใช้ยาเสพติดบางชนิดได้ในเวลาจำกัด
แม้ยังไม่มีตัวยาใดที่ใช้ในการบำบัดรักษาได้โดยตรง และยังไม่มีตัวยาใดที่ได้รับการขึ้นทะเบียนจากสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา แต่ก็ยังเร่งหาทางออก
สำนักงาน ป.ป.ส. จะนำมาตรา 55 (2) (3) ตามประมวลกฎหมายยาเสพติดมาใช้ในการดำเนินงาน โดยสำนักงาน ป.ป.ส. จะเตรียมเสนอร่างพระราชกฤษฎีกา เพื่อกำหนดพื้นที่ศึกษาวิจัยและประกาศในราชกิจจานุเบกษาต่อไป
นอจากนี้ ยังได้เตรียมพัฒนาแพลตฟอร์มดิจิทัลในการแก้ไขปัญหาผู้ติดยาบ้า เพื่อการบำบัดรักษาและฟื้นฟูสภาพทางสังคมผู้ติดยาเสพติด ทั้งการลงทะเบียนผู้ใช้ยาเสพติดด้วยดิจิทัลไอดี และ การฟื้นฟูสภาพทางสังคมผู้ติดยาเสพติดด้วยระบบจัดการรายได้พื้นฐานถ้วนหน้า (Universal Basic Income)
สำหรับ แพลตฟอร์มดิจิทัลนี้ จะเริ่มจากการคัดกรองรูปแบบการใช้ยาเสพติด ประเมินความรุนแรงของการติดยาเสพติด ปัญหาสุขภาพกายและจิต ปัญหาครอบครัว สังคม การเงินและเศรษฐกิจ สามารถให้การช่วยเหลือและติดตามแก้ไขปัญหาผู้ใช้ยาเสพติด
เป้าหมาย ลดพฤติกรรมการสร้างความรุนแรงที่มีผลกระทบต่อครอบครัวและสังคม การเพิ่มทักษะใหม่ด้านการศึกษาและการประกอบอาชีพทางเลือกใหม่ ให้กับผู้เข้ารับการบำบัดรักษาและฟื้นฟูสภาพทางสังคม ดำรงชีวิตในสังคมได้ตามปกติสุข และสร้างสังคมปลอดภัยจากยาเสพติด
อย่างไรก็ตาม การพัฒนายาทดแทนยาบ้าเพื่อใช้ในการบำบัดผู้เสพยาเสพติด ยังคงต้องใช้ระยะเวลาในการวิจัย ซึ่งหากทำได้จะถือเป็นอีกก้าวหนึ่งในการแก้ปัญหายาเสพติด
หากพูดถึงการยาเสพติด รวมถึงการใช้สารเมทแอมเฟตามีน หรือ ยาบ้า มีความสัมพันธ์กับการเกิดอาการทางจิตหรือเรียกว่าเกิด "ภาวะโรคร่วมจิตเวชสารเสพติด"
"ป่วยจิตเวช" ผู้ป่วยจากยาเสพติด
นพ.ศรุตพันธุ์ จักรพันธุ์ ณ อยุธยา ผู้อำนวยการสถาบันจิตเวชศาสตร์สมเด็จเจ้าพระยา กล่าวว่า สถาบันจิตเวชศาสตร์สมเด็จเจ้าพระยา เป็นหนึ่งในสถานพยาบาลที่ให้การรักษา บำบัด ฟื้นฟูผู้ป่วยจิตเวช และสารเสพติด ในเขตกรุงเทพมหานคร และปัจจุบันมีผู้ป่วยที่มีต้องการเข้าทำการรักษาเพิ่มขึ้น
โดยผู้ป่วยโรคทางจิตเวชที่เกิดจากการใช้สารเสพติดที่พบบ่อยคือ โรคจิตเภท โรคซึมเศร้า ซึ่งการใช้สารเสพติดเป็นเวลานาน ทำให้เกิดความผิดปกติทางสมอง ส่วนใหญ่เป็นโรคจิตเภท เกิดความผิดปกติของสมอง ส่งผลให้มีความคิดและการรับรู้ที่ผิดปกติไปจากเดิม เช่น คิดว่าจะมีคนมาทำร้าย อาการหูแว่ว หรือเห็นภาพหลอน
แต่ที่น่าสนใจคือ กลุ่มโรค "ซึมเศร้า" เพิ่มขึ้นจากเมื่อปี 2563 -2564 มีแนวโน้มเพิ่มขึ้น ด้านยาเสพติดก็เป็นปัญหาหนึ่งที่อยู่ในระบบของการรักษาจิตเวช โรคเฉลี่ยผู้ป่วยที่เกี่ยวกับยาเสพติด ประมาณ 10% เป็นโรคยาเสพติด
แต่คนไข้โรคอื่นที่ใช้ยาเสพติดด้วย 80% คือเป็นโรคร่วม คืออาจจะป่วยเป็นจิตเวชอยู่แล้วไปเสพยาด้วย ส่วนประเภทยาเสพติดที่พบมากที่สุด คือ ยาบ้า กัญชา กระท่อม รวมทั้งพวกแอลกอฮอล์
แนวทางของกระทรวงสาธารณสุข ตั้ง "มินิธัญญารักษ์" ทุกจังหวัด เพื่อเพิ่มการเข้าถึงบริการบำบัดฟื้นฟูผู้ที่ติดยาเสพติดที่ใกล้บ้าน ให้เข้าถึงง่าย และมีคุณภาพ ให้ครอบครัวและชุมชนมีสานร่วมช่วยแก้ปัญหา ถือเป็นเรื่องดี
คนไข้พอป่วยแล้วก็ต้องรักษา คนไข้ติดยาเสพติดส่วนใหญ่ 80-90% มีโรคจิตเวรแฝงอยู่ หากได้รับการรักษาอย่างเหมาะสม อาจไม่ต้องใช้ยาเสพติด
ซึ่งช่องทาง "มินิธัญญารักษ์" ที่จะกระจายตัวในทุกจังหวัดทั่วประเทศถือเป็น "ช่องทาง" ในการบำบัด ฟื้นฟูช่วยเหลือผู้ป่วย หรือผู้เสพยาเสพติด ให้อยู่ร่วมกันได้อย่างปกติสุข ไม่สร้างผลกระทบต่อสังคม
สุดท้ายปัญหายาเสพติด ยังเป็นหนึ่งในสาเหตุหลักที่ก่อให้เกิดปัญหาอื่น ๆ ในสังคม ทั้งอาชญากรรม ความรุนแรงในครอบครัว ยิ่งเยาวชนอายุน้อย เกิดนักเสพหน้าใหม่ขึ้นทุกวัน ย่อมส่งผลต่อการพัฒนาประเทศ
ดังนั้น นอกจากหน่วยงานทั้งภาครัฐและเอกชนเข้ามามีส่วนร่วมในการแก้ปัญหาแล้ว ต้องอาศัยการมีส่วนร่วมของครอบครัวและชุมชนเช่นเดียวกัน
อ่านข่าวอื่น ๆ
ทลายจุดพักยาบ้า ยึด 10 ล้านเม็ด คาบ้านหรูย่านคลองสอง